Skip to main content

กิตติภณ ปานพรหมมาศ

สมาชิกผู้แทนราษฎร จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล

กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 (สมัยวิสามัญ)

วันนี้ผมจะขออธิบายรายจ่ายร่างพ.ร.บ.ประจำปี 2568 ในส่วนการจัดสวัสดิการสำหรับผู้พิการการ ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าภาพหลักที่ดูแลเรื่องนี้

เมื่อเราพูดถึงการจัดสวัสดิการสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง จุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็นก็คือควรทำให้พวกเขาเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้ภายใต้การดำรงชีวิตอิสระ (Independent living) ลดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ลดอุปสรรคทางสังคม อำนวยความสะดวกให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในแบบที่ไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกวันนี้มีหลายประเทศ เช่น เกาหลีหรือญี่ปุ่นก็สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยรัฐมีหน้าที่ในการอุดหนุนสวัสดิการแต่ละด้านให้เพียงพอ

ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลไทยก็ควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายนี้เช่นเดียวกัน การจัดสวัสดิการให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอิสระ รัฐบาลควรจัดสรรสวัสดิการเป็นสองรูปแบบ

คือ 1.การเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นตัวเงิน เพื่อช่วยเหลือและเป็นต้นทุนในการดำรงชีพ ของกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ที่มีภาระสูงกว่าคนทั่วไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพหรือการเดินทาง เป็นต้น

2. เพิ่มการอุดหนุนสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การจัดหากายอุปกรณ์ที่จำเป็น สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ผู้ดูแล จนไปถึงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย

แต่เมื่อผมเห็นการจัดสรรงบประมาณในพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ก็พบว่าการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้นั้นมีอยู่อย่างจำกัดและวิกฤตเป็นอย่างมาก ไม่เพียงพอ ไม่ถ้วนหน้าและที่สำคัญที่สุด การสะท้อนแนวคิดของรัฐที่มองสวัสดิการเป็นการจัดสังคมสงเคราะห์ อนาถา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่มีอุปสรรคจริงๆ เงินอุดหนุนส่วนนี้รัฐบาลรับรู้มาตลอดว่าไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี แต่รัฐบาลก็รับปากกับภาคประชาชน ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมหรือพีมูฟ ที่มีคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มสวัสดิการเพื่อกลุ่มเปราะบาง

โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็มีมติจากคณะกรรมการที่มีรองนายกฯ รัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชชัย เป็นประธาน เห็นชอบที่จะเพิ่มสวัสดิการกลุ่มผู้เปราะบาง เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท เบี้ยความพิการ 800 เป็น 1,000 บาท แม้มติออกมาแล้วแต่ร่างปีงบประมาณนี้ ผมกลับยังไม่เห็นการเพิ่มงบสวัสดิการถ้วนหน้าตามที่รัฐบาลสัญญาไว้เลย ไม่มีแม้แต่คำขอของหน่วยงานด้วยซ้ำ แล้วอะไรคือความหมายของมติคณะกรรมการ

ทั้งนี้แม้ในส่วนของสวัสดิการที่ตัวเงินจะยังไม่เพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยผมก็คาดหวังว่าสวัสดิการในส่วนอื่น ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น แต่ดูแล้วก็คงจะไม่ใช่

ประเด็นงบประมาณของผู้พิการ จากข้อมูลของการสำรวจคนพิการในปี 2566 ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 4.2 ล้านคน หนึ่งในนั้นคนพิการที่อยู่ในระดับความยากจน จะต้องรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ดูแล กายอุปกรณ์ รวมไปถึงการพัฒนา ศักยภาพอย่างเช่นการมีงานทำ กว่า 1.54 ล้านคน

ผมอยากชวนคนในสังคมมองปัญหาของผู้พิการแบบนี้ ในขณะที่พวกเราให้กำลังใจคนพิการเพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับความพิการ เราควรหันกลับมาดูว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลมีมายาคติอย่างไรกันกับคนพิการ

