Skip to main content

คนยกตกบันได ห้ามใช้ผู้ช่วยคนพิการ และอีกหลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือก สว. ระดับอำเภอ

เราตามผู้สมัครคนพิการไปในสังเวียนของการเลือก สว. 2567 ในรอบแรก หรือรอบระดับอำเภอ คนพิการถูกรวมอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ชาติพันธุ์และอัตลักษณ์อื่น ชวนตามดูปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพิการ ทั้งเรื่องของสถานที่และการปฎิบัติที่ไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ จนทำให้เกิดความไม่สะดวก ไปจนถึงเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด

ศิริพร ชี้ทางดี

คนพิการทางร่างกาย

อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ในรอบการสมัคร ศิริพรเดินทางไปสมัครยังอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สิ่งที่พบก็คือบริเวณที่รับสมัครเป็นอาคารสูง 3 ชั้น  จึงต้องให้คนที่มาด้วยเดินขึ้นไปเรียกเจ้าหน้าที่ และมีเจ้าหน้าที่ 1 คนลงมารับสมัคร พอถึงวันเลือกตั้งรอบแรกระดับอำเภอ มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ จากเดิมที่จะใช้บริเวณอาคาร 3 ชั้น เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอสามพรานแทน เราติดตามศิริพรไปก็พบว่าวันนี้อาคารสถานเข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก มีทางลาดและสถานที่กว้างขวาง

ศิริพร: วันนี้ค่อนข้างชิว สถานที่กว้าง แอร์เย็นฉ่ำ มีเจ้าหน้าที่เยอะ ส่วนของกลุ่มพี่ที่มีคนพิการอยู่ด้วยก็คือ กลุ่ม 15 มีคนสมัคร 10 คน แล้วก็ต้องเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน แล้วก็จับฉลาก จาก 5 เหลือ 3 โดยการเลือกไขว้ ตอนนี้ก็เข้าไปติด 1 ใน 3 สู่ระดับจังหวัด หลังจากที่เขาเปลี่ยนสถานที่ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นตึก 3 ชั้น (https://thisable.me/content/2024/05/930) ก็สบายมากขึ้น ในการเลือกวันนี้เป็นการเลือกระดับอำเภอ ปรากฏว่าไม่มีคนพิการมาเลยมีแต่เราคนเดียว ก็ถือว่าน่าผิดหวัง เพราะเราอยากให้คนพิการลงมาเยอะๆ กระทั่งกลุ่มของเราก็มีแต่เราคนเดียวที่เป็นคนพิการ

เข้าคูหาวันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่คอยช่วย เพราะเขาไม่ยอมให้เราเอาผู้ช่วยเข้าไป แม้กระทั่งพี่บอกว่าขอให้ผู้ช่วยเป็นคนเขียนได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้ ต้องให้เราประคอง เราก็เลยพูดกับผู้อำนวยการเลือกตั้งไปว่า แล้วถ้ามันกลายเป็นบัตรเสียจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าก็จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยประคองอยู่ คิดว่าเขาคงไม่เข้าใจบริบทของเรา อาจจะเห็นเราเซ็นชื่อได้ ก็เลยคิดว่าน่าจะสามารถเขียนเลขได้ แต่การเซ็นชื่อมันไม่จำเป็นต้องเป๊ะไง แต่การเขียนเลขไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดมันบิดเบี้ยว เล็กไป ใหญ่ไป เกินกรอบ มันก็ทำให้คะแนนเสียงของเรากลายเป็นบัตรเสียไปเลย โดยเฉพาะนี่เป็นตัวเลขในการเลือกตั้งมันควรจะอ่านออกทันทีว่าเป็นเลขอะไร แต่คือโชคดีว่าเรายังพอใช้สองมือเขียนได้

จริงๆ แล้วเราก็อยากให้คนของเรามาเป็นแขนเป็นมือให้มากกว่า ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่มาทำเพราะเจ้าหน้าที่เขาเป็นหน่วยงานรัฐ โชคดีที่เรายังพอเขียนได้ เพราะช่องมันค่อนข้างใหญ่อยู่ แต่การไม่มีผู้ช่วยก็ทำให้เราเข้าไม่ถึงหลายๆ จุด เช่น เราไม่ได้กินข้าวเพราะไม่มีผู้ช่วย เพราะเราเข้าไปตั้งแต่ 8 โมงเช้าอยู่จนหมดเวลาช่วงเย็น หิวข้าวมาก

