Skip to main content

เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล,Thisable.me, บุญรอดบริวเวอรี่ และดิคอมมูเน่ จัดงานเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 ประเด็นคนพิการกับศาสนา โดยมีอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์, ปิยณัฐ ทองมูล, สหรัฐ สุขคำหล้า และภัทรธรณ์ แสนพินิจ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ แอดมินเพจมนุษย์กรุงเทพฯ 

ภาพผู้เข้าร่วมเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 ประเด็นคนพิการกับศาสนา โดยมีอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ คนพิการทางการเคลื่อนไหวนั่งอยู่นั่งซ้ายมือ คนที่นั่งถัดมาปิยณัฐ ทองมูล คนพิการทางด้านการมองเห็น ถัดมาอีกจะเป็นสหรัฐ สุขคำหล้าหรือที่รู้จักกันชื่อสามเณรโฟล์คนั่งอยู่ตรงกลางกับภัทรธรณ์ แสนพินิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านขวามือจะเป็นผู้ดำเนินรายการ ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ แอดมินเพจมนุษย์กรุงเทพฯ

แต่ละคนรู้จักศาสนาเมื่อไหร่

อรรถพล: ตั้งแต่จำความได้ เกิดมาก็นับถือพุทธจากคนที่กำหนดให้ผมเป็นพุทธ จนกระทั่งผมถูกยิงและเกิดความพิการเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เรื่องที่ไม่เคยสังเกต ไม่เคยตั้งคำถามกับศาสนาพุทธที่ผมนับถือก็เริ่มเกิดคำถาม เมื่อมีคนบอกว่า ความพิการเป็นเวรกรรมตั้งแต่ชาติที่แล้ว ผมต้องรับผิดชอบในชาตินี้ ผมมีคำถามกับตัวเองว่า ไปทำอย่างนั้นมาจริงเหรอ ชาติที่แล้วนี่นานเกินไปไหม เวลาทำอะไรโดนคนพูดประโยคเหล่านี้ใส่ ผมรู้สึกไม่มีความสุขและถูกลดทอนคุณค่า ช่วงแรกๆ ผมยังมองว่าการไปไหว้พระ การขอพร การทำบุญส่งผลกุศลทำให้ความพิการหายไป จึงทำตั้งแต่ช่วงแรกที่โดนยิงตั้งแต่อายุ 25 จนอายุ 30 ปีแล้วก็ไม่เห็นอะไรเปลี่ยน จึงเกิดการตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงไหม

ปิยณัฐ: ศาสนาเข้ามาตั้งแต่เกิด จากการซึมซับของครอบครัวที่พาไปวัด ทำบุญ สนทนาธรรม ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและการดำรงชีวิต คนในหมู่บ้านเห็นเราตาบอดก็มองว่า เรามีกรรมติดตัว ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากคนในสังคม โตขึ้นมาเรามองว่า กรรมเรื่องของกรรม เราไม่เอาคำว่ากรรมมากำหนดวิถีชีวิตของตัวเรา เลือกที่จะเชื่อและทำตามบางอย่างในพุทธศาสนาเท่านั้น

สหรัฐ: ปู่ผมเป็นมัคทายกและชอบเอาผมไปฝากหลวงตาเลี้ยง ช่วงที่กลับไปอยู่บ้าน ไม่มีเงิน ต้องช่วยยายขายของแล้วบังเอิญไปขายของให้ชาวเขาวันอาทิตย์ที่โบสถ์คริสต์เพราะคนเยอะมาก ยายมาเห็นก็เข้าใจว่า ผมเปลี่ยนศาสนา เลยเอาไม้ไล่หวดกลับมาอยู่วัดกับหลวงตา

ภัทรธรณ์: เราเกิดในครอบครัวพุทธ เราเห็นคุณพ่อคุณแม่เข้าวัด คุณยายก็บวชเป็นแม่ชีถือศีลแปด เราคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เด็กและมีโอกาสช่วยงานวัดเพราะละแวกบ้านมีวัดเยอะมาก และมีเพื่อนบ้านนับถือศาสนาคริสต์ เราเห็นความหลากหลายชุมชนศาสนา สิ่งเหล่านี้จุดประกายสนใจเรื่องศาสนาที่มากกว่าความศรัทธา เราอยากเข้าใจศาสนามากขึ้นเลยเข้าเรียนที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเราก็เป็นอาจารย์สอนที่นี่ด้วย  

ภาพสหรัฐ สุขคำหล้าหรือที่รู้จักกันในสื่อว่าอดีตสามเณรโฟล์คใส่เสื้อยืดสีน้ำเงินกรมท่า ถือไมค์พูดโดยหันหน้าไปทางด้านขวา

