Skip to main content

ในไทยอาชีพผู้ช่วยคนพิการอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บางคนก็เข้าใจว่าผู้ช่วยคือพี่เลี้ยง ญาติ เพื่อน ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วอาชีพนี้มีชื่อเรียกและเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะ ความเข้าใจ และต้องเคร่งครัดไม่ต่างจากอาชีพอื่น

ผู้ช่วยคนพิการ หรือ Personal Assistant หรือเรียกสั้นๆ ว่า PA เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว และเป็นสวัสดิการที่ต้องจัดให้โดยรัฐ อย่างไรก็ดีปัจจุบันก็ยังมีผู้ช่วยคนพิการไม่เพียงพอและคนพิการยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการนี้กันอย่างถ้วนหน้าแตกต่างจากในหลายๆ ประเทศที่ระบบผู้ช่วยคนพิการนั้นเข้าถึงคนพิการและถูกจัดให้เป็นสิทธิที่สำคัญลำดับต้นๆ เนื่องจากงานนี้ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิต และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เราจึงอยากชวนคุยกับผู้ช่วยคนพิการจากออสเตรเลีย จากคลิปวิดีโอในยูทิวป์แชลแนล S i Y a ออกมาเล่าประสบการณ์งานดูแลคนพิการประเทศออสเตรเลียว่า การทำงานทั้งสองที่ต่างกันอย่างไร โดยเจ้าของช่องอย่าง เปิ้ล—ศิยาพร ด็อกเก็ตต์ เธอเป็น Support Worker ที่ตั้งรกรากทำงานในเมืองบาลเลแรท รัฐวิกตอเรีย จากพนักงานนวดที่ญี่ปุ่นสู่อาชีพดูแลผู้สูงอายุ กระทั่งผันตัวเป็นคนดูแลคนพิการ งานสายนี้ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะอะไรรัฐถึงให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแต่ละวันของคนพิการ

ภาพพื้นหลังเป็นคนเข็นวีลแชร์บนหาดทราย ตรงใต้นั้นเขียนชื่อเรี้องบทสัมภาษณ์ไว้ โดยด้านซ้ายมือเป็นโลโก Thisable.me

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจงานดูแลคนพิการ

ศิยาพร : ก่อนทำงานดูแลคนพิการที่ออสเตรเลีย เรากับแฟนอยู่ประเทศญี่ปุ่น และมองหางานดูแลผู้สูงอายุเพราะสถานดูแลผู้สูงอายุอยู่ใกล้บ้าน หากทำงานนั่น เขาต้องการคนพูด-เขียนญี่ปุ่นได้ แต่เราไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นเลย พูดทักทายได้เท่านั้น จึงรู้สึกว่ายาก ประกอบกับตอนนั้นพ่อสามีป่วย เรากับสามีเลยตัดสินใจว่า ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียดีกว่า

ระหว่างรอวีซ่าที่ประเทศไทย ก็คิดว่าหากไปออสเตรเลียก็ต้องหางานที่มั่นคง เพราะงานเก่าทำได้แป๊ปเดียวเขาก็ปิด ยิ่งพออายุ 30 ปลายๆ แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ตอนนั้นก็เสิร์ชหาข้อมูลว่ามีงานอะไรที่คนไทยทำได้ มั่นคง และเป็นองค์กรใหญ่เทียบเท่ากับคนบ้านเขาได้จากเว็บไซต์ BlogGang Pantip แล้วย้อนมองว่าตนเองมีคุณบัติที่จะอาชีพอะไรได้บ้าง เราคิดว่างานดูแลผู้สูงอายุน่าจะเป็นงานที่ทำได้ หลังจากนั้นหาข้อมูลต่อว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำงานนี้ได้ 

พอไปอยู่ เราก็เข้าเรียนภาษาอังกฤษฟรีสำหรับคนต่างประเทศ เรียนไปสักก็หาข้อมูลว่าจะเรียนการดูแลผู้สูงอายุ (Aged care) ได้ที่ไหนบ้าง จนเจอที่เรียนจากการแนะนำ เรียนจบเราก็ไปสัมภาษณ์งานที่สถาบันที่เคยฝึกงาน ตอนเรียนก็ยากแล้ว สัมภาษณ์ยากกว่าอีก เราก็ตอบคำถามได้บ้างไม่ได้บ้าง จนมาถึงข้อสุดท้าย เขาถามว่า มีอะไรอยากถามไหม เราบอกว่า เราไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ แต่เชื่อว่าทำได้และทำได้ดีด้วย ขอโอกาสให้เราได้ทำงาน สัมภาษณ์เสร็จยังไม่ถึง 2 ชั่วโมง เขาโทรกลับมา ยินดีด้วยนะ คุณได้งานดูแลผู้สูงอายุ เราเรียนรู้อะไรจากงานนี้เยอะมาก เราเรียนรู้งานเยอะมาก มีอะไรที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ มันเป็นอีกโลกหนึ่งเลย 

