Skip to main content

จากข้อมูลของรายงานสถานการณ์คนพิการโดยกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติแม้คนพิการเข้าถึงการเรียนฟรี แต่เมื่อพวกเขาเรียนจบกลับไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่า คนพิการจะมีอาชีพเท่าเทียมกับคนอื่น ในปีที่ผ่านมามีคนพิการ จบการศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 26,187 ราย อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่า คนพิการจะได้งานตรงกับสิ่งที่ร่ำเรียนมา 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราสนใจการเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ของคนตาบอด เนื่องจากตณะนิติศาสตร์เปรียบเสมือนเป็นคณะยอดนิยม ที่คนตาบอดจากรุ่นสู่รุ่นบอกต่อกันว่า สามารถเรียนได้ อีกทั้งเมื่อมีคนตาบอดเรียนจึงทำให้หนังสือและสื่อการเรียนรู้ค่อนข้างเอื้อกับพวกเขามากกว่าคณะอื่นๆ อย่างไรก็ดี คนตาบอดส่วนใหญ่ที่เรียนจบมักผันตัวเองเป็นอาจารย์ หลายคนพ่วงตำแหน่งนักสู้เพื่อสิทธิเพื่อคนพิการ แต่กลับไม่ค่อยเห็นคนตาบอดทำงานเป็นทนายความ อัยการหรือผู้พิพากษา 

รูปภาพอาจารย์ณุวัฒน์ ตาตุ ที่ใส่แมสและถือไมโครโฟนพูดอวยพรนักศึกษาวันครูอยู่

เพื่อค้นหาคำตอบนี้ Thisable.me ชวนอาจารย์ณุวัฒน์ ตาตุ อาจารย์จากสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มาเล่าประสบการณ์ชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย หนหางหางานให้ตรงกับสายที่เรียนมา และการได้งานที่ไม่ตรงสาย  เหตุผลของคนตาบอดแตกต่างคนตาดีหรือไม่ และมีอะไรซ้อนทับอยู่ในอุปสรรคที่คนตาบอดต้องเผชิญ

ทำไมจึงเลือกเรียนกฎหมาย 

ณุวัฒน์ : เราไม่ได้วางแผนจะเรียนกฎหมายมาตั้งแต่แรก แต่ประสบการณ์ที่เด็กตาบอดคนหนึ่งถูกกีดกันจากคนในสังคม โดยอ้างว่าเจตนาดีหรือเป็นห่วง เช่น เป็นคนพิการไม่ต้องทำเรื่องนี้หรอกมันยากหรือการมองว่า คนพิการจะเรียนหนังสือได้เหรอ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพิการไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากคนไม่พิการในสังคม และคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการได้ 

ตอนที่ตัดสินใจสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหลือเวลาเตรียมตัวสอบไม่กี่เดือน เรามีทักษะภาษาไทยต่ำมากแต่การทำงานด้านกฎหมายต้องอยู่กับหนังสือไปตลอดชีวิต และความสามารถการถ่ายทอดด้วยการเขียนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการสอบเข้า เราคิดว่าครูสอนภาษาไทยน่าจะช่วยได้ จึงตัดสินใจเดินเข้าห้องพักครูหมวดภาษาไทย และเดินไปหาครูที่เฮี้ยบที่สุดในหมวด แล้วบอกว่าผมอยากสอบเข้านิติฯ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ให้ได้ ผมรู้ว่าทักษะภาษาไทยผมยังไม่พร้อม ขอให้ครูช่วยติวให้เป็นกรณีพิเศษ ครูตอบตกลงและมาติวให้ทุกวันหลังเลิกเรียน ครูให้เขียนเรียงความมาส่งวันละหนึ่งเรื่อง และคอมเมนต์ให้อย่างดี เพราะครูรู้ว่าเราตาไม่ดีจึงต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่ออ่านให้ฟังทีละบรรทัดว่าผิดอย่างไร จะต้องปรับแก้ไขอย่างไร ผ่านมาสักพักหนึ่ง ครูก็ให้เขียนเพิ่มเป็นวันละ 2 ชิ้น แกตรวจแก้ให้คอมเมนต์และสั่งให้เขียนใหม่แบบนี้ทุกวัน หนักกว่าเรียนปกติหลายเท่า จนสอบตรงเข้าคณะนิติฯ ได้ 

