Skip to main content

ภูริวรรธก์ ใจสำราญ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร บางเขน-ท่าแร้ง-สายไหม-จรเข้บัว พรรคก้าวไกล

กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สาม (สมัยวิสามัญ) 20 มิ.ย.67

ท่านประธานครับประเด็นการดูแลผู้ป่วยในภาวะพึ่งพิงระยะยาวและการดูแลแบบประคับประคองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อเราทั้งร่างกายและจิตใจ ผมนั้นอาจจะไม่ใช่แพทย์แต่ดูแลคุณพ่อที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและมีโรคต่างๆ รุมเร้าหลายด้าน เราใช้เวลาเป็นปีอยู่ด้วยกันเพื่อรักษา ซึ่งการรักษานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับผมและครอบครัวเลย เราไม่มีความรู้เรื่องของการดูแลเฉพาะทาง เราไม่ชำนาญในเรื่องของการดูแลแผลกดทับ ซึ่งในขณะนั้นมันใหญ่ขึ้นทุกวัน ทั้งใหญ่ทั้งลึก บางครั้งจนเห็นกระดูก เราไม่รู้ในเรื่องของการทริมเนื้อตายว่าหลังจากการทริมแล้วจะต้องใช้ผ้าก๊อซแบบไหนปิดเข้าไป ผ้าก๊อซมีหลายแบบมีตั้งแต่ราคาถูกจนถึงราคาแพง

นอกจากนั้นแล้วเราก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเราต้องใช้ยาประเภทไหนถึงจะเหมาะกับคุณพ่อ ราคาเราสู้ไหวไหม เราพลิกตัวคุณพ่อดูแลทำความสะอาดเก็บปัสสาวะ อุจจาระและต้องรองรับอารมณ์ในภาวะที่ท่านแปรปรวนจนจุดต่ำสุดของคุณพ่อ ทุกอย่างที่เราคิดในแต่ละวันคือในอนาคตจะต้องเจออะไร เราเข้าออกโรงพยาบาลทุกเดือนกว่าที่ร่างกายคุณพ่อจะทนไม่ไหวและรักษาไม่ได้ พ่อพยายามบอกผมด้วยเสียงดังทั้งที่จริงๆ แล้วมีแค่ท่าทางเพราะว่าที่คอเค้ามีเครื่องช่วยหายใจ ท่อช่วยดูดเสมหะ ในจมูกก็มีท่อสำหรับออกซิเจน มือสองข้างของพ่อเต็มไปด้วยท่อยาต่างๆ บางครั้งก็มองไม่เห็นเส้นเลือดอีกต่อไป

พ่อบอกเสมอว่าอยากให้พากลับบ้านเพราะอย่างน้อยที่บ้านก็เป็นพื้นที่ที่สงบและคุ้นเคย แต่ว่าสุดท้ายพ่อก็ไปอยู่ในไอซียู ห้องที่เต็มไปด้วยข้แจำกัดในเรื่องของขนาดและการเยี่ยม พ่อไม่ได้บอกลาและบอกความรักแก่คนที่พ่ออยากจะบอกครบทุกคน ลมหายใจสุดท้ายก็จากไปในห้องไอซียูกับผมเพียงแค่ลูกคนเดียวเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้เวลาหลับตาก็นึกถึงพ่อเสมอ ที่พ่อพยามบอกว่าอย่างน้อยก็เอากลับบ้านให้พ่อได้ตายที่บ้าน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมคนเดียวแต่มีคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสนคนที่ต้องเจอ หลายคนที่ไม่สามารถรักษาตัวได้เนื่องจากว่าไม่มีเงินก็ต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน แต่ละคนไม่มีจนกระทั่งเอาโซฟามาแทนเตียง แผลกดทับก็ไม่ได้ดูหรือแม้กระทั่งจะได้รับยาที่มีคุณภาพมาก็ไม่ได้เพราะแพงกว่า สิทธิที่มีมันครอบคลุมไม่ถึง ลูกหลานที่เข้าไปช่วยดูแผลกดทับหรือดูแลสุขภาพบางครั้งก็เป็นไปตามเท่าที่ทำได้ บางคนไม่ได้ดูแลตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพราะลูกหลานต้องทำงาน