โลกของงานดูแลผู้สูงอายุ

เราเข้างาน 07.15 - 19.17 บรีฟงานกันแล้วเริ่มทำงานเลย เพราะผู้สูงวัยต้องทานอาหาร 8 ไม่เกิน 9 โมงเราต้องไปเคาะประตู ทักทายสวัสดีค่ะ พร้อมตื่นไหม แล้วพาเข้าห้องน้ำ คนไหนที่พาเข้าห้องน้ำคนเดียวได้ เราจะพาเข้าห้องน้ำคนเดียว แต่บางอย่างทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีอีกคนมาช่วยทำ เช่น การใช้อุปกรณ์ยก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา เราอาจจะโดนข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยไม่เจตนา และยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะที่นี่มีคนสูงอายุ 15 คน แต่มีคนดูแลแค่ 2 คน เราจะจัดการให้เขาอาบน้ำอย่างไร จะอาบน้ำพร้อมกัน 15 คนไม่ได้ เลยต้องแบ่งว่าคนนี้อาบเช้า คนนี้อาบเย็น ระหว่างที่เราจัดการเรื่องอาบน้ำ บางคนอยากเข้าห้องน้ำแต่เขาเดินเองไม่ได้ เราต้องรีบวิ่งมาช่วยเขาเข้าห้องน้ำ บางคนไปห้องน้ำไม่ทัน ปัสสาวะ อุจจาระราดพื้น เราก็ต้องทำความสะอาด เราก็จะหัวหมุน เพราะมีเหตุการณ์ให้วุ่นวายตลอดทั้งวัน 

พอถึงเวลากินข้าว บางคนเราต้องไปป้อนอาหารที่ที่นอนเพราะลุกขึ้นเดินไปกินเองไม่ได้ แล้วเหลือเพื่อนอีกคนอยู่โซนอาหาร ดูแลให้ผู้สูงอายุคนอื่นกินข้าว เวลาไปป้อนอาหาร เราไม่อยากเร่งรีบ แต่ก็ยังเหลืออีก 13-14 คนรอกินข้าวอยู่  ที่ทำงานจะแบ่งเป็นโซนๆ โซนที่เราอยู่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมขั้นรุนแรง (Dementia) โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย จากเป็นคนน่ารักกลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด บางคนไม่รู้ว่าหิว เขาต้องกินข้าว เวลาให้กินข้าว เขาจะนั่งมองอาหาร เราต้องคอยป้อนเขา บางคนก็ไม่นั่ง เดินไปเดินมาตลอดเวลา เราก็ต้องเดินตามไปป้อน บางทีกำปั้นมาจากไหนไม่รู้ซัดเข้าตรงจมูก โดนต่อยไม่รู้ตัวเพราะมัวช่วยกันใส่เสื้อผ้าแล้วเขาไม่ยอมใส่ ถึงจะอายุ 70-80 ปีแล้ว แรงเขาเยอะมาก บางคนตอนเช็ดหน้าให้ยังพูดจาดีๆ กับเราอยู่เลย เผลอแป๊บเดียวตบหน้าเรา อันนี้ความเศร้าในการทำงานดูแลผู้สูงอายุ ทำไมไม่ให้มีพนักงานดูแลเยอะกว่านี้ จะได้ดูแลกันทั่วถึง และทำงานอย่างเต็มที่

ภาพคุณเปิ้ลพนมมือแล้วยิ่ม โดยด้านหลังคุณเปิ้ลมีของว่างวางอยู่

สัมภาษณ์ 5 รอบถึงได้ทำงานดูแลคนพิการ 

ตอนนั้นมีเปิดรับสมัครงานดูแลคนพิการ เราไปสมัครและสัมภาษณ์งานอยู่ 5 รอบ การสัมภาษณ์งานยากกว่างานดูแลผู้สูงอายุมาก เราได้เรียนรู้ว่าการสมัครงานหน่วยงานเอกชนกับหน่วยงานรัฐค่อนข้างต่างกัน เอกชนจะดูบุคลิกและให้โอกาสเราทำงาน แต่หน่วยงานราชการจะดูว่า เราตอบตรงคำถามไหม พอรอบที่ 4 ที่เราสอบไม่ผ่าน เราเขียนจดหมายไปหาผู้จัดการเขาแล้วถามว่า เพราะอะไรถึงสอบไม่ผ่าน ช่วยบอกได้ไหม เขาช่วยชี้แนะว่า เราควรตอบอย่างไร 