ความใฝ่ฝันที่จะทำงานอาชีพด้านกฎหมาย 

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราวางแผนไว้ว่าจะทำงานอาชีพในสายกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะเป็นอาชีพอะไร ขอแค่เป็นสายกฎหมายก็พอ จนกระทั่งวันสอบปลายภาควิชานิติกรรมสัญญา โปรแกรมอ่านหน้าจอ (Screen Reader Software) ในเครื่องไม่ยอมอ่านสิ่งที่พิมพ์ให้เราฟัง ซึ่งเราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่โปรแกรมหรือว่าคอมพิวเตอร์ ถ้าเรียกเจ้าหน้าที่คุมสอบมาแก้ไขโปรแกรมอาจจะเสียเวลา 3 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ เราตัดสินใจว่าจะไม่เสียเวลากับการแก้ไขโปรแกรมเลยปิดโปรแกรมทิ้งและพิมพ์สัมผัสโดยไม่ใช้โปรแกรมเสียงอ่านหน้าจอ สมัยเรียนมัธยมฯ เราเคยเรียนวิชาพิมพ์ดีด ทำให้สามารถพิมพ์สัมผัสได้ 5 นาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลาสอบมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเตือนว่าใกล้หมดเวลาสอบ และเขาก็บอกเราว่าไม่ได้เปลี่ยนภาษา ภาษาที่อยู่บนหน้าจอคือภาษาต่างด้าวที่อ่านไม่รู้เรื่องเลย ทั้งที่เราเข้าใจมาตลอดว่าตัวเองพิมพ์ภาษาไทยอยู่

ตอนนั้นตัดสินใจพิมพ์คำตอบใหม่แม้ไม่ละเอียดเท่ากับครั้งแรก สอบเสร็จเรากังวลกลัวสอบตกมาก ถ้าเราสอบตกเพราะโปรแกรมมีปัญหาก็ไม่ยุติธรรมกับเรา สุดท้ายจึงตัดสินใจขอพบอาจารย์ประจำวิชาและเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร และบอกว่าคำตอบที่ตั้งใจพิมพ์ออกมาเป็นแบบนี้โดยไม่รู้ว่าไม่ได้เปลี่ยนเป็นภาษาไทย อาจารย์ถามว่าได้เก็บไฟล์ที่พิมพ์ไว้ตอนแรกไหม ถ้าเก็บไว้อาจารย์จะขอไฟล์มานั่งแกะดูทีละตัวว่าพิมพ์เป็นภาษาไทยว่าอะไรบ้าง วินาทีนั้นทำให้เราตัดสินใจว่าอยากเป็นอาจารย์ เราในฐานะคนตาบอดที่ต้องขอความช่วยเหลือคนอื่นมาตลอดชีวิตมองว่าการเป็นอาจารย์ทำให้เราให้ความช่วยเหลือคนอื่นได้ 

หลังจากเรียนจบแล้วประกอบอาชีพอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย  

งานแรกคือนิติกร ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ตั้งใจไปสัมภาษณ์ด้วย วันนั้นไปส่งรุ่นพี่คนหนึ่งไปสัมภาษณ์ เขาเพิ่งมองไม่เห็นตอนโตจึงมีประการณ์ใช้ชีวิตแบบคนตาบอดน้อย แต่ไม่รู้ว่า HR คิดอะไรอยู่ เรียกเราเข้าไปสัมภาษณ์ด้วย สุดท้ายก็ได้งานแรกที่นี่ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนงานไปเป็นพนักงานคุมประพฤติ ในรอบสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ที่สัมภาษณ์ถามว่าเราจะทำงานอย่างไรและรักษาความลับในงานอย่างไร เราเลยเล่าประสบการณ์การทำงานที่เก่าว่าทำงานอย่างไร โดยเฉพาะงานนิติกรซึ่งเป็นงานสัญญาที่มีข้อมูลส่วนบุคคลที่ถือเป็นงานความลับสูง  คนรับรู้ข้อมูลมีเพียงคู่สัญญานิติกรเท่านั้น ประสบการณ์ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา เราทำงานระดับชั้นความลับสูงสุดมาตลอด

