Skip to main content

ภาพลักษณ์ของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล คือวิทยาลัยของคนพิการ เพราะอะไรน่ะหรือ?

เพราะราชสุดามีนักศึกพิการเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังที่เราจะเห็นพวกเขาเดินไปพร้อมไม้เท้าขาว วีลแชร์ หรือพูดคุยกันผ่านภาษามือ ชวนคุยกับแพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา ถึงการศึกษาในเรื่องความพิการ และความเป็นไปได้ของการทำงานในเรื่องนโยบายคนพิการที่วิทยาลัยพยายามผลักดัน

ความเป็นมาของวิทยาลัยราชสุดา

พญ.วัชรา: ต้องย้อนไปปี 34 สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำริว่า คนพิการไทยมีศักยภาพ  แต่ว่าโอกาสทางการศึกษาไม่ค่อยมีโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ถ้าไม่ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา คนพิการก็จะมีโอกาสทำงานน้อยลงหรือว่าได้ทำงานแรงงานมากกว่างานวิชาชีพ จึงได้พระราชทานดำรินี้ไปกับสภามหาวิทยาลัยมหิดล สภาได้น้อมรับพระราชดำริแล้วจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดาในปี 35 เป็นสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่ทำ 2 หน้าที่คือ เปิดโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับคนพิการและเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ในเรื่องของความพิการ คนพิการ และการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

ในช่วงแรกเราไม่ได้มีความพร้อมทั้งหมดในทุกด้าน จึงเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งวิทยาลัยเป็นศูนย์วิจัยคนพิการทางกาย ในที่นี้หมายถึงความพิการร่างกายและการเคลื่อนไหว ตาบอดและหูหนวก

หลักสูตรแรกคือ ‘หูหนวกศึกษา’ เปิดเพื่อให้คนหูหนวกได้มีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษา ในช่วงแรกนั้นยากลำบากมาก มีน้องหูหนวกที่เรียนจบมัธยมปลายน้อย และมีความรู้ไม่มากเท่ากับเด็กหูดี หรือแม้แต่ไม่เท่ากับเด็กตาบอดที่จบจากโรงเรียนสอนคนตาบอด วิธีจัดการเรียนการสอนจึงต้องจัดพิเศษ เช่น มีล่ามภาษามือ หรือมีหน่วยช่วยสอน เรียกได้ว่าต้องออกแบบการสอนใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาวิชา การเรียนเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางด้านการได้ยินและวัฒนธรรมของคนหูหนวก ต่างจากหลักสูตรสำหรับคนตาบอดที่เน้นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี และคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวที่เรียนเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก หลังจากนั้น วิทยาลัยจึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงหลักสูตร rehabilitation counseling ที่เป็นการทำความเข้าใจเรื่องภายใน ผลักดันให้คนพิการรู้สึกว่ามีคุณค่า และศักยภาพ

เป้าหมายของการสนับสนุนให้คนพิการได้เรียน

วิชาหูหนวกศึกษา มีขึ้นเพื่อพัฒนาคนหูหนวกให้กลับเข้าไปเป็นครูในโรงเรียน  และพัฒนาให้เด็กหูหนวกเรียนหนังสือได้ดีขึ้น หลักสูตร 5 ปี จะเรียนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องหูหนวกศึกษา ภาษามือ ล่ามภาษามือ และทักษะความเป็นครู แต่กระนั้นเองก็ยังไม่สามารถทำให้คนพิการได้เรียนรู้แบบ inclusive ได้ วิทยาลัยจึงพยายามผลักดันรับคนทุกแบบ ทั้งพิการและไม่พิการ เพื่อให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกัน การเรียนด้วยกันความเข้าใจก็เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง

ตัวเองเพิ่งเข้ามาได้ไม่นาน และคิดว่าเรายังไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ไปได้ไม่ถึงครึ่งทางหมายความว่าเรายังทำได้เท่าเดิม ทั้งๆ ที่คนพิการมีตั้งหลายประเภท คนตาบอดก็ยังไม่ได้มีหลักสูตรตาบอดศึกษา ขณะที่เรามีหูหนวกศึกษาฉะนั้นเรายังเข้าไม่ถึงคนที่อยากเรียนให้ลึกว่า ทำอย่างไรจะสามารถพัฒนาศักยภาพหรือเพิ่มขีดความสามารถของคนตาบอดได้  หรือทำให้สังคมได้ศึกษาและเข้าใจวิถีชีวิตของคนตาบอดมากกว่านี้เพื่อจัดบริการให้สอดคล้องกับความจำเป็น นอกจากนี้สิ่งที่เรายังขาดคือประสบการณ์ของปัจเจก ยังมีชุดความรู้ไม่มากพอ

