Skip to main content

“บ้านที่มีฐานะหน่อยเขาก็ดูแลลูกด้วยตัวเอง มีครอบครัวหนึ่งเขาขับรถไปส่งลูกที่จังหวัดศรีสะเกษ ไปกลับโรงเรียนวันละ 110 กิโลเมตร แม่ต้องไปรอลูกเรียนเสร็จแล้วค่อยกลับ ทำมาหลายปี คำถามก็คือถ้าเศรษฐกิจเขาไม่ดี เขาก็ทำแบบนี้ไม่ได้ ปัญหาสำคัญก็คือทางเลือกของเด็กพิการมีน้อยมากๆ ในสังคมไทย”

ระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดสุรินทร์ ใช้เวลานั่งรถประมาณ 6 ชั่วโมง นับเป็นการเดินทางที่ยาวนานพอสมควร แต่ไม่ใช่แค่ระยะทางที่ไกลเท่านั้น แต่สิทธิคนพิการก็อยู่ไกลตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเด็กพิการ ที่อาจเข้าไม่ถึงทั้งการแพทย์ การศึกษาและการมีส่วนร่วมทางสังคม  จนเราก็ต่างรู้ดีว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร 

 

เราเลี้ยวรถเข้าไปในจังหวัดสุรินทร์เพื่อคุยกับ เฉลิมชัย ทองสุข ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิขวัญชุมชน  ในฐานะคนทำงานพื้นที่เขามองเห็นปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก ชุมชน รวมถึงเรื่องคนพิการและเรื่องเด็กพิการ และสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาของเด็กพิการภายในชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ทั้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ สิทธิทางการแพทย์ รวมถึงโอกาสทางการศึกษา ฉายภาพให้เห็นว่าเด็กพิการในจังหวัดสุรินทร์มีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร 

 

 

ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นเด็กพิการในสังคม

เฉลิมชัย : ส่วนหนึ่งเรามองไม่เห็นพวกเขาเพราะว่าพวกเขาไม่ได้มีโอกาสออกมาจากพื้นที่ของตัวเองอย่างบ้าน ไม่ได้ออกจากชุมชนสู่พื้นที่สาธารณะ จะได้เห็นก็ตอนที่ออกมาหาหมอ ที่โรงพยาบาล และส่วนหนึ่งที่คิดว่ามีผลก็คือภาพลักษณ์เรื่องความพิการในสังคมไทยที่ผลักให้พวกเขากลายเป็นคนอื่นในสังคม

 

เราเริ่มต้นทำงานเรื่องเด็กพิการในช่วงปี 2557 ต่อเนื่องมาตลอด จากสเกลเล็กๆ จนขยายใหญ่เรื่อยๆ ในช่วงแรกเรายังไม่รู้หรอกว่าอยากจะทำอะไร มีไอเดียแบบไหน จนกระทั่งเราเห็นข้อมูลจาก School of Change รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานหลายแห่งก็ทำให้เห็นว่ามีช่องว่างอยู่ เราจึงนำสมมติฐานมาทำงานกับพื้นที่ของเรา ซึ่งมีความน่าเศร้าเพราะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลตัวเลข เราเองเห็นโอกาสว่า ถ้าพวกเขาได้รับการฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอจนสามารถไปใช้ชีวิตได้ ก็จะเป็นโอกาสของเขาในการดำรงชีวิตในสังคม สังคมไทยเวลาคนพูดถึง 1,000 วันแรกของพัฒนาการเด็ก เราไม่รู้ว่าเขาพูดถึงเด็กพิการด้วยหรือเปล่า 

 

พื้นที่หลักของเราทำงานอยู่ที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ นอกจากเด็กพิการแล้วเราทำงานเรื่องอื่นอยู่เหมือนกัน เช่น  การปรับสภาพบ้าน รวมถึงเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าและเด็กที่ใช้สารเสพติดในพื้นที่ ส่วนเรื่องเด็กพิการมีอยู่ประมาณ 40 เคส และฐานข้อมูลของเด็กพิการอยู่ประมาณ 300 คน อายุ 0-20 ปี

 

 

