Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล, Thisable.me, บุญรอดบริวเวอรี่, ประชาไท และ Die Kommune (ดี คอมมูเน) จัดเสวนาวงที่ 5 กลางปีของปีนี้ว่าด้วยเรื่อง การศึกษาของคนพิการ ที่จะชวนคนพิการมาเล่าถึง แวดวงการศึกษาที่ปิดเบี้ยว ที่ซึ่งแม้จะบอกว่าเด็กไทยทุกคนมีสิทธิเรียน แต่คงไม่ใช่เด็ก(พิการ)ไทยกลุ่มนี้ ที่เราจะชวนพวกเขามาคุย ชวนคนพิการที่มีความแตกต่างกันของสภาพร่างกาย ฐานะ และวิธีการเรียนรู้ มาร่วมพูดคุยว่า การศึกษาของเด็กพิการนั้นเป็นจริงได้แค่ไหนโดยมี ปริศนา ขันแก้ว, อภิชาติ บุตตะ , เพ็ญนภา นันทดิลก และปัณฑิตา ผันกระโทก ร่วมเสวนา และดำเนินเสวนาโดยศิธรา จุฑารัตน์

ภาพรวมผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ ขวาสุดคือ ลูกหนู ต่อมาเป็นแม่แตและลูกหนู ศิธราเป็นผู้ดำเนินรายการ และขวดผู้เข้าร่วมเสวนา

 

ประสบการณ์การเรียนของแต่ละคนเป็นอย่างไร

ขวด: เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวตั้งแต่กำเนิด ตอนนั้นอยากเรียนแต่โดนปฏิเสธเพราะเป็นคนพิการ สถานที่ไม่เอื้ออำนวย เขาบอกว่ามาเรียนก็ไม่มีคนช่วย ด้วยความอยากรู้จึงอาศัยการท่องจำ พอเริ่มคล่องเราก็อาศัยถาม เช่น การดูเข็มนาฬิกาว่าเข็มไหนคือเลขอะไร เป็นกี่โมง นอกจากนั้นก็ใช้การผสมคำจากหนังสือพิมพ์ ทำอย่างนั้นกว่า 20 ปี ช่วงวัยเด็กเราก็มีเพื่อนบ้าง เป็นเพื่อนแถวบ้านที่เล่นด้วยกันมา จนกระทั่งหายกันไปเมื่อเพื่อนไปเรียน

ตอนช่วงปี 49 ผมเข้ากลุ่มชมรมคนพิการ ตอนนั้นมีเพื่อนคนพิการไปเรียนกศน. ผมไม่รู้หรอกว่าคืออะไร เพื่อนบอกว่าคล้ายๆ กันกับการเรียนปกติ ผมเลยหาข้อมูลแล้วลองสมัคร ตอนนั้นมีรายการดังตามไปถ่ายที่ศูนย์การศึกษานอกระบบ ได้เห็นใบสมัคร ได้เขียนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นสองอาทิตย์ก็เข้าไปติดตามว่าได้เรียนไหม เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีข้อมูลการสมัคร ไม่รู้ว่าหายหรือเขาตั้งใจทำหาย ผมก็ยืนยันว่าเอาหลักฐานเป็นรายการทีวีมาได้ แต่เขาก็ยืนยันว่าไม่มี จนมีอาจารย์คนหนึ่งเข้ามาคุย วันนั้นอาจารย์ก็ช่วยจนได้เรียน พอเรียนก็ได้เรียนที่ห้องคนเดียว เรียนมาสามหรือสี่ครั้ง ผมเห็นรายชื่อนักศึกษาที่มาเรียนวันอาทิตย์ ก็เกิดคำถามว่าทำไมผมไม่ได้เรียนกับคนอื่นๆ เขาก็ตอบว่าไม่อยากให้เราลำบาก ผมจึงบอกว่าผมขอพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้หรือไม่ จึงได้มาเรียนกับคนอื่น