สุดท้ายแล้วงบปี 68 นี้ ก็ไม่ได้มีงบประมาณที่มากเพียงพอ ที่จะอุดหนุนให้มากเพียงพอต่อความต้องการของคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นงบอุดหนุนส่งเสริมสวัสดิภาพการเข้าถึงสิทธิคนพิการ ที่เป็นเงินอุดหนุนบริการที่จำเป็น เช่น ล่ามภาษามือ กายอุปกรณ์ รวมถึงผู้ช่วยคนพิการ แม้ในปี 68 จะเพิ่มขึ้น แต่พบว่าในปี 67 ถูกปรับลดลง กว่าร้อยละ 33 ในเกือบทุกรายการ นั่นก็แปลว่างบที่เพิ่มขึ้นมา ก็อยู่ในระดับเดิมกับปีก่อน คือได้รับจัดสรรตามสภาพเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของผู้พิการ แล้วท่านจะลดอุปสรรคของผู้พิการได้อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นงบล่ามภาษามือ ที่ท่านรัฐมนตรี วราวุธ ศิลปอาชา เคยออกมาชี้แจงไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤตขาดแคลล่ามภาษามือ ซึ่งผมก็ ไปดูสถิติ เรามีคนพิการทางการได้ยินมากกว่า 420,000 คน ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐมนตรีเคยบอกว่า บริการที่เหมาะสมคือหนึ่งต่อ 10 หากมีการตั้งเป้าหมายแบบนั้นเราควรมีล่ามภาษามืออย่างน้อย 42,000 คน แต่แต่ปัจจุบันเรามี 178 คนเท่านั้น หรือถ้าไม่มีการเพิ่มสัดส่วนของล่ามภาษามือ อย่างน้อยเราก็ควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดอุปสรรคในการสื่อสาร เผื่อจะได้ลดสัดส่วนในการต้องพึ่งพิงล่ามภาษามือ แต่งบประมาณที่ท่านจัดมา ที่จะมีการพัฒนาล่ามภาษามือเอไอ หรือการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนตามที่ท่านพูดก็ยังไม่มี

หากเราดูการจัดงบประมาณในปีที่ผ่านมา 1.8 ล้านบาท สำหรับล่ามภาษามือก็นับว่าท่านไม่ได้ใส่ใจในการแก้ปัญหาเรื่องล่ามภาษามือแม้แต่น้อย

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้พิการเลย จากข่าวล่าสุดคนตาบอดไม่สามารถจองสลากผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังได้ เพราะตัวแอพก่อนกดยืนยันคำสั่งซื้อ จะต้องมีจิ๊กซอว์ให้ใช้นิ้วลาก ตลกร้ายครับท่านประธาน คนตาบอดที่ไหนจะทำได้ เหตุผลนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่เราไม่ได้มีเทคโนโลยีเพื่อมารองรับคนพิการอย่างชัดเจน

ในประเด็นต่อมาคือเรื่องผู้ช่วยคนพิการ รัฐบาลชุดนี้มีการให้งบประมาณเพียง 6.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับความต้องการแล้ว ที่มีคนพิการต้องการกว่า 2.4 แสนคน ไม่เพียงพอต่อความต้องการแน่นอน เพราะเรื่องนี้จำเป็นจริงๆ คนพิการต้องไปโรงพยาบาล ติดต่อสถานที่ราชการ เราจะช่วยเหลือคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

และในส่วนของกายอุปกรณ์ ปีนี้ได้รับจัดสรรมา 4.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของงบศูนย์บริการคนพิการ แต่ก็ยังมีผู้ตกหล่นที่ไม่ได้รับกายอุปกรณ์ กว่า 6.9 แสนราย พวกเขาต้องการกายอุปกรณ์ที่หลากหลาย แต่อยู่ที่ไหนล่ะครับงบประมาณเพื่อสนับสนุนในจุดนี้ หรือว่าอยู่ในงบของ สปสช. ก็ช่วยชี้แจงทีว่ามันครอบคลุมหรือไม่