ครั้งแรกที่ลงไปทำงานก็เหมือนคนอื่นทั่วไป คือไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับพวกเขา เขาจะเรียนได้เหรอ จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างไร แต่พอทำไปสักพักนึงก็พอเห็นได้ว่าพวกเขารู้เรื่องนะ แม้ร่างกายจะพิการแต่ความคิด ความรู้สึกของเขาที่อยู่ข้างในก็ยังทำงานอยู่เหมือนคนทั่วไป และก็พร้อมที่จะพัฒนา

 

ส่วนใหญ่ที่เราทำงานด้วยเป็นกลุ่มเด็กทางการเคลื่อนไหวอย่าง  CP- Cerebrel pulsy และความพิการทางสติปัญญา ส่วนเด็กพิการทางการมองเห็นและพิการทางการได้ยินยังมีน้อย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความพิการทางการมองเห็นยังพอมีช่องทางที่ยังสามารถไปได้ และระบบค่อนข้างเตรียมไว้พร้อม ส่วน CP ยังเข้าถึงอะไรต่างๆ ยากมาก มีความพร้อมน้อยที่สุด แถมยังเข้าถึงการเรียนรู้น้อย ยังต้องอาศัยการพึ่งพิงผู้ปกครองค่อนข้างมาก

 

 

แล้วไปเจอเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร

ส่วนใหญ่เป็น อสม. ที่พอเข้าไปเจอ รวมทั้งจากการทำโครงการต่างๆ หรือจากคนทำงานในระดับชุมชน เท่าที่เห็นพวกเขามีโอกาสฟื้นฟูแต่น้อยมาก ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สังคมได้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเพราะทำได้ยาก เพราะที่เรียนหรือที่ฟื้นฟูอาจจะไม่เพียงพอหรือไม่ได้อยู่ในชุมชน 

 

อย่างที่เราเห็นก็คือคนพิการหรือคนป่วยจะออกมาหาหมอแต่ละวันจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการเดินทางไปมาระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลหรือสถานฟื้นฟู หลักร้อยถึงพันบาท และไม่มีหรือมีน้อยที่นักกายภาพหรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของการฟื้นฟูจะลงพื้นที่เป็นประจำสม่ำเสมอ

 

อีกเรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ คนมักเข้าใจผิดว่าการศึกษาพิเศษคือการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งที่จริงแล้วการศึกษาพิเศษไม่ได้มีแค่นั้น  แม้กระทั่งบุคลากรในระบบการดูแลคนพิการก็ไม่ได้เข้าใจว่า การศึกษาพิเศษเกี่ยวข้องกับเรื่องคนพิการ แต่พอเราไปสร้างความเข้าใจก็สามารถเชื่อมโยงงานได้ ทำให้การประสานส่งต่อง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในพื้นที่สุรินทร์บุคลากรยังขาดความเข้าใจและประเด็นนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้เท่าไหร่ 

 

 

มีสิทธิใช้ฟรีแต่เดินทางไกล 

การเดินทางมาหาหมอ หรือการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ สำหรับคนในจังหวัดสุรินทร์ถ้าใกล้ๆ หน่อยก็เป็น รพสต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) จะห่างกับพื้นที่ประมาณ 3-5 กิโล ส่วนใหญ่เดินทางกันด้วยมอเตอร์ไซค์ ในกรณีที่เจ็บป่วยมากหรือฉุกเฉิน รพสต.ก็เป็นด่านแรก แต่ถ้าเจ็บหนักก็ต้องไปโรงพยาบาลระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด 

 

มีกรณีหนึ่งเขาต้องไปหาหมอหัวใจที่โรงพยาบาลในโคราช เราก็ต้องช่วยกันระดมทุน เพราะการหาหมอก็ไม่ได้มีแต่ค่ารักษาพยาบาล มันมีทั้งค่าเดินทาง ค่าที่อยู่ ที่พักในช่วงที่ทำการรักษา ถ้านัดวันนี้ก็ต้องมาตั้งแต่เมื่อวาน  ไหนจะค่ายา หาหมอเสร็จกลับไม่ทันรถก็ต้องหาที่นอนอีก 

คนส่วนใหญ่ก็ใช้การเหมารถมาหาหมอ มันใช้เงินจำนวนมากเพื่อเดินทาง คนจึงฟื้นฟูได้ในช่วงแรก ตอนยังพอมีเงินมาหาหมอ แต่ระยะต่อไปมันก็ไม่ไหวแล้ว จริงๆ ทั้งคนพิการและไม่พิการก็อยู่ในสภาวะประมาณนี้ พัฒนาการของเด็กที่ควรจะต้องพัฒนาก็กลายเป็นหยุดชะงัก ซึ่งก็สำคัญต่อเด็กพิการเพราะมันส่งผลระยะยาวต่อพวกเขา