เรื่องผู้ช่วยคนพิการมันไม่ได้มีแค่การเข้าไปช่วยเรากาอย่างเดียว มันมีเรื่องการช่วยเหลืออย่างอื่นที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น เรื่องสายเสื้อในเรา อย่างสายเสื้อในมันจะหลุด เราก็รำคาญจะให้คนอื่นมาช่วยก็ยังไงอยู่ เราบอกเขาไปแล้วว่ามีความจำเป็นเรื่องผู้ช่วยอย่างไรตั้งแต่เรื่องการลงคะแนนซึ่งมันสำคัญยิ่งกว่าเรื่องกินข้าวหรือเรื่องสายเสื้อในอีก แต่ประเด็นก็คือเราจะคอยให้ใครก็ไม่รู้มาคอยช่วยเราอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ กกต. คนนั้นเขาอาจจะมาทำหน้าที่อื่น จะให้เขามายืนป้อนข้าวเรา สถานการณ์ตอนนั้นคือเราไปสมัคร สว. แล้วต้องให้คนอื่นมานั่งป้อนข้าว เราก็ไม่โอเค

เขาไม่เข้าใจความพิการว่า คนพิการมีกี่แบบ เขาอาจจะเห็นว่าเราเซ็นชื่อได้ แล้วเราก็น่าจะกาได้ แต่การเซ็นชื่อกับการกากบาทไม่เหมือนกัน เขียนตัวเลขก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมันต้องชัดเจน ถ้าเป็นบัตรเสียใครรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเรื่องผู้ช่วยคนพิการจึงสำคัญสำหรับคนพิการโดยเฉพาะคนพิการทางร่างกาย เราก็ควรมีผู้ช่วยมาคอยเป็นมือ และเท้าแทนเรา

อดิศักดิ์ พาพรชัย

คนพิการทางร่างกาย

อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

อดิศักดิ์เป็นคนพิการทางร่างกายรุนแรง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยคนพิการ ในรอบสมัครเขาลงสมัครในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยอาคารที่เฝไปสมัครมีการยกสูงจึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการเข้ามาช่วยยกหลายคน แม้ในวันเลือกระดับอำเภอก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีความจำเป็นต้องใช้สถานที่เดิม เขาเล่าให้ฟังถึงตอนที่ต้องถูกยกขึ้นไปบนอาคาร ด้วยส่วนสูง 190 เซนติเมตร และน้ำหนักที่มากของเขาทั้งคนและรถสัมผัสได้ว่าผู้ที่ช่วยเหลือมีความลำบากในการยก เขายืนยันว่าการมีทางลาดจะทำให้ปัญหานี้ไม่เกิด

อดิศักดิ์ : เรามีประสบการณ์ตั้งแต่ตอนที่ไปสมัครแล้ว แต่เมื่อวานวันที่ไปลงคะแนน เขาก็บอกว่าเตรียมตัวมาดี มีคนมายกหลายคน ซึ่งโอ้โหเรารู้เลยว่าเขามือสั่นตอนยก แม้ว่าบันไดมันจะแค่ 6-7 ขั้นแต่มันสั้นแล้วก็ชันมาก ทำให้เวลาเคลื่อนย้ายเหยียบได้ไม่เต็มเท้าสักเท่าไหร่ พอมันสั้นก็เลยเดินค่อนข้างลำบาก แล้วคนที่มายกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการยก เขาก็ยกแบบไม่ได้คุยกัน น้ำหนักมันก็ต่างกัน ก็เลยเกิดความทุลักทุเลพอสมควร

