“หมอบอกว่าผมจะอยู่ได้ไม่นานเดี๋ยวก็เสียชีวิต ที่บ้านเชื่อคำหมอ ก็เลยไม่ปรับพื้นที่บ้านให้”
จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ศรีสะเกษร่วม 7 ชั่วโมง 40 นาทีกับระยะทางกว่า 565 กิโลเมตร นับได้ว่าเป็นการเดินทางที่ดูยาวนาน แต่หากกล่าวถึงการมีชีวิตอยู่ บางคนอาจยาวนานบางคนอาจแสนสั้น เช่นเดียวกับความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ และหากเลือกได้หลายคนคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน แต่เมื่อความพิการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยๆ หากเกิดความพิการขึ้น คนพิการเองก็อยากเลือกชีวิตได้เองบ้าง
ครั้งนี้เราเดินทางมาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อคุยกับ ฤทธิชัย สดใส เพื่อนคนพิการที่มีความพิการรุนแรง จากการบาดเจ็บไขสันหลัง ถึงชุดประสบการณ์ชีวิตหลังได้รับความพิการว่าชีวิตนั้นเป็นอย่างไร ต้องผ่านและเผชิญความกดดันท้าทายอะไรมาบ้าง รวมถึงหากได้เลือกตัดสินใจเอง ชีวิตจะเป็นอย่างไร
ความพิการมาแบบไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้า
ฤทธิชัย: ความพิการของผมเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุรถแท็กซี่ชนท้ายมอเตอร์ไซค์ ผมกระเด็นออกจากมอเตอร์ไซค์หัวไปกระแทกกับฟุตปาธ ถึงจะใส่หมวกกันน็อคทำให้หัวไม่เป็นอะไร แต่กระดูกต้นคอกลับหักข้อที่ C5 - C6 อุบัติเหตุนี้เกิดแถวแยกเจริญกรุงเมื่อเดือนธันวาคม 2548 นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสำโรงเกือบ 2 เดือน ใช้สิทธิประกันสังคมนอนอยู่โรงพยาบาลไม่เกินสองเดือน หลังออกจากโรงพยาบาลก็ขึ้นรถกลับมาบ้านที่ศรีสะเกษเลย
ชีวิตช่วงแรกยังทำใจไม่ได้ ในใจบอกว่าฉันยังเดินได้อยู่ ฉันยังลุกได้อยู่ แต่พอเวลาผ่านไปก็เดินไม่ได้จริงๆ เสียงพนักงานเวรเปลดังอยู่ในหัวตอนที่เข็นผมไปที่ห้องผ่าตัด เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวรักษาทำกายภาพไม่เกินเดือนก็หาย เสียงนั้นยังดังอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายปีไม่สามารถกลับมาหายได้ แต่ชีวิตต้องอยู่ต่อ แล้วจะทำอย่างไร เป็นคำถามที่ตามมา
ชีวิตที่บ้านหลังพิการเป็นอย่างไร
ก็นั่งรถเข็นอยู่แต่ในบ้าน ไปไหนไม่ได้ เพราะว่าบ้านยังเป็นขั้นบันได ที่บ้านไม่ยอมทำทางลาดให้เพราะว่าหมอบอกว่าผมจะอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็เสียชีวิต เขาก็เชื่อคำหมอเลยไม่ปรับพื้นที่บ้าน วันๆ นั่งตาเหลืองอยู่หน้าบ้าน ไม่ได้ทำอะไร ตื่นเช้ากินข้าว ประมาณบ่ายสามขึ้นรถออกมานั่งหน้าบ้าน ประมาณห้าโมงเย็นกินข้าวเสร็จก็เข้านอน มีน้องชายกับแม่ช่วยย้ายตัวขึ้นเตียง เวลาช่วยกันยกก็ให้คนนึงยกท่อนบน คนนึงยกขาแล้วก็วางลง ใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นสองสามปี
ชีวิตเปลี่ยนแปลงตอนไหน
เวลาผ่านไปผมก็คิดว่า จะเดินไม่ได้จริงๆ เหรอ จนมีคนแนะนำว่าให้อ่านหนังสือธรรมะ ก็เลยได้อ่านจนได้ข้อสรุปว่าไม่ควรยึดติด ผมต้องเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงเลย ตั้งใจว่าถ้าอย่างนั้นจะเข้าสู่สังคม หลังจากนั้นผ่านไปประมาณอาทิตย์หนึ่งก็มีหนังสือจากกรมขนส่งมาว่ามีกองทุนผู้ประสบภัยทางท้องถนนให้กายอุปกรณ์ ประมาณเดือนกว่าๆหลังจากนั้นผมก็ได้รถวีลแชร์ไฟฟ้ามาใช้