ไม่ต้องพูดถึงสภาวะสิ่งแวดล้อม ถ้าท่านลงไปดูพื้นที่บางบ้านอากาศถ่ายเทแย่มากๆ เวลาจะไปโรงพยาบาลทีก็ต้องเรียกแท็กซี่ 3-4 คนช่วยกันแบกลงมา บางรายอยู่บนตึก 4-5 ชั้น ทุลักทุเลเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากนั้นการที่จะเรียกรถพยาบาลต่างๆ บางครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ฉะนั้นพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกมากนัก

ในช่วงสุดท้ายของผู้ป่วยและญาติจะต้องเผชิญความเจ็บป่วยนอกจากทนทุกข์อยู่กับโรคแล้วก็ยังต้องทนกับความยากลำบากของสังคมที่ทับซ้อน เราพบว่าโรงพยาบาลจำนวนน้อยมากที่มีการวางแผนให้กับผู้ป่วยกลับบ้านโดยมีบุคลากรต่างๆ มาให้คำแนะนำการดูแลรักษาถึงการดูแลต่อเนื่องว่าต้องเป็นยังไง การเงินเป็นยังไง การเตรียมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นยังไง และรวมถึงการดูแลในเรื่องของการตายและสถานที่การตาย โรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลไม่มีการจัดสรรบุคลากรทางด้านนี้เข้าไป ทุกวันนี้เราต้องเจออะไรบ้างเมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบการที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบให้จำนวนผู้ป่วยในแบบที่ต้องดูแลพึ่งพิงระยะยาวหรือแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุรวมไปถึงคนอายุอื่นเพราะปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยระยะพึ่งพิงประเมินจากระยะสถิติของประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2568 มีประมาณ 686,823 คน แต่งบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัวค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนตั้งเป้าหมายตอนแรกไว้ 334,823 คนแต่ได้รับงบประมาณเพียง 245,648 คนนั่นหมายถึงมีผู้ที่ตกหล่นถึง 89,175 คน ในงบ ปี 2567 มี 2,760 ล้านบาทมีการขอในปี 2568 ไปที่ 3,435 ล้านบาท แต่มติครม. ได้อนุมัติมาใน 2567 เพียงแค่ 2,900 ล้านบาท คำถามที่ตามมาก็คือเราจะมีมาตรการรองรับผู้ป่วยที่ตกจากการตัดงบประมาณอย่างไร

เมื่อการดูแลแบบภาวะพึ่งพิงนั้นไม่พร้อมโอกาสที่ผู้ป่วยต้องหลุดและเข้าไปสู่การดูแลแบบประคับประคองนั้นก็มีมากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจาก Data center ปี 2567 เรามีผู้ป่วยแบบระยะประคับประคอง 229,817 คน แต่คนที่ได้รับการดูแล 152,935 คน โดยใน 2567 ผู้ป่วยได้รับงบประมาณในรายการโฮมวอร์ทมีการเบิกจ่ายรายหัว 9,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 6 เดือนในงบประมาณปี 2568  มีการนำเอาเรื่องการประคับประคองไปใส่ในสถานชีวาภิบาลเพิ่มเหมาจ่ายต่อคนเป็น 10,442 บาท จริงๆแล้วงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นก็ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยที่ตกหล่นจากระบบอยู่ที่ 76,882 คน สะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิดให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อเนื่องในการดูแลภาวะพึ่งพิงและดูแลแบบประคับประคองนั้นลดน้อยลง ทั้งๆ ที่ระบบสองเรื่องนี้มีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างมาก

เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองกับผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองก็จะพบว่า ผู้ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองสามารถลดรายจ่ายได้ถึง 25% หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับดูแลแบบปกติ แต่ถ้าเราได้ดูแลแบบประคับประคองก่อนเสียชีวิต 7 วันหรือล่วงหน้าก่อน 6 เดือนก็มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติพี่น้องในครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างสูง เรามองจากแค่มิติของผู้ป่วยก็ได้ การที่เราได้ดูแลแบบประคับประคองมีงานวิจัยที่บอกว่าเราสามารถทำให้โอกาสเข้าห้องไอซียูนั้นน้อยลง พูดกันง่ายๆ ก็คือ 2 ลด 2 คือการลดความทุกข์ทรมานและลดการรักษาที่ไม่จำเป็น เพิ่มก็คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตในช่วงสุดท้ายและเพิ่มโอกาสผู้ป่วยให้ตายดีในที่ที่ปรารถนา เมื่อมันดีเช่นนี้แล้วและเป็นที่ต้องการของผู้ป่วยทำไมรัฐบาลจึงไม่ค่อยพัฒนาเรื่องนี้มากนักทั้งทั้งที่ในแต่ละเดือนมีผู้ป่วยในประเทศนี้ค่อนข้างมาก

