Skip to main content

“ทุก 40 วินาที จะมี 1 ชีวิตที่สูญไปจากการทำร้ายตัวเอง คุณสามารถช่วยพวกเขาได้” 

นี่เป็นโพสต์ข้อความจากกรมสุขภาพจิตหลายคนเห็นผ่านหน้าฟีดโซเซียลมีเดียลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาก่อนวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (วันที่ 9 เดือนกันยายนของทุกปี) จากนั้นคอนเทนต์ฮาวทูช่วยเหลือคนพยายามฆ่าตัวตายก็จะค่อยๆ เลื่อนหายไปแล้วจะกลับมาอีกทีเมื่อมีข่าวเหตุการณ์คนฆ่าตัวตาย 

Thisable.me ชวนนพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ความหวังสำคัญอย่างไรในการยับยั้งการฆ่าตัวตาย การที่ใครสักคนมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตายเป็นโอกาสป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยไม่ต้องรอบอกกับจิตแพทย์เท่านั้น ไม่ว่าใครๆ ก็พูดได้

ภาพท้องฟ้าหม่นๆ มีคนอยู่ตรงกลางภาพ ตรงหัวมุมขวามือบนของภาพเขียนว่า “ทุก 40 วินาที จะมี 1 ชีวิตที่สูญไปจากการทำร้ายตัวเอง คุณสามารถช่วยพวกเขาได้” ขีดเส้นใต้คั้นไว้และเขียนชื่อบทสัมภาษณ์

การฆ่าตัวตายคืออะไร 

นพ.ภุชงค์: คำว่าฆ่าตัวตายมีมาทุกยุค ทุกสมัย ตั้งแต่สมัยมีอารยธรรม มีเทพนิยาย และปกรณัม พฤติกรรมการฆ่าตัวตายไม่ใช่ ทำง่ายๆ เหมือนแค่กินข้าว แต่การฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมซับซ้อนที่มีการเพื่อสื่อถึงอะไรบางอย่าง เช่น อยากจบความทรมาน อยากต่อต้านคนอื่น หรือฆ่าตัวตายตามคนรัก หรือทะเลาะกับแฟนแล้วรู้สึกว่าตนเองทำผิดไม่รู้จะผิดยังไงแล้ว  งั้นฆ่าตัวตายเพื่อแสดงให้เห็นว่ารู้สึกผิดมากแค่ไหนก็แล้วกัน หรือบางคนเลือกจับตัวเองเป็นตัวประกันแล้วฆ่าตัวตายเพื่อให้มีน้ำหนักมากพอที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง 

ทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ การฆ่าตัวตายคือ การย้อนกลับมาต่อต้านตัวเอง (Turning against the self) ซึ่งอยู่บนความสัมพันธ์ ถ้าไม่อยู่กับความสัมพันธ์อีกฝ่ายก็ไม่รู้สึกอะไร เช่น พ่อแม่ทะเลาะกับลูก แล้วลูกเจ็บปวดมาก แต่ลูกจะเอามีดมาแทงพ่อแม่ก็กระไรอยู่ ลูกเลยแทงตัวเอง เพื่อแก้แค้นเอาคืนแล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดตลอดชีวิต

ผมคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่มีความหมาย แม้ว่าผมไม่เห็นด้วย แต่ผมเคารพความหมายที่เขาต้องการจะสื่อ หากเขาตายจริงก็น่าเสียดาย เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า 

ถ้าพูดแง่วิทยาศาสตร์ คนๆ หนึ่งเกิดมาเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ แล้วทำไมเขาถึงอยากฆ่าตัวตาย 

