Skip to main content

เขียนโดย จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำและ พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์
งานชิ้นนี้เป็นผลงานจากรายวิชา สิทธิมนุษยชนและวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

ลองจินตนาการว่านี่คือวันทั่วไปวันหนึ่ง คุณกำลังเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัย คุณอาจต้องออกจากบ้านและเดินไปสักระยะหนึ่งเพื่อขึ้นรถสาธารณะ และต่อขึ้นรถไฟฟ้า หลังถึงสถานีที่หมาย คุณต้องเดินไปที่จุดรอรถที่บริการภายในมหาวิทยาลัย เพื่อขึ้นรถคันนั้นไปยังคณะที่คุณกำลังศึกษาอยู่อีกทีหนึ่ง และรีบขึ้นไปยังชั้น 10 ของอาคารเพื่อเข้าเรียนวิชาแรก

ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่ถ้าหากเราลองเพิ่มเงื่อนไขว่า คุณกำลังตาบอด หรืออาจต้องนั่งรถเข็น การเดินทางมามหาวิทยาลัยจะยังคงสะดวกสบายเช่นเดิมหรือไม่


การเข้าไม่ถึงการศึกษาอย่างสะดวกสบาย จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ทำให้คนพิการจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียงร้อยละ 0.18 ของคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น

ซาบะ - มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนพิการ ผู้ก่อตั้ง Accessibility Is Freedom และวิทยากรหลักโครงการ Chula Walk (โครงการสำรวจพื้นที่ในบริเวณจุฬาฯ ว่าเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการหรือไม่) ระบุว่า การเดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านทางเท้านั้นไม่เอื้อต่อคนใช้รถเข็นและคนพิการทางสายตา ทางเท้าไม่มีทางเดินสำหรับคนตาบอด และมีสภาพไม่สมบูรณ์ทั้งลาดเอียง หรือมีสิ่งกีดขวาง ทางลาดลงถนนใหญ่แคบเกินไป ไม่สามารถรองรับรถเข็นขนาดใหญ่ได้ และทั้งสะพานลอยและอุโมงค์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ข้ามฝั่งถนนเป็นหลักนั้นไม่เอื้อต่อผู้ที่ใช้รถเข็นเลย เพราะไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ให้

พลอย - สโรชา กิตติสิริพันธุ์ คนพิการทางสายตา จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้เราฟังว่า เวลารถ ปอ.พ. (รถโดยสารภายในจุฬาฯ) ไม่มา หรือฝนตกเลยไม่มีรถ เราต้องเดินจากคณะไปรถไฟฟ้า ก็ไปคนเดียวไม่ได้ (เพราะไม่มีสัญลักษณ์บอกทาง) ต้องขอให้คนช่วยพาไปหรือช่วยเรียกรถให้ แม้ว่าพลอยจะโชคดีที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนักจึงสามารถนั่งรถต่อเดียวถึงได้ แต่เมื่อเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องเผชิญความลำบากในการไปยังที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และต้องมีคนนำทางหรือคอยให้ความช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี


พลอย-สโรชา

ชีวิตแบบใด... ที่นิสิตพิการต้องเผชิญ

จากการสัมภาษณ์พลอย ซาบะ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากโครงการ Chula Walk และการลงพื้นที่สำรวจของผู้เขียน พบปัญหาสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคนพิการทางการมองเห็นและคนพิการทางการเคลื่อนไหวในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย

บันไดและทางลาด: หลายอาคารใช้บันไดใหญ่เพื่อเข้าสู่ตัวอาคาร โดยไม่มีทางลาด หรือมีทางลาดในมุมที่มองไม่เห็นหรือไปถึงได้ยาก

ทางข้ามถนน: ทางลาดจากฟุตบาทลงถนนแคบ ไม่รองรับรถเข็นขนาดใหญ่,​ ทางม้าลายมีน้อย สะพานลอยและอุโมงค์ที่คนใช้รถเข็นใช้งานไม่ได้มีเยอะ,​ คนไม่เคารพกฎจราจร เพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้ใช้รถเข็น

รถ ปอ.พ.: ไม่มีเสียงบอกคนตาบอดเมื่อรถมาถึงป้าย, ไม่มีเสียงบอกว่ารถที่มาถึงป้ายเป็นสายไหน, รถบางคันไม่มีเสียงบอกเมื่อถึงป้ายต่าง ๆ, รถเข็นขึ้นได้ไม่สะดวก เนื่องจากไม่เป็นรถชานต่ำ (low floor)

สิ่งอำนวยความสะดวก (บริเวณคณะอักษรศาสตร์)

ห้องน้ำ: หากไม่เคยไปชั้นนั้น หรืออาคารนั้น จะไม่มีทางรู้ว่าอยู่ที่ไหน ต้องมีคนพาไปในครั้งแรก, คนตาบอดไม่สามารถรู้ได้ว่าห้องใดเป็นห้องน้ำหญิงหรือห้องน้ำชาย, ราวจับในห้องน้ำคนพิการไม่ได้มาตรฐาน, ประตูห้องน้ำหนัก คนกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจไม่สามารถเปิดได้, ที่ใส่สบู่อยู่ผิดที่ ทำให้หาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน, ไม่ได้ดูแลความสะอาดเป็นประจำ คนตาบอดจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่าห้องน้ำสะอาดหรือไม่

ลิฟต์: ไม่มีเสียงบอกว่าถึงชั้นไหนแล้ว ทำให้มักออกผิดชั้น, ลิฟต์บางตัวไม่มีอักษรนูนหรืออักษรเบรลล์กำกับที่ปุ่มกดชั้น, ลิฟต์แบ่งเป็นขึ้นชั้นเลขคี่กับชั้นเลขคู่ แต่ไม่มีป้ายอักษรเบรลล์บอกรายละเอียด

โรงอาหาร: ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าแต่ละร้านเป็นร้านอะไร มีเมนูอะไรบ้าง, ไม่มีเบรลล์บล็อก, ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าจุดเก็บจานและถังขยะอยู่ตรงไหน รวมถึงไม่มีป้ายบอกว่าต้องแยกขยะแบบไหนในถังใด

ห้องสมุด: ไม่มีป้ายบอกคนตาบอดว่าเป็นหนังสืออะไรบ้าง, ไม่มีเบรลล์บล็อก, ไม่มีคำอธิบายหนังสือที่คนตาบอดเข้าถึงได้ ต้องอาศัยให้เพื่อนมาช่วยดูและเลือกให้, ไม่มีบริการไฟล์หนังสือหรือหนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด

และยังมีปัญหายิบย่อยอีกมากมาย ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ

ปัญหาพื้นที่ แก้ได้! ขอเพียงใส่ใจมากเพียงพอ

สุจิตรา จิรวาณิชกุล สถาปนิกประจำศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สภาพแวดล้อมภายในจุฬาฯ ถือว่ามีความพยายามในการจัดการให้คนพิการสามารถใช้งานได้สะดวก และยังมีการแก้ไขจุดที่บกพร่องอยู่เรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สุจิตราพบปัญหาสำคัญคือการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั้นไม่เชื่อมต่อกัน เช่น จากอาคารหนึ่งไปยังอาคารหนึ่ง โดยคนพิการทางสายตาอาจเผชิญปัญหาว่าไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้ในครั้งแรกเพราะไม่รู้ทาง และคนพิการทางการเคลื่อนไหวอาจเผชิญปัญหาความไม่สะดวกต่าง ๆ ดังที่ระบุไปข้างต้น

สุจิตราเสนอวิธีแก้ไขปัญหาเป็น 2 ข้อหลัก ข้อแรก คือการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องตามกฎหมาย เช่น แก้ไขทางลาดที่ชันเกินไป รวมถึงการมีป้ายบอกทางว่าทางเข้าอาคารหรือทางขึ้นสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวนั้นต้องไปทางไหน ข้อสอง คือการจัดทำแผนผังหรือแผนที่สำหรับคนพิการทางสายตา ที่ระบุว่าแต่ละอาคารอยู่ที่ไหน และภายในอาคารห้องต่าง ๆ อยู่จุดไหนบ้าง เพื่อให้คนตาบอดเกิดภาพจำได้ว่าจุดที่ต้องการไปอยู่ตรงไหน และสามารถไปถึงด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ในด้านของซาบะ ซาบะเน้นย้ำให้แก้ไขจุดที่อันตรายก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การข้ามถนนที่ยังไม่ปลอดภัย หรือทางลาดที่ชันจนทำให้ผู้ใช้รถเข็นอาจทำรถล้มลงมาได้ แล้วหลังจากนั้นจึงควรแก้ไขจุดต่อ ๆ ไปตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในด้านการนำไปปฏิบัติจริง สุจิตราพร้อมกับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาฯ เคยนำเสนอปัญหาที่พบในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้ว พร้อมเสนอตัวช่วยเหลือในการออกแบบพื้นที่ใหม่ร่วมกับสำนักบริหารระบบกายภาพ แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้ปรับปรุงแล้วเสร็จได้เพียงไม่กี่ที่เท่านั้น ทางซาบะพร้อมกับ Accessibility Is Freedom ก็เช่นกัน ที่ได้มีการสำรวจพื้นที่ในโครงการ Chula Walk พร้อมกับสำนักบริหารระบบกายภาพ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดต่อ

ซาบะเสริมข้อกังวลว่าจากประสบการณ์ของตนนั้น การปรับปรุงพื้นที่ให้เข้าถึงคนพิการนั้นมีรายละเอียดมาก และจำเป็นที่จะต้องติดตามงานกันอย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้นอาจพลาดในรายละเอียดเล็กน้อยแต่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการที่เป็นคนพิการได้ เขาเคยพบการลืมติดราวจับในห้องน้ำ หรือติดผิดจุดและไม่สามารถแก้ไขภายหลังได้เนื่องจากกระทบมาตั้งแต่การติดตั้งท่อน้ำ

ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ

วิธีการเข้ามาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนคนพิการนั้นไม่ซับซ้อนนัก เพราะจุฬาฯ ไม่มีโควตาพิเศษสำหรับคนพิการ โดยคนพิการต้องสอบเข้าในรอบต่าง ๆ เช่นเดียวกับนักเรียนท้ังประเทศได้ โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าสามารถเรียนในคณะใดได้บ้าง แต่วิธีการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมเป็นเหมือนมาตรฐานกลาย ๆ ว่าบางคณะไม่ได้ให้การต้อนรับนิสิตคนพิการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ ให้ความเห็นว่าคนตาบอดอาจเรียนได้เฉพาะในคณะที่เน้นการฟังบรรยายเป็นหลักเท่านั้น เพราะไม่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ในห้องเรียนได้สะดวก

ในปีการศึกษา 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนิสิตคนพิการกำลังศึกษาอยู่เพียง 9 คนจาก 7 คณะเท่านั้น (คณะวิทยาศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา, คณะครุศาสตร์, คณะจิตวิทยา, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะนิติศาสตร์) โดยมีการมอบทุนการศึกษาสำหรับนิสิตพิการ ครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมดตลอดการศึกษา และนิสิตพิการยังสามารถขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้จากฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ เช่น การจัดหาหอพักนิสิต เป็นต้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะแก่ความต้องการของแต่ละคนนั้นจะเป็นการจัดการภายในคณะและการตกลงกับครูผู้สอนเอง

‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าศึกษา โดยมีโครงการรับนักศึกษาพิการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 โดยรับทั้งคนพิการทางการมองเห็น ทางการเคลื่อนไหว และทางการได้ยินที่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ โดยในแต่ละปีมีโควตารับทั้งหมด 63 คนใน 19 คณะ มากที่สุดในกลุ่มมหาวิทยาลัยเปิด โดยเมื่อรับเข้ามาจะมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการช่วยเหลือในเรื่องสื่อการสอน ทุนการศึกษา อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ไปจนถึงการประเมินผลการเรียนนักศึกษาพิการเพื่อเร่งเข้าช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกให้การเรียนเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ด้านการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ศูนย์บริการฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยให้เรียนรู้เส้นทาง และอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดหาหอพักในมหาวิทยาลัยให้พร้อมบัดดี้พักร่วมได้ และยังมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบริเวณมหาวิทยาลัยตลอดทุกปี เช่น เพิ่มปุ่มกดอักษรเบรลล์ และเสียงบอกชั้นในลิฟต์ ปรับปรุงห้องน้ำคนพิการ และเพิ่มเบรลล์บล็อกนำทาง

เพราะวันหนึ่งคุณก็อาจกลายเป็นคนพิการได้

เรื่องของคนพิการ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แม้เราอาจไม่ได้เป็นคนพิการในวันนี้ แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจเกิดอุบัติเหตุจนขาหัก เคลื่อนไหวไม่ได้ชั่วคราว หรือเจ็บตาจนทำให้การมองเห็นไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังคงต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเหมือนปกติ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง จึงจะกลับมาส่งผลต่อตัวเราเองในวันที่เราอาจจำเป็นต้องใช้มันด้วยเช่นกัน

“เดินทางได้คือพัฒนาได้ การช่วยเหลือคนอย่างยั่งยืนไม่ใช่การให้เงิน แต่เป็นการให้โอกาสการเดินทาง  ให้โอกาสการเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ” ซาบะกล่าวถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ และเข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยที่ทุกคนมีอิสระที่จำดำรงชีวิตด้วยตนเอง เขาฝากว่าการช่วยเหลือกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากคนพิการต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะถือเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นกัน

การจัดสรรพื้นที่และออกแบบการศึกษาให้เอื้อต่อคนพิการ และเข้าถึงคนทุกกลุ่ม จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรรับไปพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเป็นปัญหาที่เราทุกคนสามารถร่วมกันจับตามอง และช่วยส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจได้ เพราะเราทุกคนเป็นคนเท่ากัน จึงต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและการใช้ชีวิตที่เท่าเทียมกัน

อ้างอิง

คชรักษ์ แก้วสุราช.  “ธรรมศาสตร์ทำอย่างไรถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่คนพิการอยากมาเรียน.” [ออนไลน์].  เข้า ถึงได้จาก https://thisable.me/content/2020/03/602
ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิตจุฬาฯ.  สัมภาษณ์, 2 พฤษภาคม 2566.

มานิตย์ อินทร์พิมพ์.  นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนพิการ ผู้ก่อตั้ง Accessibility Is Freedom.  สัมภาษณ์, 15 พฤษภาคม 2566.

สโรชา กิตติสิริพันธุ์.  บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนพิการทางสายตา.  สัมภาษณ์, 28 เมษายน 2566.

สุจิตรา จิระวาณิชย์กุล.  สถาปนิกประจำศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  สัมภาษณ์, 2 พฤษภาคม 2566.

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.).  “10+ ปัญหาที่คนพิการต้องเจอจากการสำรวจ บริเวณจุฬาฯ ฝั่งเล็ก.” [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/sgcu.chula/ posts/pfbid032u1v3uhQ1fG2Ap3S7RUMZ89mfDRkKZkbwdfFQtZwc4zmX5DTFFMT

pSdSrDmLNUFel