 

 

เราคิดว่าบริการเหล่านี้ควรอยู่ใกล้บ้านผู้คนให้ได้มากที่สุด บางโคงการรัฐอย่าง ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ชื่อน่ารักมาก มีการเอาพ่อแม่มาอบรมให้กลายเป็นผู้ฟื้นฟู เป็นการริเริ่มที่ดีมาก แต่การจะทำให้เห็นผลประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างที่จะยาก เพราะการผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องยาก และพ่อแม่เองก็มีเงื่อนไขอื่นที่จะต้องทำ เช่น ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในครอบครัว เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความเข้มแข็งของกลุ่มพ่อแม่ที่รวมตัวกันในการดูแลลูกค่อนข้างน้อยที่ จะพอเห็นก็เป็นกลุ่มออทิสติกแต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมาก 

 

งานฟื้นฟูส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับอำเภอแต่ผมมองว่ามันควรจะลงมาถึงระดับตำบลมากกว่า เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง ผมอยากเห็นศูนย์พัฒนาเด็กพิการในระดับตำบล ถ้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. สามารถทำได้ ทำไมศูนย์พัฒนาเด็กพิการ อบต. จะทำไม่ได้ 

 

 

ศูนย์การศึกษาพิเศษสุรินทร์ 

ที่นี่มีศูนย์ใหญ่ในตัวเมือง ใครที่ใกล้ก็จะมาใช้ที่นี่ ซึ่งมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรืออุปกรณ์ ในส่วนของตำบลก็มี เพราะบางครั้งศูนย์การศึกษาพิเศษระดับอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ก็ไปแปะอยู่ตามห้องของ อบต. หรือตามความอนุเคราะห์ของสถานที่ใดที่หนึ่ง เพราะไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง และได้พื้นที่ไม่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้และพัฒนาการ เช่นที่ที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ บุคลากรเขาต้องไปหาพื้นที่เอง 

 

มันน่าแปลกมากที่สิ่งสำคัญแบบนี้รัฐกลับไม่ยอมลงทุน การศึกษาพิเศษคือการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กพิการให้สามารถพัฒนาตัวเองเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้ ผ่านการดูแลตัวเองโดยไม่เป็นภาระใคร 

 

โดยหลักๆ จะดูแลในช่วงอายุ 0 ถึง 18 ปี โดยหลังจากนั้นถ้าได้รับการเตรียมความพร้อมที่ดีแล้ว จะส่งต่อไปที่โรงเรียนเฉพาะความพิการ ถ้าเป็นกลุ่มสติปัญญาเขาก็จะส่งไปที่โรงเรียนปัญญานุกูล สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของการเตรียมความพร้อม

 

จุดแข็งของการศึกษาพิเศษก็คือ มีครูการศึกษาพิเศษ มีนักจิตวิทยาเด็ก มีนักกิจกรรมบำบัด รวมถึงนักกายภาพ บางทีมีเยอะกว่าที่โรงพยาบาล แต่บางที่ก็แทบไม่มีเลย เหมือนจับฉลาก แม้มีมาตรฐานแต่มาตรฐานกลับไม่ถูกทำให้เป็นจริง ทุกวันนี้ กศน. ยกระดับตัวเองเป็นกรมแล้ว เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ศูนย์การศึกษาพิเศษยังเป็นสำนักงานการศึกษาพิเศษอยู่เลย พูดแบบแรงๆ เลยก็คือ ในระดับบน หน่วยงานด้านการศึกษามีคนทำงาน มีบุคลากร แต่ไม่เคยลงมาถึงในระดับอำเภอหรือชุมชน แล้วช่องว่างเหล่านี้คืออะไรและใครจะเป็นคนรับผิดชอบ 

 

 