วันที่ไปสมัครก็แจ้งเขาไปแล้วว่าน่าจะทำเฉพาะกิจไปก็ได้ ทำเป็นทางลาดแบบอ๊อกเหล็กมาแล้วพาดกับขั้นบันไดก็ขึ้นง่าย แต่เขาบอกว่า กกต. แจ้งมาแล้วว่าจะเอาสถานที่นี้ แล้วก็จะหาคนมาช่วยยก ซึ่งคนออกคำสั่งเขาก็ไม่ได้มายก หลังมันเสียจริงๆ นะ คนกับรถรวมกัน 150 กิโล แถมไม่ได้ยกในท่าถนัดและสบาย รถเข็นก็ไม่ใช่จะยกง่าย จุดที่จับเพื่อยกก็ไม่ได้อยู่สูง แต่อยู่ต่ำ เขาก็ต้องก้มลงไปมากเพื่อยก ซึ่งมันอันตราย

ลองคิดดูนะว่าถ้าเกิดเวลาเขายกแล้วมีใครคนนึงไม่ไหว แล้วขาทรุดขึ้นมาทีนี้ก็อาจจะล้มกันไปได้ทุกคนเลย รวมทั้งตัวคนพิการด้วย เจ็บทุกฝ่ายซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้ใครมาเจ็บเพราะเรา ถ้ามันมีทางลาดทางขึ้นที่ดีก็จะปลอดภัยมากกว่านี้

เช้าเราไปถึงประมาณแปดโมง แล้วก็ต้องรอเวลาจนกว่าจะเก้าโมง แล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เราอยู่ในกลุ่ม 15 คือกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ แต่รอบแรกที่เราเข้าไปเราไม่ต้องเลือก เนื่องจากจำนวนไม่ถึง ถ้ากลุ่มไหนเกินเขาก็ให้เลือกเหลือแค่ 5 คน แต่เราไม่ต้องเลือกเพราะว่าเรามีแค่ 4 คน พอถึงรอบไขว้ก็ต้องใช้ผู้ช่วย ซึ่งหน่วยของเราสามารถให้ผู้ช่วยเข้าไปได้ โดยมีการให้เซ็นยินยอมว่าใครเป็นคนที่ได้รับอนุญาตจากคนพิการ ทำบันทึกลายลักษณ์อักษร ว่าเราให้คนๆ นี้เข้าคูหาไปกับเรา แล้วก็มีพยานเพิ่มเติมด้วย นั่นก็คือเจ้าหน้าที่ กกต. กับคนที่ลงสมัครในกลุ่มเดียวกันอีก 1 คน

ส่วนตอนที่กาเราก็ไปคู่กับผู้ช่วยคนพิการ เข้าไปในคูหาแล้วเขาก็เขียนตามที่เราบอก แล้วเราก็ตรวจดูความเรียบร้อย ผู้ช่วยซึ่งเขาก็เป็นผู้ช่วยเราจริงๆ ก็จะช่วยเราในงานอื่นๆ เช่น การดูแลเรื่องกินข้าว เข้าห้องน้ำ โดยเฉพาะเราที่พิการรุนแรง มันทำอะไรไม่ได้เลยซึ่งมันจำเป็นมากๆ ก็คงลำบากถ้าเขาไม่อนุญาตให้เอาผู้ช่วยเข้าไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปการเลือกตั้งอื่นๆ ก็ควรอนุญาตให้เอาเข้าไปได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีบางครั้งที่เขาไม่อนุญาตแล้วให้ใช้คนของเขา ซึ่งในมุมของคนพิการการเอาคนของตัวเองเข้าไปได้มันสบายใจมากกว่า เพราะมันคือความลับของเรา คะแนนของเรา มันเป็นสิทธิของเรา ถ้าเป็นคนอื่นเราก็ไม่มั่นใจ แต่ถ้ามันเลือกไม่ได้ก็ต้องใช้เพราะดีกว่าเราไม่ได้ใช้สิทธิเลย แต่ถ้าเลือกได้ก็ควรเป็นผู้ช่วยคนพิการของเรา