ลองมองอีกแง่หนึ่ง การฆ่าตัวตายมันให้ความมั่นคง เราสามารถควบคุมชีวิตตัวเอง ฆ่าตัวเองตายแล้วทุกอย่างจบเลย ไม่ต้องกังวลว่า ชีวิตเดือนหน้าเป็นยังไง ปีหน้าเป็นยังไง ไม่ต้องลุ้นจะได้เกรด ไม่ต้องไปลุ้นว่าสมัครงานแล้วจะได้งานไหม การดิ้นรนช่างเหนื่อยล้า คนยุคนี้เขาอยากได้อะไรที่ควบคุมได้ ทำนายได้เหมือนการเล่นเกม เรารู้ว่า เราเก็บตังค์ เก็บไอเทม เก็บเลเวลไปเพื่ออะไร ทำอะไรแล้วจะได้อะไรโดยมีสถิติให้เห็นชัดเจน แต่ชีวิตจริงมันเสี่ยงจัง ทำอะไรไปตั้งเยอะอาจจะไม่ได้อะไรเลย  ทุ่มเทมากมายเท่าไรเลเวลก็ไม่ได้ขึ้น ไม่ได้ตัวละครที่อยากได้มาครอบครอง ปิดโอกาสเสี่ยงที่จะผิดหวังด้วยการตายไปเลยดีกว่า

มีหลายกระทู้พันทิปที่ตั้งข้อสงสัย พยายามแยกว่า คนนี้เรียกร้องความสนใจว่า อยากฆ่าตัวตายหรือเรียกร้องความสนใจเฉยๆ เราจะต้องแยกเพื่ออะไร 

ผมมองว่า การฆ่าตัวตายเป็นสัญญาณของร้องขอความช่วยเหลือ (Cry for help)  ซึ่งมีท่าทีเหมือนดูเรียกร้องความสนใจให้ช่วย แล้วถ้าเขาเรียกร้องให้คนสนใจ เขาก็ไม่ได้ผิดอะไร มนุษย์เราควรสนใจ ใส่ใจซึ่งกันและกันไม่ใช่เหรอ  

เขาอาจจะมองว่า ถ้าเรียกร้องความสนใจ ก็อย่าไปสนใจ โดยเข้าใจว่า ถ้าไม่สนใจ คนนั้นจะได้หยุดเรียกร้องไปทำอย่างอื่น แต่เรื่องนี้ไม่มีเฉลยแบบนั้น คนที่พยายามฆ่าตัวตายเขาเรียกร้องความสนใจเพราะเขาขาด ยิ่งขาดยิ่งต้องการความสนใจ เขาต้องตะโกนแรงขึ้น ทวีความก้าวร้าวแรงขึ้นเพื่อให้คนสนใจในทางลบ เนื่องจากเขามองตัวเองว่า ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ได้น่ารัก มันไม่เหลืออะไรต่อรองจนต้องเอาตัวเองเป็นตัวประกัน จริงๆ เป็นภาวะที่โคตรน่าสงสาร คุณเคยดูหนังจีนประเภทเซียนพนันที่เงินหมดแล้วบอกว่า เดิมพันด้วยชีวิตฉันเลยไหม! แต่ถ้าเป็นหนัง ฉากนั้นมักจะชนะ (หัวเราะ) ไม่ต้องเดิมพันด้วยชีวิต แต่คนพยายามฆ่าตัวตาย ชีวิตเป็นแต้มเดิมพันสุดท้ายแล้วเพราะชีวิตไม่มีต้นทุนอย่างอื่น เขารู้สึกว่า ไม่มีใครให้โทรหา ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีแม่ให้กอด ไม่มีเพื่อนจะคุย หรือรู้สึกว่า หันไปหาใครแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ หันไปเจอพ่อแม่แต่เขาไม่อยากไปเพิ่มความทุกข์ให้กับพ่อแม่ ไม่อยากหอบความล้มเหลวกลับบ้าน สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะสิ้นหวัง ไม่เหลือความหวัง ไม่รู้จะหวังอะไรได้อีกแล้ว 

ผมรู้สึกว่า ความสิ้นหวัง (Hopeless) นี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้คนคิดจะจบชีวิตหรือไม่จบชีวิต ถ้ามีความหวัง เราก็จะอยู่ต่อ 