เกินกำลังคนทำงานในพื้นที่ 

เราเห็นระดับคนทำงานพยายามนะ สถานที่หลายแห่งก็มีรั้วรอบขอบชิดแต่บางสถานที่ก็ไม่มีรั้วเลย อย่างที่คูเมือง ทำสถานที่ดีมาก เป็นระเบียบเรียบร้อย มีอาคารเรียนซึ่งไม่ใช่ของสำนักงานการศึกษาพิเศษ จึงทำอะไรได้ไม่เยอะ จะปรับปรุงสถานที่ก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่อาคารของเขา จะทำห้องน้ำเด็กพิการเพิ่มก็ต้องขอ แม้จะเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก็ทำอะไรไม่ได้ และงบประมาณก็ไม่มี 

 

อย่างที่อำเภอรัตนะมีเด็กพิการอยู่ประมาณ 8-10 คน ทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างโรงพยาบาลกับศูนย์การศึกษาพิเศษ ต่อมาโรงพยาบาลก็ส่งเด็กมาเพิ่มเป็น 20 คน ซึ่งเกินกำลังของคนทำงานเพราะมีจำนวนน้อย เด็กพิการมีความจำเป็นต้องใช้ครูอยู่ที่อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ไม่ใช่ 1 ต่อ 25 หรือ 1 ต่อ 50 เหมือนเด็กในโรงเรียนทั่วไป แต่ในข้อเท็จจริงก็คือบางศูนย์มีครูอยู่ 2 คน 

 

ดูแลเด็กพิการทางสติปัญญาไม่ใช่เรื่องง่าย 

อย่างโครงการที่พยายามจะทำให้พ่อแม่เป็นผู้ดูแล หากมีบุคลากรครูไม่พอ ก็ยากที่จะดูแลเด็กพิการที่อาจต้องอยู่ในสายตาตลอดเวลา เช่น กลุ่มเด็กออทิสติกก็จะมีรูปแบบของเขา ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้หรือรับมือไม่ไหวก็จะเป็นอย่างที่เราเห็นตามอินเทอร์เน็ต 

 

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็กพิการทางสติปัญญาหลายคนอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือกันอย่างหนักหน่วง บางคนภาษาพูดของเขาเหมือนกับการ์ตูน   พูดรวมๆ ก็คือทางเลือกของพ่อแม่เด็กพิการในชุมชนนั้นมีน้อย ถ้าเป็นโรงเรียนเรียนรวม บางคนส่งไปได้แค่วันแรกต่อมาเขาก็ไม่ไป เพราะถูกแกล้ง ถูกรังแก แถมครูไม่สามารถรับมือได้ 

 

เด็กบางคนก็เดินไปทั่วโรงเรียนบ้านที่มีฐานะหน่อยเขาก็ดูแลลูกด้วยตัวเอง มีครอบครัวหนึ่งขับรถไปส่งลูกที่จังหวัดศรีสะเกษ ไปกลับโรงเรียนวันละ 110 กิโลเมตร แม่ต้องไปรอลูกเรียนเสร็จแล้วค่อยกลับ ทำมาหลายปี คำถามก็คือถ้าเศรษฐกิจเขาไม่ดี ก็ทำแบบนี้ไม่ได้ทางเลือกของเด็กพิการมีน้อยมากในสังคมไทย 

 

 

กรณีหนึ่งที่น้องเขาพิการทางร่างกาย เคลื่อนไหวไม่ได้เลย แต่การรับรู้อื่นยังปกติ บ้านเขาห่างจากศูนย์การศึกษาพิเศษ 20 กิโลเมตร อยู่ในเขตป่าสงวน ไม่มีไฟไม่มีน้ำ ต้องใช้โซล่าเซลล์หรือแบตเตอรี่ในการปั่นไฟ แม่พาลูกใส่รถพ่วงมาทุกวัน เอามาฝากศูนย์การศึกษาพิเศษ วันหนึ่งที่เราได้มีโอกาสลงไปเยี่ยมบ้านเขา ก็ไปเจอฝ่ายทวงหนี้ที่กำลังจะมายึดรถมอเตอร์ไซค์ ถ้ายึดไปจะเอาที่ไหนใช้ จะขับพาลูกไปหาหมอหรือขับไปทำงานได้ยังไง เพราะน้ำก็ต้องซื้อ ไฟก็ต้องหา  สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะทางเศรษฐกิจในพื้นที่ นอกเหนือจากเรื่องความพิการ

 