เรารู้สึกว่าเรื่องทางลาดและเรื่องสถานที่ยังค่อนข้างเป็นปัญหา ถ้ายังยืนยันจะใช้สถานที่ตรงนั้นในการเลือกตั้งก็ควรมีการจัดทำทางลาดสำหรับคนพิการ แล้วคิดว่าก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงเขาเท่าไหร่หรอก อาคารนั้นก็เป็นสถานที่ราชการ ใช้ทำงานได้หลายอย่าง ถ้าเขาทำทางลาดคนที่ได้ใช้ก็ไม่ได้มีแต่คนพิการ ยังมีผู้สูงอายุและคนที่เดินไม่ถนัดที่จะสามารถใช้ทางลาดนี้ได้ ถ้ามีการทำทางลาดวันอื่นมีการประชุมหรือคุยงานที่สำคัญเราก็เข้าไปร่วมประชุมได้ เพราะที่ผ่านมาถ้าไม่ใช่งานใหญ่ขนาดนี้ก็ไม่มีคนมาคอยช่วยยกหรอก เราก็เลยไปร่วมไม่ได้ อย่างน้อยถ้ามันทำถาวรไม่ได้ก็เป็นทางลาดชั่วคราว จะได้ปลอดภัยกับเราและคนที่มาช่วยเราด้วย วันที่ไปสมัครเราก็แจ้งเขาไปแล้ว รวมถึงแนะนำว่าควรจะทำแบบไหนด้วย

เราว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของคนพิการนะ แต่ถ้ามันไม่พร้อมเรื่องสถานที่และการเดินทางเขาก็ไม่ค่อยอยากจะออกไปหรอก ขนาดเราเป็นคนที่พยายามออกไปบ่อยๆ พอเจออะไรแบบนี้ก็รู้สึกว่าไม่อยากออกเหมือนกัน เพราะคนพิการออกไปแล้วก็รู้สึกว่าอันตราย ไม่ปลอดภัย พอคนพิการไม่ออกไปมีส่วนร่วมเราก็ไม่เห็นความเห็นของคนพิการ แม้กระทั่งออกความคิดเห็นก็ยากลำบากคนพิการก็ไม่อยากออกความคิดเห็น แล้วพอไม่มีความเห็นคนพิการ นโยบายสาธารณะ หรือการขับเคลื่อนทางสังคม ก็ไม่มีความเห็นคนพิการ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ไม่เกิด นโยบายที่เขาทำออกมาก็ไม่เข้าใจคนพิการ เพราะเขาไม่ใช่คนพิการ  เขาก็จะช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้ตรงกับความต้องการของคนพิการ

แต่ถ้าคนพิการเข้าไปพูดได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นการสะท้อนปัญหาของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนอื่นเห็นว่าเราต้องการให้คนอื่นช่วยอะไร หรือช่วยแบบไหนจึงจะถูกต้อง มันก็น่าจะตรงประเด็นตอบโจทย์มากกว่า

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

คนพิการทางร่างกาย

อำเภอนครชัยศรี นครปฐม

อรรถพลเป็นคนที่ล้มสมัครในเขตพื้นที่นครชัยศรีจังหวัดนครปฐมเช่นเดียวกัน เขาเห็นปัญหาเรื่องไม่มีทางลาดตั้งแต่วันที่สมัครและพยายามสื่อสารเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จนกระทั่งถึงวันเลือกรอบแรกก็ยังไม่มีท่าทีเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งช่วงขายกลงหลังจากการเลือก ทีมที่มาช่วยยกเกิดเหตุล้มเป็นเหตุให้บาดเจ็บ เขาเล่าให้เราฟังว่าในฐานะที่เป็นคนถูกช่วยเขาไม่สบายใจที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

อรรถพล ​: กระบวนการเขากำหนดว่าให้รายงานตัวตั้งแต่ช่วง 08:00 น. - 09:00 น. พอเราไปถึงเราก็รู้ว่าตรงจุดนี้เป็นสถานที่เดิมกับที่เรามาสมัครครั้งที่แล้ว เป็นศาลาอเนกประสงค์ที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี ซึ่งเรารู้แล้วว่ามันเป็นบันไดไม่มีทางลาดขึ้นประมาณ 4-5 ขั้น เมื่อไปถึงเขามีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยประจำอยู่หน้าจุดด้วยกันหลายคน เค้าก็ช่วยกันยกขึ้นไปใช้คนประมาณ 4 คน ขาขึ้นก็สะดวกดี  อาจจะเป็นเพราะช่วงเช้ายังสดชื่นแข็งแรงกันดีอยู่