เราเคยลองไปดูพื้นที่เยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสิรินธรผู้ป่วยที่ต้องการได้รับการดูแลแบบประคับประคองมีเฉลี่ยแล้ว 70 คนต่อเดือน แต่ท่านลองทายดูว่ามีหมอกี่คน สรุปแล้วคนเดียวแล้วจะเป็นยอดรวมเท่าไหร่ถ้าเราเอาผู้ป่วยรวมจากโรงพยาบาลทั้งประเทศไทย แต่ก่อนใช้เกณฑ์ประมาณประชากร 5,000 คนต่อหมอหนึ่งคนและพยาบาลหนึ่งคน ปัจจุบันเพิ่มเข้าไปเป็นประชากร 10,000 คนต่อหมอหนึ่งคนและพยาบาลหนึ่งคน ซึ่งน้อยจริงๆสำหรับเกณฑ์ในการดูแลผู้ป่วยพึ่งพิงและผู้ป่วยประคับประคอง

โรงพยาบาลที่มีขนาด200 เตียงควรจะมีหมอที่ดูแลแบบประคับประคอง3-4 คนมีพยาบาล 2.5 ถึง 4 คน ขอยกตัวอย่างในเขตผม บางเขนมีประชากรตามทะเบียนบ้าน 180,000 ถึง 190,000 คน หากรวมกับประชากรแฝงก็จะพุ่งไปถึง 300,000 คนจริงๆแล้วถ้าเราวัดเกณฑ์ก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คน เวลาเราไปดูที่ศูนย์สาธารณสุขเรามีเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 15 คน 7 คนอยู่ที่คลินิก 8 คนอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนซึ่ง 8 คนนี้ทำหน้าที่ประสานระหว่างโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลชุมชนต่างๆไปกับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลแบบพึ่งพิงหรือแบบประคับประคอง

หมอและพยาบาลที่จบออกมาในด้าน long term care ผลิตออกมาปีละ 10 ท่านเท่านั้นจาก 5 สถาบัน เช่น จุฬา รามา ขอนแก่น ศิริราช เชียงใหม่เป็นต้น ในขณะที่พยาบาลจบเยอะกว่าก็จริงแต่ว่าออกมาทำงานไม่ได้เพราะโรงพยาบาลไม่มีแผนกมารองรับ พยาบาลที่จบออกมาได้เงินเดือนของรัฐ 18,000 บาท ไปทำงานเอกชนจะได้เพิ่มเป็น 30,000 บาท

เมื่อบุคลากรอย่างหมอและพยาบาลไม่พอแต่หัวใจการรักษาแบบประคับประคองและแบบพึ่งพิงระยะยาวอยู่ที่การเอาผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้าน ดังนั้น Care giver จึงเป็นตัวเชื่อมหรือฟันเฟืองที่สำคัญในการดูแลทางด้านนี้ ในต่างจังหวัดคนนิยมที่จะเอาผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้านเพราะอยากจะให้ลูกหลานหรือคนอยู่ในบ้านหรือในชุมชนช่วยกันดูแล กลุ่มนี้ต้องการเพียงแค่ยาและต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอพร้อมที่จะกลับไปที่โรงพยาบาลตามที่หมอนัด

แต่คนที่อยู่ในชุมชนเมืองบุคคลเหล่านี้ต้องการที่จะเอาผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลมากกว่าเพราะมีปัจจัย เช่นเรื่องเวลาและการแข่งขันในการทำงาน เรื่องของเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องค่านิยมคนในเมืองมีค่านิยมที่บุตรหลานหรือคนดูแลจะต้องแสดงความกตัญญูมากที่สุด เอาผู้มีพระคุณไว้ในโรงพยาบาลมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กลุ่มเหล่านี้ก็เลยต้องการเรื่องของหมอ พยาบาลและชีวาภิบาลที่อยู่ใกล้ๆ หรือแม้กระทั่งเนอร์สซิ่งแคร์ของเอกชน เมื่อ Care giver เป็นกำลังคนที่สำคัญในระบบดังนั้นการทำให้มีมาตรฐานในการดูแลเป็นเรื่องสำคัญ