อีกคนหนึ่งน้องเขาพิการติดเตียง เกิดจากความพิการทางสมอง แม่มีลูก 4 คน คนโตสุดทำงานในกรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้บ้าง แม่ไม่มีงานทำต้องไปช่วยงานที่วัดแล้วเอาข้าวมาแบ่งลูกที่เหลือกิน บ้านก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะอยู่ได้ ตอนนั้นเราได้มีโอกาสไปปรับห้องน้ำ  ช่วงที่ทุกคนออกไปทำงานหรือเรียน เขาก็ต้องอาศัยเพื่อนบ้านในการดูแลลูกพิการ 

 

เรื่องสภาพความเป็นอยู่ก็สำคัญ แม้รัฐให้ตามสิทธิแต่ว่าก็ไม่พอ  แม่คนหนึ่งเป็นโรคไต เขาบอกว่าถ้าตัวเองตายไปก็อยากให้รัฐเป็นคนมาช่วยดูแลลูกพิการต่อ เพราะหากอยู่สถานสงเคราะห์จะได้เข้าถึงการดูแลที่มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการที่คาดว่าจะดีขึ้น วันนี้เด็กดูแลตัวเองไม่ได้ขับถ่ายเองก็ยังไม่ได้ แต่ตอนนี้เราแจ้งไป 6 เดือนแล้วเขาก็ยังเงียบ

 

 

ปรับสภาพบ้านเด็กพิการ

การปรับสภาพบ้านมีคนที่ต้องการสิทธิมากกว่างบประมาณที่มี ดังนั้นการคัดกรองจากรัฐควรจะมีระบบที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าสิทธิการปรับสภาพบ้านคนพิการคนไหนสมควรที่จะได้ก่อน ปัจจุบันเขาให้ชุมชนเป็นผู้พิจารณาเป็นหลัก ซึ่งสุรินทร์ก็ไม่ได้มีชุมชนเดียว มีทั้งหมดประมาณ 150 ถึง 160 อบต. คำถามคือใครจะได้ จะเรียงลำดับกันอย่างไร สิ่งนี้ผู้จัดทำนโยบายควรจะเป็นคนกำหนดเกณฑ์ ให้ชัดเจน

 

การปรับสภาพบ้านของเด็กพิการปีนี้ งมูลนิธิขวัญชุมชนเราก็มีโครงการประมาณ 8 หลัง แม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้สามารถวัดได้จากตัวเด็กเลยทันที แต่สิ่งที่พอจะเห็นได้ก็คือคุณภาพชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้ดีขึ้นจากการมีพื้นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ หรือทางลาด หรือมีพื้นที่ในบ้านมากขึ้นสำหรับการฟื้นฟู คลานหรือหัดเดิน โดยไม่ได้รับอันตราย 

 

งบการปรับสภาพบ้าน 40,000 บาท ก็ไม่พอสำหรับการปรับสภาพบ้านคนพิการ แต่คำถามคือแล้วต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ถึงจะพอในการปรับ จำนวนนี้พอแค่บางส่วน อย่างในห้องน้ำ หรือทำทางลาด แต่บางรายบ้านไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นบ้าน หลังคาทะลุ ไม่มีพื้นบ้าน หรือโครงสร้างบ้านไม่มั่นคง ฉะนั้นในงบประมาณตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยจึงสำคัญ ซึ่ง งอปท. กับฝ่ายสุขภาพในพื้นที่จะต้องทำงานร่วมกัน 

 

 

เมื่อก่อนเรามองว่างานสังคมสงเคราะห์ไม่ได้แก้ปัญหาหรอก แต่จริงๆ มีเรื่องของความต้องการเร่งด่วนอยู่ บางอย่างก็รอการพัฒนาไม่ได้ ก็ต้องให้ เพื่อบรรเทาความต้องการ แต่ในเชิงการพัฒนารัฐจะต้องเป็นคนที่เข้ามาจัดการ จึงทำให้ผมเห็นว่าการมีรัฐสวัสดิการนั้นจำเป็นและสำคัญ 

 