ขึ้นไปถึงเราก็เข้าไปรายงานตัว บรรยากาศภายในก็มีการแบ่งพื้นที่สำหรับกลุ่มต่างๆ ซึ่ง อำเภอนครชัยศรีมีอยู่ประมาณ 13 กลุ่ม แต่ละล็อกเค้าจะมีเจ้าหน้าที่ประจำล็อกของตัวเองประจำอยู่ประมาณสามคนเราก็เข้าไปรายงานตัวเพื่อการยืนยัน แล้วก็รอจนถึง 9 โมงเช้า จนกว่าจะถึงเวลาที่กรรมการกำหนดจึงสามารถเข้าสู่ช่วงของการเลือกรอบแรก

เนื่องจากกลุ่มของเราสมาชิกในรอบแรกไม่ถึงเกณฑ์จึงสามารถผ่านเข้ารอบไปได้ เพื่อไปรอในด่านของการเลือกไขว้  ดูบรรยากาศทางเจ้าหน้าที่และผู้สมัครคนอื่นๆด้วย น่าจะมีประมาณ 100 คน ต่างคนก็ต่างทำงานในกลุ่มของตัวเอง

หลังจากการกินข้าวเสร็จก็เป็นการเลือกช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการเลือกไขว้ระหว่างสาย เริ่มต้นด้วยการแบ่งออกเป็นห้าสาย รวมกลุ่มต่างๆเข้าไปในสายนั้นๆ ใช้เวลาพอสมควรเป็นชั่วโมงได้ กว่าจะจัดการเอกสารจนถึงการเลือกเสร็จ เราประเมินว่าโอกาสที่เราจะได้คะแนนน้อยหรือถูกเลือกก็มีอยู่ซึ่งจะต้องเข้ารอบด้วยการจับฉลาก ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ในกลุ่มสี่คนได้คนละหนึ่งคะแนนจึงต้องมีการแบ่งกันเพื่อการจับฉลาก ซึ่งผมก็จับฉลากผ่านเข้ารอบมาได้อย่างเฉียดฉิว ก็ถือว่าเราเข้ามาด้วยคุณสมบัติการจับฉลากผ่าน

ถามว่าในสถานะของผู้พิการที่เข้าสู่กระบวนการเลือกในครั้งนี้ในเรื่องของการดูแลของกกต.ว่าเป็นอย่างไรมีการอำนวยความสะดวกมากน้อยแค่ไหน สำหรับผมผมช่วยเหลือตัวเองได้ ผมคิดว่าผมได้รับการอำนวยความสะดวกที่ค่อนข้างมาก พอสมควรและดีพอสมควร สำหรับเจ้าหน้าที่หน้างาน

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องสถานที่ซึ่งมันมีข้อจำกัดกับคนพิการ ซึ่งผมเคยเสนอแนะและบอกไปยังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่มาสมัครแล้ว ซึ่งกกต.เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว พอวันที่รับสมัครเค้าก็ยังไม่เปลี่ยนให้ ไม่มีห้องน้ำที่มิดชิดหรือห้องน้ำคนพิการ ที่สำคัญคือมีสเต็ปหรือขั้นบันได ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ทันแล้ว แต่ถ้าโอกาสครั้งถัดไป ในการจัดสถานที่เขาควรจะต้องคำนึงเรื่องทางเข้าออก ทางเข้าห้องน้ำ ที่มันเอื้อต่อคนที่มีอุปสรรคทางด้านร่างกายมากขึ้น

คำถามคือทำไมกกต. จะต้องมองเรื่องนี้ นั่นก็คือเพราะมีกลุ่มผู้สมัครที่มีคุณสมบัติซึ่งเป็นกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กรรมการการเลือกตั้งควรจะจะต้องจัดการ เพราะฉะนั้นเค้าก็ควรจะต้องจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้องและเหมาะสม หรือทำตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ด้วยซ้ำ