คำถามสัมภาษณ์ไม่ยากเลย เช่น คุณคิดว่าคุณมีอะไรดีที่จะเข้ามาทำงานนี้หรือยกตัวอย่างสถานการณ์ สมมติสภาพอากาศร้อน คุณต้องพาคนพิการออกไปข้างนอก คุณจะเตรียมตัวอย่างไร ฟังดูง่ายแต่ตอบให้ถูกยาก คำตอบไม่ใช่ตอบว่าใส่หมวก ทาครีมกันแดด แต่คำตอบคือ เราต้องไปดูโปรไฟล์คนพิการคนนี้ โดยถามหัวหน้างานหรือพนักงานที่รู้จักคนพิการคนนี้ดีว่า มีอะไรที่เราควรทำหรือระวัง เขาทานอาหารเนื้อสัมผัสแบบไหนได้บ้าง ทานอาหารนิ่มได้ไหม อาหารแข็งได้หรือเปล่า อาหารประเภทไหนที่ต้องเลี่ยง เราต้องตอบให้ครอบคลุมเพื่อดูแลคนพิการ แล้วเขาถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย เพราะว่าที่นี่มีหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมอยู่ เขาก็จะถามว่า หากต้องดูแลคนพิการที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกับเราต้องทำอย่างไร ตอนตอบเราก็อ้างหัวหน้างานไว้ก่อน ไม่ว่าจะทำงานดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการครั้งแรก สิ่งสำคัญเราต้องไปอ่านโปรไฟล์คนที่เราดูแลให้ครบหมดทุกคน

ข้อท้ายๆ เขาจะถามเรื่องหลักการดูแลคนพิการ ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียมกัน อันนี้คียเวิร์ดของการทำงาน สมมติคนที่เราดูแลชอบดูดบุหรี่ ซึ่งเรารู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพเขา แต่เราห้ามเขาไม่ได้ เพราะนั่นคือทางเลือกของเขา หากเขาอยากดูดบุหรี่ก็เอาเงินไปซื้อหรือวันนี้คนพิการไม่อยากตื่นไปทำงาน เขาจะนอนอยู่บ้าน เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจ เขาพร้อมเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน

เข้าสู่งานด้านบริการคนพิการ (Disability Services)

รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงาน The National Disability Insurance Scheme เรียกสั้นๆ ว่า NDIS โดยให้ความช่วยเหลือคนพิการและกำหนดเงินช่วยเหลือคนพิการต่อปีว่าใช้เงินเท่าไหร่ แล้วค่อยมาแยกทีหลังว่าใช้ทำอะไรบ้าง คนพิการบางคนต้องการวีลแชร์ ซึ่งไม่ใช่วีลแชร์เข็นที่มีคนเข็น วีลแชร์แบบนี้ไม่ได้เหมาะกับคนพิการทุกคน เพราะแต่ละคนมีความพิการและสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน ใช้เงินค่อนข้างสูง คนพิการที่เราดูแล เขามีขาข้างเดียว เวลานั่งเขาเอียงไปด้านขวามากกว่าด้านซ้าย วีลแชร์เขาถูกออกแบบให้นั่งแล้วไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เบาเกินไป ต้องออกแบบวีลแชร์ทำให้นั่งแล้วไม่เอียง นอกจากนี้ยังมีวันให้หยุดสำหรับครอบครัวที่มีลูกพิการแล้วดูแลลูก 24 ชั่วโมง (Respite) หรือพ่อแม่มีธุระสามารถเอาลูกมาฝากที่ที่เราทำงานได้ โดยรัฐบาลกำหนดว่ามีวันหยุดพักทั้งหมดกี่คืน เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อปี 