นี่เป็นหน้าที่รัฐโดยตรงในการดูแลประชากร โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่ยากลำบากที่สุด เพราะรัฐสามารถทำระบบที่ยั่งยืนได้ การออกแบบระบบให้ดีขึ้นจะช่วยคนได้มากกว่า เพราะคุณมีทั้งคนและงบประมาณ จะมาแจกแต่ถุงยังชีพก็ไม่ใช่ บริบทภาครัฐกับบริบทคนทำงานมูลนิธิก็ต่างกันอยู่แล้ว คนที่ศักยภาพเยอะก็ต้องทำเยอะหน่อย ลงแรงมากกว่าและควรทำสิ่งที่เข้าท่ามากกว่า 

 

ผมมองว่ารัฐมีศักยภาพมากกว่า เขาก็รู้แต่ระยะยาวก็ไม่ได้มีแผนอะไร แม้จะมีเรื่องเงินสงเคราะห์เงินกู้ยืม แต่จะดีกว่าไหมถ้ากลายเป็นสวัสดิการ อย่างเรื่องการปรับสภาพบ้านเคยได้ยินว่าญี่ปุ่นเขามีบริษัทเดินเข้าไปหา ไปดู ไปวัด ไปถามความต้องการของคนพิการที่บ้าน ทำเสร็จแล้วก็ไปเบิกเงินจากภาครัฐ คือภาครัฐไม่ต้องทำเองทั้งหมด เขาไม่ควรเป็นผู้เล่นด้วยตัวเอง แต่ควรเป็นคนควบคุมและตรวจสอบ รวมถึงวางมาตรฐานเสียมากกว่า ในจังหวัดสุรินทร์เจ้าหน้าที่ พม. มีไม่ถึง 20 คน ไหนจะคอยมารับเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เรื่องเคสต่างๆ วิ่งไปตามที่นู่นที่นี่ เป็นหน้าที่แต่ถ้าไม่มีระบบที่ดี เขาก็ไม่มีวันที่จะวิ่งไปได้ทุกเคส มีอำนาจหน้าที่แต่ไม่มีคนทำงาน

 

 

สิ่งที่เราอยากเสนอก็คืออยากให้ อบต. มีนักสังคมสงเคราะห์ เข้าใจว่าที่เทศบาลก็พอจะมีบ้างแล้ว หากอบต.มีนักสังคมสงเคราะห์ รวมถึงนักจิตวิทยา เพื่อรับทราบปัญหาและส่งต่อข้อมูลและเรื่องสิทธิ  พม. ก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่ขึ้นเพราะไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม เป็นการกระจายงานให้ท้องถิ่นออกไป จ่ายงบและการตัดสินใจให้ชุมชน 

 

งานการศึกษาจริงๆ แล้วท้องถิ่นก็สามารถจัดการได้ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กพิการในชุมชนได้รับการกระจายอำนาจ การทำงานก็ง่ายขึ้น สะดวกและเพียงพอมากขึ้นสำหรับคนพิการและเด็กพิการ การปล่อยให้ชุมชนได้มีโอกาสตัดสินใจเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะชุมชนแต่ละที่ก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน นี่ไม่ใช่การผลักภาระมาที่ชุมชนแต่เป็นการให้อำนาจนั่นหมายถึงการให้มาทั้งทรัพยากรและอำนาจทางกฎหมายด้วย

 

 

ใช้เวลาอีกกี่ปีคุณภาพเด็กพิการในจังหวัดสุรินทร์ถึงจะดีขึ้น 

ตอบไม่ได้เลย แต่บอกได้ว่าเงื่อนไขทางสังคม เช่น ถ้ามีสวัสดิการที่ครอบคลุมและเศรษฐกิจที่ดีในสังคมทุนนิยม หรือหากพวกเขามีรายได้มากพอ มีงานประจำก็จะช่วยได้เยอะ ยิ่งถ้าคนพิการออกไปทำงานและมีรายได้ด้วยตัวเองก็ช่วยได้มาก และทำให้รู้สึกสึกมีคุณค่า 

 

สิ่งที่ดีที่สุดคือผมอยากเห็นเด็กพิการออกไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป มีชีวิตที่เลือกได้ในแบบของตัวเอง มีงานที่มีคุณค่า สังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนทุกความสามารถ ใช้ชีวิตให้เป็นปกติเฉกเช่นเดียวกับคนไม่พิการ เด็กพิการได้ออกไปเรียน ใช้ชีวิตตามศักยภาพของตัวเอง นี่เป็นฝันของผมรวมถึงองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการหลายที่ก็คงฝันแบบเดียวกัน