เราเคยสะท้อนไปว่าถ้าเลือกสถานที่ที่ดี เราเองก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรเจ้าหน้าที่ เพื่อยกผมขึ้นลงประมาณ 4-5 คนหรอก ช่วงเช้าใช้คนยกประมาณ 4 คนซึ่งช่วงเย็นก็ต้องใช้คนจำนวนเท่าเดิม แต่ท่านลองคิดดูว่าถ้ามันเป็นสถานที่ที่เราสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากมีทรัพยากรก็อาจจะใช้แค่คนเดียวหรือไม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ใครเลยก็ได้ เพราะผมเองสามารถเข็นได้ ซึ่งก็มีผู้สมัครที่มีความรุนแรงมากกว่าผมด้วยซ้ำ ถ้าสถานที่มันเอื้ออำนวยเค้าก็สามารถเข็นตัวเองขึ้นมาได้อย่าง สง่าผ่าเผยและสมศักดิ์ศรีอย่างที่เป็นอยู่

ในเรื่องของการยกมุมหนึ่งมันก็จะสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่หน้างานมีการเทคแคร์ดูแลอย่างดีแต่มุมนึงมันก็สะท้อนให้เห็นว่าภาพเหล่านี้ยังเป็นภาพจำที่ติดตาต่อวิธีคิดในเรื่องการทำบุญสงเคราะห์กับผู้พิการรวมถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกลุ่มอัตลักษณ์นั้นๆ

มันก็เป็นการรอเพื่อขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นอยู่ดีซึ่งถ้าสภาวะมันเอื้ออำนวยเค้าก็ลดโอกาสในการขอความช่วยเหลือคนอื่นไปได้มากและถูกมองอย่างด้อยค่า วิธีคิดต่อคนพิการก็จะเปลี่ยนไป เพราะคนพิการเป็นภาระคนอื่นลดน้อยลง และการเกิดอุบัติเหตุมันก็จะเสี่ยงน้อยลงซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมันไม่ได้อันตรายแต่กับคนพิการเท่านั้นเรายังพูดถึงมิติของคนมาช่วยเราด้วย

คิดดูว่าการที่คุณต้องยกตัว คนพิการและรถวีลแชร์ขึ้นพร้อมกันน้ำหนักก็ร่วมๆ  100 กิโล อาจมากกว่านั้นสำหรับคนพิการรุนแรง ฉะนั้นถ้าเกิดการพลาดขึ้นมา มันก็อาจทำให้คนที่ช่วยเหลือเราและตัวเราบาดเจ็บ ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลดีต่อใครเลย พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาตัวผมเองในฐานะของคนที่ถูกช่วยก็รู้สึกผิดด้วยในฐานะที่เป็นคนทำให้คนอื่นเดือดร้อนและบาดเจ็บเพราะว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่พิการแบบนี้คนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเจ็บ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งระดับอำเภอมันเป็นเหตุการณ์ที่ผมไม่อยากให้มันเกิดแต่มันก็เกิดขึ้นนั่นก็คือช่วงขาลง หลังจากเสร็จกระบวนการเลือก ก่อนหน้าผมคนพิการนั่งวีลแชร์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เป็นกลุ่มเดิมยกที่วีลแชร์คนข้างหน้า เต็มไปด้วยความอ่อนล้าของคนที่ทำงานมาทั้งวัน และต้องมายกรถของคนพิการอีกสองคัน ความเหนื่อยล้ามันก็เกิดขึ้นได้ ดีว่าเจ้าหน้าที่ที่คอยประคองด้านหลังของผม และบันไดก็แคบและพอเค้าเหยียบไม่เต็มเท้ามันก็เกิดอุบัติเหตุกลิ้งตกจากบันได

ตอนนั้นผมรู้สึกผิดนะและรู้สึกเป็นห่วงเจ้าหน้าที่คนนั้นมากๆว่าเค้าจะต้องมาเจ็บเพราะผม อีกใจนึงก็รู้สึกโกรธมากด้วยว่าถ้าหน่วยงานที่จัดเรื่องนี้เข้าใจมากพออุบัติเหตุคงไม่เกิดขึ้น

ผมคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ กกต. ยังขาดความใส่ใจในเรื่องของความหลากหลาย ว่ากายภาพของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการเรียนรู้ และความรู้สึกที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะสถานที่นี้กกต. ก็ใช้จัดงานสัมมนาและ การเลือกตั้ง  งานอื่นๆ ของจังหวัด และข้อจำกัดของผู้สูงอายุและคนพิการที่ต้องการมาใช้สิทธิหรือมาเข้ากิจกรรมกับชุมชน

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

คนพิการทางสายตา

เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

วิริยะเป็นหนึ่งในคนตาบอดที่ลงสมัคร สว. ในครั้งนี้ เขาเห็นความไม่สะดวกหลายอย่างในเช่น การจัดการเลือกไม่สามารถพาผู้ช่วยเข้าไปได้ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งของเขา แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะขออภัยในความไม่สะดวกหลายครั้งซึ่งเค้าก็เล่าว่าพอเข้าใจได้ แต่ในรอบระดับจังหวัดเค้าเห็นว่ามีความสำคัญพอสมควรสำหรับผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนตาบอดของเค้าซึ่งก็จะช่วยทั้งในเรื่องของการประสานงาน อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงเข้าคูหาไปเลือกตั้งอีกด้วย

วิริยะ : เราลงอยู่ในกลุ่ม 15 คือกลุ่มคนพิการ  เขตบางกอกน้อย หน้างานเจ้าหน้าที่เขาก็พยายามอำนวยความสะดวกในทุกๆเรื่อง ในขั้นของการเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง เราเองก็มีเลขาที่คอยช่วยอยู่แล้ว เวลาอ่านเอกสารจึงไม่มีปัญหามาก พอได้เอกสารอะไรมาเลขาเค้าก็จะอ่านแล้วก็เล่าให้ฟัง มันก็จะไม่เสียเวลาของผม

แต่วันที่เลือกตั้งเค้าไม่ให้เอาใครเข้าไปเลยเลขาผมก็ต้องอยู่ข้างนอก ผมก็ต้องอยู่ข้างในคนเดียว ทั้งที่จริงแล้วเค้าควรจะให้มีคนอยู่ด้วยกับผมคอยช่วยเหลือผมเวลาอ่านเอกสารหรือทำอะไรจะได้ง่าย เค้าก็บอกว่าให้ใช้คนของเค้าได้ แต่น้องเจ้าหน้าที่เค้าก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้เค้าก็อยู่ติดกับเราตลอดไม่ได้ จะให้เรายกมือตลอดเพื่อเรียกเขาก็ไม่ได้ คนอื่นเค้าก็จะมองเรากลายเป็นภาระอีก เราจะไปพูดคุยกับคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ ทั้งที่จริงแล้วกฎหมายการเลือกตั้งเขาก็ให้เอาเข้าไปได้

เจ้าหน้าที่เค้าก็ขออภัยผมเรื่อยเลยเพราะเค้าก็บอกว่าไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อนมาก่อน เราว่าเค้าเข้าใจเรื่องประเด็นสิทธิคนพิการยังไม่ละเอียดพอ

ช่วงเช้ามันเป็นการเลือกกันภายในสายเดียวกัน ตอนบ่ายเป็นการเลือกไขว้ ตอนเข้าไปในคูหาเจ้าหน้าที่เค้าก็อำนวยความสะดวกให้เลย หมายถึงเขาก็มาพาเราเข้าคูหา เราก็บอกเขาว่าถ้าเป็นการกาเรากาเองได้แต่ถ้าเป็นการเขียนตัวเลขเค้าต้องช่วยเขียนให้ เพราะถ้าเราเขียนผิดนิดหน่อยมันก็จะผิดหมดเลย เค้าก็เลยต้องเขียนให้ ก็ไม่ได้มีพยานอะไร เพราะหลักการเค้าบอกว่าให้ไว้ใจราชการ เพราะเค้าก็ไม่มีเหตุผลว่าจะโกงเราไปทำไม

ผมว่าโดยรวมรอบนี้ยังไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่รอบระดับจังหวัดก็น่าไปดูต่อว่าจะทำอย่างไรเพราะมีจำนวนคนมาก คราวนี้ผมคิดว่าก็ต้องยืนยันให้สามารถนำผู้ช่วยเข้าไปได้ ใจผมอยากให้ภรรยาผมเข้าไปเป็นผู้ช่วยที่สุดเพราะจะได้อำนวยความสะดวกผมได้ การมีผู้ช่วยจึงมีความจำเป็น