คนตาบอดและคนตาดีทำงานร่วมกันได้อย่างไร

ทุกอย่างเริ่มต้นจากทัศนคติของเราที่จะไม่รอให้คนตาดีมาเข้าใจ แต่ต้องบอกคนตาดีว่า คนตาบอดต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ไม่อย่างนั้นคนตาดีก็ไม่รู้วิธีช่วยเหลือคนตาบอด ฉะนั้นการคุยกับคนตาดีว่าเรามีข้อจำกัดอะไรบ้าง และวิธีการแบบไหนจะช่วยให้ทำงานได้ รวมถึงการขอความช่วยเหลือบางอย่างจากคนตาดี 

งานแรกที่ทำเราต้องการความช่วยเหลือสองอย่างคือ คอมพิวเตอร์ประจำตัวที่ติดตั้งโปรแกรมอ่านหน้าจอและการสแกนหนังสือสัญญาที่เป็นเอกสารเป็นไฟล์ .pdf หลังจากสัมภาษณ์งานเสร็จ บริษัทก็ประชุมกัน และพิจารณาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือตามที่เราขอได้จึงรับเข้าทำงาน เราเป็นคนตาบอดคนแรกที่ได้ทำงานที่นี่ 

งานต่อมา เราก็บอกความช่วยเหลือที่ต้องการ เช่น การสแกนไฟล์ต้นเรื่องมาให้เพื่อทำความเห็น และขอให้คนในฝ่ายช่วยตรวจดูความเรียบร้อย ที่นี่ก็ซัพพอร์ตตามที่ร้องขอ และทำงานร่วมกันได้กว่า 2 ปี กระทั่งเรียนจบปริญญาโท มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นอาจารย์แล้วและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาวลัยลักษณ์เปิดรับสมัครอาจารย์ การสอบเข้าเป็นอาจารย์ไม่เหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีโครงการสอบแยกสำหรับคนพิการ เราต้องสอบแข่งขันกับคนตาดี หลังจากสอบเข้าเป็นเป็นอาจารย์ได้ คณะก็หยิบยื่นความช่วยเหลือหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่คณะ เด็กฝึกงาน และเด็กทุน 

ดังนั้นการที่คนตาดีไม่รู้วิธีการช่วยเหลือคนตาบอด ไม่ใช่เหตุผลที่จะคิดว่าคนตาดีไม่เข้าใจและไม่ให้โอกาส 

เหตุผลที่คนตาบอดเลือกเรียนกฎหมาย

มีคำถามหนึ่งติดปากคนตาบอดว่า ถ้าไม่มีรุ่นพี่เคยเรียน แล้วพวกเราจะเรียนได้เหรอ หลายคนตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายเพราะมีรุ่นพี่เคยเรียนมาก่อน อย่างน้อยก็หาหนังสือเสียงจากรุ่นพี่ได้ อาจารย์ที่สอนก็มีประสบการณ์สอนคนตาบอด จึงทำให้คนตาบอดกระจุกแน่นอยู่ที่คณะใดคณะหนึ่ง รวมถึงมหาลัยใดมหาลัยหนึ่งด้วย หลายคนก็ให้เหตุผลคล้ายๆ กันว่าการมีรุ่นพี่เรียนมาก่อนช่วยให้อุ่นใจว่าสามารถเอาตัวรอดและเรียนจบได้ การเรียนการสอนก็น่าจะสะดวกมากกว่าการเรียนในคณะอื่นที่ตัวเองต้องไปบุกเบิก ทั้งนี้เราไม่ได้เหมารวมคนตาบอดทั้งหมดเพราะบางคนอาจจะมีเหตุผลที่แตกต่างออกไป เช่น เรียนเพราะคุ้นเคยกับบรรยากาศที่นี่ มีญาติทำงานสายกฎหมายหรือประทับใจในบุคลากรคณะนิติศาสตร์ 