ภาพหมอภุชงค์ใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้า ห้อยบัตรสายสีแดงยืนอยู่ข้างๆ นาฬิการโบราณตั้งพื้นที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความหวังแบบไหนถึงทำให้คนอยากมีชีวิตอยู่

ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน มนุษย์แต่ละคนก็หวังต่างกัน แต่การมีความหวังเรื่องความต้องการพื้นฐานในชีวิตของมนุษย์ (Basic Needs) เช่น หวังว่าชีวิตจะมีความมั่นคงปลอดภัย หวังว่ามีบ้านอยู่ มีข้าวกิน เป็นต้น 

ถ้าย้อนไปตอนผมยังเด็ก หากผมขยัน อดทน แล้วผมมีงาน มีเงิน มีอนาคตแน่นอน แต่ปัจจุบัน ชีวิตไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคง ในอนาคตจะทำอะไรขาย คนไปซื้ออย่างอื่นแทนหรือร้านในออนไลน์ขายถูกกว่าครึ่งหนึ่งไหม AI จะแย่งงานเราไหม อีกหน่อยจะมีงานทำหรือเปล่า ไม่มีความมั่นคงเลย

2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมได้รับผลกระทบ แล้วเราจะสร้างความหวังให้ตรงกับธีมวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ‘ Creating Hope Through Action’ ได้อย่างไร

ผมมองว่า สังคมสิ้นหวังเป็นแค่มุมมอง เป็นสิ่งที่เราต้องระวัง แต่อย่าเพิ่งไปสรุปว่า สังคมสิ้นหวังจริงๆ ถึงแม้จะมีข่าวที่ทำให้เราเห็นความสิ้นหวังง่ายมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ้นหวังโดยสิ้นเชิง ผมไม่ได้หวังโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้หวังโลกที่ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ได้หวังรัฐสวัสดิการที่ทุกคนมีกิน มีใช้ขนาดนั้น แต่ผมหวังว่า หากใครชีวิตมีปัญหารุมเร้า เขานึกว่าไปขอความช่วยเหลือที่ไหน

เวลาเราเห็นข่าวพ่อคนหนึ่งฆ่าทุกคนในครอบครัว รวมถึงเด็กก็ถูกฆ่าตายด้วย เพราะมีปัญหาหนี้สิน ตกงาน รู้สึกสิ้นหวัง พอฟังแล้วก็รู้สึกสะเทือนใจ แต่ก่อนหากเขาจะหันหาความตาย เขาหันไปหาใครได้บ้าง ร้อยปีก่อนอาจจะไปวัด ยกมือไหว้หลวงพ่อขอกินข้าวก้นบาตร แต่ยุคนี้นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะให้ไปไหนนอกจากไปตาย การฆ่าตัวตายเหมือนประตูฉุกเฉินสุดท้าย (Final Exit) หากไม่มีประตูไหนให้ออกก็ออกประตูนี้ แต่ถ้ามีประตูอื่นให้ออกก็จะดีกว่านี้

คอนเทนต์ประเภทคำต้องห้าม ประโยคต้องห้ามพูดกับคนป่วยซึมเศร้า คนคิดฆ่าตัวตายจนเพื่อน คนรู้จักไม่รู้จะใช้คำพูดอะไรกับเรา สุดท้ายเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะรู้สึกว่าพูดคำไหนก็ผิดไปหมดเลย 

หากหวังดีกับใครสักคนเราต้องคิดให้รอบด้าน การบอกว่าห้ามทำนั่น ห้ามทำนี่ ทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือคนอยากตายดูเสี่ยง มีความเปราะบาง ทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้าไปยุ่ง หลายคนที่เขาไม่กล้าพูดอะไร เพราะกลัวพูดแล้วจะรู้สึกแย่นั้นเป็นเจตนาดี ถ้าห่วงโน่นนี่กันมากจนไม่กล้าสื่อสารคงไม่ดี คอนเทนต์ที่ห้ามพูดว่าอะไรเหล่านั้น อ้างอิงมาจากไหน ผู้เขียนเอาทฤษฎีอะไรมาอธิบาย การพูดคำว่า ‘สู้ๆ นะ’ พูดแล้วแย่เสมอเหรอ ผมสงสัยเหมือนกันว่า สื่อไปเอาคอนเทนต์นี้มาจากไหน ไปสัมภาษณ์ใครมาแล้วเอามาตีความว่า ทุกคนเป็นแบบนั้น การที่พ่อแม่เดินมาบอก สู้ๆ นะ” แล้วลูบหัวทีหนึ่ง หรือ เราตกงานอยู่แล้วมากินข้าวกับเพื่อน เพื่อนโอบไหล่แล้วบอกว่า “เฮ้ยมึงสู้ๆ นะ” แบบนี้แย่หรือเปล่า  ผมคิดว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำว่าอะไรถูก คำว่าอะไรผิด เพียงแต่มนุษย์ต้องการหาวิธีแก้ไขปัญหาสำเร็จรูป เหมือนเรียนหนังสือ เราต้องการเฉลยว่า ต้องทำแบบนี้ ห้ามทำแบบนี้ แต่กับเรื่องจิตใจมันไม่ใช่แบบนั้นไง

หากจะป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายจะต้องเริ่มต้องไหน

การป้องกันการฆ่าตัวตายควรเริ่มจากตอนไหน ก็เริ่มตอนที่อยากตาย ตรงนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อไหร่ผมได้เจอคนไข้แล้วเขามาบอกผมว่า อยากตาย กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย ผมรู้สึกประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเขายังบอกผม ผมยังมีโอกาสได้คุย แต่ก็มีรายที่เสี่ยงฆ่าตัวตายจริงๆ แล้วเขาไม่บอกใครแต่แอบไปทำเลย

เวลาผมคุยกับคนที่อยากฆ่าตัวตาย ผมไม่ได้จะไปบอกว่าเขาคิดผิดหรือถูก ปรัชญาชีวิตว่า เขามีสิทธิ์จะทำหรือไม่ทำไหม ชีวิตเป็นของใคร แต่เรามานั่งคุยกับคนไข้ว่า อะไรเหรอที่ทำให้ไม่อยากอยู่ ทุกข์อย่างไรเหรอ ชีวิตที่อยากอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อก่อนเขามีความฝันอะไร แล้วอะไรที่ทำให้เขามีชีวิตจิตใจอยู่ ความฝันเขาโดนทำลายแล้วพังถาวรหรือเปล่า เราช่วยกันสร้างขึ้นมาใหม่ได้ไหม ถ้ามีอาการคิดวนไปวนมา หมอมียาช่วยให้คิดวนน้อยลง สนไหม ถ้านอนไม่หลับ กินแล้วหลับ สนไหม 

การป้องกันการฆ่าตัวตายคือ ต้องป้องก่อนที่จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า 

หากไม่ได้อยากตายแล้ว จะทำอะไรเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ผมว่า คงเป็นเรื่องของการทำอย่างให้คนมีสุขภาพจิตดี  มีปัจจัยเชิงบวก (Positive Factor) บางคนมีแวบหนึ่งอยากตาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เห็นภาพตัวเองกระโดดตึกแล้วเขากลัว รีบมาหาหมอ แบบนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเขายังรู้เท่าทันและไม่ได้เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เพราะเขามีปัจจัยเชิงบวกอยู่เลยไม่คล้อยตามความคิดและตัดสินใจว่าตนเองสมควรตาย 