หน้าที่ของคนดูแลคนพิการ

หน้าที่ของคนดูแลคนพิการ (Support Workers) คือ ช่วยเหลือชีวิตคนพิการในแต่ละวันให้บรรลุเป้าหมาย ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เนื้องานที่รัฐบาลต้องการให้เราทำคือ ให้คนพิการเข้าสู่สังคมเหมือนคนปกติให้ได้ ไม่ว่าคนพิการชอบอะไร อยากทำอะไร ให้เขาทำได้เต็มที่โดยที่คนดูแลคนพิการอย่างพวกเราช่วยเหลือเขา สำหรับเรางานดูแลผู้พิการค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะเวลาออกไปข้างนอก เช่น คนพิการคนหนึ่งชอบชอบกินแมคโดนัลด์มาก แต่เขาไม่อยากลงไปสั่ง ขอให้เราแมคไดร์ฟทรู เพราะว่าเขาอาย เขากลัว เราก็ถามเขาว่า เธอเดินได้เหมือนคนปกติ ทำไมถึงไม่อยากเข้าไป เราก็ให้เงินเขาแล้วถามเขาว่าอยากกินอะไร เราเข้าไปช่วยอ่านเมนู บางคนอ่านไม่ออก พอถึงคิวเธอก็สั่งเลย เราพยายามสร้างความมั่นใจให้เขา หลังจากนั้นก็ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไร ชอบไหม วันหลังเราก็ลองไปสั่งไอศกรีมอีกร้านหนึ่ง

คุณสมบัติของที่ Support Workers ต้องมี

อย่างแรกจะต้องมีใบขับขี่ เพราะเราต้องขับรถที่ทำงานไปส่งคนพิการทำกิจกรรม (Day Placements)  และมีใบรับรองการฝึกหัด CPR กับ First Aid หากเกิดอะไรแล้วเราไม่ช่วยชีวิตคนพิการด้วยความรู้และทักษะฝึกฝนมาแล้ว ถือว่าทำผิดกฎหมาย ส่วนการให้ยา การใส่สายฉี่ การให้อาหารผ่านทางสายยาง การป้อนอาหาร ไม่จำเป็นต้องฝึกก่อนทำงานก็ได้ เดี๋ยวที่ทำงานส่งเราไปฝึกเอง

สิ่งสำคัญคือ ทักษะภาษาอังกฤษต้องดี อย่างการอ่าน เพราะต้องอ่านโปรไฟล์ รายงานแต่ละวันว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนพิการคนนี้บ้าง คนนี้เพิ่งไปหาหมอมาเมื่อวาน ยาตัวนี้ที่เคยให้หมอให้หยุดกินแล้ว ยาตัวนั้นเปลี่ยนเวลากิน และก็จะมีเขียนโน้ตถึงเราว่าอยากให้ทำอะไรหรือเราลืมทำอะไร นอกจากนี้แล้วยังมีทักษะด้านการเขียนรายงาน หากเราไม่มั่นใจ เราจะเรียกเพื่อนมา เล่าว่าหมอพูดว่าอะไรบ้าง แล้วให้เพื่อนพูดออกมาเป็นประโยค แล้วเราเอาที่เพื่อนพูดเขียนรายงาน 

วันแรกที่ไปทำงาน เราไม่รู้ว่าจะทักทาย คุยกับคนพิการอย่างไร คุยไม่รู้เรื่องเพราะบางคนไม่ออกเสียงห้องครัวงว่า Kitchen แต่เป็น Kitta ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เขาพูดตั้งแต่เด็ก ตรงประตูเลยมีเขียนไว้ว่า คนพิการพูดแบบนี้ แปลว่าอะไร วันแรกเรายิ้มอย่างเดียวเลย คนพิการจะไม่ไว้ใจเราในช่วงแรก บางคนอาจทำร้ายร่างกาย พอรู้สึกไว้ใจแล้ว เขาจะเข้ามาหาเราเอง ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจว่า งานดูแลคนพิการใช้เวลาเรียนรู้เนื้องานยังไม่พอ ยังต้องรู้ว่าคนพิการแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง บางคนเห็นแก้วกาแฟ ชา ไม่ได้ ถ้าใครวางทิ้งไว้มาแย่งดื่มเลย 

สถานที่ทำงานไม่เหมือนศูนย์แต่เป็นบ้าน

สถานที่ทำงานเหมือนบ้าน แต่เวลาการทำงานเหมือนโรงพยาบาล มีเวรเช้า เวรบ่าย เวรเย็น และเวรนอนที่จะต้องมีพนักงานอยู่ 1 คนเพื่อดูแลคนพิการตั้งแต่ 22.00 - 06.00 น. ของอีกวัน เราจะไม่ปล่อยให้คนพิการอยู่บ้านคนเดียวแม้เป็นตอนกลางวันก็ตาม คนพิการคนไหนต้องอยู่บ้าน ต้องมีคนหนึ่งอยู่กับเขา เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรที่เกิดอันตรายโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว 