และที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็น ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในหมวดสิทธิสวัสดิการหมวดเครื่องช่วยความพิการ ผมกลับเห็นเพียงข้อมูลของการขอรับบริจาค อันนี้เป็นเพียงเงื่อนไขและวิธีการในการขอรับกายอุปกรณ์ ท่านประธานลองคิดดูว่าหากตัวท่านเองหรือท่านมีญาติครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเข้ามาดู จะต้องรู้สึกอย่างไร ที่หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่หรือให้การสนับสนุนแนะนำ กลับขอการสงเคราะห์อุปกรณ์จากเราแทน มันแปลกไหมครับ

ต่อมาคือเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ก็ยังตั้งมาไม่เพียงพอ ไม่ตรงจุดเป็นอย่างยิ่ง เงินอุดหนุนสำหรับการปรับบ้านคนพิการ งบจัดสรรอยู่ที่ 162 ล้านบาทโดยเป้าหมายคือ 15,000 ราย หารแล้วจะตกเพียง 10,000 บาทต่อหลังเท่านั้น ในทางปฏิบัติพอๆจะให้งบในการซ่อมแซม 40,000 บาท นั่นก็แสดงว่าเป้าหมายจะลดเหลือเพียง 4,000 คนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงมีความต้องการอยู่ 1,150,000 ราย ทำกี่ปีถึงจะเพียงพอ

ในส่วนงบผู้สูงอายุก็เช่นกัน ได้รับจัดสรรอยู่ที่ 13,000 ราย จากความต้องการจริงกว่าล้านคน และจากงบประมาณการซ่อมแซมทั้งสองโครงการนี้ ก็เลยมีคำถามว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น ได้ตัวเลขชี้วัมาจากไหน วัดจากงบประมาณที่ใช้ทั้งก้อน เหลือคิดจากกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะเป็นกันแน่

นี่ยังไม่นับว่างบประมาณ 40,000 บาทที่น้อยเหลือเกินของทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ ทุกวันนี้ อปท. หลายแห่งรับงบประมาณไป วัสดุก็ไม่เพียงพอ ระเบียบก็ให้ค่าแรงไว้ประมาณ 30% สุดท้ายตั้งกันจริง 10% บ้าง หรือทำฟรีก็มีเพราะงบประมาณมันไม่เพียงพอ  ล่าสุดรัฐมนตรีก็มีแนวคิดว่าจะผลักดันให้เป็น 60,000 บาท ซึ่งผมก็เคยอภิปรายไว้ในงบประมาณ ปี 67 เช่นกัน แต่มันจะมากี่โม แนวคิดเหล่านี้จะตอบโจทย์แค่ไหนกันเชียว

เพราะถึงงบประมาณจะเพิ่มขึ้น หลักเกณฑ์ก็ยังมีอุปสรรค เพราะกลุ่มเปราะบางจะต้องมีเอกสิทธิในที่ดิน หรือเป็นเจ้าของนั่นเอง แบบนั้นจะเป็นความจริงได้อย่างไร เพราะกลุ่มเปราะบางล้วนก็ไม่ได้มีกรรมสิทธิในที่ดิน ดังนั้นควรจะมีเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นหรือไม่ เช่น คนยากจนที่อยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลานาน อปท. รู้เรื่องนี้ดี ให้สามารถเข้าไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้จะดีกว่าไหม โครงการนี้ควรให้อปท.สะท้อนความต้องการความเป็นจริง ให้งบประมาณซ่อมแซมในแต่ละหลังไม่เท่ากัน และผมก็คาดหวังว่าจะเห็นการปรับปรุงโครงสร้างงบประมาณนี้เช่นกัน

สุดท้ายคือเรื่องครอบครัวอุปถัมภ์อุปการะ ทั้งสองโครงการมีความคล้ายคลึงกันระหว่างคนพิการและผู้สูงอายุ เป้าหมายก็เช่นเดียวกันคือการหาครอบครัวมาดูแล แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดจะพบปัญหามากกว่านั้น อย่างกรณีครอบครัวคนพิการ ที่จะมีระเบียบเรื่องผู้รับอุปการะจะต้องมีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี หรือจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยนั่นเอง ทั้งที่จริงเราควรจะหาคนที่มีความพร้อมหรือมีความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้พิการ จะดีกว่าหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นจะยิ่งซ้ำเติมต่อประเด็นเรื่องการหาผู้อุปการะ และคุณภาพชีวิตของผู้พิการก็จะไม่ได้ดีขึ้นเลย ยังไม่นับงบประมาณที่น้อยลง จาก 48 ล้าน เหลือเพียง 24 ล้าน