ทุกวันนี้เรามี อสส.และ อสม. คือทำหน้าที่ผ่านงบประมาณบริการสาธารณสุขของสาธารณสุข ในปี 2568 ได้งบประมาณตามที่ขอไปคือ 25,877 ล้านบาท จ่ายตรงลงไปไปยัง อสส.และ อสม.นอกจากนี้แคได้งบของ สปสช.รายเคสเคสละ 50 บาท บางเคสได้เป็นรายชั่วโมงคือชั่วโมงละ 50 บาทหรือบางพื้นที่จ่ายเป็นเหมา 1,000 ถึง 1,500 บาทแต่ก็พบปัญหาในการเบิกจ่ายเพราะขั้นตอนต่างๆของ สปสช.มีการกำหนดเอกสารค่อนข้างเยอะ เวลาก็ค่อนข้างจำกัด มีข้อจำกัดทำให้หลายคนตัดสินใจไม่เบิก ตัวชี้วัดอยู่ที่จำนวนผู้ป่วยที่เลือกรับบริการอยู่ที่บ้านเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 5 การตั้งตัวชี้วัดต่ำแบบนี้เกิดจากการที่บุคลากรไม่เพียงพอ ชีวภิบาลไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็เลยทำให้คนตัดสินใจไม่กลับไปอยู่ที่บ้าน ก็ต้องยอมรับว่าอสส.และอสม.มีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของเวลา ด้วยความเป็นอาสาก็ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มเวลา ในขณะเดียวกันเรื่องของอายุ ความรู้และการดูแลแบบพึ่งพิงและแบบประคับประคองก็มีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้การบริการก็ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการ อบรม 60 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการนั่งฟังหลักการคร่าวๆ ภาคปฏิบัติหรือเวิร์คช็อปยังน้อยมาก

เมื่อปัญหาอยู่ที่ความเชื่อมั่นความรู้ ความเข้าใจ จึงต้องมองว่ารัฐบาลนั้นมีนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เรามาดูในแผนงบประมาณ 2568 มีโครงการที่เกี่ยวข้องการพัฒนาศักยภาพของ อสส.และ อสม. ส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้มีแนวโน้มในการถูกปรับลดงบประมาณ โครงการพัฒนาศักยภาพและบริการส่งเสริมคุณภาพประชาชนทุกกลุ่มวัยโดยกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขขอไป  1,274 ล้านบาทแต่ก็ปรับลดลงมาเหลือ 153 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีหลายตัวชี้วัดโดยเรื่องการดูแลระยะยาวเป็นแค่ตัวหนึ่ง หรือโครงการอย่างองค์ความรู้สุขภาพได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขขอ 7,590 ล้านบาทแต่ถูกปรับลดลงมาที่ 2,761 ล้านบาท ซึ่งจริงๆแล้วส่วนใหญ่เป็นงบลงทุน ส่วนที่เป็นโครงการในการสนับสนุนด้านวิชาการนั้นมีเพียงแค่ 13 ล้านบาท งบประมาณที่ถูกจำกัดเหล่านี้เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย กลายเป็นว่าเราไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้และไม่สามารถทำให้เขาได้ทำงานหน้าที่ได้อย่างเต็มเวลา เราไม่สามารถเพิ่มกรอบในการทำให้เขาได้ทำงานในหลายมิติ ไม่สามารถทำให้เขาก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างเต็มที่อย่างมีศักดิ์ศรี

นอกจากงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรแล้วในเรื่องของอุปกรณ์และสถานที่ต่างๆในการดูแลพึ่งพิงแบบประคับประคองก็ยังไม่ได้ครอบคลุม สำนักงานปลัดกระทรวงธารณสุขมีแผนการขับเคลื่อนสถาบันชีวาภิบาลงบประมาณ 339 ล้านบาทในส่วนครุภัณฑ์มีถึง 40 ล้านบาทบางอย่างก็ไม่สามารถเบิกได้ตามค่าเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.ซึ่งผู้ป่วยนั้นออกต้องเงินซื้อเอง เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน รถเข็น เตียงผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้นั้นยากมากๆโครงการอย่างการยกระดับการคุ้มครองสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงภายใต้การดำเนินการโดยสถานชีวาภิบาลประเทศไทยจากที่ขอไป 71.85 ล้านบาทลดลงถึง 20.92 ล้านบาท

