Skip to main content

เสวนา “บทบาทสื่อกับการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ” โดยเว็บไซต์ thisable.me ชี้สื่อต้องรณรงค์ให้คนพิการตระหนักถึงสิทธิการเลือกตั้ง รัฐควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพ ร่วมกับสื่อเพิ่มช่องทางนำเสนอข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งที่หลากหลายคำนึงถึงกลุ่มคนพิการ<--break->

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ thisable.me ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (FCEM) และเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ร่วมกันทบทวนองค์ความรู้ในการสื่อสารประเด็นคนพิการในสถานการณ์การเลือกตั้ง และผลิตคู่มือสำหรับสื่อมวลชนในการส่งเสริมสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก AGENDA (General Election Network for Disability Access) จัดงานเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “บทบาทสื่อกับการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ”

โดยการเสวนามีจุดประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมได้องค์ความรู้และแนะนำคู่มือสำหรับสื่อมวลชนในการส่งเสริมสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ ร่วมเสวนาโดย รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ และดำเนินรายการโดย นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ Thisable.me


(จากซ้ายไปขวา) สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้, ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา และ รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

ทั้งนี้เว็บไซต์ประชาไทได้รายงานอุปสรรคปัญหาทางกายภาพ การเข้าถึงข้อมูลของคนพิการ และข้อเรียกร้องต่อสื่อในวงเสวนา ใจความว่า

รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

รักศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าถึงสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะประเทศที่มีความพร้อม เป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่ได้ยกเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พลเมืองควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีข้อยกเว้นหรือการเลือกปฏิบัติ ประเด็นที่สื่อจะเข้ามาช่วยได้ มีสองลักษณะ

ลักษณะแรกคือ คาดหวังว่ากลางปีหน้าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะเข้าสู่การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทน เข้าไปบริหารหรือนำสิ่งที่เราคาดหวังปฏิบัติเป็นโยบายกลับมาสู่พวกเรา ผู้พิการต้องตระหนักถึงสิทธินี้ สื่อมวลชนควรเริ่มปลูกฝัง รณรงค์ ดึงจิตสำนึก ให้คนพิการรู้ว่าตรงนี้คือสิทธิพื้นฐาน รวมกลุ่มคนพิการ องค์กรคนพิการ หรือผู้จัดการศึกษาแก่คนพิการ เผยแพร่สื่อ สารคดี ให้น่าสนใจ ยิ่งมีช่องทางหลากหลาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ออนไลน์ โทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนพิการได้ รวมกลุ่มองค์กรคนพิการ ให้เขาตระหนักถึงสิทธินี้ ผลที่กลับมาจะทำอะไรได้บ้าง

ผ่านไปช่วงหนึ่ง รณรงค์ถึงวิธีการ สำหรับคนที่สนใจจริงๆ เรียนรู้ในเชิงลึก วิธีการเลือก ลักษณะ การเข้าถึง เช่น การเป็นพรรคการเมืองจะเป็นต้องเป็นอย่างไรบ้าง การเลือกบุคคลในเขตเป็นอย่างไรนอกเขตเป็นอย่างไร หรือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ สื่อเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กกต. กลุ่มองค์กรเกี่ยวกับคนพิการ เตรียมสาธิตอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รู้จักและสามารถใช้อุปกรณ์ได้จริง

ส่วนลักษณะที่สาม คือผู้ลงเลือกตั้งเองก็ต้องเป็นคนนำเสนอโยบายในรูปแบบของสื่อต่างๆ ให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในฐานะคนที่มองไม่เห็น ใบที่บอกให้เราไปเลือกตั้งเป็นกระดาษซึ่งเรามองไม่เห็น หน่วยงาน เช่น กกต. ควรมีทางเลือกเป็นระบบคอลเซ็นเตอร์ เมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งควรมีอักษรเบล ควรบอกด้วยว่ากาได้กี่เบอร์ กาแบบไหน ในหน่วยต้องมีตัวแผ่นทาบสำหรับคนพิการทางสายตา แผ่นทาบคือแผ่นกระดาษแข็งที่ไปเทียบกับใบเลือกตั้งจริงๆ ที่เราจะกา บางหน่วยยังไม่รู้ว่ามีและใช้อย่างไร และควรมีคลิปติดให้ ไม่งั้นอาจกาผิดบัตรเสีย ควรเตรียมอุปกรณ์ให้ครบ

สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้

สว่างกล่าวว่า ปัญหาคือการเข้าถึงทางกายภาพ เช่น บันได หรือการเดินทางจากบ้านไปคูหา ก็มีปัญหา ถ้าดูจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการมาตรา 29 แบ่งอุปสรรคการเลือกตั้งของคนพิการ มีสามกลุ่ม หนึ่งคือขั้นตอนและกระบวนการ สองคือสิ่งอำนวยความสะดวก สามคือสื่อและวัสดุต่างๆ ที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงข้อมูล รัฐต้องมีงบที่สนับสนุนในด้านนี้

“สำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว ถ้าผมใช้แขนไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องมีคนมากาให้ คำถามคือทำได้ไหม ผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือเปล่า หรือถ้าต้องมีผู้ช่วยเข็นเข้าไปทำได้ไหม ต้องทำให้ชัดเจน อันไหนต้องทำให้มันยืดหยุ่นสำหรับคนพิการแต่ละประเภทก็ต้องชัด บางอย่างเช่นการเลือกตั้ง ไม่มีใครห้าม แต่วิธีการที่จะเข้าถึงมันทำไม่ได้” เขากล่าว

สว่างเล่าถึงข้อเสนอของยูเอ็น ที่ได้เสนอทางเลือก เช่น ระบบผู้ช่วย เช่น คนหูหนวกเห็นการปราศัยแต่ไม่เข้าใจว่าคืออะไร หรือรับรู้ข้อมูลน้อยมาก ต้องมีวิธีการยังไง เช่น ทำเป็นนโยบายให้พรรคการเองที่จะลงสมัครเลือกตั้งต้องเตรียมอะไรให้คนพิการเข้าถึง การปราศัย การให้ข้อมูล หรือติดป้ายโฆษณาหาเสียงที่คนพิการทางสายตามองไม่เห็น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก วิธิการช่วยเหลือที่ทำให้เขาเข้าถึงการเลือกตั้งได้ ซึ่งภาครัฐต้องคิดถึงเรื่องนี้

หากเขาไร้ความสามารถในการโหวตด้วยตัวเอง ยูเอ็นเสนอให้มีผู้ช่วยในการตัดสินใจ แต่ระบบนี้เรายังไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา บางที่สภาพทางกฎหมายเขาถูกตัดออกไปเลย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา ผิดอนุสัญญา มันต้องหาวิธีการให้เขาตัดสินใจและลงคะแนนเสียงได้ เช่น คนพิการทางจิต เราอาจต้องมีการอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ วาดภาพ ให้เขาเข้าใจ กกต. ผลักดันให้นักการเมืองเตรียมให้กับประชาชน

สว่างยังเสนอว่า ในประเด็นการเลือกตั้ง ต้องพูดถึงประเด็นคนพิการกับการเลือกตั้งให้มากขึ้น หรือคนพิการที่อยู่สถานสงเคราะห์ เขายังมีสิทธิอยู่และควรอำนวยความสะดวกให้เขาสามารถไปเลือกตั้งได้

“ผมเสนอว่าให้ลองอ่านข้อมูลอนุสัญญาสิทธิคนพิการ จะทำให้เราช่วยจับประเด็น เวลาลงพื้นที่สัมภาษณ์ เนื่องจากผมก็ติดต่อกับสื่อประมาณหนึ่ง มีการล้ำเส้น คือให้ความสนใจกับความพิการของเรามากกว่าประเด็นที่เรานำเสนอ เช่น มาถ่ายขา

อย่างการทำทางลาด เราทำเพราะเขาพิการ หรือทำเพราะมันมีคนต้องใช้ทางลาด สองวิธีคิดนี้ไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำเพราะเขาพิการความพิการของเขาจะเป็นปัญหา คนก็จะไปโฟกัสตรงนั้น โฟกัสจะอยู่ที่เราพิการมากกว่าปัญหาหรือประเด็นที่เขาเผชิญอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปโฟกัสที่ความพิการของเขา” สว่างกล่าว

พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา

พรสวรรค์ กล่าวว่า ในกรณีคนพิการทางสติปัญญามีปัญหาค่อนข้างเยอะ ในครอบครัวเด็กในกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเป็นคนเลือกให้เด็ก ต้องสร้างการตระหนักรู้ว่าตัวเด็กเองต้องการอะไร ชี้แนะให้เข้าใจ

“ปกติเราจะพาลูกไปเลือกตั้งด้วย ให้เด็กรู้ว่าเราก็มีสิทธิ ปกติเวลาเลือกตั้งก็จะมีบัตรแจ้งมีชื่อลูกเราด้วย พอไปถึงเจ้าหน้าที่ไม่เคยมาถามสักคำว่าลูกมีสิทธิเลือกมั้ย และสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้กับพวกเขา คือไม่มีสถานที่จำลองให้เด็กเหล่านี้ไปเรียนรู้การเลือกตั้ง อดีตที่ผ่านมา เวลาเลือกตั้งเด็กเหล่านี้แทบไม่มีสิทธิ อยู่กับบ้าน แต่จริงๆ เด็กก็อยากเลือก และที่สำคัญเวลาเลือกตั้งจะมีการพูดวิสัยทัศน์ แต่เด็กเราไม่รู้เลย เราอยากให้ใช้ภาษาง่ายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งเองได้” พรสวรรค์กล่าว

นอกจากนี้พรสวรรค์ยังเสริมว่า ปัจจุบันไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงเลยว่าคนพิการก็มีสิทธิเลือกตั้งได้ ไม่เคยกล่าวถึงเลย อยากให้สื่อออกมาพูดว่าคนพิการทุกประเภทมีสิทธิเลือกตั้งถ้าบุคคลนั้นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จัดสถานที่ให้เหมาะสม ให้มีสถานที่จำลอง หรือกระทั่งใบเลือกตั้งให้เหมือนของจริง ให้ลองเลือกตั้งเอง คิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ แต่ไม่ใช่เพียงวันเดียวชั่วโมงเดียวเด็กทำไมได้

นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต

นุชจารีกล่าวว่า ในส่วนคนพิการทางจิต สังคมทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจผู้ป่วย คนพิการทางจิตมีสองแบบ คือคนที่จดทะเบียนก็จะเรียกคนพิการ กับอีกแบบคือยังไม่ได้จดทะเบียน หากอยู่โรงพยาบาลก็จะเรียกผู้ป่วย หรือครอบครัวไม่ให้จดทะเบียนคนพิการทางจิตเพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ เสียหายต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

สำหรับคนพิการทางจิต ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือทำนิติกรรมใดๆ ได้ แต่ความจริงถ้าจะเป็นบุคคลไร้ความสามารถต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการจดทะเบียนเป็นคนพิการทางจิตแล้วจะไม่สามารถไปเลือกตั้ง คนพิการทางจิตถ้าหมอรักษาสม่ำเสมอ กินยา รักษาแล้ว ชุมชนให้การสนับสนุน ก็สามารถไปเลือกตั้งได้ คนพิการทางจิตไม่เหมือนคนพิการอื่น ทุก 8 ปีต้องให้หมอประเมินใหม่ เป็นความพิการชั่วคราว เขาอาจไม่ต้องจดทะเบียนเป็นคนพิการทางจิตเพียงแต่เป็นผู้ป่วยที่ต้องกินยา

“คนพิการมีสิทธิตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป คนพิการไม่ใช่คนผิดปกติ เราบกพร่องบางอย่าง คำบางคำที่เกี่ยวข้องกับคนพิการอยากให้สังคมเรียนรู้ด้วยกัน ใช้คำที่เราเข้าใจเหมือนกัน เช่น อย่าใช้คำว่าคนปกติกับคนผิดปกติ ควรใช้คำว่าคนทั่วไปกับคนพิการ” นุชจารีกล่าว

นุชจารีเสริมว่า เชื่อว่าถ้าให้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งในช่องทางต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ จะมีคนพิการออกมาใช้สิทธิอีกจำนวนมาก ทุกวันนี้เรารณรงค์คนทั่วไปให้ออกไปใช้สิทธิ์ แต่เราลืมว่ามีคนพิการอีก 1.7 ล้านคนที่ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากมีการผลักดันถึงแม้จะไม่ถึง 1.7 ล้านคน ก็จะมีคนใช้สิทธิเพิ่มขึ้น

ส่วนในข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งอยากให้มีช่องทางพิเศษสำหรับคนพิการ ให้เขารอน้อยที่สุด เพราะคนพิการทางจิตจะมีความอดทนน้อยกว่าคนทั่วไป

ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

ปรียานุชเล่าถึงประสบการณ์การเลือกตั้งของเธอว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข่าวสารเลย เหมือนเราห่างไกลการรับข้อมูล ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเข้าใจ รูปหาเสียงก็ไม่รู้เลยว่าคนนี้คือใคร มีนโยบายยังไง มีแต่ผู้ใหญ่บอกให้เลือกหมายเลขนี้นะ พ่อแม่บอกให้กาแบบนี้ก็ตามพ่อแม่ เราไม่รู้เลยว่าผู้แทนคนนี้ดีไม่ดี

ปรียานุชเสนอว่า ก่อนการเลือกตั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ ควรมีการอบรมการเลือกตั้งให้ครบทุกขั้นตอน และให้คนหูหนวกเองมาทำสื่อ มีสื่อเป็นภาษามือและรูปภาพสำหรับคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ รวมทั้งประวัติผู้สมัครก็ควรมีล่าม มีตัวอักษร มีภาษามือ และในวันนับคะแนนเสียงควรมีล่ามในแต่ละคูหา ในส่วนคนต่างจังหวัดที่มาทำงานกรุงเทพฯ ควรบอกก่อนว่าเลือกก่อนได้เมื่อไหร่ ที่ไหน

เธอเล่าว่า ตัวเธอเองกลับไปเลือกที่เชียงใหม่ ดูจากเว็บไซต์ว่าคูหาอะไร เดินไปถึงมีเจ้าหน้าที่มาทัก พอบอกว่าเธอเป็นคนหูหนวก ไม่มีอาสาสมัครคอยแนะนำเลย เธอจึงอยากให้มีคนที่ผ่านการอบรมมาช่วยแนะนำ ในคูหาควรมีรูปภาพแนะนำขั้นตอนวิธีการทำ กาอันเล็กหรืออันใหญ่ มุมซ้ายหรือมุมขวา เธอไม่รู้เลยจึงต้องแอบมองคนอื่นว่าทำอย่างไรแล้วทำตาม