Skip to main content

สิริลภัส กองตระการ

สมาชิกผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร

กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 (สมัยวิสามัญ)

วันนี้ดิฉันจะขออภิปรายเรื่องจัดสรรงบประมาณการแก้ไขสุขภาพจิตให้กับประชาชน จากคำที่ปรากฎบนโลกออนไลน์เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมามีคนพูดถึงภาวะซึมเศร้าและคำที่เกี่ยวข้อง 700,000 กว่าข้อความ มีการเข้าถึงยอด 200,000,0000 ครั้ง นี่เป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์สุขภาพจิตไทยเปรียบเสมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด ทำลายระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ สังคม และความั่นคงของประเทศ

โจทย์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย ดิฉันสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะสั้น การต้องแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัยอย่างเร่งด่วน ระยะกลาง กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ระยะยาว การทำให้ประชาชนเข้าสู่สังคมสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน แบ่งปัญหาสุขภาพจิตตามช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยรุ่นวัยเรียน วัยทำงาน วัยสูงอายุ

การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระยะสั้น: การต้องแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัยอย่างเร่งด่วน

จากรายงานสถิติความรุนแรงที่เก็บข้อมูลจากสายด่วน 1300 แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว 2,778 รายจากทั้งหมด 4,127 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเด็ก 995 รายโดยแม่หรือผู้ดูแลเด็กเชื่อว่า การลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น เราพบว่าเด็ก 3-4 ขวบถูกอบรมด้วยการใช้ความรุนแรง การเติบโตมากับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงจะทำให้เด็กทำกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช ไม่สามารถเข้าสังคมได้ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตมาเป็นอาชญากร ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษาปัญหาจะซับซ้อนยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบการใช้ชีวิตในวัยรุ่นและวัยเรียน

ข้อมูลจากเครื่องมือการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น (Mental Health Check In) เราพบว่าวัยรุ่นจำนวนแสนกว่ารายเสี่ยงเป็นซึมเศร้าจำนวน 11,818 รายและเสี่ยงฆ่าตัวตาย 19,999 ราย นอกเหนือจากปมถูกการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่สร้างบาดแผลทางใจ ยังมีอีกปัจจัยที่วัยรุ่นและวัยเรียนต้องเผชิญคือ การถูกกลั่นแกล้ง รังแกในโรงเรียนและสังคมออนไลน์ เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต มีภาวะเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคม เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง มีความรุนแรงไปถึงการฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นดิฉันไม่แปลกใจเลยว่า ช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมามีคำที่ปรากฎโลกโซเซียลมีเดียเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง 176,822 ข้อความ แล้วมียอดการเข้าถึง 59,226,221 ล้านครั้ง โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีนักจิตวิทยา 1 คนต่อ 1 เขตการศึกษา ถ้าเขตการศีกษามีนักเรียน 100,000 คน อัตรานักจิตวิทยาจะเท่ากับ 1:100,000 ประชากร ทำให้นักจิตวิทยาไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้

การสำรวจสุขภาพจิตวัยทำงานจาก  เราพบว่า วัยทำงานกว่าหนึ่งล้านคนเสี่ยงเป็นซึมเศร้า 60,000 กว่าคน มีภาวะหมดไฟในการทำงานและความเครียด 50,000 กว่าคน ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมามีคำที่พูดบนสื่อโซเซียลมีเดียว่า ภาระงานหนัก ความเครียด ซึ่งเป็นคำพูดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เป็นโรคซึมเศร้า  94,778 ครั้ง มียอดการเข้าถึง 13,426,109 ล้านครั้ง นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ดิฉันจะขอยกตัวอย่างบุคลากรของภาครัฐแล้วอยากให้ท่านประธานสภาตอบคำถาม ถ้าท่านไม่ดูแลบุคลากรภาครัฐ ท่านจะให้คนกลุ่มนี้ไปดูแลประชากรได้อย่างไร อาชีพตำรวจ ทหาร ครู และบุคลากรทางการแพทย์ล้วนมีภาระงานที่หนัก ความกดดันภายใต้ความคาดหวังของประชาชนอย่างตำรวจ ทหารที่มีความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา การใช้อำนาจองค์กรกดขี่ตำรวจและทหารชั้นผู้น้อย ปัญหารายได้น้อยส่งผลมีการฆ่าตัวตายของอาชีพตำรวจสูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนทั่วไปถึง 3 เท่า ในปี 2565 ตัวเลขพุ่งขึ้นสูงถึง 44 นาย โดยคิดเป็น 22: 1000,000 คน สิ่งที่อันตรายของอาชีพเหล่านี้คือ โอกาสการเข้าถึงอาวุธมากกว่าคนทั่วไป ถ้าคนเหล่านี้มีความเครียดสะสมแล้วระเบิดออกมา สิ่งที่ตามมาคือ การก่อเหตุรุนแรงที่จะสร้างความสูญเสียและบาดแผลทางใจที่ปรากฎในข่าว

ความกดดันของภาระงานของครูทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่รัฐบาลยังให้ครูไปดูแลสุขภาพจิตนักเรียนแต่ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า สุขภาพจิตของครูแย่แล้วครูจะไปดูแลนักเรียนต่อได้อย่างไร รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลที่จบใหม่แล้วไม่สามารถรับมือกับความเครียด ป่วยเป็นซึมเศร้านำไปสู่การฆ่าตัวตาย นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราต้องสูญเสียบุคลากรเหล่านี้ใช้ความรู้ ความสามารถที่เขามีมาช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยได้อีกหลายชีวิต

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เราคาดว่าอีก 16 ปีข้างหน้านี้จะมีประชากรผู้สูงวัยมากถึง 20 กว่าล้านคนคิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ความโดดเดียว โรคประจำตัว การเกษียณอายุจากวัยทำงาน ผู้สูงวัยที่มีภาวะเพิ่งพึ่งรัฐจะดูแลพวกเขาเหล่านี้ให้ดีทั้งกายและใจได้อย่างไร 6 ปีที่ผ่านมาวัยนี้มีสถิติฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น ย้อนไปปีที่แล้ว สถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จของผู้สูงอายุอยู่ที่ 10.15 ต่อประชากรแสนคน หากผู้สูงวัย 1,000,000 คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 100 คน

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ปีนี้กรมสุขภาพจิตได้รับการจัดสรรงบแทบไม่ได้ต่างจากปีที่แล้ว ของบประมาณ ขอไป 4,000 กว่าล้านจัดสรรมา 3,036 ล้านบาท คิดเป็น 1.8% ของงบกระทรวงสาธารณสุข มีหลายโครงการได้รับงบกว่าปีที่แล้วทั้งที่เป็นโครงการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสุขภาพจิตแต่ละช่วงวัยให้เข้าถึงจำนวนกลุ่มเป้าหมายตามที่กรมได้คำนวณไว้ อย่างเช่น โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ 26,000 คน ขอไป 31 ล้านบาทถูกตัดเหลือ 11.86 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยต่อหัว 1,000 กว่าบาทเหลือเพียงคนละ 191.15 บาท ต่อมาโครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยสูงอายุที่มีกลุ่มเป้าหมาย 150,000 คน ของบ 15,000,000 บาทแต่โดนตัดงบประมาณเหลือ 4,000,000 บาท ค่าเฉลี่ยต่อหัว 100 กว่าบาทเหลือคนละ 22.20 บาท มีแต่โครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตวัยทำงานที่มีเป้าหมายสะสม 1,320,000 คน ขอไป 10.3 ล้านบาท ปีนี้ได้มา 4,000,000 บาท แต่เงิน 4,000,000 ล้านนี้กับการดูแลสุขภาพใจคนทำงานล้านคน ค่าเฉลี่ยต่อหัวตกคนละ 3 บาท จากการดูค่าเฉลี่ยต่อหัวแบบนี้ ดิฉันคิดภาพไม่ออกว่า จะใช้เงินจำนวนนี้ไปแก้ปัญหาได้อย่างไร สิ่งที่ทำได้คือ ใช้เงินค่าเฉลี่ยต่อหัวเท่าเดิมแต่ลดการเข้าถึงให้น้อยลง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้น้อยอยู่แล้ว การโดนตัดงบแบบนี้ยิ่งทำให้โครงการเหล่านี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้น้อยลงไปอีก โครงการที่ขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขข้อกังวลจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตก็โดนตัดงบออกไปอีก ไม่ว่าจะปัญหาพ่อแม่ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ปัญหาคนเมือง นักเรียนนักศึกษาที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระยะกลาง: กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีการบริการการรักษาหลากหลายรูปแบบ ส่วนที่สำคัญคือ สายด่วนสุขภาพจิตที่ปีนี้เพิ่มมา 60 คู่สาย มี AI มาช่วยตรวจจับความเสี่ยง มีแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้ประเมินสุขภาพจิต แต่ยังมีอุปสรรคคือ จิตแพทย์มีจำนวนเท่าเดิม สิ่งที่ตามมาคือ จิตแพทย์มีเวลาประเมินอาการคนไข้จำกัดเพราะมีผู้ป่วยรอคิวตรวจอยู่เยอะ หากจิตแพทย์ใช้เวลากับคนไข้น้อยลงส่งผลกระทบการวินิจฉัยโรคได้ เปิดให้บริการเวลาราชการเท่านั้น พอผู้ป่วยมากระจุกในโรงพยาบาลรัฐทำให้เวลานัดหมายพบจิตแพทย์ใช้ระยะเวลานานขึ้น บางคนรอไม่ไหวหยุดการรักษาและหยุดยาเองทำให้อาการผู้ป่วยจิตเวชอาการแย่ลงไปกว่าเดิม บางคนมีอาการดิ่ง รับมือกับอาการไม่ไหวแล้วนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยจิตเวชบางคนที่มีความเสี่ยงต่อการก่อเหตุความรุนแรง ถ้าเขาหลุดออกจากการรักษา อาการกำเริบมากขึ้นก่อเหตุรุนแรงได้มากขึ้น

คนไข้เก่าที่หลุดออกจากระบบการรักษาแล้วกลับทำให้มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้จะมีความพยายามเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์แต่ภายใต้วงเงิน 686 ล้านบาทในระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ทำให้เราผลิตบุคลากรจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาบำบัด เภสัชกรจิตเวช สามารถผลิตรวมแล้วทั้งหมด 590 ต่อปี 

ทางกรมสุขภาพจิตออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า คนไทยที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน แต่มี 3 ล้านคนที่รับการรักษาในระบบสาธารณะสุข แทนที่รัฐจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณผลิตบุคลากรให้มากขึ้นในตอนนี้ แต่เพิกเฉยปัญหาคนไข้รอคิวนาน เข้าถึงบริการไม่ได้ พอจะมาแก้ไขทีหลังต้องใช้เงินที่มากขึ้น นอกจากนี้จิตแพทย์ยังแนะนำว่า มียาจิตเวชอีกหลายตัวควรเอาเข้าในบัญชียาหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย แต่จากการอภิปรายครั้งที่แล้ว ดิฉันยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่จะเอายาที่ใช้กับผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงและยาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป เพราะผู้ป่วยบางคนไม่สามารถใช้ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักได้ ผลข้างเคียงของยาส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเขา ถ้ามีงบประมาณมากขึ้นเราสามารถเอายาที่มีประสิทธิภาพดี มีผลข้างเคียงน้อยเข้าสู่บัญชียาหลักได้ ให้ผู้ป่วยได้ยาที่ดี มีโอกาสหายป่วยจากเดิมเพิ่มมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว: การทำให้ประชาชนเข้าสู่สังคมสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นอกเหนือการผลิตบุคลการทางการแพทย์แล้ว เราควรวางแผนทางด้านอื่นเพื่อส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะการเพิ่มการเข้าถึงบริการ การเพิ่มความตระหนักรู้ ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตให้กับประชาชน นี่เป็นบทบาทและภารกิจสำคัญที่กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนผ่านโครงการขยายผลที่ตั้งขึ้นมา