สหรัฐ สุขคำหล้า

ศาสนามองคนพิการอย่างไร 

สหรัฐ: พอผมได้บวชเรียนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และบาลีในศาสนาแล้ว เจอคำสอนของศาสนาเรื่องแรกคือ กรรมเก่า ซึ่งเป็นวิธีทำให้คนไม่ไปทำกรรมไม่ดี ให้กำหนดสติและสามารถบรรลุธรรมได้ คนที่เข้ามาอยู่ในสังคมของสงฆ์ต้องเข้ามาอยู่เพื่อฝึกตน ตอนนั้นอาจารย์เล่าให้ฟังว่า มีพระตาบอดท่านหนึ่งมีน้องชายเป็นคนดูแล แต่ในพระธรรมบทกล่าวไว้ว่า น้องชายไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงระหว่างเดินทางกลับวัด ทำให้พระท่านนั้นต้องเดินกลับคนเดียว แล้วท่านเดินเหยียบมด เหยียบหญ้า แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่บาปเพราะไม่มีเจตนาฆ่า 

เวลาผมเห็นพระไปสอนว่า ความพิการเป็นกรรมเก่าโดยที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้แล้วมาจบด้วยทุกคนสามารถทำกรรมดีในปัจจุบันได้ ผมมีความเห็นว่า พระเลือกสอนแต่ละชนชั้นต่างกัน ให้ยาต่างกัน เช่น คนจนก็จะสอนว่า อย่าไปกินเหล้าเดี๋ยวไม่มีเงินเก็บ คนรวยก็สอนอีกแบบว่าอย่าคบคนพาล คบแต่บัณฑิต ก็จะเป็นคำสอนอีกแบบหนึ่งที่ไม่สนใจแค่ศีลห้า ผมรู้สึกว่าการที่ศาสนาเลือกสอนบางอย่างให้แต่ละชนชั้นนั้นเหมือนการให้ยาแต่ไม่ได้รักษาให้หาย เมื่อทุกคนยอมรับความจริงที่เจอก่อนหน้านี้ไม่ได้ เราต้องให้ยาตามที่เขาอยากได้เพื่อให้ผ่อนคลาย 

ภัทรธรณ์: ก่อนหน้านี้มีหลายๆ ท่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความพิการคือกรรม ในที่นี้ทุกคนมีกรรมเป็นเครื่องกำหนดพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เราเข้าใจผิดว่า กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะลิขิตเรา แท้จริงแล้วพุทธศาสนาอธิบายเรื่องเหตุปัจจัยที่ความพิการเกิดขึ้นกระทันหัน เช่น กฎปฏิจจสมุปบาท หรือห่วงโซ่ของการเกิดวงจรอุบาท หากสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์ยังมีกิเลสอยู่ก็ทำให้ไม่สามารถตัดภพชาติได้แล้วกลับมาเกิดซ้ำ หรือกฎพีชนิยามที่ตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงตัวร้อน อาจเกิดจากอากาศร้อน ทำไมเราเป็นโรค เพราะเจอมลภาวะ เชื้อโรคต่างๆ ส่วนกฎไตรลักษณ์ที่มองว่าชีวิตของเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

พุทธศาสนามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนพิการอยู่และไม่ได้มองว่าคนพิการเป็นอื่น นอกจากนี้ยังมองว่า คนพิการเป็นมนุษย์ที่สามารถเข้าถึงหลักคำสอน เห็นธรรมะตามความเป็นจริงบนพื้นฐานศีล สมาธิ ปัญญาได้เท่าเทียมกับคนไม่พิการ

ส่วนคนพิการในศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เราพูดถึงพระเจ้าเป็นสำคัญ ศาสนาคริสต์ให้ความสำคัญกับคนพิการมาก พระเจ้าจะมุ่งไปโปรดคนพิการเป็นอันดับแรกๆ เพราะเห็นว่า เป็นบุคคลที่ควรได้รับความรัก มีการแสดงปาฏิหาริย์แล้วทำให้เห็นว่า ให้คนง่อยเดินได้ ให้คนตาบอดมองเห็นได้ พระเยซูมองว่า คนพิการเป็นบุตรของพระเจ้า รักมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้าได้เท่าเทียมกัน ขณะที่ศาสนาอิสลามจะมีพระอัลเลาะห์เป็นศูนย์กลาง ประทานอวัยวะให้กับมนุษย์ตามเจตนารมณ์ของพระอัลเลาะห์ เพราะทุกคนควรได้รับการนึกถึงและซาบซึ้งกับพลังอำนาจที่พระอัลเลาะห์ประทานให้

ภาพอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ใส่เสื้อยืดสีดำแล้วนั่งเอามือซ้ายเท้าคางและยกขาขวาพาดขาอีกด้านโดยมีไอแพดวางด้านบน


อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

คนพิการบวชได้หรือไม่

อรรถพล: หลังจากพิการก็รู้สึกไม่มีคุณค่า แต่เชื่อว่าศาสนาทำให้ผมเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ถ้าหากผมสามารถเข็นวีลแชร์เองได้ อาบน้ำเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ ผมอยากตัดทางโลก เข้าไปศึกษาทางธรรมจริงจัง เลยไปคุยกับหลวงพ่อที่วัด หลวงพ่อบอกว่า บวชไม่ได้เพราะโยมมีความพิการ ผมก็สงสัยว่าทำไมบวชไม่ได้ เขาอธิบายว่าเราทำกิจของสงฆ์ไม่ได้ ผมก็บอกว่า ผมช่วยเหลือตัวเองได้และเชื่อว่า ถ้ามีบาตรอยู่ตรงตัก ผมสามารถบิณฑบาตได้ ถ้าให้กวาดลานวัดก็ทำได้ มือก็ยังมีกำลัง หรือ สวดมนต์ภาษาบาลีได้ สุดท้ายหลวงพ่อยืนยันปฏิเสธไม่ให้บวช

กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมคนเดียว เพื่อนผมที่พิการและยังศรัทธาศาสนาพุทธ เขาอยากบวชตามประเพณีให้พ่อแม่ทดแทนบุณคุณตามความเชื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสงสัยว่า ถ้าศาสนาเปิดรับทุกคนเข้าบรรลุถึงธรรมได้ แล้วทำไมศาสนาและคนในศาสนากีดกันคนพิการออกมา ถ้ากีดกันกันขนาดนี้ ผมคงไม่อยากเข้าไปอยู่ร่วมเพราะทำอะไรก็ทำไม่ได้ นี่เป็นเหตุผลให้ผมแยกตัวออกจากศาสนาพุทธ

สหรัฐ: ต้องยอมรับว่าพุทธไทยเป็นเถรวาท ยึดตามแบบแผนที่พระพุทธเจ้าสร้างไว้ให้เป๊ะมากที่สุด ผมเคยคิดว่า หากตอนแก่ผมยังบวชอยู่ ผมอยากเปิดทาวน์เฮ้าส์รับดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ มีการเชิญพระอาจารย์มาเทศน์ให้ฟัง เพราะการบรรลุธรรมเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในคัมภีร์มาจากการฟังเทศน์ทั้งนั้น มีส่วนน้อยมากจากการนั่งสมาธิ บรรลุธรรมด้วยตัวเอง 

ถึงแม้พระธรรมวินัยพระพุทธเจ้าเปิดช่องทางให้แก้ไขแต่สงฆ์ไทยไม่เคยปฏิรูปพระวินัยของตัวเองให้ชัด แต่ส่วนตัวมองว่า สงฆ์ไทยได้ควบรวมกับรัฐเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว พระวินัยจึงแก้ไขยากมาก การที่อุปชาให้คนๆ หนึ่งบวชแล้วมีความผิด จับเขาบังคับสึกนั้นส่งผลให้พระไม่กล้าตีความคำสอนใหม่ๆ  ยึดตามธรรมเนียมเดิมไว้ให้เป๊ะมากที่สุดเพื่อไม่ให้ภัยเกิดขึ้นกับตัว

ปิยณัฐ: ที่บ้านอยากให้เราบวชและไปคุยกับวัดใกล้บ้านก่อนว่า ลูกตาบอดและเป็นลูกคนเดียวจะทำอย่างไรให้บวชได้ ถามหลายวัดก็ไม่มีวัดไหนให้บวช พ่อสนิทสนมกับเจ้าอาวาสวัดหนึ่งเนื่องจากเคยทำงานให้วัดค่อนข้างเยอะเลย เจ้าอาวาสเลยไปคุยกับให้ จนกระทั่งได้บวชด้วยความยินยอมของอุปชาและเจ้าของวัดนั้น เราบวชอยู่ 9 วัน 9 คืนแล้วรีบสึกออกมาเพราะกังวลว่าพระกลุ่มอื่นจะเอาเรื่องที่วัดอนุญาตคนตาบอดบวช ซึ่งจะมีผลต่อเจ้าอาวาสหรืออุปชาได้

แม้ว่าบ้านค่อนข้างมั่นใจว่าเราใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ เรียนได้ เดินทางได้ แต่ทำไมบวชไม่ได้ เขานำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระ พระให้เหตุผลเรื่องศาสนกิจพระสงฆ์ที่ต้องบิณฑบาตได้ สวดมนต์ได้ ลงปาฏิโมกข์ได้ กวาดลานวัดได้ ถ้าวัดปรับเปลี่ยนบางอย่าง ให้เราทำความคุ้นชินสถานที่ ถ้าพระเข้าใจเราและเราเข้าใจพระผมคิดว่า คนตาสามารถบอดบวชได้ 

ภาพอาจารย์ภัทรธรณ์ แสนพินิจกำลังถือไมค์พูด แขนขวาใส่กำลังไข่มุก แขนซ้ายใส่นาฬิกา


ภัทรธรณ์ แสนพินิจ

คนพิการจะบวชได้ต้องขึ้นอยู่กับใคร

อรรถพล: คนพิการบวชได้หรือไม่ได้อยู่ที่ทัศนคติของอุปชา ถ้าอุปชาเห็นว่าคนพิการปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ มีคนช่วยเหลือบางอย่างที่คนพิการทำไม่ได้โดยปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ลุล่วง หากศาสนาจะโอบรับผู้คน สนับสนุนผู้คน ทัศนคติของเถรสมาคมและพระอุปชาเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหลักการพุทธศาสนาแบบไทยๆ ปรับตัวให้ทุกกลุ่มคนเข้าถึงศาสนาได้ ผมว่าศาสนาในประเทศเราจะมีความงดงามอย่างแท้จริง 

มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงแวดวงนี้เขาบอกกับผมว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความเท่าเทียม ผมแอบสงสัยว่า เท่าเทียมจริงหรือไม่ ถ้าผมปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ได้ ทำไมบัญญัตินั้นถึงกีดกันผมออกไปอีก ผมก็รู้สึกไม่ได้เท่าเทียมอย่างที่อาจารย์ท่านนั้นกล่าว ความเข้าใจของผมอาจเป็นความเข้าใจที่คับแคบก็ได้แต่ผมรู้สึกแบบนั้น เพราะคนในกระบวนการศาสนาทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น

สหรัฐ: ผมอยากอธิบายเรื่องความเท่าเทียม พระพุทธศาสนามีวิธีคิดเรื่องความเท่าเทียมว่า ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้เท่ากัน อย่างผมไม่ได้บวชเพื่อบรรลุธรรมแต่อยากมีที่เรียน เรียนให้จบ พระบางรูปบวชเพื่อเป็นเกจิอาจารย์ ขายพระ ขายผ้ายันต์ ผมสงสัยว่า ทำไมเราไม่มีพื้นที่ให้กับคนพิการแต่มีพื้นที่ให้กับพุทธพาณิชย์ ทุนนิยมทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้ากลายเป็นสินค้า ในอนาคตผมจะผลักดันไม่ให้พุทธศาสนาสนับสนุนเงิน และสร้างพื้นที่ให้พระสงฆ์ตีความว่า คนพิการบวชได้ คนที่เป็น LGBT บวชได้ หรือผู้หญิงก็บวชได้ และรัฐไทยควรเว้นระยะห่างจากศาสนา

ภัทรธรณ์: ความคิดที่หลายๆ ท่านได้พูดมามีประเด็น มีเหตุมีผลอยู่ว่า ทำไมอุปชาเลือกบวชอีกคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งไม่บวชให้ อุปชาเป็นบุคคลสำคัญที่ดูแล รับผิดชอบคนที่ตนบวชให้ทุกอย่าง หากมีโพนทะนา ครหา ทำให้ภาพลักษณ์วัดเสื่อมเสีย อุปชาต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจคือ การบวชพระเตี้ยค่อมรูปหนึ่งเรียบร้อยแล้วแต่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ชาวบ้านออกมาถามว่า ทำไมพระมีลักษณะแบบนี้ มีการล้อเลียน จนเป็นประเด็นดังอื้อฉาวในวงการสงฆ์ อุปชาถูกเรียกไปสอบสวนและโดนคาดโทษ ส่วนพระเตี้ยค่อมถูกสึกทันที 

หากย้อนดูก่อนที่จะเกิดบัญญัติพระวินัย พระพุทธเจ้าเคยบวชให้พระลกุณฏกภัททิยเถระที่เป็นพระเตี้ยค่อม เพราะยั้งรู้ว่า ใครจะบรรลุพระอรหันต์ ท่านเลยอนุญาตให้บวช พระพระลกุณฏกภัททิยเถระมีอุปนิสัยชอบศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างดี ใครจะมาดึงหู ลูบหรือหัวเราะเยาะ ท่านพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างถูกรังแกจนบรรลุพระอรหันต์

หลังจากนั้นสาวกบวชให้คนทุพพลภาพเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะคนขาด้วน ตาบอด คนง่อย คนหูหนวก จนพุทธศาสนาถูกครหาหนักมาก คนหัวเราะเยาะ ไม่เลื่อมใส พระภิกษุเองไม่ได้รับความเคารพ ถูกปาหินใส่ หยอกล้อ เหยียดหยาม เป็นเหตุให้มีการบัญญัติขึ้นมาว่า 32 จำพวกที่ห้ามบวช เรื่องนี้ทำให้เห็นเลยว่า พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์เป็นอย่างมากเพราะศาสนาอยู่ได้ด้วยความศรัทธาของคน หากมีข้อครหา โพนทะนา ติติงเกิดขึ้นทำให้พุทธศาสนาสั่นคลอน เพราะฉะนั้นพระที่เข้ามาในฐานะเนื้อนาบุญ ศาสนาทายาท ชูภาพลักษณ์ของศาสนาต้องเข้ามาด้วยความพร้อมของร่างกายอีกด้วย เพราะต้องวางท่าทีที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความศรัทธา

สหรัฐ: ผมพูดในแง่ของคนที่อยู่ในศาสนาประมาณ 10 ปี  ปัญหาของพระสงฆ์ไทยคือ ไม่เคยสร้างข้อถกเถียง ไม่สอนให้วิจารณ์ ไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมตีความแบบนี้ ทำไมตีความอีกแบบหนึ่ง แล้วเป็นอีกแบบหนึ่ง และเป็นปัญหาของระบบการศีกษาของพระสงฆ์ด้วยที่ศาสนาสอนให้จำแต่เราไม่สามารถวิเคราะห์และให้คำตอบกับโลกที่เปลี่ยนไปได้

ภาพปิยณัฐ ทองมูลใส่เสื้อยืดคอปกลายทาง ที่ปลายแขนเสื้อจะเป็นสีเขียว สีขาว และสีน้ำเงินอยู่ตรงกลางเสื้อ กำลังถือไมค์พูดคุยประเด็นเสวนาอยู่

ปิยณัฐ ทองมูล

คนไม่ศรัทธาพระพิการนั้นเป็นปัญหาของคนพิการเหรอ 

อรรถพล: เมื่อก่อนเคยให้แล้วมาห้ามไม่ให้บวช แล้วปัจจุบันกลับมาให้บวชได้ไหม เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว อยากให้ลองทบทวนประเด็นภาพลักษณ์ใหม่ ภาพลักษณ์คนพิการบวชทำให้ดีได้ ผมเคยเห็นแวบๆ ว่า มีพระอาพาธทีหลังก็เข็นรถวีลแชร์ไฟฟ้าไปบิณฑบาตก็น่าเลื่อมใส ดังนั้นความเลื่อมใสของคนไม่น่าจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์อย่างเดียว ถ้าภาพลักษณ์ดีแต่ทัศนคติไม่ดีก็ไม่น่าเลื่อมใส

ปิยณัฐ: ตอนที่ผมมีโอกาสได้บวช 9 วัน ผมได้ไปสวดทำบุญบ้าน ศาสนิกชนรู้ว่าผมเป็นคนตาบอดแต่เขามีความศรัธทา เลื่อมใส แต่มีบางคนคิดว่า พระตาบอดให้โชค กินองุ่น 5 เม็ด กินไอ้นี่ 4 เม็ด แล้วเอาไปแทงหวย ผมรู้สึกว่า พอห่มผ้าเหลืองแล้วความศักดิ์สิทธิเกิดขึ้น มีบารมีขึ้นมาทันที ถ้าผ้าเหลืองหลุดไปแล้วความตาบอดกลับมาทันที จากพระที่ให้โชคกลับเป็นตัวบุญกับตัวบาป ตัวบุญเคยเจอที่บีทีเอสหมอชิต มีคนเรียก ‘น้องๆ ครับ พี่ขอทำบุญหน่อย’ แล้วยื่นเงินให้เรา ตัวบาปก็มี บางสถานที่ก็ไม่ให้ผมเข้าไป เพราะเขาเชื่อเรื่องโชคราง หากคนตาบอดเข้ามาแล้วจะขายของไม่ดี

ส่วนเรื่องคำซุบซิบนินทาว่า บวชได้ยังไง มาจากหมู่สงฆ์มากกว่าหมู่ประชาชน ตอนบวชหมู่สงฆ์มีการพูดคุยกันว่า บวชไม่ได้หรอก เจ้าอาวาสคิดอย่างไร หวังผลอะไรหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าเจ้าอาวาสไม่คิดแต่ว่าหมู่สงฆ์ก็พูดจาแสดงความคิดเห็นกันไป จากประสบการณ์ที่เจอตอนบวช การที่เราถูกนิมนต์กิจต่างๆ ผมคิดว่าประชาชนนับถือผ้าเหลือง ศรัทธาที่เราเป็นพระและรับรู้ว่าเราตาบอด 

ศาสนาอื่นให้คนพิการบวชไหม 

ภัทรธรณ์: สมัยพระเยซูไม่มีการบวชแต่อัครสาวกที่ติดตามไปโปรดคนพิการ แสดงปาฏิหาริย์ การบวชให้คนพิการเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งในประเทศไทยมีกระบวนการที่พิถีพิถันมาก ต้องเข้าเรียนตามระบบจนจบม.6 และเข้าเรียนนวกสถาน 2 ปี แต่สำหรับผู้หญิงจะมีระยะเวลาเรียนนานกว่า หลังจากนั้นจะมีการปฏิญาณตน 3-6 ปี ก่อนจะตัดสินใจว่าจะบวชต้องแสดงความประสงค์กับบาทหลวง เพราะเราต้องอุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อพระคริสต์เลยและจะมีคณะกรรมการคัดกรองเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพก่อน โดยนี่เป็นเรื่องแรกๆ ที่ถูกนำมาพิจารณา หากมีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการบวช เช่น ไม่สามารถเผยแพร่ศาสนาได้ เดินทางลำบาก ไม่พร้อมทำพิธีต่างๆ ถ้ากระทบตามลักษณะที่พูดมาก็จะไม่สามารถบวชได้ 