พราว:  ตอนเรียนประถมเรียนห้องเฉพาะของเด็กพิเศษ เรียนภาษาจีน อังกฤษ ไทย สังคม มีวาดเขียน มีกีฬา หนูชอบวิชาวิจิตรศิลป์ ชอบท่องกลอน ชอบอ่านและเต้นแบลคพิ้ง เคป้อป มีไปแข่งเต้น นอกจากนี้ก็มีไปแข่งข้างนอกด้วยอย่างที่สวนสยามก็ได้ไปรำสีนวล ตอนนี้ก็เรียนอยู่ปวช.ปี3 สาขาวิจิตรศิลป์ เรียนเกี่ยวกับศิลปะ การวาดรูป ปั้น ได้ฝึกงานดูแลเด็ก เวลาอยู่กับน้องๆ ก็ต้องตั้งสติ

แม่แต: ในโรงเรียนมีกิจกรรมบ้างเหมือนกัน แต่การเรียนเรียนเฉพาะของกลุ่มน้อง ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบเป็นการเรียนร่วม แต่ที่โรงเรียนมีนักเรียนเยอะและครูไม่เข้าใจเด็กกลุ่มนี้ ก็เลยมองว่ายุ่งยาก เกิดเจอเพื่อนแกล้งจะทำยังไง ก็เลยให้เรียนเฉพาะกลุ่ม เรียนคู่ขนาน  ของพราวตอนอนุบาลเขาได้เรียนร่วมมา เราเลยเห็นความต่าง แม่เองไม่เข้าใจเรื่องการเซทระบบเหมือนกันที่ต้องให้ผู้ปกครองจ้างครูพี่เลี้ยงเพื่อให้การเรียนเป็นไปได้ เพราะถ้ามีเพื่อนที่เป็นเหมือนกันเยอะๆ พราวก็ไม่ได้เรียน เพื่อนจะวุ่นวาย

ตอนประถม มัธยมต้นเขาชอบเรียนภาษาไทย เป็นดาวน์คนเดียวในห้องที่เรียนกับออทิสติกและสมาธิสั้น ตอนเข้าเรียนวิจิตรศิลป์จริงๆ แล้วยากกับเขามาก เพราะเขาไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน หลังจากจบม. 3 ตอนแรกคิดว่าจะหาตรงตามที่เขาชอบ แต่ว่าแถวบ้านไม่มีเลย เลยมาเห็นที่วิทยาลัยนี้ เพราะถ้าเรียนอย่างอื่น เช่น การโรงเเรม การท่องเที่ยวต้องมีฝึกงาน

ลูกหนู: เริ่มเรียนประถมถึงมัธยมตันที่โรงเรียนเฉพาะความพิการ ตอนประถมเป็นโรงเรียนในสถานสงเคราะห์ รวมทุกความพิการ ส่วนตอนมัธยมปลายจะมีแค่พิการร่างกายอย่างเดียว เป็นโรงเรียนสารพัดช่าง เราได้เรียนกับเพื่อนที่ไม่พิการเป็นครั้งแรก ตอนมหาลัยส่วนใหญ่เรียนกับเพื่อนไม่พิการ จริงๆการเรียนไม่มีปัญหา แต่ปัญหาส่วนใหญ่เปนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก มีเพื่อนเจอปัญหา เช่น เพื่อนตาบอด เพื่อนพิการทางการได้ยิน ถ้าในตอนประถมจะเจอชัดเจนมาก เพราะมีหลายกลุ่ม ครูจะแยกเอาเราไปเรียนกับ ป.อื่นบ้าง จริงๆก่อนหน้าที่จะพิการเราเรียนป.1 แต่ประสบอุบัติเหตุก่อน จนได้มาเรียนอีกครั้งตอน 11 ขวบ ตอนนั้นก็เลยได้เลื่อนไปเรียนกับ ป.5 เลย เพราะว่าอาจจะมีพื้นฐานมาก่อน ตอนเรียน ปวช. จะออกมาเรียนข้างนอก อยุ่หอพักของโรงเรียน มีสาขาการขาย การตลาด ก่อนที่เราจะเลือกที่นี่ เรามีตัวเลือก 3 ที่ ที่แรกคือพระมหาไถ่ ชลบุรี สอง วิทยาลัยสารพัดช่าง สาม โรงเรียน ม.ปลายทั่วไป เขาอยากให้เราเรียนภาษา แต่เรามองว่าพัทยาไกลเกินไป อยากเรียนใกล้ๆ เลยเรียนสารพัดช่าง