การสร้างสุขภาพจิตที่ดี ผมว่าใครๆ ก็รู้ เช่น ให้เขียนวิธีการทำยังไงให้ลูกมีสุขภาพจิตดีสัก 4 ข้อ เชื่อไหมว่า ทุกคนเขียนได้  ข้อหนึ่ง พ่อแม่ให้เวลากับครอบครัว แล้วทำไมไม่ให้เวลาครอบครัวล่ะ เพราะต้องทำโอทีเดี๋ยวมีเงินไม่พอใช้ ข้อสอง ไม่กดดันลูก พอเห็นลูกนั่งเล่นโทรศัพท์ เราก็บ่น อยากให้เขาอ่านหนังสือ อยากหันไปทีไรเห็นว่า เขาอ่านหนังสือ ห้ามทำอย่างอื่นเลย ถ้าทำไม่อย่างนั้นจะบ่น  แค่ 2 ข้อนี้ทำให้เห็นว่า เรารู้ว่าจะทำให้คนๆ หนึ่งมีสุขภาพจิตดีอย่างไร นี่สะท้อนให้เห็นว่า เขาเชื่อว่าอย่างอื่นสำคัญกว่า เชื่อความกลัวมากกว่าเชื่อความสุข 

ภาพป้ายกรอบสีเขียวอ่อน ตรงกลางเขียนว่า จิตเวชศาสตร์ด้านล่างข้อความเป็นภาษาอังกฤษตัวใหญ่ว่า Psychiatry

ถ้าอย่างนั้น ป้องการฆ่าตัวตายเท่ากับป้องกันไม่ให้เกิดโรคจิตเวช

การนิยามว่าจากพฤติกรรมฆ่าตัวตายหรือจัดว่าใครป่วยหรือไม่ป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แล้ววิธีการป้องกันโรคทางจิตเวชกว้างเข้าไปใหญ่ เพราะโรคมีหลายแบบด้วย กรณีฆ่าตัวตายเพราะมีปัจจัยที่ชัดเจนอย่างการติดสารเสพติด ทำให้ความยับยั้งชั่งใจต่ำลง ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้น หรืออย่างเรื่องการนอน หลายครั้งคนจะฆ่าตัวตายเริ่มต้นมาจากการนอนไม่หลับ ตอนกลางคืนที่เงียบสงัดและทุกคนนอนกันหมดแล้ว มีเรานอนไม่หลับอยู่คนเดียว ก็จะทำให้ความคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย 

การนอนที่ผิดปกตินั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายหรือเปล่า  

ใช่ครับ แต่ไม่มีค่าสถิติบอกชัดเจนว่า นอนกี่ชั่วโมงแล้วจะลดอัตราการฆ่าตัวตายได้เท่าไหร่ ถ้าพูดเชิงชีววิทยา เวลาคนเรามองโลก คิด รู้สึก ทำงานผ่านสมองทั้งนั้น หากนอนน้อย การยับยั้งความชั่งใจ ความคงที่ทางอารมณ์เสีย การนอนน้อยอาจจะไม่ใช่เหตุการฆ่าตัวตาย แต่เป็นผลทำให้มีเครียดสูง มีความเศร้านั้นมีผลจากการคิดว่า เราทำผิดยังไงปนกับการด่าตัวเอง คิดวนไปวนมาจนค่อยๆ สร้างพลังงานลบและมองตัวเองในแง่ลบ 

ช่วงที่นอนไม่หลับ การคิดวนและสร้างจินตนาการทางลบไปเรื่อยๆ เหมือนเราถักทอเส้นใยนรกเพื่อให้ตัวเองกระโดดลงไปตาย หากตัดวงจรการนอนไม่หลับด้วยการไปหาหมอ เอายานอนหลับไปกินก่อน ให้กลางคืนเป็นเวลานอน อย่างน้อยสุขภาพกายยังไม่แย่ ส่วนปัญหาสุขภาพจิตค่อยหาทางแก้ไขกันไป

การป้องกันการฆ่าตัวตายคือการนอนหลับให้เพียงพอหรือเปล่า

ตัวเลข 8 ชั่วโมงเป็นค่าเฉลี่ย บางคนอาจจะนอน 6 ชั่วโมง บางคนต้อง 10 ชั่วโมงนอนหลับเพียงพอ บางคนการนอนเริ่มผิดปกติ นอนตีสองตื่นหกโมงเช้า บางคนสะดุ้งตื่นตีสี่แล้วนอนต่อไม่ได้ หรือนอนโต้รุ่งคิดวนไปจนถึงเช้า ฉะนั้นการปรับการนอนเป็นรูปธรรม ปรับง่ายกว่า การปรับความคิดมันยาก 