ที่โปรตุเกสเพิ่งมีพิธีบวชให้กับคนตาบอดสนิททั้ง 2 ข้างตั้งแต่กำเนิด มีสุนัขลาบราดอร์ช่วยนำทาง ท่านเล่าเรียนและพิสูจน์ตัวเองว่า ท่านสามารถดูแลตัวเองได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการเลยได้รับมอบหมายให้เทศน์สอนคนพิการ 

ส่วนศาสนาอิสลามในไทยจะมีพ.ร.บ.การบริหารศาสนาอิสลาม ไล่มาตั้งแต่จุฬาราชมนตรี จนมาถึงอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นจะพูดถึงคุณสมบัติที่พึงมีทั้งสิ้น และข้อสำคัญเลยต้องไม่เป็นบุคคลทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมไปถึงโรคจิตฟั่นเฟือน โรคที่กฎกระทรวงกำหนด เช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อร้ายแรง โรคที่เห็นชัดเจนว่าเป็นที่รังเกียจของผู้คน แต่ไม่ได้ระบุเหมือนพุทธว่า 32 จำพวกที่ห้ามบวชเป็นอย่างไร 

ในศานาพราหมณ์ ความพิการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาอยู่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นคฤหัสถ์ ต้องไปวานปรัสถ์ สัญญาสี ทุกคนทำได้หมด จะพิการหรือไม่พิการทุกคนสามารถจะปฏิบัติธรรม แต่คำว่าพราหมณ์กับสัญญาสีเป็นคนละคำ พราหมณ์ไม่ใช่นักบวชที่เป็นสัญญาสี พราหมณ์มีเรื่องวรรณะมากำหนด แต่เดี๋ยวนี้เปิดกว้างให้วรรณะอื่นมาบวช มีความเท่าเทียม และไม่คิดว่าความพิการเป็นปัญหา

ภาพถ่ายระหว่างทำการเสวนาและตั้งกล้องไลฟ์สด

อยู่ดีๆ มีคนมาให้เงิน ให้ของแล้วคนพิการรู้สึกอย่างไร

อรรถพล: ความพิการที่เป็นอยู่แล้วทำให้ผมรู้สึกด้อยค่า พอมีความเชื่อเรื่องเวรกรรมและหยิบยื่นบางอย่างทำให้ผมรู้สึกถูกด้อยค่าและกดทับจนศักดิ์ศรีความเป็นคนหายไป เวลาไปซื้อของผมเจออยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวลดราคาให้ เอาไปกินฟรี ผมก็ถามว่า ทำไมลดราคาให้ เขาตอบว่า เห็นลำบาก ช่วยๆ กัน มีคนลำบากกว่าเยอะแยะเลย ถ้างั้นช่วยคนอื่นด้วยได้ไหม วันนี้ใครมาซื้อของลดราคา 10 บาท ลดราคาให้คนพิการกับคนไม่พิการเท่ากันช่วยคนได้เยอะกว่าช่วยเฉพาะคนพิการ ผมมองว่า การแบ่งปันเป็นเรื่องดี มนุษย์ควรแบ่งปันกันได้ แต่ควรแบ่งปันบนฐานการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่กดใครให้ใครสูงกว่าหรือทำใครให้ต่ำกว่า

ปิยณัฐ: เท่าที่อรรถพลเคยเจอ เราเจอมาหมดแล้วทั้งลดราคาและให้เงินทำบุญ แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ ตอนนั้นเราอยากไปทำบุญที่วัดหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่วัดหรือมัคนายกที่คิดว่า เราไม่มีค่อยมีเงิน เขาเลยไม่ขายสังฆทานให้เรา แต่เราก็ไม่ยอมเลยไปคุยกับเขาว่าผมจะทำบุญ 

เวลาเจอคนพิการควรพิจารณาว่า เขาต้องการความช่วยเหลือแบบไหน หากเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนธรรมดาทั่วไป แล้วเอาเงินมาให้ควรพิจารณาว่า สมควรหรือเปล่า ที่ทำเป็นการดูถูกเขาหรือเปล่า เราควรปฏิบัติกับคนพิการให้เหมือนกับคนไม่พิการ แต่ถ้าหากคนพิการร้องขอความช่วยเหลือ ระดมทุนอะไรสักอย่างก็สมควรให้มากกว่า ถ้าเขาต้องการก็ให้ ถ้าไม่ต้องการก็อย่าไปยัดเหยียดเขา นี่เป็นสิ่งทำให้เราและคนในสังคมเท่าเทียมกัน หากเราทำให้คนพิการมีงานทำ เศรษฐกิจของคนพิการคงจะดี ไม่น่าจะทำตัวเป็นคนที่ร้องขอความช่วยเหลือ 