ทำไมถึงไม่เห็นคนตาบอดที่เรียนจบนิติศาสตร์ทำงานที่ศาล 

เป็นเรื่องทัศนคติทั้งฝั่งสังคมคนตาดีและฝั่งของคนตาบอด คนตาดีมองว่าศาลต้องสง่างาม การเป็นคนพิการอาจจะถูกมองว่าไม่สง่างามพอที่จะอยู่บนบัลลังก์พิจารณา อีกทั้งยังมีลักษณะการทำงานที่จำเป็นต้องใช้ตา เช่น การอ่านเอกสาร การสังเกตสีหน้า ท่าทาง แววตา ทั้งฝั่งโจทก์และจำเลย ทั้งที่การพิจารณาคดีไม่ได้ทำคนเดียวแต่เป็นองค์คณะ 2-3 คน ส่วนงานอัยการ ทนายความนั้นต้องเดินทางบ่อย คนตาบอดที่มีข้อจำกัดทางการมองเห็น อาจทำให้เดินทางไม่สะดวก จนทำให้ข้อจำกัดทางด้านร่างกายกลายเป็นข้อจำกัดทางอาชีพไปโดยปริยาย  สิ่งเหล่านี้คนตาดีอาจจะมองว่าเป็นข้อจำกัดและไม่สมเหตุสมผลที่จะรับคนพิการเข้าไปทำงาน 

ทุกวันนี้เรายังเจอคนตาดีหลายคนที่รู้สึกประหลาดใจว่า คนตาบอดสามารถใช้มือถือได้ ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ถ้าคนตาดีตั้งต้นว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้เป็นปกติ และสิ่งที่คนพิการทำได้เป็นสิ่งพิเศษ จุดเริ่มต้นทัศนคติและความเชื่อนี้จะนำไปสู่การมองว่าคนตาบอดทำอะไรไม่ได้หรอก เราจึงควรมองว่าคนพิการทำได้และความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดของคนพิการ แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวคนพิการต่างหากที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตได้

ในระดับสากลศึกษาเรื่องนี้หนักมาก แนวคิดเกี่ยวกับคนพิการมี 2 แนวคิดหลักคือ แนวคิดทางการแพทย์ (Medical Models of Disability) กับแนวคิดทางสังคม (Social Model of Disability) ประเทศไทยยังคิดอยู่บนแนวคิดทางการแพทย์ค่อนข้างเยอะ และมองว่าความพิการเป็นข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อมองแบบนี้ก็แปลว่า คนพิการสูญเสียความสามารถเพราะร่างกายมีข้อจำกัด แต่แนวคิดทางสังคมมองว่า สิ่งแวดล้อมเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ปัจจุบัน คนทำงานด้านกฎหมายก็อยู่บนฐานแนวคิดทางการแพทย์ เพราะมองว่าถ้าคนพิการอ่านเอกสารไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้ แต่ไม่คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้อ่านได้ บางคนก็นึกถึงแต่อักษรเบรลล์ ทำให้งานเอกสารอย่าง คำฟ้อง คำให้การ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีที่มีแต่กระดาษ ไม่มีอักษรเบรลล์ คนพิการทางสายตาก็อ่านไม่ได้ แต่ถ้าลองคิดอีกมุมหนึ่งว่า เราสามารถสแกนไฟล์เอกสารเป็น .pdf หรือใช้โปรแกรมอ่านจากไฟล์ .word คนตาบอดก็อ่านได้ บ้านเราไม่ได้ออกแบบให้คนตาบอดทำงานกับทุกคนได้ คนยังมองว่าให้คนตาดีทำแทนคนตาบอด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปลี่ยนแนวคิดและมองว่า คนพิการมีความสามารถเท่ากับคนไม่พิการ จะทำให้สังคมออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ นโยบาย จารีตประเพณีเพื่อให้ทุกคนสามารถออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ ถ้าคนตาบอดจะไม่เจอทัศนคติคนตาดีที่มองว่า พิการแล้วทำไม่ได้ ไม่ต้องทำ หรือมองว่ารับคนตาดีเข้าทำงานดีกว่าคนตาบอด 