ก่อนมีรถวีลแชร์ไฟฟ้า ผมมีรถธรรมดาคันหนึ่ง เป็นรถเหล็กของโรงพยาบาล ก็ใช้อยู่แต่ในบ้านไปไหนไม่ได้ เพราะว่าบ้านเป็นขั้นบันได พอเป็นรถไฟฟ้าก็ถอดที่พักแขนขึ้นได้ เวลาย้ายตัวจากเตียงก็แค่สไลด์ตัวมา การได้นั่งอยู่บนวีลแชร์ไฟฟ้าทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย ได้ใช้ชีวิต ได้ไปตามความคิด แต่ก่อนนั่งวีลแชร์ธรรมดาจะไปไหนมาไหนก็ต้องมีคนอยู่ใกล้ๆ เผื่อตกหลุม แต่พอเป็นวีลแชร์ไฟฟ้ามีอะไรก็ไปได้ ไปได้ไกลขึ้นมาก เราได้แบ่งเบาภาระให้กับผู้ดูแล จากที่เขาต้องมานั่งเฝ้าหรือคอยดูอยู่ห่างๆ เราก็ไปของเราได้เอง เวลามีปัญหาติดขัดเราก็ค่อยตะโกนให้ช่วย ก็ช่วยลดภาระคนทางบ้านได้เยอะ
ได้ปรับบ้านตอนไหน
เริ่มปรับบ้านโดยทำทางลาดหลังจากได้รถเข็นไฟฟ้า เรามีเงินเดือนจากประกันสังคมเดือนละ 2,500 บาท ผมใช้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนจ้างช่างแถวบ้านมาทำ ก็ซื้อปูนซื้ออะไรทำไปเรื่อยๆ ฐานะทางบ้านผมไม่ดีก็เลยใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง
วีลแชร์ที่ดีสำหรับตัวเอง ต้องเป็นแบบไหน
วีลแชร์ที่ดี สำหรับผมจะต้องตอบโจทย์ก็คือ 1. เบา 2. แข็งแรง แล้วก็สามารถไปได้ในหลายที่ ไม่ใช่วิ่งได้แต่บนพื้นเรียบอย่างเดียวเพราะผมเป็นคนลุยๆ เรื่องสีไม่สำคัญเท่าไหร่แต่ถ้าให้ผมเลือกสี ผมชอบสีเขียวหรือสีน้ำเงินเข้มๆ แต่เขาไม่ให้เลือกสี ผมคิดว่าคนพิการควรเลือกสีได้ ถึงร่างกายมีความพิการ แต่ก็ยังมีความต้องการอยู่ หลายคนก็ชอบทาลิปสติก อยากจะเสริมหล่อเสริมสวย
ทำไมคนพิการควรจะได้เลือกเอง
การได้เลือกเองเป็นความภูมิใจ เป็นสิ่งที่เราอยากนำเสนอ เช่น รถคันนี้ สีสันแบบนี้ฉันเลือกเองกับมือ ไม่ใช่ยัดเยียดให้ แม้กระทั่งเคสโทรศัพท์คนทั่วไปก็ยังเลือกสีเลย คนพิการเราก็อยากเลือกสีรถบ้าง แต่มันมีให้เลือกมั้ยล่ะ
อย่างน้อยการได้เลือกทำให้เรามีชีวิตและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น อย่างผมต้องเข้ากรุงเทพฯ บ่อย ต้องทำสวน ต้องอาบน้ำ รถก็ต้องเบาๆ แข็งแรงเพื่อเวลายกขึ้นรถไปกรุงเทพ ต้องมีแบบแข็งแรงบึกบึนเวลาเข้าสวนเข้าไร่ และต้องเป็นสแตนเลสอย่างดีเพราะผมต้องอาบน้ำเช้าเย็น ถ้าเกิดชีวิตมีทางเลือกผมก็คงเลือกแบบนี้ เหมือนรองเท้าไปห้องน้ำก็เป็นรองเท้าแบบหนึ่ง ไปห้องนอนก็มีรองเท้าแบบหนึ่ง ไปไร่ก็ต้องใส่บูท แต่ว่าในความเป็นจริงเขาไม่ให้เลือกอย่างนั้น เขาให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือ เอาหรือไม่เอา
อยากฝากอะไร
หากจะสนับสนุนคนพิการ ต้องเอาคนพิการเป็นโจทย์ แล้วก็หาสิ่งที่เหมาะสมให้เขา ไม่ใช่ว่าอยากแต่จะให้ แต่ต้องมีภูมิหลังด้วย ว่าเขาทำอะไรที่ไหนอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาต้องการนั้นเอาไปใช้ในชีวิตได้ดีมากน้อยแค่ไหน เหมือนเขาใส่รองเท้าเบอร์ 6 แต่ให้รองเท้าเบอร์ 5 เขาก็ใส่ไม่ได้แน่นอนครับ