ล่ามผู้หญิงกำลังแปลเสวนาเป็นภาษามือให้คนหูหนวกรู้ว่า คนหูดีกำลังพูดอะไรอยู่

ล่ามผู้ชายกำลังแปลเสวนาเป็นภาษามือให้คนหูหนวกรู้ว่า คนหูดีกำลังพูดอะไรอยู่

สหรัฐ: ทั้งอรรถพลและปิยณัฐยืนในตัวตนของเขาสุดยอดมาก ไม่ใช่เขาสั่งให้ก้าวเท้าซ้ายก็ก้าวเท้าซ้ายเขาให้ก้าวเท้าขวาก็ก้าวเท้าขวาตามพระ หายใจเขาหายใจออกตามพระ คนที่มีจิตสำนึกเป็นนายของเสรีภาพมีการคิดอย่างรอบคอบและลึกซึ้ง นอกไปกว่าศรัทธา ไม่ได้ใช้เรื่องบุญเรื่องบาปนั้น ซึ่งเกินกว่าตัวตนและสิ่งที่เขาได้รับอยู่ ผมคิดว่าแบบนี้น่าเคารพกว่า

จากกรณีอรรถพลและปิยณัฐที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ หากมีเจตนาทำบุญกับคนพิการจริงๆ ก็ไปให้ที่สถานสังเคราะห์ไม่ใช่คนพิการที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก

ภัทรธรณ์: มีกลุ่มคนว่าทำบุญกับคนพิการได้บุญมากกว่าน่าจะมาจากความคิดการช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของคนที่ได้รับความช่วยเหลือ มีคนพิการหลายคนไม่อยากถูกมองว่าน่าสงสาร เพราะลดทอนคุณค่าของคนพิการ

ถ้าพูดในแง่มุมพุทธศาสนา ไม่ว่าจะทำบุญรูปแบบใดก็ตามเป็นสิ่งที่ดีทั้งหมดทั้งสิ้น เจตนาเป็นส่วนที่สำคัญและการทำบุญเป็นการลดอัตตาของตัวเรา เช่น ความตระหนี่ถี่เหนียว กิเลส ตัณหา อุปทานต่างๆ จึงมีเรื่องของบุญเข้ามา ถ้าเปรียบเทียบหลักคำสอนพุทธทาสที่กล่าวไว้ดีมากคือ การอาบน้ำมีอยู่ 3 ประเภท อันดับแรกอาบน้ำด้วยน้ำโคลน เป็นการทำบุญที่มาจากกิเลส ตัณหา อุปทาน ต่อให้เราอาบน้ำก็ไม่สะอาดอยู่ดี อันดับต่อมาอาบน้ำด้วยน้ำหอม ถึงแม้จะดีแต่ก็ยังมีกลิ่นอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำบุญหวังขึ้นสวรรค์ หวังเรื่องหน้าตา หวังว่าถูกหวย อันดับสุดท้ายเป็นการอาบน้ำด้วยน้ำเปล่า ขัดตัว ถูสบู่ แล้วเอาน้ำเปล่ามาล้างอีกทีหนึ่ง นี่การอาบน้ำที่ดีที่สุดคือ ทำบุญเพื่อขัดเกลาตัวเองอย่าแท้จริง  

ควรทำบุญอย่างไรเพื่อช่วยเหลือคนพิการได้อย่างแท้จริง

อรรถพล: จากประเด็นที่สหรัฐพูดเรื่องการไปช่วยเหลือองค์กรคนพิการ ผมเห็นคนอายุ 50 - 60 ปีไปทำแล้วโพสต์รูปลงเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคน ผมกำลังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐควรสนับสนุน สวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่อยู่สถานสงเคราะห์ไหม ถ้าคุณเป็นประชาชนที่อยากช่วยเหลือ สนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยผลักดันให้โครงสร้างทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไหม เช่น ทำอย่างไรให้รถเมล์ดีขึ้นสำหรับคนพิการ ทำอย่างไรให้หน้าบ้านมีฟุตปาธแล้ววีลแขร์เข็นผ่านหน้าบ้านไปได้ ผมคิดว่าแบบนี้เป็นกุศล เป็นการทำบุญที่โคตรยิ่งใหญ่กว่าที่คุณเอาของไปให้กินมื้อหนึ่งแล้วถ่ายรูปบอกว่าคุณได้รับบุญกลับไป

สหรัฐ: ผมกำลังอธิบายปรากฎการณ์ที่อรรถพลพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า พุทธศาสนามีวัฒนธรรมการทำบุญ คือ ทำบุญแบบปัจเจก ใครทำใครได้ แต่ศาสนาพุทธนิกายมหายานจะมีสิ่งที่เรียกว่า การทำกรรมรวมหมู่อย่างการแจ้งในฟองดูว์ว่า ถนนไม่ดีคนพิการสัญจรลำบาก ก็เป็นการทำกรรมร่วมที่ส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ ด้วยแต่เถรวาทไม่ได้อธิบายเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกทำบุญแล้วอิ่มเอม ขอถ่ายรูปเก็บไว้ เลยกลายเป็นว่าคนที่ถูกช่วยเป็นวัตถุที่สำเร็จความใคร่ทางจริยธรรมภายในใจของเขา 