 

เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง

เรายังเห็นคนตาบอดอีกเยอะที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือหากเข้าถึงก็ไปได้ไม่สุดตามศักยภาพที่ควรจะเป็น แม้เราจะมีนักศึกษาเรียนปริญญาโทหลายคน แต่หากถามว่าที่นี่สามารถผลิตให้คนพิการออกไปเป็นนักวิชาการ ทำงานวิจัยที่ critical มากๆ และส่ง feedback ด้านนโยบายให้กับรัฐบาลได้รึยัง คิดว่าเราก็ยังไปไม่ถึง

คนตาบอดหลายคนที่ทำงานในแวดวงวิชาการสะท้อนว่า พอเป็นคนตาบอดจะรู้ได้อย่างไรว่าได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ อาจารย์บางคนมีความรู้ระดับ professor แต่ทำไมกลับไม่ได้เป็น professor หลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ แต่พอกลับมา เขาได้ใช้ศักยภาพเท่ากับตอนอยู่ต่างประเทศไหม เราคิดว่าไม่ ไม่ใช่ว่าความสามารถลดลง แต่สิ่งแวดล้อมที่นี่นั้นยังไม่เอื้อ สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะอะไร  ทำไมอาจารย์หูหนวกจึงไม่เป็นรองศาสตราจารย์ทั้งที่เป็นอาจารย์มาสิบปี ยี่สิบปี เราไม่เห็นบทบาทของคนหูหนวกที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างชัดเจน

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเป็นอะไร ก็ควรที่จะปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ นักศึกษาพิการที่มาเรียนที่นี่ต้องก้าวข้ามทุกอุปสรรคที่มีเพื่อเอาศักยภาพออกมาใช้และส่งต่อความรู้ที่เกี่ยวกับคนพิการ โดยเฉพาะในบริบทสังคมแบบไทยๆ โดยอาศัยความรู้เชิงวิพากษ์ และสุดท้ายสามารถนำเอาความรู้ไปถกกับนานาประเทศได้  รววมถึงวิเคราะห์นโยบายอย่างเป็นวิชาการและสามารถให้ข้อมูลวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐได้ สิ่งเหล่านี้ในประเทศเรายังมีไม่มาก แต่เป็นสิ่งที่ควรจะเริ่มทำ

บางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คณะในเรื่อง social policy ส่วนของ disability study centre ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรคนพิการ เพื่อให้องค์กรคนพิการมีข้อมูลทางวิชาการไว้ขับเคลื่อน เราเองก็อยากจะทำแบบนั้นและคอยเฝ้ามองสังคมที่ผลิตภาพซ้ำของคนพิการด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ วิทยาลัยต้องมีบทบาททางสังคมวิทยา



 

สิ่งที่ยังขาดในการทำงานเรื่องคนพิการ

เราขาดการเรียนรู้และเข้าใจอย่างมีระบบทางวิชาการ หากเราดูเรื่องการขับเลื่อนของคนพิการที่ผ่านมา ข้อมูลทางวิชาการมีค่อนข้างน้อย  แต่เราเอาความจำเป็นเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น เราจำเป็นอะไร เราขาดอะไร ระบบไม่เป็นธรรมกับเราอย่างไร แต่การขับเคลื่อนแบบนั้นก็ไม่การันตีว่า เราจะได้แบบยั่งยืน อาจเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า แต่หากเราขับเคลื่อนแบบสร้างการเรียนรู้ ไม่เรียกร้องแบบลอยๆ แต่มีที่มาที่ไป มีเหตุผลความจำเป็น นโยบายที่ออกมาจะต้องเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ไม่ใช่การสงเคราะห์เป็นครั้งคราว

ฉะนั้น หากวิทยาลัยสามารถผลิตบุคลากรแบบนั้นได้ก็ถือว่า วิทยาลัยทำบทบาทหน้าที่ได้เต็มที่

 

คนที่มีความสนใจแบบไหน ถึงเหมาะจะเรียนที่นี่

ถ้าทำงานด้านคนพิการก็คิดว่าควรจะต้องมาเรียน แต่อาจจะต้องมีทางเลือกว่า ไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่นี่ เช่น เราอาจเปิดเป็นคาบออนไลน์ สามารถเรียนและนับเป็นเครดิตได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนได้เรียนและทำนโยบายที่มีมุมมองเข้าใจเรื่องของความพิการชัดเจนมากขึ้น

บางคนเรียนจบมาทางด้าน medical science ไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิด มุมมองความพิการ ถ้ามาเรียนที่นี่ เขาจะได้มุมมองที่แตกต่างไป ไม่ได้มองว่า คนพิการมาเพื่อรับบริการฟื้นฟู หรือแค่มารับอุปกรณ์ หากคนตาบอดรับบริการ orientation mobility เขาไม่ได้ป่วยแต่เขามาเพื่อฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ ฉะนั้นมุมมองต้องไม่เหมือนกับเวลาเป็นไส้ติ่งอักเสบ ที่มีหมอเป็นคนวินิจฉัยในทุกเรื่อง

นอกเหนือจากนี้วิทยาลัยอาจจะจัดเป็น training course หรือให้บริการฝึกทักษะ แต่ในปัจจุบันเรายังเป็นแบบ project base ไม่สามารถขอรับบริการได้ตลอดเวลา ก็เป็นความคาดหวังต่อวิทยาลัยว่าเราจะต้องขยับตัวเองขึ้นมาให้ทำให้ได้มากขึ้น



บทบาทของวิทยาลัยราชสุดาต่อสังคมคืออะไร

มองได้สองแง่ ในแง่ของการให้ข้อเสนอทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบนโยบายจากการวิจัยถือว่าเป็นบทบาททางสังคม  อีกด้านก็เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือในหมายงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการพัฒนาระบบบริการคนพิการ อาจารย์ของวิทยาลัยก็น่าจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย รวมถึงการพัฒนาในระดับชุมชนและสมาคมคนพิการประเภทต่างๆ

อาจารย์ตาบอดทุกคนจะมีคอนเนคชันแล้วก็สิ่งที่ทำร่วมกับสมาคม แต่อาจารย์ไม่พิการบางคนยังไม่มีคอนเนคชันนี้ เราจึงพยายามให้อาจารย์เข้าไปทำงานรุกมากขึ้น เพื่อให้เขาเข้าใจบริบทจริงๆ ของสิ่งที่สอน

 

มีบริการอะไรสำหรับนักศึกษาพิการบ้าง

จะมีส่วนของสำนักบริหาร สำนักบริการวิชาการและวิจัย และสำนักการศึกษา นักศึกษาที่เข้ามาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะมีทุนการศึกษาให้เพื่อสนับสนุนการศึกษา 

นอกจากนี้ หากไม่ใช่นักศึกษา แต่ต้องการบริการ ก็จะมีเปิดอบรมเป็นช่วงๆ หรือถ้าคนมีลูกพิการก็สามารขอคำแนะนำเริ่มต้นที่นี่ได้ แต่หน่วยเหล่านี้ไม่ได้เปิดบริการไว้อย่างชัดเจน เราเปิดบริการการให้คำปรึกษาฉันท์เพื่อนอาทิตย์ครั้ง และแนะนำเรื่องการใช้อุปกรณ์ การปรับสภาพบ้าน นอกจากนี้ยังมีบริการล่ามภาษามือ เป็นล่ามบริการเฉพาะบุคคล หรือบริการตามอีเวนท์ประชุมวิชาการ

คนพิการเรียนที่นี่ฟรี แต่กระนั้นคนพิการก็ยังอาจอาจมาเรียนด้วยความยากลำบาก สิ่งที่วิทยาลัยต้องสนับสนุนอาจเป็นเรื่องที่พัก ค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน เราต้องหาทุนส่วนนี้เพื่อมาจัดสรรให้กับนักศึกษา นอกจากนี้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนต้องเรียนได้จริง

วิทยาลัยราชสุดาสร้างความรู้ ทำเรื่องการพัฒนาศักยภาพผ่านระบบการศึกษา แต่เราไม่มีช่องทางสื่อสารที่แบบนักสื่อสาร เราอาจจะมีงานที่เผยแพร่ แต่ไม่ใช่แบบนักสื่อสาร หากเราสามารถทำงานเชื่อมกันได้  ทั้งกับThisable.me ที่เป็นสื่อของคนพิการเอง ช่องทางที่จะสื่อสารความรู้ก็จะกระจายมากขึ้น โดยเฉพาะหากทีมสื่อมีความ proactive ไม่นั่งรอข้อมูลมาแล้วค่อยสื่อสารนอกจากนี้ เราต้องสร้างนักวิจัยคนพิการ เพื่อทำวิจัย ประเมินนโยบาย วิพากษ์นโยบายแบบ academic learning เพื่อสร้างโลกทัศน์ร่วมกัน

 

เรื่อง เอกภาพ ลำดวน
ภาพ Bee Patcha