ตอนเรียนสารพัดช่างก็เจอลิฟต์เสียบ่อยๆ เจอทางลาดที่สูงเกินการเข็น วันที่ไม่มีคนช่วยเราก็ต้องช่วยตัวเองขึ้นไปให้ได้ บางวันลิฟต์เสียเราก็ต้องรอข้างล่าง หรือไม่ก็บอกให้อาจารย์ลงมาสอนข้างล่าง ในมหาลัย ช่วงแรกที่เรียนต้องให้เพื่อนช่วยยกวีลแชร์ขึ้นไป ถ้าไปเจอโต้ะเเคบก็ต้องนั่งเรียนหน้าห้องหรือห้องเรียนวารสารที่เรียนในห้องเธียเตอร์ ชั้นบนขึ้นไม่ได้ ก็ต้องนั่งข้างล่าง หรือไม่ก็ต้องให้เพื่อนยกขึ้นไปให้

ภาพลูกหนูตัดผมสั้น หันหน้าทางด้านซ้าย

 

เรามีส่วนร่วมกับการเรียนได้แค่ไหน

ขวด: หลังจากเข้าไปเรียน ด่านแรกที่เจอคือเราเหมือนอยู่คนเดียว เนื่องจากคนอื่นเรียนกันมานานแล้ว มีแต่อาจารย์คุยด้วย สามอาทิตย์นั้นก็นั่งฟังอาจารย์ บางคนก็จดลงสมุด จดที่กระดาน แต่ของผมอาจารย์จะเป็นคนช่วยโดยการบอกแล้วเขียนให้ หลังจากสามอาทิตย์เราเจอพี่แถวบ้านคนหนึ่ง คนนั้นเข้ามาพุดคุย คนอื่นๆ ก็เลยเริ่มเข้ามาพุดคุยด้วยมากขึ้นหรือทำกิจกรรมต่างๆ มาช่วยเปิดหนังสือ ช่วงนั้นก็อาศัยจำ อาจารย์ก็สอนช้าๆ ไปเรื่อยๆ บางทีคนข้างๆ ก็ช่วยบอก แต่ถ้าเป็นงานอาจารย์ก็จะให้มาส่งอาทิตย์หน้า กิจกรรมที่ต้องทำครั้งแรกผมไม่ได้ไป แต่ช่วงหลังก็มีโอกาสได้ทำด้วย ถ้าไม่ออกต่างจังหวัดหรือทำได้ก็ไปหมด แต่พักค่ายกับกีฬาสีผมก็ยอมรับว่าไปทำไม่ได้

ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมก็ยังมีอยู่ ครั้งหนึ่งไปทำกิจกรรมแล้วเจอนายอำเภอ ผมเลยเสนอว่าผมเรียนอยุ่ตรงข้าม มีสเตป ผมขอทางลาดเข้าไป หลังจากนั้นอาทิตย์เดียวก็มีทางลาดขึ้นไป แต่ห้องน้ำทำไม่ได้เพราะเป็นของสาธารณะ ผมก็อาศัยกินน้ำน้อยๆ จะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำ ตอนเรียนถ้าเป็นภาษาไทยผมไหว แต่เลขกับภาษาอังกฤษผมไม่ไหว อาจารย์ก็ช่วยจนผ่านมาได้ หลังจบม.ปลาย สอบ มสธ.ก็สอบไม่ได้ ทำให้เห็นว่า เรียนกศน.มาแล้วก็สอบไม่ติด ถึงเราเรียน ทำรายงานเยอะ เราก็เรียนไม่ไหว เพราะประสบการณ์ของ กศน.ไม่ได้ช่วยอะไรเลย กลับกันถ้าได้เรียนในระบบก็น่าจะความรู้แน่นกว่านี้

แม่แต: เขาเรียนเหมือนเพื่อนปกติ เแต่เนื้อหามันยากมาก เขาแทบจะทำไม่ได้เลย เดิมทีมัธยมต้นเป็นการเรียนตามพื้นฐานสติปัญญา แต่ตอนนี้มันยากสำหรับเขามาก เวลาทำการบ้านครูก็จะให้งานที่ง่ายต่อเขาเพื่อเก็บเป็นคะแนน บางครั้งก็ได้เป็นคนพรีเซนโดยมีเพื่อนๆ ช่วยไกด์ให้ การศึกษาบ้านเราถ้ามีครูการศึกษาพิเศษที่เข้าใจก็จะช่วยเรื่องการเรียนของน้องได้ ในวิทยาลัยจะให้น้องๆ กลุ่มนี้หนึ่งวันต่ออาทิตย์เพื่อประเมินระดับการเรียนที่เป็นเฉพาะของกลุ่มเขา มีการสอดแทรกเรื่องการเข้าสังคม เรียนกิจกรรมให้ผ่อนคลาย