ภัทรธรณ์: จริงๆ เห็นด้วยที่รัฐควรจะมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในวัดควรเอื้อให้กับคนพิการมากขึ้นไหม มีห้องน้ำและการทำทางลาดให้เหมาะสมกับคนพิการ

อรรถพล: กฎกระทรวงมีการกำหนดว่าคนพิการควรเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ อาบอบนวดนั้น แต่ไม่มีเงินไปทำ คนพิการเลยเข้าไม่ถึงวัด ผมเคยไปคุยกับกรมศิลปากร ที่เป็นหน่วยงานดูแลโบราณสถานอย่างพระปฐมเจดีย์ ตอนแรกเขาลงพื้นที่มาดูว่าจะทำอย่างไรบ้างแต่พอไปคุยกับวัดเกิดการเกี่ยงว่าใครเป็นเจ้าของ ใครจะทำ ใครจะหางบประมาณ แต่พอเห็นมีราวสแตนเลสให้ญาติโยมที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าเกาะเดินขึ้นไป เลยเกิดคำถามว่า เพราะอะไรเขาไม่อยากปรับให้คนพิการเข้าถึง ผมหาเหตุผลไม่ได้เลย

ในภาพจะมีผู้หญิงผมสั่น ใส่เสื้อยืดสีส้มนั่งอยู่ด้านซ้ายมือ มีผู้ชายใส่สียืดสีเขียวน้ำทะเลยืนกอดอกฟัง และมีผู้หญิง 2 คนถักเปีย ใส่เสื้อสีดำนั่งฟังเสวนาอยู่

ศาสนาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร 

สหรัฐ: ผมมีข้อเรียกร้องให้แยกอำนาจรัฐกับศาสนาโดยการเก็บภาษีจากคนที่นับถือศาสนาที่ตนนับถืออยู่ ที่ประเทศอิตาลีต้องเก็บภาษีศาสนา ใครนับถือศาสนาอะไรก็ต้องเสียภาษีให้กับองค์กรศาสนานั้น รัฐไม่ต้องมาแบ่งเงินให้องค์กรศาสนา นอกจากนี้องค์กรศาสนาต้องชี้แจงเอาเงินเสียภาษีไปทำอะไร ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องเอาเงินภาษีส่วนกลางมาใช้ แต่วิธีการนี้มีปัญหาอยู่คือ คนไม่อยากนับถือศาสนาเพราะไม่อยากเสียเงินให้ เขารู้สึกว่าเสียเงินโดยศูนย์เปล่า ที่สำคัญและต้องทำคือ จำแนกเงินที่ประชาชนให้มาให้ชัดว่าจะเอาไปทำอะไรบ้างในศาสนากับองค์กรศาสนาที่เขาเชื่อ 

ภัทรธรณ์: เราก็รู้ว่า พุทธพาณิชย์เป็นสิ่งที่ไม่ควรที่เกิดขึ้นในวัด แต่ประชาชนเห็นดีด้วยและทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าอย่างแท้จริง มีการบริโภคจนสินค้ามีมูลค่า ส่วนของเอกชนก็ทำเทวาลัย ล่าสุดที่เราเห็นคือ ครูกายแก้ว พระราหูย้ายเข้าสู่ราศีใหม่ นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมไม่มีการให้ความรู้อย่างถูกต้อง มันกลายเป็นเรื่องของสินค้า มันกลายเป็นเรื่องของเม็ดเงิน และผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเร็วที่สุด แต่คนมองข้ามประเด็นนี้แล้วไปสนใจประเด็นเรื่องคนพิการบวชไม่ได้แทน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัวที่น่าจะวิจารณ์

ปิยณัฐ: ถ้าพูดในฐานะที่เราเป็นคนพิการ แล้วเราอยากให้ศาสนาเกิดการเปลี่ยนแปลง เท่าที่ฟังมา

ประเด็นเรื่องศาสนาและคนพิการในบ้านเรายืดหยุ่นน้อย อยากจะฝากไว้ให้องค์กรที่มีอำนาจอย่างกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งดูแลกรมศาสนา ถ้าให้กรมศาสนาเรียนรู้ว่าความพิการเป็นอย่างไร อาจจะมีการกำหนดเป็นหลักสูตรเพื่อรู้จักความพิการแต่ละประเภท แล้วสามารถเอาความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้กับหน่วยงาน การกระทำต่างๆ ที่ออกมาจากความเข้าใจนั้นจะช่วยให้เกิดความรู้ ทำให้คนพิการเข้าถึงวัดง่ายขึ้น 

อรรถพล: อยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับความพิการในหมู่คณะสงฆ์ดูบ้าง หากหลวงพี่ตกอยู่ในสภาวะแบบนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร ถ้าธรรมขัดเกลาจิตใจตนเอง คิดว่าไม่น่าจะยากที่คนในกระบวนการศาสนาจะขัดเกลาเพื่อทำความเข้าใจคนอื่นได้