Skip to main content

ย้อนดู 26 ปีการต่อสู้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสจากวันแรกที่ทำสัญญาสัมปทาน จนปัจจุุบันที่การสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็ยังไม่เรียบร้อยดี แม้กลุ่มคนพิการจะยื่นฟ้องและชนะคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ที่กำหนดให้บีทีเอสต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่จนตอนนี้การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และส่งผลให้เกิดการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่สร้างไม่ทันกำหนดเวลา เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร  ThisAble.me รวมไว้ให้อ่านที่นี่แล้ว


อินโฟกราฟิคโดย สุทธิษา มณีรัตน์

2534 - 2542

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2534 ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น และบีทีเอสทำสัญญาสัมปทานก่อสร้างบีทีเอส ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายด้านคนพิการมาบังคับระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จนเมื่อปี 2538 -  2542 หลังบีทีเอสร่วมลงชื่อในสัญญาก่อสร้างแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ และเริ่มก่อสร้าง คนพิการจำนวนมากรวมตัวและร้องเรียน กทม.เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบก่อสร้าง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ซึ่งกำหนดลักษณะของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นใด ที่กำหนดว่า ต้องอำนวยความสะดวกแก่คนพิการที่ออกมาช่วงปี 2542 จนกระทั่งบีทีเอสเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2542

กทม.จึงสนับสนุนงบ 45 ล้านบาทติดตั้งลิฟต์ 5 สถานี

2542

วันที่ 5 ธ.ค.2542 บีทีเอสเปิดให้บริการ

2552

วันที่ 22 ก.ย.2552 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง "ยกฟ้อง" กรณีคนพิการนำโดย สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส

จนทำให้เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2552 กลุ่มคนพิการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุ จากกรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส

2557

31 ก.ค.2557 กทม.ลงนามจ้างเหมาก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์กับบริษัทเสรีการโยธา จำกัด

2558

21 ม.ค. 2558 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยสั่งให้กรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส ดำเนินการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 23 สถานี และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก (อ่านที่นี่) ทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปีนับแต่มีคำสั่งศาล

โดยคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด องค์คณะประกอบด้วย สมชาย เอมโอช ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวน วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด วรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายไชยเดช ตันติเวสส ตุลาการผู้แถลงคดี ได้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยสั่งให้ กรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส ดำเนินการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 23 สถานี และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้

1. จัดทำลิฟท์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานี โดยมีรายละเอียดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2539 ข้อ 6 และ ข้อ 7 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 1 อาคาร ข้อ 4 (6) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ)

2. จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ข้อ 5 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 2 สถานที่ ข้อ 5 (3) (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

3. จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือ ให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซ็นติเมตร และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซ็นติเมตร บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 3 ยานพาหนะ ข้อ 7 (ง) และ (จ)

2559

20 ม.ค. 2559 ครบรอบ 1 ปีที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด มีจัดเสวนาโต๊ะกลม ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “BTS : 20 ปีที่รอคอย..ทุกคนต้องขึ้นได้” (อ่านที่ีนี่)

โดยอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเน้นย้ำในงานว่า เขาให้ความสำคัญกับคนพิการอย่างมากและรู้สึกยินดีในคำตัดสินของศาลเมื่อปี 2558 ส่วนในเรื่องลิฟต์ต้องขออภัยที่ล่าช้า ทั้งนี้ มีแผนดำเนินการในเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการเลือกพื้นที่ในการสร้างลิฟต์  และด้วยระบบราชการ เมื่อมีคนร้องเรียนว่าไม่ให้สร้างในที่ตรงนี้ กระบวนการทั้งหมดก็จะต้องกลับไปเริ่มใหม่ และบางจุดที่เป็นทำเลใหม่ก็มีระบบสาธารณูปโภคใต้ดินที่ไม่สามารถทำได้ ในตอนนี้ สถานีต่อขยายทั้งหมด มีการติดตั้งลิฟต์แล้ว ซึ่งได้แก่ บางหว้า-กรุงธนบุรี และอ่อนนุช-แบริ่ง

และย้ำว่า ไม่เกินเดือนกันยายน 2559 นี้ ลิฟต์ทั้งหมด 111 ตัว จะสร้างเสร็จสิ้น และมีทางเดินเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา จะสามารถดำเนินชีวิตและใช้งานได้เอง รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

“ถ้าผมเป็นผู้พิการ นั่งวีลแชร์ ผมก็จะไม่ใช้บริการบีทีเอสที่ไม่มีลิฟต์ เพราะท่านใช้ยาม 2 คนมาแบกรถผม ทำเหมือนผมเป็นสิ่งของ เป็นอะไรก็ไม่รู้” เขากล่าว


ภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราช

17 มี.ค. 2559 สุเชฏฐ์ สุจินดามณีชัย วิศวกรบริษัท เสรีการโยธา จำกัด ผู้รับจ้างติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก รายงานความคืบหน้าว่า ขณะนี้สามารถก่อสร้างได้จริงร้อยละ 57 และล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 43

วิศวกรบริษัทเสรีการโยธา กล่าวว่า จะดำเนินการก่อสร้างลิฟต์ให้แล้วเสร็จ จำนวน 12 ตัวอย่างแน่นอน ภายในเดือนเมษายน 2559

 

12 เม.ย. 2559 รับปากจะติดตั้งลิฟต์เสร็จสมบูรณ์ 12 ตัว ได้แก่สถานี พร้อมพงษ์ อ่อนนุช พญาไท ราชดำริ ราชเทวี ทองหล่อ สนามเป้า สนามกีฬา เพลินจิต เอกมัย สุรศักดิ์ และอารีย์ ภายในสิ้นเดือน เม.ย.59

 

20 เม.ย. 2559 ลิฟต์ 12 ตัวที่บอกว่าจะสร้างเสร็จภายในเดือนเม.ย.59 นั้นไม่เสร็จตามกำหนดเวลาได้แก่ สถานีพร้อมพงษ์ อ่อนนุช พญาไท ราชดำริ ราชเทวี ทองหล่อ สนามเป้า สนามกีฬา เพลินจิต เอกมัย สุรศักดิ์ และอารีย์ (อ่านที่นี่)

บริษัทเสรีการโยธา ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานทั้งหมดว่าปัจจุบันแล้วเสร็จร้อยละ 63.297 โดยเหตุผลที่ดำเนินการก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากทางบริษัทสามารถควบคุมการก่อสร้างได้เพียงส่วนของฐานราก และโครงต่างๆ เพราะเป็นส่วนงานที่สามารถทำได้เอง แต่ในส่วนของการติดตั้งตัวลิฟต์หรืออื่นๆ นั้น เป็นการทำงานของบริษัทผู้ผลิตแต่ละเจ้า

อย่างไรก็ดีประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า การประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ก็ยังคงมีเพียงเรื่องเดียวที่ต้องพูดซ้ำๆ นั่นก็คือความพยายามเร่งรัดเพื่อให้เกิดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกำหนดเวลา และย้ำว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยมามากกว่า 16 เดือนแล้วนับแต่มีคำสั่งศาล ทางผู้รับเหมาจึงควรต้องติดตามงานและเร่งรัดให้งานดำเนินการตามแผนที่ล้าช้านี้เกิดขึ้นอย่างไวที่สุด

เครือข่ายคนพิการกล่าวว่า มีมาตรการที่จะงัดออกมาเพื่อกระตุ้น

 

2 มิ.ย.2559 ผู้รับเหมาจากบริษัทเสรีการโยธา กล่าวถึงปัญหาด้านการเงินที่ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถเบิกเงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ (อ่านที่นี่) จึงทำให้มีเพียง 5 จาก 19 สถานีที่ดำเนินการติดตั้งตัวลิฟต์แล้วเสร็จ และมีเกือบ 10 สถานีที่ยังอยู่ในขั้นตอนการย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและงานฐานราก

ประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง และเครือข่ายคนพิการได้กล่าวย้ำจุดยืนที่จะผลักดันให้การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนข้างหน้า เพื่อเปิดใช้ทุกสถานีภายในเดือน ก.ย.59 และเน้นย้ำว่า หากครบกำหนดการยืดระยะเวลาในเดือน ก.ย.59 แล้ว แต่ลิฟต์ทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะดำเนินการเด็ดขาดเพื่อปรับเงินผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทเสรีการโยธาเป็นรายวัน

 

2560

20 ม.ค.2560 คนพิการยื่นฟ้องแบบกลุ่มต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ตามกำหนดเวลา (อ่านที่นี่)

โดยสนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความกล่าวว่า วันนี้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องและรอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณา โดยประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลักคือ คำฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย คำร้องเพื่อขอดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือคลาสแอคชัน (Class Action) เป็นวิธีการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกล่าวคือผู้ฟ้องไม่ต้องฟ้องทั้ง 100 คน แต่ยื่นฟ้องไปเพียงคนเดียวก่อน หากศาลรับฟ้องแล้วจึงร่วมเป็นโจทก์ต่อไปเพราะมูลความแห่งคดีนั้นเหมือนกันและยื่นงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล ตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ข้อ 17 วรรค 2 ที่ระบุให้คนพิการที่โดนละเมิดสิทธิมีสิทธิฟ้องร้องได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้รับพิจารณาเป็นคดีดำ พ.246/2560 และได้นัดไต่สวนการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลวันเดียวกับนัดสืบพยานในวันที่ 30 มี.ค.ที่จะถึง เวลา 09.00 น. ณ ห้อง 310 ชั้น 3 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

และมีแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์
20 มกราคม 2560
เรื่อง ปฏิบัติการ "นั่งรถไฟฟ้า ไปฟ้อง กทม.ที่ศาลแพ่ง รัชดา"
ตั้งแต่ปี 2538 ตามที่มีโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ และให้เอื้อประโยชน์ในการเดินทางแก่คนทั้งมวลรวมถึงคนพิการทุกประเภทอีกด้วย แต่ทั้งนี้การก่อสร้างสถานีไม่ได้ติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม กลุ่มคนพิการจึงเริ่มเรียกร้องให้ กทม.และบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) อย่างเท่าเทียม แต่ทั้งสองหน่วยงานต่างบ่ายเบี่ยง และเพิกเฉยปฏิเสธความรับผิดชอบ กลุ่มคนพิการจึงยื่นฟ้อง กทม.และพวกในปี 2550 การดำเนินการผ่านไปสองปี วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2552 ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า ตอนนั้นกฏหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องอาคารสถานที่ และยานพาหนะ ที่จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ต่อมากลุ่มผู้พิการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุด 21 มกราคม พ.ศ. 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง สั่งให้ กทม.จัดทำลิฟต์ขึ้นลงสำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ง 23 สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการรวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอสให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปีหลังจากมีคำพิพากษา แต่สุดท้าย แม้จะครบกำหนด 1 ปี ก็ยังไม่มีการดำเนินการตามสั่งศาลได้ และยังต่อรองว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559
จากการติดตามอย่างใกล้ชิดของคณะทำงาน จนถึงบัดนี้ กทม.ก็ไม่ได้เร่งดำเนินการให้มีการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 23 สถานีได้ตามที่ศาลกำหนด กทม.ขาดความรับผิดชอบและทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไร้วี่แววว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามที่สัญญา กลุ่มคนพิการในนามของภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)จึงเห็นสมควรให้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ฐานละเมิดสิทธิคนพิการถูกลิดรอนและมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันครบกำหนดตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด (21 มกราคม 2559)
อนึ่ง การฟ้องนี้เป็นการฟ้องแบบกลุ่มโดยบุคคลเนื่องจากคดีนี้เป็นการละเมิดที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง หากศาลสั่งให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหาย คนพิการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถยื่นขอรับค่าเสียหายได้

 

21 มี.ค.2560 กลุ่มคนพิการเข้าร่วมรับฟังการไต่สวนคดีขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก (อ่านที่นี่)

อัยการยื่นอำนาจชี้ขาด จากกรณีคนพิการยื่นฟ้องแบบกลุ่ม พร้อมกับโต้แย้งว่า คดีนี้นั้นเป็นคดีของศาลปกครอง จึงต้องหยุดก่อนตามสภาพ เพื่อรอคำวินิจฉัยจากศาลปกครอง หากมีคำวินิจฉัยตรงกับศาลแพ่ง ก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่หากไม่ตรงกันก็จะต้องส่งต่อให้คณะกรรมการประธานศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดว่าสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่

 

18 พ.ค.2560 คนพิการกว่า 100 คน เดินทางเข้าร่วมฟังผลการไต่สวน เพื่อขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม และศาลแพ่งมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม (อ่านที่นี่)

หลังจากมีการชี้ขาด กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการชี้ขาดอำนาจศาลได้ภายใน 7 วัน และศาลแพ่งก็จะสรุปสำนวน และส่งคำวินิจฉัยไปยังศาลปกครอง หากมีความเห็นตรงกันในการให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้รับคำร้อง กระบวนการก็จะดำเนินต่อไป แต่หากมีความเห็นค้าน ศาลแพ่งก็จะต้องเอาสำนวนส่งเข้าคณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อชี้ขาดว่า คดีนี้ควรอยู่ที่ศาลใด

 

7 ส.ค.2560 ศาลแพ่งและศาลปกครองมีการให้ความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงต้องส่งเรื่องต่อเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจชี้ขาดระหว่างศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจดังกล่าว โดยยังไม่ทราบวันที่และเวลา (อ่านที่นี่)

 

2561

21 ม.ค.2561 ครบรอบ 3 ปี หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งให้บีทีเอสสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้ง 23 สถานี