แม่มองว่า ถ้าองค์กรเปิดรับ เราก็อยากให้ลูกเรียนทุกอย่างกับเพื่อนทั่วไป ถ้ามีโอกาสแม่ก็ยินดีให้เข้าร่วมได้เลย เพราะปัจจุบันมีอะไรเราก็ปล่อยให้น้องไป มีเพื่อนไกด์ เวลาไปเรียนแม่จะสอนเขาว่าห้องไหนอยู่ตรงไหนประมาณเดือนนึง จากนั้นก็มาส่งแล้วกลับ พอมาเรียนวิทยาลัยพื้นที่มันกว้างมาก มีบ่อน้ำไม่เหมือนที่โรงเรียน แต่โชคดีที่พราวสื่อสารง่ายและมีเพื่อนคอยช่วย แม่เองก็จะโหลดแอพติตดามตัวไว้ เผื่อเช็คว่าเขาอยู่ไหน เพราะแม่ก็คิดว่าน้องเองก็อาจจะมีโมเม้นต์อยากโดดเรียน แล้วพอเขาเป็นผู้หญิงเราก็ห่วง

ลูกหนู: มหาลัยเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย เพราะเราไม่เคยเรียนรวมกับคนไม่พิการ เราเป็นคนพิการคนเดียวในคลาสซึ่งเป็นเรื่องทึ่ท้าทายมาก มันเหมือนเอาชนะใจตัวเองว่าวันนี้จะลุกไปเรียนดีไหม เพราะไปเรียนก็เหมือนไปคนเดียวหรือบางวันเรียนในห้องที่ต้องให้เพื่อนช่วยยก เราต้องนั่งข้างหน้า แหงนคอ ขณะที่เพื่อนได้ขึ้นไปนั่งเรียนข้างบน ก็ต้องเอาชนะใจตัวเองเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มหาลัยกำลังปรับปรุง ยังไม่มีทางลาดที่ได้มาตรฐาน ยังไม่มีลิฟต์ที่กว้างพอ ห้องน้ำคนพิการจะเข้าทีก็ต้องบอกแม่บ้านให้ปลดล้อคประตูหรือต้องให้แม่บ้านเอาอุปกรณ์ทำความสะอาดออก โรงอาหารก็คนเยอะมาก กว่าวีลแชร์จะเข้าไปได้ กว่าจะสั่งข้าวมากินได้ต้องไปเข้าคิวยาวมาก บางร้านก็สูงจนวีลแชร์มองไม่เห็นกับข้าว ก็ต้องให้แม่ค้าช่วยอีก แต่ทุกวันนี้วีลแชร์ คนตาบอดหรือคนหูหนวกที่เรียนก็ไปได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ปกครองบอกทาง

พอทำงาน เราทำงานเกี่ยวกับการศึกษาเด็กพิการ ต้องดีลกับโรงเรียนเฉพาะความพิการ ก็มักโดนปฏิเสธเพราะมองว่า เด็กไม่สามารถเรียนต่อได้ เราไม่รู้หรอกว่าจริงแค่ไหนแต่โรงเรียนปิดโอกาส จึงทำให้ในระดับมัธยมปลายถึงมหาลัยยังไม่มีคนพิการมากนัก เช่นๆ น้องๆ ฝั่งดาวน์ซินโดรมเราแทบไม่เห็นเลย หูหนวกก็มีปัญหาคือห้องเรียนไม่มีล่าม ก็ต้องอาศัยอ่านในชีท หรืออาศัยพี่ๆ  TTRS แปลให้ทีหลัง ซึ่งกว่าจะเรียนได้เขามีหลายขั้นตอนมาก

เราว่าสิ่งที่ต้องปรับคือระบบภายใน ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งเรื่องสื่อการเรียน สิทธิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บางโรงเรียนไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีทางลาด ห้องน้ำคนพิการ ก็ทำให้นักเรียนลำบาก

ภาพขวดกำลังพูดเล่าประสบการณ์การศึกษา ใส่เสื้อยืดสีดำ มีไมค์ตั้งให้พูด

 

มีข้อเสนอแนะอย่างไร

ขวด: ปัจจุบันแม้คนพิการมีสิทธิแต่ก็ยังใช้ไม่ได้อยุ่ดี คนพิการต่อให้สู้ยังไงก็ไม่ได้หรอกถ้าระบบโครงสร้างยังไม่พร้อม คนพิการก้ยังโดนปฏิเสธ เราไม่อยากให้แยกคนพิการคนไม่พิการ เพียงแค่ปรับบางอย่างให้สะดวก ถ้าได้ลองแล้วทำไม่ได้เราก็ยอมรับ แต่นี่คุณไปตัดสิทธิแต่แรก ผมจึงไม่อยากให้คำพูดว่า เด็กไทยต้องได้เรียนทุกคน เป็นแค่คำพูด

แม่แต: ผู้ปกครองอย่างเราที่มีลูกพิการต้องฝ่าฟันกับการหาที่เรียนมาก ไม่เหมือนกับที่รัฐบอกว่าได้เรียนใกล้บ้าน แต่จริงๆไม่ใช่ บางคนใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชม. เพราะโรงเรียนใกล้บ้านไม่รับ ที่บอกว่าต้องรับ แม่แทบไม่เคยเห็นเลยนะ ถ้าทุกที่เปิดโอกาสทำไมลูกเราจะไม่ได้เรียน ขนาดโรงเรียนเอกชนยังต้องจ้างครูพิเศษ จ้างทำไมในเมื่อลูกเราทำได้ โรงเรียนน่าจะอ้าแขนรับ ทำตามนโยบายที่จริงๆ แล้วดีมาก แต่มันไม่ถึงลูกเรา บางโรงเรียนปฏิเสธลูกเรา แต่รับเด็กฝากเยอะมาก ขนาดบ้านอยู่ติดโรงเรียนเขายังไม่รับเลย

ภาพน้องพราวใส่เสื้อยืดรูปหมีและแมวกับแม่แต ใส่เสื้อลายาทางแล้วยื่นไมค์คุย

 

การเรียนร่วมสำคัญยังไง

ขวด: ผมได้พิสูจน์ตัวเองว่าสามารถใช้ชีวิตกับคนทั่วไปได้  ทำให้คนเห็นว่าพิการไม่พิการก็สามารถทำอะไรร่วมกันได้ ถ้าแบ่งแยกออกก็เหมือนเราไม่ใช่คน ทั้งที่ผมตัดสินใจเองได้ว่าจะเลือกชีวิตตัวเองแบบไหน

แม่แต: ตอนเห็นเขาเรียนร่วมในระดับอนุบาล เขาได้พัฒนาด้านสังคม วัยของเขาต้องมีเพื่อน ถ้าให้อยู่แต่กับเด็กพิเศษการพัฒนาก็ถดถอย ต่างจากพอเรียนร่วมเขาสื่อสารกับเพื่อนได้ เล่นกับเพื่อนได้โดยไม่แตกแยก สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นต้นของการศึกษา จะพัฒนามากน้อยก็แล้วแต่แต่ที่แน่ๆ คือจะช่วยผลักดันไม่ให้เด็กโดดเดี่ยวหรืออยู่อย่างไร้จุดหมาย

ลูกหนู: ไม่ค่อยเหนด้วยกับการเรียนร่วม อยากให้เรียกว่า เรียนด้วยกันเพราะเรียนร่วมเหมือนคนพิการไปร่วม มันยังดูไม่ปกติ แต่เรียนด้วยกันให้ฟีลเป็นปกติ ในระบบการศึกษาของเรายังขาดคำว่าปกติ เราอยากเห็นภาพการเรียนด้วยกันอย่างปกติ เป็นเพื่อนคนหนึ่งในห้องเรียน แค่เขาต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม อีกอย่างคือการพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการก็ทำได้  

กองบรรณาธิการ
Editor