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า กรมสุขภาพจิตจับปัญหาแล้วเดินมาถูกทางแต่โครงการขยายผลได้รับงบไม่ถึงครึ่งของคำขอ บางโครงการได้ไม่ถึง 1 ส่วน 4 ด้วยซ้ำ โครงการการพัฒนาทีมเยียวยาจิตใจให้มีศักยภาพมากขึ้นเข้าปฏิบัติการเยียวยา ปฐมพยาบาลทางใจในภาวะวิกฤติทันที มีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาบาดแผลทางใจไม่ให้เรื้อรังจนกระทบต่อการรักษา ส่วนโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน เมื่อประชาชนรู้ว่ามีปัญหา โครงการนี้จะช่วยให้รู้ว่า ต้องทำอย่างไรเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่ถูกต้อง ใช้ข้อมูลนั้นดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้ด้วย แล้วยังมีโครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนไทย ภาระงานครูหนักอยู่แล้ว การขยายผลจะทำให้เพื่อนนักเรียนด้วยกันและผู้ปกครองสามารถประเมินตรวจจับสัญญาณอันตรายจากเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพิ่มกำลังคนสอดส่อง ดูแลเด็กทั้งตอนเปิดและปิดเทอม

บุคลากรที่ไม่ใช่จิตแพทย์มีบทบาทส่งเสริม ขยายการเข้าถึงบริการ ให้เป็นบุคลากรด้านหน้า ลดภาระงานของแพทย์ ขยายคอขวดให้คนเยียวยารักษาโรค มีความรู้ทางด้านสุขภาพจิตถูกต้อง ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน แต่มีอยู่โครงการหนึ่งไม่เคยถูกตัดงบเลย เงิน 3,000 กว่าล้านบาทนี้ถูกดึงไปใช้กับโครงการ TO BE NUMBER ONE 100 ล้านบาทกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน 120,000 คน แต่เมื่อลงไปดูรายละเอียดงบประมาณถูกใช้ไปกับการประชาสัมพันธ์ สื่อโทรทัศน์ 35,260,000 บาท สื่อวิทยุ 2,040,000 บาท สื่อหนังสือพิมพ์ 2,040,000 บาท ทำให้ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณเหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ เอาเงินไปถมกับสื่อที่เยาวชนแทบจะไม่ได้ดูเลย สื่อออนไลน์อย่าง Facebook ก็ยังไม่รู้ว่า เยาวชนจะใช้หรือเปล่าซึ่งใช้งบไปเดือนละ 16,440,000 บาท ได้วัดผลสัมฤทธิ์ว่าเป็นยังไง

ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาแล้วสะท้อนมาการจัดสรรงบประมาณที่มากขึ้น จะทำให้สามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลและสิ่งของได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงบกรอกใบประกอบวิชาชีพให้นักกิจกรรมบำบัดหลากหลายประเภทที่จบหลักสูตรแล้วแต่ไม่มีใบประกอบอนุญาตวิชาชีพ นักกิจกรรมบำบัดเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นนักกีดกัน (Gate Keeper) กลั่นกรองคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเล็กๆ น้อยๆ ก่อน ให้คนมีทางเลือกว่า อยากทำกิจกรรมบำบัดแบบไหนแล้วเลือกได้ว่าอันไหนตรงกับปัญหาและความชอบของเขา บางคนสามารถหายจากทำกิจกรรมบำบัดโดยที่ไม่ต้องไปพบแพทย์หรือการพัฒนาหลักสูตร e-Learning มี Training Center เพิ่มความรู้ เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต พัฒนาฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงไร้รอยต่อ พัฒนาระบบ AI ตรวจจับความเสี่ยงการป่วยอยากมีประสิทธิภาพ ให้งบวิจัยกับสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแล้วจะได้มีแนวทางจัดสรรงบปีต่อไป

สิ่งที่อยากนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณางบ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกคือ โครงการที่ควรให้งบเต็มจำนวนตามคำขอที่เป็นโครงการเดิมที่มีอยู่ แล้วให้เขาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามเป้าหมาย และโครงการขยายผลที่จะช่วยยกระดับให้กับประชาชน ประเภทต่อมาคือ โครงการใหม่ที่ควรได้งบเพิ่มซึ่งได้เงินแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าทำโครงการใหม่แล้วดี ปีหน้าดันงบเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ให้เท่ากับโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ไหม แต่ไม่ใช่ตัดลดงบก่อนแล้วบอกว่า ทำได้ไม่ดี

จากการจัดสรรงบประมาณแบบนี้อยากรู้เหมือนกันว่า ท่านประธานจะตอบคำถามประชาชนอย่างไร ท่านบอกว่าอยากกระตุ้นให้มีการเกิดเยอะๆ แล้วมีคุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอด ท่านจะจัดสรรงบตั้งโครงการขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลคุณแม่กลุ่มนี้ไหม ส.ส ฝั่งรัฐบาลของท่านลงพื้นที่ออกข่าวอยากให้มีโครงการ 1 โรงเรียน 1 นักจิตวิทยาแต่ให้งบปีละ 1.6 ล้านบาทผลิตนักจิตวิทยา 80 คนต่อปี กว่านักจิตวิทยาจะครบทุกโรงเรียน วัยรุ่นเหล่านั้นคงกลายเป็นปู่ย่าตาทวดกันหมดแล้ว ท่านจะตอบคำถามลูกหลานของผู้สูงวัยได้อย่างไรที่เคยมีกำลังแล้วทำงานจ่ายภาษีให้ประเทศนี้ มาถึงจุดที่ร่างกายและจิตใจโรยรา รัฐจะดูแลเขาได้ภายได้การจัดสรรงบประมาณแบบนี้ ท่านประธานจะปล่อยเหลือตัวเอง เอาตัวรอดกันเองหรอ ปัจจุบันนี้ภาคประชาชนขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่ บุคคลที่มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ มาพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตโดยให้ข้อมูลโรคจิตเวช การรับมือปัญหากับสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตัวเอง ประชาชนช่วยกันขนาดนี้ รัฐช่วยดันความช่วยเหลือไปกว่านี้ได้ไหม

ผู้ป่วยทุกคนไม่มีใครอยากอยู่สภาวะสิ้นยินดี ไม่ยินดี ยินร้ายกับทุกขณะในการใช้ชีวิตของเขา ไม่มีใครอยากตื่นมาแล้วรู้สึกลมหายใจมันไร้ค่า ไม่มีใครกรีดแขน กรีดขา กรีดตัวเองแต่เพราะเขาเจ็บที่ใจไม่ไหว เขาไม่อยากให้ใจสลายแล้วแตกมันตายไปจากข้างใน เขาเลยต้องเอาความเจ็บปวดไปลงที่อื่น พวกเขาอยากรักตัวเอาให้ได้เท่ากับที่รักคนอื่นแต่จะให้ทำยังไงเมื่อเขากลายเป็นผู้ป่วย พยายามรักษา พยายามจะมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะพวกเขาทุกคนอยากมีความสุขกับการมีตัวตนของเขาบนโลกใบนี้ ดิฉันพูดมาขาดนี้แล้วรัฐช่วยเขาได้ไหม ดึงเขาออกมาจากหลุมดำได้ไหม ช่วยยื่นมือลงไปให้ลึกคว้ากลุ่มนี้ขึ้นมาเห็นแสงสว่างหรือเห็นรัฐบาลที่ยังใส่ใจและอยากดูแลพวกเขาอยู่

โรคจิตเวชไม่ได้เลือกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำ ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศนี้ โรคนี้อาจจะเกิดขึ้นกับท่านรัฐมนตรีและท่านนายก เดินเข้าหาท่านได้ตลอด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับท่านหรือคนใกล้ตัวก็ได้ ถ้าท่านมีคนที่ท่านรัก ประชาชนก็มีคนที่เขารักไม่ต่างอะไรจากท่านเลย แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ท่านมีอำนาจตัดสินใจได้ว่า ปัญหานี้มันสำคัญอย่างไร ท่านจะตั้งใจแก้ไขมันอย่างจริงจังหรือไม่ หากท่านรอให้ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยกลายเป็นภูเขาไฟระเบิดมาทำลายล้างทุกอย่างก่อน ถ้าเดินทางไปถึงวันนั้นจริงๆ มันสายไปแล้ว ต่อให้ท่านมีมือเป็นสิบเป็นร้อยมือ ท่านก็อาจจะไม่สามารถรักษาหรือคว้ามือใครได้