ภาพหมอภุชงค์ใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้า ห้อยบัตรสายสีแดง กางเกงสีเขียวขี้ม้าอ่อน นั่งกุมมือที่โซฟา

โลกเราจะต้องมีวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกไปทำไม เมื่อมีคนฆ่าตัวตายทุกวัน

ถ้าเราจะป้องกันการฆ่าตัวตาย ไม่ควรพูดถึงแค่วันเดียว แต่เรากำหนดขึ้นมาให้เกิดความน่าสนใจในการจัดกิจกรรม  ผมมองว่า การมีวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกเป็นเรื่องดี เป็นวันที่เราได้พูดถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย ทำให้เห็นว่า ยังมีเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีความสุข สิ้นหวังอยู่มากมายบนโลกเดียวกับเรา  ใครที่อยากตายก็มีคนเป็นห่วง อยากช่วยเหลืออยู่ผ่านองค์กรต่างๆ อย่างสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนสะมาริตันส์ ที่เป็นสายด่วนรับฟังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย

ผมทำงานเป็นจิตแพทย์ เจอเคสฆ่าตัวตายเยอะ แต่ก็มีหลายครั้งที่คนไข้ที่รอดชีวิตมองย้อนกลับไป เขารู้สึกโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ บางคนเวลาตัดสินใจฆ่าตัวตายไปแล้ว ต่อให้ไม่ถึงตายก็ต้องทรมานไปตลอดชีวิต เขาก็รู้สึกเสียดาย วันนั้นไม่น่าทำอย่างนั้นเลย หากมีใครสักคนพร้อมให้ความช่วยเหลือ เป็นรั้วกันก่อนกระโจนสู่ความตายเป็นเรื่องที่ดี  

สถิติบอกว่าวัยไหนเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด 

เกิดขึ้นได้ทุกวัยครับ วัยไหนไม่มีความสุขก็เสี่ยงหมด หากมีข้อมูลว่า วัยรุ่นเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแต่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จแล้วเราจะไม่สนใจก็ไม่ใช่  ไม่ว่าจะเกิดกับวัยไหนก็ตาม เราควรให้ความสนใจทั้งหมดเพราะเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่เกี่ยวกับวัย แต่เป็นความรักและห่วงใยในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ประเทศที่เศรษฐานะสังคมสูง (High Socioeconomic) การป้องกันฆ่าตัวตายทำง่ายกว่าประเทศสวัสดิการไม่ดีไหม สถิติการฆ่าตัวตายเป็นอย่างไร

เขาก็อยากตายด้วยเหตุผลอื่น ไม่ใช่แค่มีเศรษฐานะสังคมสูงหรือต่ำ บางคนเป็นมหาเศรษฐี มีอันจะกิน แต่เขาไม่อยากอยู่ อยากฆ่าตัวตายก็มี เพราะทั้งหมดที่เขามีก็ให้ความสุขเขาไม่ได้ เขาอาจจะอยากมีความสุขบางรูปแบบ ถ้าเราไม่ได้คุยก็คงไม่เข้าใจ

หากมีคนจะโดดตึกตาย ตอนนั้นผมไม่มานั่งคิดหาว่า ปัจจัยอะไรทำให้เขาจะกระโดดตึกตาย แต่ต้องเกลี่ยกล่อมเขา หรือมีคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินเพราะกินยา 100 เม็ด ผมคงไม่ต้องมาเช็คว่า อะไรคือปัจจัยทำให้คนนี้ตั้งใจฆ่าตัวตาย มีคนฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้เยอะไหม  สิ่งที่จิตแพทย์ต้องคุยคือ เกิดอะไรขึ้น มนุษย์เราจะรู้ข้อมูล สถิติไปทำไมเหรอ เมื่อการฆ่าตัวตายพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ติดเชื้อโควิดแล้วไปดูข้อมูลว่าทำไมคนติดเยอะ ไม่ใช่ทุกคนที่ฆ่าตัวตายแล้วแปลว่า ป่วย แต่เป็นเพราะความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต ต่อให้มีสถิติบ่งชี้ว่าอายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร มีสถานะความสัมพันธ์แบบไหนถึงเสี่ยงฆ่าตัวตาย แล้วข้อมูลตรงหมดทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากตาย ความเสี่ยงการฆ่าตัวตายก็เป็นศูนย์ ดังนั้นข้อมูลและสถิติมีความจำเป็นไว้เพื่อบริหารนโยบายสาธารณสุขมากกว่า  

อะไรที่เป็นอุปสรรค ทำให้เราป้องกันการฆ่าตัวตายไม่ได้ 

เพราะเขาก็ยังเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง หากคนๆ หนึ่งอยากตาย เฝ้า 24 ชั่วโมงเขาก็หาวิธีทำได้ ภาพการป้องกันที่หมออยากสื่อนั้นเป็นน้ำเสียงนุ่มว่า  “อย่าทำเลย ฉันเป็นห่วงเธอ พวกเราเป็นห่วงคุณ คุณมีความหมายกับเรา เรามาหาทางออกที่สร้างสรรค์กันดีกว่า” แต่ไม่ใช่ภาพของการตะโกนว่า  “อย่าาทำาา!”  เพราะการรณรงค์การป้องกันการฆ่าเป็นแรงของความห่วงใย  ไม่เหมือนการห้ามเพื่อป้องกันโรคเอดส์หรือป้องกันวัณโรคที่รู้สึกว่าอีกอย่างเป็นเชื้อโรค เป็นศัตรู 

หากเราเห็นเหตุคนพยายามฆ่าตัวตาย ควรทำอะไรเพื่อช่วยชีวิต

คุยเลยสิครับ หากคนๆ นั้นเป็นเพื่อนเรา เขารู้ว่าคุณไม่ใช่จิตแพทย์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาอยากคุยในฐานะเพื่อน เราก็คุยในฐานะนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะคุยยังไง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราอยากตาย แล้วไปบอกใครสักคน ลองคิดว่า หากเป็นเราอยากได้ยินอะไรจากเขา เราอยากให้มีคนฟังไม่ใช่สักแต่ถาม หรืออยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่า อยากตาย เราต้องดีใจที่เขายังไม่ได้ทำ ถ้าหากเขาจะฆ่าตัวตายจริงๆ เขาไม่บอกเราหรอก เขาไปหานิติเวชเลย การที่เขาบอกว่าอยากตาย ตามบทเราต้องห้าม ต้องดึงให้เขามีชีวิตอยู่ ก็พูดตามบทที่ควรเป็นไปก่อนว่า เขามีคุณกับชีวิตเรา เรารักเขา  แต่ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีนี้ถูกต้องที่สุด เพราะไม่มีเฉลยว่า พูดแบบไหนจะทำถูกหรือทำผิด เวลาผมคุยกับคนไข้ ผมก็ไม่รู้ว่า คุยถูกหรือผิด แต่ผมลองทำดู หากเพื่อนร้องไห้อยู่จนเราไม่รู้จะทำยังไง ก็ลองโทรเรียกเพื่อนในกลุ่มสัก 3-4 คนมาช่วยกันแก้ปัญหา คงมีสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่เพื่อนรวมตัวมาช่วยเพื่อน ผมว่า ตรงนี้มันน่ารักมาก หากเขาเป็นคนไม่มีเพื่อน พาไปให้ถึงห้องฉุกเฉิน ถ้าบอกว่าอยากตาย หมอพยาบาลอยากช่วยคุณ เพราะชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ อยากตายแล้วลงมือทำเลยเสี่ยงกว่าเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งอีก ถ้าทำถูกวิธีก็ไปเลย เพราะความเป็นความตายย้อนคืนกลับมาไม่ได้ หากตายไปแล้วมันน่าเสียดายมาก  

 

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