Skip to main content

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.เวลา 20.22 น.ที่ผ่านมา แฟนเพจเฟสบุ๊ก Accessibility Is Freedom โพสต์ภาพกระจกลิฟต์ของบีทีเอสสถานีอโศกที่แตกจากการทุบ  ทราบภายหลังว่าเป็นมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือซาบะ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการและแอดมินของแฟนเพจดังกล่าว เป็นผู้ใช้มือทุบกระจกสถานีจนแตก และส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บที่ข้อนิ้วเล็กน้อย

มานิตย์ระบุกับ ThisAble.me ว่า เมื่อถึงสถานีบีทีเอส อโศกก็เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับตั๋วเดินทางพิเศษที่ได้รับจากสิทธิคนพิการ แต่เจ้าหน้าที่กลับให้เขาเซ็นชื่อ นามสกุล เวลาและสถานีปลายทางที่ต้องการไปในใบกระดาษ โดยแจ้งว่าเป็นบันทึกประวัติการเดินทางของคนพิการ และจะไม่ยอมให้ใช้สิทธิคนพิการหากไม่เซ็นชื่อ เมื่อมานิตย์ไม่ยอมเซ็นและเกิดการถกเถียงกว่าครึ่งชั่วโมง เขาจึงซื้อตั๋วเดินทางในระบบปกติ ยืนยันที่จะไม่เซ็นชื่อและไม่ใช้สิทธิคนพิการ

หลังซื้อตั๋วแล้วจึงไปรอหน้าลิฟต์เพื่อขึ้นสู่ชั้นชานชาลา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่่มาเปิดล็อกประตูหน้าห้องลิฟต์โดยสาร จึงทำให้เขาตัดสินใจใช้มือทุบกระจกประตูจนแตกรวม 8 ครั้้ง จนเจ้าหน้าที่และนายสถานีเข้ามามุงดู และเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจลุมพินีในเวลาต่อมา

มานิตย์กล่าวย้ำว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากเงื่อนไขที่ต้องกรอกข้อมูล ทั้งที่การเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแต่กลับถูกล็อกไม่ให้เดินทาง อีกทั้งในการเดินทางหลายครั้งที่ผ่านมา เขาสามารถปฏิเสธการกรอกข้อมูลเหล่านี้ได้ และสามารถใช้สิทธิคนพิการได้เช่นเดิม จึงเห็นว่า เอกสารนี้ไม่ได้เป็นระเบียบข้อบังคับแต่เป็นเพียงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บางคนเท่านั้น และไม่มีแบบแผนที่เป็นมาตรฐานอย่างชัดเจน

อนึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับมานิตย์ว่า ลิฟต์ของบีทีเอสสถานีอโศกเป็นลิฟต์จากชั้นพื้นดินขึ้นสู่ชั้นชานชาลาโดยตรง จึงต้องล็อคไว้เพื่อกันไม่ให้คนเข้าสู่ระบบเดินรถโดยไม่ซื้อตั๋วโดยสาร


เอกสารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้มานิตย์เขียน

หลังการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกไปได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งจาก BKKTrains.com แฟนเพจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่เข้ามาแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่มานิตย์ทำโดยให้เหตุผลว่า  ลิฟต์ 4 สถานี ได้แก่ หมอชิต, อโศก, อ่อนนุช (ฝั่งไปสำโรง) และ ช่องนนทรีสามารถขึ้นจากชั้นระดับถนน สู่ชั้นชานชาลาได้ทันที โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว จึงต้องล๊อกทางเข้าลิฟต์เพื่อป้องกันคนเดินทางโดยไม่เสียค่าโดยสาร หากต้องการใช้สามารถกด Intercom หรือโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ แม้ปกติค่อนข้างเห็นด้วยกับกลุ่มคนพิการ แต่มองว่าการทุบกระจกนั้น "เกินไป" จึงขออนุญาตไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว

อีกทั้งให้เหตุผลว่า ขณะที่ลิฟต์เปิดให้บริการในปี 42 ยังไม่มีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการด้วย

ทั้งนี้ก็มีกระแสมากมายแสดงความคิดเห็น และตอบโต้ความเห็นของ BKKTrains.com ใจความว่า หากทำลิฟต์แล้วใช้งานได้ไม่สะดวก จะสร้างมาทำไมในเมื่อไม่ได้มีกฏหมายบังคับประกาศใช้ หรือ ย้อนกลับไปถามถึงปัญหาการออกแบบที่แย่และไม่คิดถึงคนพิการตั้งแต่เริ่มต้น

รวมทั้งมีอีกหลายความเห็นสนับสนุนการทุบกระจกดังกล่าว เช่น

“รู้ว่ามีปัญหาแล้วทำไมไม่แก้ล่ะครับ รออะไร ทุบกระจกแบบนี้ก็ดีแล้วครับ จะได้สนใจปัญหากันบ้าง” หรือ
“เหมือนกรณีป้าทุบรถเลย ต้องรอให้มีกระแส เป็นเรื่องก่อน ถึงได้รับการแก้ไข  ห่วยแตกหลายเรื่อง ตั้งแต่แลกเหรียญมาหยอดตู้ ลิฟต์บางที่ใช้ไม่ได้ คนแก่คนท้องเดินขึ้นบันไดก็หน้ามืด ค่าโดยสารก็ขึ้นถี่ แพงและห่วยเหลือเกิน รถเสียบ่อยอีก”

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิคนพิการ ในประเด็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส และเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการก่อสร้างลิฟต์บนบีทีเอสที่ยังสร้างไม่ครบทุกสถานีหลังมีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่สั่งให้กรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส ดำเนินการติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้ง 23 สถานีภายใน 1 ปีนับแต่มีคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 21 ม.ค.59 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนด (อ่านเพิ่มเติม https://thisable.me/content/2018/01/361)

 

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/AccessibilityIsFreedom