เพราะความไม่สง่างามสำคัญกว่าความรู้ของคนตาบอดที่เรียนจบกฎหมาย

เนื่องจากสังคมไม่พยายามให้ข้อมูลเพื่อให้คนไม่พิการเข้าใจคนพิการ สื่อกระแสหลักยังนำเสนอเรื่องคนพิการผ่านแง่มุมความน่าสงสาร และองค์กรคนพิการยังใช้ความสงสารเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากสังคม ทั้งที่จริงแล้วองค์กรคนพิการควรเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยทำให้สังคมเข้าใจว่า คนพิการสามารถทำงานอะไรก็ได้เหมือนคนทั่วไป แต่กลับสนับสนุนเพียงไม่กี่อาชีพ เช่น หมอนวด ขายหวย ศิลปินในที่สาธารณะเป็นเสียส่วนใหญ่ ถึงขั้นออกกฎหมายให้คนพิการทำบัตรวณิพกก่อนถึงจะสามารถทำการแสดงในพื้นที่สาธารณะได้  และพยายามเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ศิลปินผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ 

ถ้าอย่างนั้น คนตาบอดที่เรียนจบนิติศาสตร์แล้วประกอบอาชีพอะไร 

ถ้าทำงานสายตรงด้านกฎหมายคือ ส่วนมากก็เป็นอาจารย์และนิติกร ซึ่งมีจำนวนน้อย นอกนั้นก็เป็นหมอนวด ศิลปินในที่สาธารณะ คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สังคมตั้งกรอบเอาไว้ให้คนตาบอด 

ทำไมคนตาบอดไม่สามารถก้าวกรอบของสังคม

สังคมไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนพิการแสดงศักยภาพทางด้านอาชีพอื่นๆ บรรดาหน่วยงานทั้งหลายที่เป็นองค์กรตัวแทนคนพิการไม่โปรโมทว่า คนพิการมีศักยภาพในด้านอาชีพอย่างไรบ้าง เขาเรียนอะไรบ้าง เขาใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง เวลาเราไปทำงานยังเคยโดนถามว่า ก่อนมาทำงานใครเป็นคนใส่เสื้อผ้าให้ เวลากินข้าวก็จะมีคนถามว่า ตักข้าวใส่ปากได้อย่างไร ฟังดูแล้วอาจจะขำๆ แต่สะท้อนว่าสังคมไม่รู้จักคนพิการเลย คนในสังคมยังเห็นว่าคนพิการทำอะไรเองไม่ได้ ดังนั้นไม่ต้องคิดถึงเรื่องการทำงาน เขาคิดว่าคนพิการทำงานไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะให้ความช่วยเหลือคนตาบอดอย่างไรถึงจะสามารถทำงานได้ อีกทั้งคนพิการก็ไม่ได้พยายามออกมานำเสนอศักยภาพตัวเอง 

ถึงแม้คนพิการต่อสู้ผ่านการเรียนคณะนิติศาสตร์ได้ ก็ไม่ได้ทำให้มองข้ามเรื่องความพิการ

ถ้าคนตาดีรู้สึกว่า คนพิการไม่เห็นเป็นอย่างที่คิดเลย เขาถึงจะมองเรื่องศักยภาพจริงๆ ของตัวเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพยายามทำมาตลอดชีวิต ไม่ว่าคนตาบอดจะเรียนเก่ง มีความสามารถขนาดไหน ถ้าไม่มีความไม่มั่นใจและหนักแน่นพอก็ถูกพัดพาไปโดยกระแสความเชื่อหลักในสังคม นอกจากต้องพยายามจะสร้างเนื้อสร้างตัวแล้ว ก็ต้องพยายามพิสูจน์ให้คนในสังคมเห็นว่า มีความจริงอีกชุดหนึ่งอยู่ และเรากำลังแสดงความจริงอีกชุดให้คนตาดีรอบตัวเห็น ซึ่งต้องใช้ความมั่นใจและพลังใจสูงมากเพื่อขับเคลื่อนตัวเอง เราจะบอกคนรอบตัวตลอดว่า สังคมไทยมีพลเมืองดีพร้อมหยิบยื่นน้ำใจและความช่วยเหลือให้ตลอด แต่ถ้าเราเปลี่ยนพลเมืองดีให้เป็นเพื่อนเรา จะช่วยให้วิถีชีวิตคนพิการทั้งรุ่นนี้และรุ่นหลังดีขึ้นด้วย เพราะการที่คนไม่พิการเป็นเพื่อนกับคนพิการได้แสดงว่า เขาเข้าใจว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น ไม่ใช่คนพิการที่ทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลย