Skip to main content

ข่าวคนพิการจบปริญญาตรีกลายเป็นกระแสโด่งดังในสื่อหลายประเภท ในข่าวเล่าถึงความมานะพยายามของเธอผู้ซึ่งตั้งใจเล่าเรียนศึกษาจนได้รับปริญญาเช่นเดียวกับนักศึกษาคนอื่น แต่เรื่องราวของเธอ กลับสร้างความภาคภูมิใจ ปิติ ยินดีสู่ผู้พบเห็น เพราะไม่คิดว่าคนพิการจะสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ 

ไม่ผิดนัก หากคนทั่วไปไม่คิดว่าคนพิการจะสามารถเข้าเรียนได้ เพราะที่ผ่านมาจำนวนคนพิการที่เข้าสู่ระบบการศึกษานั้นมีน้อยเหลือเกิน ดังที่จะเห็นได้จากจำนวนคนพิการที่เรียนจบระดับปริญญาตรีทั้งหมดเพียง 3,457 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.18 ของจำนวนคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ

หนึ่งในคำถามที่คนไม่ค่อยถามก็คือ ทำไมคนพิการในไทยถึงจบระดับปริญญาน้อย หรือทำไมคนพิการเข้าถึงระบบการศึกษาน้อย หรือทำไมคนที่เข้ามาแล้ว ก็หลุดหายไประหว่างทาง เราจึงตัดสินใจเดินทางไปคุยกับ  ปิยพงศ์ เอียดปุ่ม ผู้จัดการศูนย์นักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่มีจำนวนนักศึกษาพิการเข้าเรียนมากที่สุด ตั้งแต่ปี 46 นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปิดทดลองโครงการนักศึกษาพิการจนถึงวันนี้ ธรรมศาสตร์ได้เรียนรู้อะไรบ้าง พวกเขามองเห็นอะไร โอกาสและความท้าทาย และอะไรคือเบื้องหลังของความสำเร็จที่ทำให้ธรรมศาสตร์มีศูนย์นักศึกษาพิการที่ครบครันติดอันดับต้นๆ ของไทย  

รูปแบบของศูนย์นักศึกษาคนพิการในประเทศไทย 

ปิยพงศ์: รูปแบบของศูนย์อำนวยการนักศึกษาพิการในประเทศไทย มี 2 รูปแบบ 1.สังกัดคณะ 2.สังกัดส่วนกลาง ในส่วนแรกคือสังกัดคณะ จะเป็นกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ซึ่งมีคณะครุศาสตร์เอกการศึกษาพิเศษ ฉะนั้นศูนย์อำนวยการนักศึกษาพิการหรือ Disability Support Services (DSS) จึงถูกผนวกอยู่ในเอกการศึกษาพิเศษ ซึ่งดูแลโดยคณะครุศาสตร์เอกการศึกษาพิเศษ และการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับคณะ

รูปแบบที่ 2 คือสังกัดส่วนกลาง  ในที่นี้ก็แล้วแต่บริบทของแต่ละที่ เมื่อก่อนหน่วยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สังกัดฝ่ายการนักศึกษา เพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานบริการและให้คำปรึกษา หลังมีนักศึกษาพิการอยู่ในความดูแลเยอะขึ้น ศูนย์ก็โตขึ้นจึงแยกไปอยู่ในงานกองกิจการนักศึกษา ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการกองกิจการ แต่หลังจากมหาวิทยาลัยฯ ออกนอกระบบ หน่วยนี้ก็ถูกรวมไปอยู่กับงานบริการและให้คำปรึกษา หมวดงานบริการนักศึกษาพิการ และล่าสุดมีแนวโน้มที่จะปรับอีก โดยแยกศูนย์ออกมาเป็นอิสระ ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการกองกิจการฯ เหมือนเดิม 

เราต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานสังกัดต่างกันไปในแต่ละแห่ง บางที่สังกัดกับฝ่ายวิชาการ ส่วนใหญ่สังกัดฝ่ายการนักศึกษา หลายที่ ไม่สามารถทำให้เกิดศูนย์รูปธรรมได้เพราะนำงานนักศึกษาพิการไปแขวนกับงานทุน ซึ่งเป็นงานบริการและสวัสดิการนักศึกษา ฉะนั้นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งอาจจะต้องรับบทบาทในหลายหน้าที่ไปด้วย

แม้ศูนย์นักศึกษาพิการในแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีโครงสร้างที่แน่นอนว่าจะต้องอยู่ภายใต้หน่วยงานไหน และไม่ได้มีการบังคับในระบบของหน่วยการศึกษา แต่สิ่งที่เหมือนกันของศูนย์บริการนักศึกษาพิการทุกที่ คือการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการจัดการทางการศึกษาสำหรับคนพิการ

โครงการนักศึกษาพิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนจะพูดถึงศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เราต้องพูดถึงโครงการนักศึกษาพิการ ในปี 46 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้คนพิการเข้ามาศึกษา  โดยต้องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่ม แม้ตอนนั้นธรรมศาสตร์ มีโครงการรับสมัครคนพิการแล้ว แต่ก็ยังไม่มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ 

ช่วงนั้นอาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย หลังเกิดโครงการ 2 ปี ปรากฏว่านักศึกษาพิการมีผลการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดคือ 2.00 กว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษาพิการทั้งหมด จึงจัดตั้งศูนย์ขึ้นมารองรับนักศึกษาพิการที่เข้ามาศึกษาในธรรมศาสตร์ เพราะมองว่ายังไม่มีระบบที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือสำหรับคนพิการเลย 

ตอนนั้นเราเปิดรับนักศึกษาใน 15 คณะ ทั้งหมด 50 คน ลักษณะความพิการที่เปิดรับมีความพิการทางการมองเห็น เคลื่อนไหว และการได้ยินที่สามารถใช้เครื่องช่วยฟัง ทั้งหมด 3 ประเภทความพิการ แต่คนสมัครก็ไม่ได้เป็นไปตามโควตาที่คณะกำหนดทุกปี ในบางคณะก็ไม่มีคนพิการมาสมัครเลย เช่น นิติศาสตร์รับ 4 คน รัฐศาสตร์รับ 3 คน แต่คนพิการมักจะสมัครในคณะเดียวกันค่อนข้างเยอะ จึงถูกคัดเลือกออกไปจึงเหลือแต่ละปีแค่ 16-18 คน แต่ปัจจุบันได้เพิ่มโควต้าปี 63 เป็น 19 คณะ 62 คน ทำให้มีนักศึกษาพิการทั้งหมดจำนวน 76 คน ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยปิด 

ปัจจุบันเกณฑ์การเรียนของนักศึกษาพิการต่ำกว่าที่มหาวิทยาลัยกำหนด อธิการบดีจึงมอบหมายให้วิลัยวัณ ปรีดา อดีตหัวหน้าศูนย์บริการนักศึกษาพิการ แกเองทำงานอยู่กองกิจการนักศึกษาไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้ ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ พอได้รับมอบหมายก็เหมือนเริ่มจาก 0 ต้องพยายามหาข้อมูล จดจัดตั้ง เป็นศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ในปี 48 รวมทั้งได้รับอนุเคราะห์จากมูลนิธิเพื่อคนตาบอดในการผลิตสื่อการเรียนการสอนอักษรเบรลล์ ให้กับนักศึกษาพิการด้านการมองเห็นด้วย 

หลังจากมีศูนย์ก็ได้มีการติดตามผลประเมินผลการเรียนของนักศึกษาพิการ ปรากฏว่ามีผลการเรียนที่ดีขึ้น เกิน 2.00 ร้อยละ80 พอนักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นในปีต่อมาทางมหาวิทยาลัยก็รับนักศึกษาพิการเข้ามาเยอะขึ้น 

จัดแนะแนวการศึกษา/ รับเข้า/ เตรียมความพร้อม

เริ่มแรกหน้าที่ของศูนย์เราไม่ได้เยอะอย่างปัจจุบัน จำนวนนักศึกษาเองก็ไม่ได้เยอะเท่ากับปัจจุบัน เดิมที่สิ่งที่ศูนย์ทำคือช่วยผลิตสื่อการเรียนการสอน จัดสรรทุนการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์อำนวยความสะดวก แต่ปัจจุบันธรรมศาสตร์จัดแนะแนวการศึกษาให้กับนักเรียนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา โดยเดินทางไปในโรงเรียนเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด มูลนิธิธรรมิกชนในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการว่าเปิดรับในสาขาวิชาไหนบ้าง แต่ละสาขาวิชาเรียนเกี่ยวกับอะไร ถ้าน้องสำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพอะไร รวมถึงถ้าเข้ามาเรียนในธรรมศาสตร์จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อเป็นตัวเลือกทางการศึกษาให้กับเขา 

นอกจากแนะแนวการศึกษา กระบวนการรับเข้าทั้งหมดดำเนินการโดยศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ตั้งแต่การจัดประชุมคณะกรรรมการโครงการนักศึกษาพิการ ประชุมผู้แทนแต่ละคณะที่เปิดรับคนพิการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับเข้าในแต่ละปี จัดทำร่างประกาศ ประกาศรับสมัคร เปิดรับสมัครและจัดสอบคัดเลือก จนถึงประกาศรายชื่อ ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย กระบวนการรับเข้าทั้งหมดดำเนินการโดยศูนย์บริการนักศึกษาพิการ 

วัตถุประสงค์ของโครงการนักศึกษาพิการไม่ได้ต้องการคนพิการที่มีความเก่งทางด้านวิชาการเข้ามาศึกษา แต่ต้องการรับคนพิการที่มีศักยภาพพอที่จะเรียนได้เข้ามาเรียน

เกณฑ์ที่ใช้ในการรับเข้าปี 63 ได้มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ ในอดีตเกณฑ์ที่เราใช้พิจารณา ไม่ได้ยากเท่ากับการสอบเข้าแบบอื่น เราใช้ข้อสอบที่เรียกว่า Z ที่มีด้วยกัน 3 หมวด มีหมวดภาษา จำนวนและเหตุผล ซึ่งแต่ละหมวดไม่ได้ยาก ใช้การหลอกล่อและระยะเวลาเป็นตัวกำหนด แต่กลุ่มภาษาที่สอง เช่น อังกฤษกลับไม่ได้วัด จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะไม่เก่งเท่าเด็กที่เข้ามาทาง แอดมิดชันหรือรับตรง 

เมื่อเด็กเข้ามาแล้วก็เลยต้องเตรียมความพร้อมก่อน โดยเชิญอาจารย์ผู้สอน ในแต่ละปีการศึกษามาพูดคุยเกี่ยวกับวิชาเรียนว่าการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย มีความแตกต่างระหว่างเด็กมัธยมอย่างไร มีเนื้อหาการเรียนแบบไหน มีการวัดผล ประเมินผลอย่างไร ที่ผ่านมาเราเชิญอาจารย์ 2 วิชาด้วยกันคือภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งเป็นวิชาบังคับเรียนของทุกคณะ 

นอกจากเรื่องความพร้อมด้านความรู้แล้ว ยังมีเรื่องการใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัย ฝึกการใช้อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกของแต่ละประเภทความพิการ เพื่อให้เขารู้วิธีการใช้งาน ฝึกเรียนรู้ทั้งเส้นทางเดินและเส้นทางการเดินรถในมหาวิทยาลัย สำหรับคนพิการทางการมองเห็น เราต้องการให้เขาเกิดภาพในหัวว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร อาคารสำคัญที่เขาต้องใช้ชีวิต อยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองหลังจากที่เปิดการเรียนการสอนไปแล้ว มีการฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ของทุกคนเพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนพิการทางการมองเห็น โปรแกรมสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้ เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอนั้นอาศัยทักษะการใช้งานที่ดีพอสมควร รวมทั้งการจัดสอบมิดเทอม หรือไฟนอลก็กำหนดให้นักศึกษาพิการทางการเห็นทุกคนสอบที่ศูนย์บริการนักศึกษาพิการโดยใช้คอมพิวเตอร์ในการสอบทั้งหมด 

หอพัก/  อุปกรณ์ช่วยเหลือ

หอพักธรรมศาสตร์เราให้นโยบายไว้เลยว่า นักศึกษาพิการคนไหนต้องการหอพักในมหาวิทยาลัย จะต้องได้รับสิทธินั้นทุกคน และจะให้สิทธิในการรับบัดดี้หรืออาสาสมัครในการพักร่วมได้ด้วยหนึ่งคน โดยศูนย์บริการนักศึกษาพิการเป็นคนจองให้ นักศึกษาพิการไม่ต้องแย่งโควตาหอพักกับนักศึกษาคนอื่น

ในส่วนของการจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ปัจจุบันนักศึกษาพิการไม่ว่าจะผ่านโครงการนักศึกษาพิการหรือช่องทางปกติ ก็มีสิทธิได้รับอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนกันทุกคน อย่างแรกคือโน๊ตบุ๊คและเครื่องบันทึกเสียง หากเป็นคนตาบอด อย่างแรกที่จะได้รับคือไม้เท้าขาว ที่ใช้ในการเดินทาง เด็กหลายคนพอเข้ามาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจนคุ้นเคยก็มักเดินโดยไม่ใช้ไม้เท้า ซึ่งอันตรายมากเวลาข้ามถนน บางทีคนขับรถอาจจะไม่รู้ว่าตาบอด เราเลยรณรงค์ให้ใช้ไม้เท้าเป็นกิจลักษณะ สำหรับคนตาเลือนรางก็มีเครื่องขยายภาพแบบพกพา และตั้งโต๊ะแจกจ่ายให้ 

นักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหว เรามีทั้งวีลแชร์ธรรมดาและวีลแชร์ไฟฟ้าให้ยืม การซ่อมบำรุงจะมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการเป็นผู้ดูแลให้โดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย พอเรียนจบค่อยเอามาคืน ทางด้านการได้ยินประเภทหูตึงคือสามารถใช้เครื่องช่วยฟังและสื่อสารได้ คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยขอรับความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์สักเท่าไหร่ หลักๆ เป็นเรื่องของการติดต่อประสานงานทำความเข้าใจกับคณะหรืออาจารย์ผู้สอน ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ช่วยจดคำบรรยาย รวมถึงสรุปการเรียนการสอนรายวิชาด้วย แต่ปัจจุบันนักศึกษาพิการทางการได้ยินก็ไม่ได้ใช้บริการมากและเนื่องจากค่าตอบแทนที่น้อย ทำให้การหาเจ้าหน้าที่ทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างยากเหมือนกัน

อุปกรณ์ทุกอย่างที่ศูนย์จัดซื้อให้นักศึกษาพิการล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุด อันไหนเป็นเทคโนโลยีใหม่ เราก็พยายามจัดหามาให้นักศึกษาพิการได้ใช้หรือทดลองใช้ แม้แต่ร้านค้าเองก็ยังถามว่า ทำไมธรรมศาสตร์ถึงซื้ออุปกรณ์ที่ดี ราคาแพงให้กับนักศึกษาพิการใช้ ทั้งที่ที่อื่นไม่เห็นจะให้ความสำคัญขนาดนี้ เราตอบเขาไปว่า อะไรที่ไม่ได้เกินความสามารถ เป็นประโยชน์ หรืออยู่ในงบประมาณที่จัดสรรให้ได้เราก็พยายามเต็มที่ หากน้องไปเจออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ แล้วอยากได้ก็จะฟีดแบคมาตลอดเช่นกัน ล่าสุดไปเจอหัวลากวีลแชร์ไฟฟ้า แค่เอามาติดวีลแชร์ธรรมดา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้งาน ตอนนี้ก็ได้งบประมาณเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ได้จัดซื้อ 

สื่อการเรียนการสอน / หนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด

ในส่วนของสื่อการเรียนการสอน เนื่องด้วยเรามีนักศึกษาพิการทางการมองเห็นเยอะถึง 35 คน แต่ละคนมีความต้องการใช้สื่อการเรียนการสอน ศูนย์เองจึงต้องจัดทำสื่อเพื่อให้นักศึกษากลุ่มนี้เข้าถึงได้ ปัจจุบันมีสื่ออักษรเบรลล์ หนังสือตัวขยายและไฟล์หนังสือ เพื่อให้เขาสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น 

บางคนต้องการแค่ไฟล์เพราะเขาสามารถใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอได้ บางคนอยากได้ Audio book หรือหนังสือเสียงเราก็มี ปัจจุบันเรามีห้องบันทึกเสียงเพื่อจัดทำหนังสือเสียงทั้งหมด 4 ห้อง มีเจ้าหน้าที่ดูแลและมีอาสาสมัครจิตอาสามาช่วยในการอ่านหนังสือด้วยอีกทางหนึ่ง 

ทุนและเงินอุดหนุน

เรื่องของเงินอุดหนุนทางการศึกษาหรือค่าเทอม  นักศึกษาพิการจะมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหากมีบัตรประจำตัวคนพิการ ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อปีการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ไม่เกิน 70,000 บาท ต่อปีการศึกษา และเบิกจ่ายตามการจดทะเบียนเรียนจริงของนักศึกษาพิการ ธรรมศาสตร์ใช้ระบบการผ่อนผัน ค่าจดทะเบียนการศึกษาให้กับนักศึกษาพิการไปก่อน คือนักศึกษาพิการทุกคนสามารถลงทะเบียนได้โดยต้องมีเงินในบัญชีหรือสำรองจ่าย

ในส่วนของทุนโครงการนักศึกษาพิการ มีไว้สำหรับคนไหนที่พื้นฐานทางครอบครัวค่อนข้างลำบาก หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ก็มีสิทธิได้รับพิจารณาทุนของโครงการนักศึกษาพิการอีก ซึ่งที่ผ่านมาเราจัดสรรให้ปีละประมาณ 25 ทุน ทุนละ 55,000 บาท ต่อปี ทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่เหมือนกับทุน กยศ.หรือ กรอ. ที่ต้องใช้หนี้ทีหลัง แต่มีเงื่อนไขว่า คนที่ได้รับทุนต้องมารายงานตัวกับศูนย์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้งในช่วงแรก การรายงานตัวทำโดยการเข้ามารับบริการที่ศูนย์ เพื่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารกัน เราเองก็ได้ติดตามน้องได้ว่าผลการเรียนเป็นยังไง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า 

การจัดสอบสำหรับนักศึกษาพิการ 

การจัดสอบแก่นักศึกษาพิการ ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาไหน มิดเทอม ไฟนอล ที่ศูนย์จะจัดสอบให้กับนักศึกษาพิการทางด้านการมองเห็น โดยจะดำเนินการในการออกหนังสือ เพื่อขอข้อสอบกับทางคณะหรือสาขาวิชาที่นักศึกษาพิการทางด้านการมองเห็นจดทะเบียนเรียนเอาไว้ และจัดทำเป็นข้อสอบเบรลล์ ข้อสอบตัวขยายหรือไฟล์ข้อสอบเพื่อใช้ในการจัดสอบ

นักศึกษาพิการประเภทอื่นถ้ามีปัญหาในการสอบร่วมกับนักศึกษาปกติก็สามารถสอบแยกที่ศูนย์อำนวยการนักศึกษาพิการได้เช่นกัน โดยให้สิทธิในการเพิ่มเวลาสอบแก่นักศึกษาพิการ อย่างวิชาไหนที่มีเวลาสอบตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแต่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็จะได้รับการเพิ่มเวลาอีก 30 นาที วิชาไหนที่มีการสอบตั้งแต่ 2 ชั่วโมงเป็นต้นไปก็จะได้รับการเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง นักศึกษาสามารถเลือกรับสิทธิเพิ่มเวลาหรือไม่ก็ได้ หากต้องการจะต้องเข้าห้องสอบก่อนเวลาปกติ ที่มีการจัดสอบของนักศึกษาทั้งหมดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบ และออกจากห้องสอบในเวลาเดียวกันกับนักศึกษาคนอื่น

สอนเสริม/ TU BUDDY/ ให้คำปรึกษา

การสอนเสริมหรือติวในรายวิชาได้มีการจัดสอนเสริมวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า เราไม่ได้วัดความรู้ด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษาพิการ จึงเชิญอาจารย์จากสถาบันภาษามาสอนเสริมโดยมีศูนย์เป็นคนจ่ายค่าตอบแทน

ปัจจุบันมีความตั้งใจจะจัดติวหรือสอนเสริมในวิชาต่างๆ มากกว่านี้ ในเทอมที่ผ่านมาเพื่อนผมเป็นอาจารย์ที่สอนอยู่ที่คณะสังคมวิทยา ก็มาช่วยติววิชาพื้นฐานของคณะสังคมวิทยา ซึ่งมีหลายคณะที่บังคับเรียน 

ตอนนี้มีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า TU BUDDY หรือเพื่อนช่วยเพื่อนธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักหาอาสาช่วยติวในวิชาต่างๆ ตามที่นักศึกษาพิการร้องขอ ซึ่งตอนนี้มีจิตอาสาเกือบ 30 คนแล้ว นอกจากเรื่องติวแล้วก็ยังช่วยหากมีความต้องการเร่งด่วน เช่น นักศึกษาพิการด้านการมองเห็นมีความต้องการที่จะไปเรียนในอาคารใหม่  เขาไม่สามารถไปได้และต้องการอาสาพาไป ก็เรียกขอความช่วยเหลือจาก TU BUDDY ได้ TU BUDDY ส่วนหนึ่งยังช่วยเหลือในเรื่องของการผลิตสื่อ การพิมพ์ไฟล์เพื่อแปลงเป็นอักษรเบรลล์ การอ่านหนังสือเสียง ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ได้วางเอาไว้เพื่อซัพพอร์ทนักศึกษาพิการ 

เรื่องของการให้คำปรึกษานั้นเป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการทุกคนมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษากับนักศึกษาพิการทุกคนที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านการเรียน การใช้ชีวิตหรือปัญหาอื่นๆ ที่ผ่านมา มีนักศึกษาปรึษา เช่น เทอมนี้เกรดหนูค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เทอมหน้าหนูควรจะวางแผนการจดทะเบียนเรียนอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำวิชาช่วยดึงเกรดหรือจำนวนวิชาที่ควรลง การวางแผนอ่านหนังสือ หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัว หรือความรัก ทางศูนย์ก็ยินดีถ้านักศึกษาต้องการปรึกษา

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษาพิการ ถ้าเป็นที่อื่น อาจจะไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของศูนย์บริการนักศึกษาพิการ แต่จะอยู่ในฝ่ายอาคารสถานที่ แต่เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมเกี่ยวข้องกับนักศึกษาพิการ และเราเป็นคนริเริ่มตั้งแต่แรก ทุกหน่วยจึงโยนมาที่ศูนย์อำนวยการนักศึกษาพิการทั้งหมด 

จุดเริ่มต้นของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ คือตอนพี่วิไลวรรณ หัวหน้าศูนย์ เห็นว่ามีงบจัดสรรที่เหลือจ่ายในแต่ละปี เพราะตอนนั้นครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีค่อนข้างพร้อมอยู่แล้ว จึงปรึกษาและคิดว่าจะนำมาปรับปรุงกายภาพ เพราะเราเองรับนักศึกษาพิการมาตั้งแต่ปี 46 แต่กายภาพหลายอย่างไม่เอื้อกับการเรียนหรือการใช้ชีวิต เงินก้อนแรกศูนย์จึงนำไปปรับปรุง ลิฟต์โดยสารในกลุ่มอาคารเรียนสังคมศาสตร์ คณะแพทย์และคณะวิทย์ให้มีปุ่มกดสำหรับคนพิการ แผงปุ่มกดอักษรเบรลล์และมีเสียงบอกชั้น หลังจากนั้นก็มีโครงการอื่นๆ มากมายไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ ทั้งการปรับปรุงทางลาดในอาคารต่างๆ ห้องน้ำคนพิการ ที่จอดรถคนพิการ ทางเดินเท้า  เบรลล์บล็อกในการนำทาง และโครงการล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปก็คือการปรับปรุงหอสมุดป๋วย 

ตอนนี้กำลังดำเนินการปรับปรุงหอพักหญิงชั้น 1 จำนวน 7 ห้อง ทั้งห้องน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต เฟอนิเจอร์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้า โต๊ะอ่านหนังสือ ซิงค์ล้างจาน และทางลาดอีก 2 จุด 

ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ

นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด หน้าที่อีกอย่างคือการให้บริการทั่วไป เรามีห้องอัดเสียงจำนวน 4 ห้อง มีบริการคอมพิวเตอร์จำนวน 28 ชุด รวมถึงเครื่องขยายภาพแบบตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่นี่จะมีโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอหรือ Screen reader เพื่อให้นักศึกษาพิการทางการมองเห็นสามารถใช้งานได้ ส่วนพื้นที่ข้างในเป็นพื้นที่ออฟฟิศ ของเจ้าหน้าที่ ห้องผลิตสื่ออักษรเบรลล์ ห้องประชุมและพื้นที่พักผ่อน 

ศูนย์ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยวันจันทร์ถึงศุกร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.30- 22.30 น. มีเจ้าหน้าที่สลับสับเปลี่ยนเวรให้บริการ ส่วนวันเสาร์เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.30- 16.30 น. เพื่อนักศึกษาพิการเข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องไปแย่งชิงพื้นที่ส่วนกลางกับนักศึกษาทั่วไป และเราไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องใช้เพื่อการเรียน หรือค้นคว้าหาความรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สามารถใช้เพื่อกิจกรรมบันเทิงผ่อนคลายก็ได้ 

ทำไมต้องใช้เงินส่วนรวมไปเพื่อคนส่วนน้อย

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าเงินที่ใช้ในการปรับปรุงทั้งหมดเป็นเงินที่ศูนย์ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณโดยตรงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ฉะนั้นวัตถุประสงค์คือเพื่อนักศึกษาพิการ เราจึงไม่ได้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เพราะทำเพื่อให้นักศึกษาพิการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้เหมือนกับนักศึกษาทั่วไป เช่น ตรงพื้นที่บริเวณหอสมุดป๋วย จะมีร้านกาแฟสตาร์บัค ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กพิการไม่สามารถใช้บริการได้ คำถามคือทำไมเขาไม่มีสิทธิเข้าไปใช้บริการสตาร์บัค 

สำหรับผมซึ่งเป็นคนทำงาน คิดว่ามหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเพราะที่ผ่านมา เราดำเนินการขับเคลื่อนไปได้ด้วยงบประมาณของตัวเอง แม้ในยุคแรกอธิการบดีให้ความสำคัญ  จะเห็นได้จากเมื่อไหร่ที่มีปัญหาหัวหน้างานสามารถสื่อสารกับอธิการบดีได้เลย และตัวท่านเองก็เข้ามาศูนย์บ่อยมาก แต่ในยุคหลังมหาวิทยาลัยคงมองว่า ได้ลงทุนกับเรื่องนี้ไปประมาณหนึ่งแล้ว ดังเช่นในปี 63 นี้ เราโดนตัดงบจากสำนักงบประมาณ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบแล้ว และโครงการนักศึกษาพิการเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการต่อ โดยใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ส่วนเงินกองทุนนักศึกษา แต่ก็มีหลายประเด็นที่เขารู้สึกว่า ทำไมต้องเอาเงินส่วนใหญ่ไปอุดหนุนคนส่วนน้อย และไม่เห็นด้วยกับการเอาเงินไปให้นักศึกษาพิการ จึงทำให้หากเราโดนตัดงบ บริการที่เคยมีอยู่ อาจต้องโดนตัดหรือลดการให้บริการ ทั้งที่ธรรมศาสตร์มีชื่อเสียงในเรื่องของการให้บริการและสนับสนุนช่วยเหลือนักศึกษาพิการเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นโมเดลให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ 

และเนื่องจากหลายอย่างไม่ได้เป็นภาระหน้าที่ของศูนย์โดยตรง จึงควรได้รับการร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายอาคารสถานที่ในการปรับปรุงกายภาพ อย่างล่าสุดกรณีน้องวีลแชร์ตกทางลาดหอพัก เรื่องนี้ก็ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า เวลาเด็กเกิดอุบัติเหตุก็ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และนักศึกษาคนดังกล่าวก็อยู่ในความดูแลของเราด้วย

เรื่องคนพิการก็เป็นหน้าที่ของศูนย์นักศึกษาพิการเท่านั้น 

ปัจจุบันมีศูนย์อำนวยการนักศึกษาพิการ ทุกคนจึงคิดว่า พอเกี่ยวกับนักศึกษาพิการ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ศูนย์อื่นก็โยนมาทางนี้ทั้งหมด 

สำหรับหน่วยบริการนักศึกษาพิการในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่หน่วยประสานงาน แต่ไม่ใช่หน่วยงานกลางในการแก้ปัญหา เรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ฝ่ายอาคารสถานก็ต้องดู เรื่องของสื่อการเรียนการสอน หอสมุดเป็นคนรับผิดชอบ ในเรื่องของการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนเองก็มีหน้าที่ในการออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในเรื่องของบริการสุขภาพทางหน่วยที่ดูแลก็ต้องจัดหาเครื่องออกกำลังกายหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้นักศึกษาใช้ได้ เรื่องของหอพักก็จะเป็นส่วนหอพักที่จะต้องดูแล ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นหน้าที่เรา

อาจจะเห็นว่าภาพของธรรมศาตร์ไปได้ไกลก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เช่น ถ้าสังเกตจะเห็นเสาสัญญาณไฟจราจรแบบปุ่มกด นี่เป็นสิ่งที่ศูนย์นักศึกษาพิการทำขึ้นหลังจากไปดูงาน ที่ฮ่องกง ที่น่าจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยกับนักศึกษาพิการ พอจะทำก็มีเสียงคัดค้าน ว่าจะทำให้จราจรติดขัดและคงไม่มีใครยอมหยุดรถให้ จนช่วงหลัง เรารณรงค์ใช้กันเป็นกิจลักษณะ เมื่อกดไฟรถก็เริ่มจอด การกดแล้วจอดกลายเป็นประโยชน์กับคนทุกคน ไม่ใช่แค่นักศึกษาพิการ หลังจากนั้นพอเสาไฟปุ่มกดเสีย คนที่เดือดร้อนกลุ่มหลักไม่ใช่นักศึกษาพิการ แต่เป็นนักศึกษาทั่วไป เราจึงต้องรีบซ่อมให้ไวที่สุด แต่คนที่ต้องดูแลรับผิดชอบก็คือศูนย์นักศึกษาพิการ 

ปัจจุบันปัญหาหนึ่งคือ มีคนพูดมากกว่าคนทำ เรามีงานวิจัยเยอะแต่การกระทำไม่มี พอคนมองว่า เรื่องคนพิการไม่ใช่เรื่องของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนพิการมักจะเป็นกลุ่มที่ตกหล่นอยู่ตลอดเวลา และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกพูดถึง จนต้องมาแก้ปัญหาทุกรอบ เห็นได้จากแม้ว่าปัจจุบันอาคารสร้างใหม่ มีกฎหมายบังคับกำหนดมาตรฐาน ลักษณะ กว้างยาว แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงแนวคิดเรื่องทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตราบใดที่สังคมไทยยังมีการแบ่งชั้นวรรณะ แยกคนรวย คนจน ผู้มีอำนาจ นับประสาอะไรที่คนพิการ จะถูกเห็นความสำคัญ

ทำไมเราต้องทุ่มเททรัพยากรไปเพื่อคนพิการซึ่งเป็นส่วนน้อย

ถ้ามองว่า ลงทุนแล้วต้องคุ้มค่ากับการลงทุน ศูนย์บริการนักศึกษาพิการในแต่ละที่ก็จะไม่เกิด อุปกรณ์ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างมีมูลค่าค่อนข้างสูงมากถ้าเทียบกับอุปกรณ์ของคนปกติ อย่างเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ เครื่องละ 550,000 บาท เครื่องขยายภาพเครื่องละ 150,000 บาท วีลแชร์คันละ 80,000 บาท โปรแกรมอ่านหน้าจอหรือ Screen reader ลิขสิทธิ์โปรแกรมผู้ใช้ละ 50,000 บาท หรือเครื่องขยายภาพ CCTV เล็กๆ เครื่องละ 25,000 บาท 

ถ้ามองแค่ว่าคุ้มค่าไหมตั้งแต่แรก เราก็ไม่สามารถจัดบริการหรือช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้ได้เลย ในต่างประเทศเขามีแนวคิดที่ไม่เหมือนเรา เขามองว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิเท่าเทียม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตโดยไม่เป็นอุปสรรค ไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษ แต่มองถึงคนทุกคน 

ในบางประเทศไม่มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เช่นในยุโรปมีศูนย์ที่เรียกว่า success center  ที่คนทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ภายในนั้นก็จะมีพื้นที่ให้บริการนักศึกษาพิการ หรือในอเมริกาเองซอฟแวร์หรือฮาร์แวร์ที่มีลิขสิทธิคนพิการสามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายพวก  ต่างจากเราที่ต้องจัดซื้อและหานำเข้าจากต่างประเทศ

อะไรที่ทำให้ศูนย์นักศึกษาพิการธรรมศาสตร์มาไกลขนาดนี้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไปได้ไกลและไม่เหมือนคนอื่นก็คือ โครงการนักศึกษาพิการ ที่เปิดรับคนพิการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเฉพาะ เป็นการให้โควต้าคนพิการแข่งขันเฉพาะคนพิการจริงๆ ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนพิการในแต่ละปี ก็บีบให้เราต้องทำหน้าที่ในการรับผิดชอบ รวมทั้งที่ผ่านมาพอเราคิดที่จะทำให้ไกลกว่าเดิม ผู้บริหารเองก็ไม่ได้คัดค้าน อาจจะมีคอมเมนท์บ้าง แต่ก็ไว้วางใจในการบริหารจัดการ และเราไม่ได้หยุดคิดเพียงแค่ว่า ให้ทุน ให้เงิน ให้บริการ แต่เราพยายามไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ต้องรอให้นักศึกษาร้องขอ 

อะไรที่ทำให้นักศึกษาทั่วไปตระหนักเรื่องคนพิการ 

ส่วนหนึ่งคือเรื่องวัฒนธรรมขององค์กร ธรรมศาสตร์ค่อนข้างให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก นักศึกษาทุกคนมีสิทธิแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอน มีอิสระในการพูดคุย รับฟังความคิดเห็น เมื่อไหร่ที่เป็นเสียงจากนักศึกษา ผู้บริหารค่อนข้างที่จะรับฟังหรือให้ความสำคัญ เพราะถือว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นสิทธิเสรีภาพในการทำงาน

เรารับนักศึกษาพิการมาตั้งแต่ปี 46 เป็นเวลา 18 ปีแล้ว ฉะนั้น การมีคนพิการเรียนที่นี่เลยเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกแยกจากกลุ่มคนประชาคมในธรรมศาสตร์แต่อย่างใด แรกๆ อาจจะมีบ้างเรื่องมุมมองทัศนคติ แต่พอผ่านมาเรื่อยๆ ก็เกิดความเข้าใจเคยชิน เป็นส่วนหนึ่ง มีความคุ้นเคย หรือความสนิท เขามีกลุ่มการทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าเพื่อนมีความเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือ เขาเองก็พร้อมที่จะมีรีแอคชันให้กับเพื่อนๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง

การทำให้เด็กพิการเข้าถึงระบบการศึกษาได้ สำคัญอย่างไร 

ในอดีต คนพิการไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะคิดว่าเป็นคนพิการคงทำอะไรไม่ได้มากมาย หลายคน เลี่ยงหรือหันไปสายอาชีพ นวด ทำงานฝีมือ ฯลฯ 

ปัจจุบัน ผมมองว่าโอกาสทางการศึกษาเปิดกว้างขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีกฎหมาย ถึงแม้ว่ากฎหมายจะบังคับได้ล่าช้ากว่าปกติ แต่ก็มีการขยายโอกาสเยอะมาก

ผมบอกกับน้องๆ เสมอว่าปริญญาตรีไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเราเสมอไป แต่อย่างน้อยการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสทางด้านอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เอกชน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว  เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรายืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ และไม่เป็นภาระของสังคม 

หากสนใจประเด็นศูนย์นักศึกษาพิการ ควรจะเริ่มตรงไหน  

ถ้าดูตามประกาศของคณะกรรมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษาได้กำหนดว่า ทุกมหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัย จะต้องออกประกาศข้อกำหนดและเกณฑ์เงื่อนไขคุณสมบัติ ที่รับคนพิการเข้าไปศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ไม่อยากให้สถาบันการศึกษาแต่ละที่ วางข้อกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ปิดกั้นการรับคนพิการเข้ามาศึกษา ควรให้ความสำคัญในเรื่องของโอกาส การจัดระบบสนับสนุน 

สิ่งสำคัญอยากให้เล็งเห็นความสำคัญของศักยภาพของคนพิการ มากกว่าความพิการและความสงสารแล้วคุณจะเกิดความเข้าใจและตระหนักในความสามารถของตัวเขา อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นการบ้านคือ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ต้องเล็งเห็นความสำคัญและเข้าใจว่าทำไมต้องมีหน่วยบริการ เพราะถ้ามีความเข้าใจพอ ก็จะรู้ว่า การให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นงานหนักและมีรายละเอียดเยอะมาก ถ้าจะทำจริงใจก็ต้องพร้อม 

สำหรับเด็กพิการที่กำลังสนใจโครงการนี้

สำหรับปีการศึกษา 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลง เรื่องเงื่อนไขและคุณสมบัติ น้องที่สนใจก็ทำคะแนนให้เป็นไปตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อใช้ในการรับเข้า 

ผมเองไม่ได้คิดว่า เกณฑ์ที่ใช้เข้าสูงหรือยากมาก ต้องมีคะแนน o-net ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 และมีผล GAT ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ส่วนคะแนน o-net รายวิชาน่าจะเป็นอุปสรรคบ้าง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อยากให้เตรียมตัวและทำคะแนนให้มากที่สุด ส่วนเงื่อนไขคุณสมบัติทั่วไป และเกรดเฉลี่ยที่ใช้ในการรับเข้า ใช้เพียง 2.00 และเราเปิดโอกาสทั้งสายอาชีพหรือสายสามัญ