Skip to main content

ที่ผ่านมาสิทธิในการเข้าถึงโอกาสของคนพิการทางสายตายังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การทำงาน หรือการเดินทาง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดนิทรรศการ  Livable Scape For All หรืองาน “คนยิ่งทำ..เมืองยิ่งดี…เพื่อทุกคน” นำเสนอประสบการณ์ชีวิตและขบวนการคิดของคนตาบอด ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผ่านทักษะทางด้านกีฬา

 

โดยมีวงเสวนา “สร้างสรรค์เมืองเพื่อสิทธิของทุกคน” (Livable Scape For All) จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ณ สวนรมณีนาถ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนจากหลากหลายประสบการณ์ ได้แก่ คุณพนม ลักษณะพริ้ม นักกีฬาว่ายน้ำคนตาบอดไทยคนแรกที่คว้าเหรียญในพาราลิมปิกเกมส์ สร้างสถิติได้สิทธิเข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 6 สมัย ในช่วงระยะเวลา 24 ปี, คุณอำนวย กลิ่นอยู่ นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย และคุณณรงศักดิ์ ตามสุนทรพานิช ผู้ออกแบบศูนย์กีฬาคนตาบอด บริษัท อาร์ชิแปลน จำกัด ดำเนินรายการโดย คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์  อาจารย์ International Program in Design and Architecture จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอุปนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

ผู้ดำเนินรายการเริ่มต้นด้วยการถามว่า ความท้าทายของคนตาบอดคือเรื่องอะไรบ้าง คุณอำนวย นายกสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นไว้หลายข้อ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่คนอาจไม่คาดคิดแต่เป็นเรื่องที่คนตาบอดหลายคนมองว่าท้าทาย คือการมีครอบครัว ที่เขาตั้งคำถามผ่านวงว่า ‘คนตาบอดมีเมียเป็นคนตาดีได้ไหม’ จากประสบการณ์ของเขา การจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ยากนี้อาจต้องเริ่มจากการได้เรียนด้วยกัน ได้ใกล้ชิดกัน สุดท้ายจึงได้แต่งงานกัน แต่อย่างไรก็ดี การจะเข้าสู่การศึกษาไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนตาบอด เพราะสิ่งที่คนตาบอดต้องต่อสู้คือความเข้าใจของคนในสังคม 

 

“กว่าผมจะเข้าเรียนได้อายุก็ล่วงเลยไปจน 18 ปีแล้ว เมื่อหลายสิบปีที่แล้วอยากเรียนหนังสือก็ไม่มีที่เรียน โรงเรียนสอนคนตาบอดมีไม่กี่ที่ในประเทศ โอกาสที่จะได้เรียนมีน้อยลง คนที่เรียนจบโรงเรียนสอนคนตาบอดไปเรียนต่อระดับปริญญา ก็ไม่มีงานทำ ขนาดราชการยังบอกว่าห้ามไม่ให้รับบุคคลทุพพลภาพเข้าทำงาน” คุณอำนวยเล่า 

 

 

นอกจากนี้เขายังเล่าถึงการต่อสู้ในช่วงที่ พ.ร.บ.การทำบัตรประชาชนออกมา ซึ่งกีดกันคนพิการด้วยการปฏิเสธไม่ให้ทำ จนคนพิการต้องเดินขบวนต่อสู้เป็น 10 ปี กว่าจะได้สิทธิในการทำบัตรประชาชนเหมือนคนทั่วไป 

 

ด้านคุณพนม นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญแชมป์เอเชียที่ครองอันดับที่ 1 ยาวนานในประวัติศาสตร์ มองว่าความท้าทายของคนตาบอดคือเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในตอนนั้นเขารู้ตัวว่าเรียนไม่เก่งจึงเอาดีด้านกีฬา และเริ่มแข่งขันกีฬาคนพิการจนได้เหรียญในปี 2539

 

“กีฬาทำให้คนตาบอดได้พัฒนาบุคลิกภาพ ยิ่งถ้าตาบอดตั้งแต่กำเนิด การนั่ง การเดิน จะเสียบุคลิก เช่น นั่งก้ม นั่งส่ายหัว นั่งทุบอก ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนไม่มั่นใจแต่พอเล่นกีฬาก็ช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งเรื่องการพูด การเข้าสังคม และช่วยคนตาบอดในการใช้ชีวิตประจำวันเพราะเมื่อคนตาบอดแข็งแรง การเดินทางไปที่ต่างๆ ก็จะเป็นไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงขึ้น” คุณพนมเล่า

 

 

ผู้ดำเนินรายการได้ถามคำถามถัดมาว่า จะผลักดันให้คนตาบอดเล่นกีฬาได้อย่างไร และการผลักดันจะทำให้สังคมยอมรับคนตาบอดมากขึ้นหรือไม่ คุณอำนวยได้แลกเปลี่ยนว่า การได้เป็นนักกีฬาทำให้คนพิการเข้มแข็งและสังคมยอมรับมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากคนตาบอดเล่นและซ้อมกีฬาผ่านเสียง และต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูง จึงเล่นในสถานที่ที่มีคนหลายๆ คน หรือเล่นกีฬาหลายประเภทไม่สะดวก เเต่เดิมคนพิการเล่นกีฬากันไม่มากนัก แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจว่า คนตาบอดจะเล่นกีฬากันไปทำไม จนตอนหลังจึงเข้าใจว่ากีฬาช่วยได้หลายด้าน ทั้งทำให้กายภาพและจิตใจเข้มแข็ง รู้จัดอดทนอยู่ในระเบียบวินัย และการรู้จักแพ้ รู้จักชนะ ไม่มองว่าพิการแล้วต้องได้สิทธิพิเศษ 

 

“การที่คนตาบอดประสบความสำเร็จทำให้คนยอมรับความสามารถว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คนเข้าใจว่าคนตาบอดหูดี ประสาทสัมผัสดี ความจำดี แต่จริงๆคนตาบอดหลายคนไม่มีพรสวรรค์แบบนั้น อยากให้เข้าใจว่าคนตาบอดมีความต้องการเหมือนกับท่าน อยากมีเงิน อยากรวย อยากมีแฟน จึงอยากให้กีฬาเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจคนพิการมากขึ้น” คุณอำนวยกล่าว

 

 

นอกจากนี้คุณอำนวยยังเล่าถึงวิสัยทัศน์ของการพยายามจัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการว่า “หากมีศูนย์กีฬาที่มีหน่วยงานตั้งงบประมาณมาสนับสนุนนักกีฬา จะทำให้นักกีฬาได้พัฒนาตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ศูนย์ยังเป็นสถานที่ให้คนพิการและครอบครัวใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน บางคนเพิ่งพิการใหม่ๆ ก็ได้เข้ามาเห็นว่า ถึงแม้สูญเสียสายตาไปแล้วแต่ยังใช้ชีวิตได้ ศูนย์นี้จะช่วยส่งเสริมให้นักกีฬาเล่นได้เต็มที่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นแก่การดำเนินชีวิตของคนตาบอดด้วย”

 

เช่นเดียวกับคุณณรงศักดิ์ ผู้ออกแบบศูนย์กีฬาคนตาบอด ที่มองเห็นความไม่เข้าใจและความติดขัดในการใช้ชีวิตและโอกาสของผู้มีความพิการ เขาได้เล่าถึงประสบการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนชีวิตคนพิการด้วยกีฬาให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ งานออกแบบของเขาจึงเรียบง่าย แต่ต้องเข้าถึงได้ 

 

“อาคารเราจะต้องเข้าถึงได้ทุกมิติ เข้าไปใช้ เข้าไปซ้อมได้ด้วยตัวเอง 100% ผ่านหลัก ADA (The Americans with Disabilities Act) และสามารถตรวจสอบการเข้าถึงได้ เพื่อให้คนพิการมาใช้แล้วเปลี่ยนชีวิตและมีเป้าหมาย มองเห็นว่าคนพิการไม่ได้ชำรุด แต่เราทุกคนเท่ากัน ไม่ต้องรอภาครัฐมาเมตตา ศูนย์นี้จะเป็นตัวแทนที่ทำให้เห็นว่า ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและอยู่ในสังคมที่เข้าถึงได้ทุกอย่าง”

 

 

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านได้ร่วมแชร์ว่า กีฬาให้อะไรกับคนตาบอด

คุณอำนวยเล่าว่า กีฬาทำให้เขาประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับความรัก ที่เคยอกหัก ถูกบอกเลิกเพราะคนรักในเวลานั้นอยากย้ายไปสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้กลายมาเป็นปมในใจของคุณอำนวยอยู่ตลอดเวลาว่า ความพิการทำให้เธอทิ้งไปและมองว่าเขาเองคงไม่สามารถตามไปได้ จนกระทั่งได้รู้จักการวิ่งมาราธอน สิ่งนี้เป็นความท้าทายและโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตนเอง และได้ไปอเมริกาโดยมีผู้สนับสนุนให้ไปวิ่งในรายการนิวยอร์คมาราธอน ตอนนั้นเขาอายุ 40 กว่าแล้วซึ่งถือว่าอายุเยอะเมื่อเทียบกับผู้แข่งขันคนอื่น 

 

 

“เริ่มวิ่งตี3 ตอนนั้นอากาศหนาวมาก วิ่งสองกิโลเมตรแรกยังไหว กิโลต่อไปคิดในใจว่าใครใช้ให้มาวิ่ง  แต่ในที่สุดก็วิ่งถึง พอกลับบ้านมาทัศนคติของคนรอบข้างเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างความเข้าใจว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับคนตาบอดอย่างไร ทำแล้วทุกคนจะได้ประโยชน์อย่างไร เช่นกรณีของการสร้างรถไฟฟ้าสายแรก คนพิการที่นั่งวีลแชร์ขึ้นไม่ได้ เราไม่ยอม เดินขบวน ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ต้องทำให้คนทุกคน ไม่ใช่ทำให้คนส่วนใหญ่” คุณอำนวยกล่าว

 

ด้านคุณพนม อยากให้เมืองเข้าถึงได้โดยทุกคนและไม่อยากเป็นภาระของคนในสังคม และเชื่อว่ากีฬาจะทำให้คนพิการมีอิสระ และสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้

 

 

“อยากให้คนพิการมีส่วนร่วมในสังคม ไม่อยากให้ใครมาจูงเดินไปไหนมาไหน บางคนอยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่ไม่มีลู่ก็ว่ายไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของสิ่งอำนวยความสะดวกและการมองเห็นว่า กีฬาทำให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ ยืนหยัดด้วยตัวเองได้ มีอะไรทำเวลาว่าง และเมื่อคนพิการคนหนึ่งพัฒนาตัวเองได้แล้ว เขาออกสู่สังคมได้แน่นอน” คุณพนมแลกเปลี่ยน

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