กล่าวมาจนถึงตรงนี้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพึ่งพิงและการดูแลประคับประคองนั้นแนวโน้มทุกอันลดลงหมด จริงอยู่ที่ท่านบอกว่างบเหมารายหัวสูงขึ้น แต่ก็สูงขึ้นและมีคนที่ตกหล่นจากงบประมาณเช่นเดียวกัน บางอัน เช่น งบประมาณดูแลดูแลประคับประคองหากจะจำเพาะเจาะจงลงไปแยกออกจากผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยสิ่งเสพติดและจิตเวชก็จะทำให้งานด้านนี้ค่อนข้างเป็นไปในแบบเฉพาะด้านมากขึ้น ขณะเดียวกันการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยสิ่งเสพติดมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันออกไป ท่านเอามารวมกันแบบนี้มันจะทำให้การดูแลของแต่ละประเภทมันลดด้อยลงไป

ประเด็นต่อมาเรื่องของการสร้างชีวาภิบาลในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนหากไม่มีการเสริมแพทย์และโรงพยาบาลเลย ใครจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับรพสต. ใครจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับชีวาภิบาลชุมชน ถ้าท่านมองว่าต้องกระจายไปในทุกอำเภอ ทุกตำบลภายในปี 2570 จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อท่านวางจัดสรรกำลังคนให้เพียงพอ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อท่านพัฒนาองค์ความรู้ของอาสาสมัครเหล่านี้ให้พร้อมหรือแม้กระทั่งกุฎิชีวาภิบาลท่านได้สรุปไปสั้นๆ แทนที่จะส่งเสริมพระให้มีศักยภาพในการพระธรรมวินัยจากโรงพยาบาลพี่เลี้ยง มีแม่ขายประสานการทำงาน แต่ท่านมองภาพเป็นแบบ Quick win เท่านั้นแต่ไม่ได้ศึกษาข้อจำกัดของวัดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทุกที่และไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ที่พระยินดีจะเป็น Care giver จริงๆอาจจะมีน้อยก็ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรจะเรียนรู้และมองหาช่องว่างเพื่อแก้ปัญหาไขอุปสรรคมากกว่าที่จะเอากรอบของสถานพยาบาลมาลงในวัด ซึ่งบริบทมันไม่เหมือนกันเลย แน่นอนว่าเวลาเป็นนโยบายวัดก็อาจจะตอบรับร่วมโครงการนั้นนั้นแต่เมื่อปฏิบัติไปตามจริงวัดอาจจะทำได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ค่อนข้างเยอะ

ต่อมาเป็นประเด็นเรื่องของการขาดแคลนอุปกรณ์ พรรคก้าวไกลเสนอการเกิดธนาคารอุปกรณ์ให้เกิดการยืมอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่บ้าน เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน รถเข็น เตียงผู้ป่วยโดยให้  รพสต.เป็นผู้บริหารจัดการธนาคารอุปกรณ์ เป็นผู้จัดซื้อ ในขณะเดียวกันก็รับบริจาคจากประชาชน และเอกชนและบริหารให้เกิดประโยชน์ พรรคก้าวไกลสนับสนุนและยินดีอย่างมากในการตอบรับรัฐบาลชีวาภิบาลจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้เข้าดูแลผู้สูงอายุและผู้ผู้ป่วยบอบบางกลุ่มอื่นด้วยและเพิ่มบทบาทนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพเข้ามาช่วยทุกกลุ่มให้ได้มากยิ่งขึ้น

ท่านประธานครับเดินทางมาถึงสุดท้ายแล้วครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านที่นั่งในที่นี้มีทุนทรัพย์ มีความสามารถในการดูแลญาติญาติพี่น้องของท่านได้ แต่นอกห้องนี้มีอีกเป็น 100,000 คน เป็น 1,000,000 คน ไม่สามารถสู้ได้ ต้องอดทนไปตามสภาพแล้วคาดหมายให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดเลิกเพิกเฉยต่อการสายงานในการดูแลพึ่งพิงและดูแลประคับประคอง ถ้าไม่เริ่มตอนนี้เราจะไม่สามารถรับมือสังคมสูงวัยในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป