Skip to main content

คณะกรรมาธิการสังคมฯ พิจารณายุทธศาสตร์ AAA หรือการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เชื่อช่วยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม พร้อมแนะรัฐกำหนดประเด็นการเข้าถึงเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ตรวจสอบ-ติดตาม-สนับสนุน-ลงโทษ<--break- />

14 ก.พ.2560 คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษา ยุทธศาสตร์ AAA (Accessibility for All Act) หรือการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยหวังว่า ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้สมาชิกในสังคมทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยไม่เลือก เพศ อายุ และสภาพร่างกาย

ก่อนหน้านี้ มีการทำงานโดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการดังนี้

1.เชิญผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
2.จัดสัมมนาระดับชาติเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
3.พิจารณาศึกษากฎหมายที่มีสาระเกี่ยวกับ Accessibility รวมทั้ง ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ จึงได้รวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลการดำเนินการ พร้อมจัดทำรายงานผลการพิจารณาการศึกษาขึ้นสำหรับเป็นรายงานฉบับตั้งต้น เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึง และขยายผลดำเนินการไปในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป รายงานผลการพิจารณาศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่

1.ผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดว่า

ก.ความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากจะหมายถึงสภาพ แวดล้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร สถานที่ และระบบคมนาคมแล้ว ยังรวมถึง ผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี การสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้ต่าง ๆ ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ จึงมีที่มาจาก
"A" ตัวแรก คือ "Accessibility" หมายถึง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
"A" ตัวที่สอง คือ "All" หมายถึง ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย
"A" ตัวที่สาม คือ "Act" ที่มีความหมาย 2 อย่าง คือ
(1) Act หมายถึง พระราชบัญญัติหรือกฎหมาย
(2) Act มาจาก Action หมายถึง การลงมือทำ หรือการลงมือปฏิบัติให้เป็นจริง

ข.หลักการพื้นฐานของการเข้าถึง มี 3 อย่างได้แก่

(1) Universal Design หรือ UD หมายถึง การออกแบบที่เป็นสากล การออกแบบที่เป็นธรรม หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็น หลักการสำคัญที่สุดและเป็นต้นทาง ที่จะทำปลายทางให้ทุกคนเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้

(2) Assistive Technology หรือ AT หมายถึง การจัด สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นหลักการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายและมีความสำคัญรองลงมาจาก UD เป็นหลักเฉพาะที่มาตอบโจทย์เฉพาะกิจ เฉพาะบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มคน ดังนั้น การออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรมและ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสองอย่างต้องไปคู่กันเสมอ

(3) Reasonable Accommodation หรือ RA หมายถึง การช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลเป็นเรื่อง เฉพาะบุคคล โดยการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล เป็นการช่วยเหลืออย่างพอเพียง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด

ค.ความสำคัญของการเข้าถึง ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมร่วม (Inclusive Society)  ซึ่งเป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) นอกจากนี้การเข้าถึงยังเกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในทุกมติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยังรวมถึงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในการขนย้าย หรืออพยพผู้คน และสร้างที่พักพิงชั่วคราวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย คนพิการถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของยุทธศาสตร์ AAA เพราะคนพิการอยู่บนความท้าทายมากกว่าคนทั่วไป หากคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อมสาธารณะแล้ว คนทั่วไปก็สามารถใช้ได้

ง.ยุทธศาสตร์ AAA มีความเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องกฎหมาย จิตสำนึก ความใส่ใจ ด้านเทคโนโลยี และการบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ฯลฯ จึงต้องบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันเพื่อสร้างให้ทุกคนในเห็นว่า เป็นเรื่องของตนเองและเป็นเรื่องของทุกคน ในระยะยาวต้องผลักดันขับเคลื่อนให้มีกฎหมาย AAA ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนความรู้และทัศนคติของสังคมให้ความสำคัญในเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ โดยเริ่มจากสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกตั้งแต่สถาบันครอบครัว ชุมชน รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ทั้ง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคราชการ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

จ.ยุทธศาสตร์ AAA จะเป็นจริงได้โดยกลไกจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐถือเป็นต้นทางในการจัดบริการสาธารณะที่จะช่วยให้การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะตามยุทธศาสตร์ AAA เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) ยังเป็นกระแสสำคัญในการผลักดัน AAA เพื่อการเข้าถึงสำหรับทุกคน ตามข้อคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 2 ปี พ.ศ.2557 ย่อหน้าที่ 32

2.ข้อเสนอแนะต่อการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) ต่อรัฐมีดังนี้

1) รัฐควรกำหนดประเด็นการเข้าถึง เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการดำเนินงานตามเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2) รัฐควรจัดให้มีกฎหมาย AAA แก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบายให้ผนวกรวมประเด็น AAA (ก) ควรเพิ่มเติมหลักการการเข้าถึงไว้ในกฎหมายที่จะมีขึ้นในอนาคต เช่น ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ ร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

(ข) ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวกับ กฎหมาย AAA ใน 5 ประเด็นสำคัญได้แก่

(1) กำหนดให้การเข้าถึง เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม
(2) กำหนดให้มีผู้ตรวจสอบอิสระเพื่อติดตามและประเมินการดำเนินงานด้านการเข้าถึง
(3) เพิ่มเนื้อหาให้เป็นสากลและทันสมัยทุกด้าน
(4) จัดทำมาตรฐานของการเข้าถึงในทุกมิติ
(5) จัดระบบงบประมาณให้มีจำนวนเหมาะสม เพียงพอ และใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ควรมีกฎหมาย AAA แบบบูรณาการ ซึ่งอาจจัดทำร่างกฎหมาย AAA ขึ้นใหม่ หรือจัดทำเป็นประมวลกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึง

3) รัฐควรกำหนดมาตรการ ตรวจสอบ ติดตาม ส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย AAA โดยกำหนดมาตรการตรวจสอบ ติดตาม และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง กำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจ และกำหนดบทลงโทษ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมาย AAA มีประสิทธิภาพมากขึ้น

4) รัฐควรส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง AAA อย่างกว้างขวาง ต่อเนื่อง และเป็นระบบ ตลอดจนสนับสนุน ให้มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งควรบรรจุเนื้อหา AAA ไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ

5) รัฐควรสนับสนุนให้มีการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในประเด็น การเข้าถึงให้ทุกภาคส่วน รวมทั้ง สนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ตามหลัก "ประชารัฐ" เพื่อเสริมพลังให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในสังคมได้มีส่วนร่วมในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA และสร้างทัศนคติให้สังคมไทยได้ตระหนักว่ายุทธศาสตร์ AAA เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และเห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เห็นได้จากการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สุขภาพ และคมนาคม ฯลฯ และทุกเป้าหมายในการพัฒนาประเทศจะเป็นจริงไม่ได้เลย หากรัฐบาล และทุกหน่วยงานยังละเลยการดำเนินการตาม "ยุทธศาสตร์ AAA"