และพอมาดูครอบครัวอุปถัมภ์ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เป้าหมายที่ตั้งในปีนี้คือ 119 ราย ลดจากปีก่อนที่กว่า 1,000 ราย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่มีผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแล 1.5 ล้านคน โดยผมได้สอบถามจากอนุกรรมกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ปี 68 จึงได้ทราบว่าโครงการดังกล่าว ก็ทำเพื่อชะลอการเข้าสู่สถานสงเคราะห์ของรัฐเพียงเท่านั้น เรื่องนี้แสดงให้เห็นได้ว่า งบประมาณของกระทรวง พม.นั้น ไม่ได้ตั้งต้นจากความต้องการของผู้เปราะบางอย่างแท้จริง แต่เป็นการทำเพื่อลดปัญหาหน้างานของหน่วยงานตัวเอง ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องสถานสงเคราะห์ จึงไม่แปลกที่จังหวัดนครปฐมของผม มีผู้ไปสมัครมากกว่า 400 ราย แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 15 รายเท่านั้น ทั้งที่เข้าเกณฑ์กันเป็นจำนวนมาก

จากที่ผมอธิบายมาข้างต้น เรียกได้ว่าการจัดงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น หากอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเดิมๆ ถึงงบประมาณที่เท่ากันทุกปี ทำไปตามภาระของหน่วยงาน หน่วยงานก็จะเน้นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเอง และไม่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เปราะบางได้จริงเลย และหากเป็นแบบนั้นก็จะเกิดภาพที่ผมชี้ให้เห็นเมื่อสักครู่ ไม่ว่าจะเป็นการกรมมาขอบริจาคกายอุปกรณ์ โครงการยังครอบครัวอุปถัมภ์อุปการะ ที่แก้ปัญหาอย่างลูบหน้าปะจมูกของหน่วยงานยิ่งซ้ำเติมความขาดแคลนของครัวเรือนที่ยากจน และมีปัญหาซ้ำซ้อนอยู่แล้ว ดูเหมือนว่างบประมาณที่เพิ่มก็อาจจะไม่เพียงพอ โครงการเหล่านี้ควรย้ายงบประมาณไปให้ส่วนท้องถิ่นที่ได้ดูแลจริงอย่างใกล้ชิดได้มีโอกาสตัดสินใจเอง จะสามารถได้ดูแลอย่างทั่วถึง มากกว่าแบบเป็นจุด และหากสนับสนุนงบประมาณที่มากพอควบคู่กับงบของ สปสช. อปท.ก็จะสามารถมีหน่วยสถานพยาบาลตำบลที่มีคุณภาพ เราอาจจะประหยัดงบประมาณต่อหัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงงบประมาณที่อยู่อาศัย ให้ท้องที่ได้ดูแล ก็อาจจะตรงต่อความต้องการมากขึ้น เช่น เอาไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุและผู้พิการ

สุดท้ายผมอยากเห็นว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ที่ต้องมีภาระในการจัดงบประมาณ มากำกับดูแลให้คำปรึกษาท้องถิ่นเพื่อการบริการได้อย่างถูกต้องหรือฝึกอบรมล่ามภาษามือให้มีมากขึ้น หรือส่งเสริมเทคโนโลยีเทคโนโลยีเพื่อลดอุปสรรค ให้เกิดการดำรงชีวิตอิสระเพื่อผู้พิการผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางได้เกิดการดำรงชีวิตอิสระขึ้นจริง ส่วนการจัดสวัสดิการในปี 2568 นั้นรัฐบาลก็ยังยังคงเพิกเฉยจัดงบประมาณแบบโนโนสนโนแคร์จริงๆ ไม่เห็นความสำคัญของคนพิการ ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง และการจัดงบสวัสดิการแบบอนาถาที่ไม่แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงแบบนี้เหมือนท่านกำลังซ้ำเติมพวกเขาอยู่ท่านไม่รู้จริงๆหรือไม่สนใจกันแน่