บ้านแต่ละหลังจะให้คนพิการแต่ละวัยอยู่ด้วยกัน บ้านเด็กก็จะมีแต่เด็กอยู่ บ้านวัยรุ่นก็จะมีวัยรุ่นอยู่ เราได้อยู่ดูแลบ้านคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ เพราะเขาเห็นประวัติว่าเคยทำงานดูแลผู้สูงวัยมาก่อน บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 8 ห้องนอน และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น เครื่องยกเพื่อยกคนพิการทางการเคลื่อนไหวไปที่วีลแชร์ มีเก้าอี้อาบน้ำที่เอนหน้าเอนหลังได้ มีอ่างอาบน้ำสำหรับคนพิการ นอกจากนี้ของมีคมหรือของที่มีอันตราย ก็จะเก็บแยกออกมาและใส่กุญแจล็อกไว้

รูปคุณเปิ้ลใส่แมสถ่ายเซลฟี่ตัวเองในรถ

เวลาเริ่มงาน

งานเราเริ่ม 06.30 - 21.20 น. หากอยู่เวรนอน เราต้องอยู่ต่อตั้งแต่  22.00 - 06.00 น. ของอีกวัน หากเราเข้าเวรเช้าต้องดูตารางกิจกรรมว่า คนพิการแต่ละคนวันนี้ใครทำกิจกรรมอะไรบ้าง ไปกี่โมง เราก็จะไปเคาะประตู ทักทาย บางคนอาบน้ำได้เอง เช็ดก้นเองได้ แต่ไม่ได้สะอาดมาก เราก็จะยืนอยู่ในห้องน้ำแล้วบอกว่าถูตรงนั้นถูตรงนี้ พาเขาแต่งตัวเลือกเสื้อผ้า สีตามที่เขาชอบ แล้วมาทำอาหารเช้ากัน อะไรที่เขาทำเองได้เราให้ทำเอง เราไม่ได้ทำให้คนทั้งหมด กินเสร็จให้เขาเอาจานไปใส่เครื่องล้างจาน พอถึงเวลาก็ไปส่งเขาทำกิจกรรม

ส่วนมากเริ่มทำกิจกรรมประมาณ 9 โมง โดยมีอีกหน่วยงานจัดกิจกรรมให้คนพิการทำช่วงกลางวัน ไม่ว่าจะทำอาหาร ดูหนัง เล่นดนตรี ออกไปขับรถเล่น ไปปิกนิก ไปฟาร์ม พอเขาได้ทำกิจกรรมแล้วมีเพื่อน เขามีความสุข สมมติกลับมาบ้านแล้วพรุ่งนี้คนพิการนัดกับเพื่อนทำข้าวกล่องไปกินกัน แต่เขาไม่สามารถทำได้ เราจะไปช่วยทำ และให้เขามีส่วนร่วมด้วยการหยิบของใส่ลงไป แค่นี้กลายเป็นสิ่งที่วิเศษมากสำหรับเขา เห็นจากแววตาว่าเขามีความสุขมาก

หลังจากส่งเขาไปทำกิจกรรมเสร็จ ระหว่างวัน ไม่ว่าจะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน พับผ้า เช็กยา เช็กว่ามีใครต้องพาไปหาหมอบ้าง ส่วนเวรบ่ายกับเวรเย็นควบกัน เราตั้งโต๊ะอาหาร ทำกับข้าว ให้ยา พาเขาไปเปลี่ยนชุดนอนเลยเพราะบางคนไม่ชอบอาบน้ำตอนเย็น นั่งดูทีวี บางคนอยากเข้าไว เราพาเขาเข้านอน

เวรนอนไม่ได้นอน 

มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเข้าเวรนอนครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้นอน เพราะมีคนพิการออกมาเดินนอกห้องและหาอะไรมาเคาะกำแพง ทำให้คนอื่นนอนไม่หลับ เราเลยพาเขามานั่งดูทีวีด้วยกัน แล้วเราเขียนรายงานว่า คืนนี้เป็น Active Night กี่โมงถึงกี่โมง เกิดอะไรขึ้น เพื่อรายงานกับหัวหน้าที่ช่วงเวลานั้นเราไม่ได้นอน ส่งผลให้เรื่องการจ่ายเงินเปลี่ยนรูปแบบจ่ายจากเหมาเป็นรายชั่วโมงที่เราไม่ได้นอนแทน 

สวัสดิการของคนดูแลคนพิการที่ออสเตรเลีย 

ตามกฎหมายแล้ว สองสัปดาห์พนักงานจะต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 76 ชั่วโมง หากทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด หน่วยงานต้องจ่ายเงินให้เราสูงกว่าเดิม หากเราทำวันเสาร์จะให้ 1.5 เท่า วันอาทิตย์ได้เพิ่ม 2 เท่า ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้ 2.5 หรือ 3 เท่า แต่ถ้าหากเป็นวันคริสต์มาสได้ 3 เท่าเลย ถ้าเราจำไม่ผิด ส่วนมากคนที่นี่จะเลือกไปอยู่กับครอบครัวในวันหยุดมากกว่า ไปเที่ยวไกลๆ อย่างต่างประเทศ หากวันหยุดทำงานคนพิการเรากับแฟนไม่ตรงกัน เราก็ทำงาน 

หากใครเป็นพนักงานบรรจุ จะได้ชั่วโมงวันหยุด 2 ชั่วโมงบ้าง 3 ชั่วโมงบ้าง ฟังดูเหมือนน้อย แต่พอสะสมไปเรื่อยๆ มันก็เยอะ บางทีได้หยุด 2-3 เดือน และใครทำงานครบ 7 ปีสามารถลางานแล้วยังได้ค่าจ้างประมาณ 2 เดือน ที่เหลือหน่วยงานรัฐกับเอกชนจะได้สวัสดิการเหมือนกัน

เปลี่ยนจากพนักงานฟูลไทม์เป็นพาร์ทไทม์ 

พอลาออกจากพนักงานประจำเป็นลูกจ้างชั่วคราว (Casual) บ้านเราเรียกพาร์ทไทม์ ไปทำตามอารมณ์ที่อยากจะทำโดยงานดูแลคนพิการเวลางานยืดหยุ่น งานเริ่ม 07.00 - 19.00 น. หากตอนเช้าเราไม่ว่าง ขอทำตอนบ่ายได้ไหม เขาจะไม่ถามเจาะจงว่าบ่ายกี่โมง และตอนเป็นพนักงานบรรจุทำงาน 10 - 12 ชั่วโมง งานโอเวอร์โหลด ทำให้เบิร์นเอ้าท์และไม่มีพลังทำงาน ทำให้เราดูแลคนพิการไม่เต็มที่ 

เรามองว่า 8 ชั่วโมงกำลังพอดี ตอนบรรจุทำงาน 12 ชั่วโมง เราออกจากบ้านหกโมงครึ่งกลับบ้านทุ่มครึ่ง พอกลับมาต้องกุลีกุจอล้างจาน ทำกับข้าว อาบน้ำ เข้านอน และไม่เจอสมาชิกในครอบครัวเลย กลายเป็นชีวิตเราอยู่ที่ทำงานมากว่า ชีวิตไม่บาลานซ์

อะไรที่ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียให้กับงานดูแลคนพิการขนาดนี้ 

สมัยก่อนหัวหน้าเราเล่าให้ฟังว่า คนพิการต้องอยู่รวมกัน ตอนกินข้าว วางจานให้กินข้าวเอง ใครกินไม่ทันก็โดนเพื่อนแย่งกิน เวลาอาบน้ำให้มายืนเรียงกันและฉีดน้ำ 

แต่พอรัฐบาลเห็นให้ความสำคัญ คนพิการควรเข้าสู่สังคมเหมือนคนปกติ ใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นงานเรามาสนับสนุนให้เขาใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ นอกจากนี้ หากรัฐบาลรู้ว่า มีเด็กพิการตั้งแต่กำเนิด เขาจะดูว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพด้านไหน และช่วยพัฒนาศักยภาพด้านนั้นได้ แล้วยังมีโรงเรียนเฉพาะของคนพิการ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะรัฐรู้ว่าพ่อแม่คนพิการดูแลลูก 24 ชั่วโมง ซึ่งหนักกว่าพ่อแม่คนไม่พิการ สิ่งที่เราเห็นคือ รัฐไม่ทำให้คนพิการด้อยโอกาส อยากจะทำอะไร เขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

ที่นี่ต่อให้เราลืมเอายาให้คนพิการกินเกิน 2-3 ครั้ง ที่ทำงานเขาช่วยเราหาวิธีการที่ไม่ลืมให้ยา แต่ถ้าพูดจาไม่ดีกับคนพิการ แล้วมีคนไปรายงานสำนักงานใหญ่ เขาก็จะพักงานแล้วเชิญออกหรือไม่ก็ไล่ออกเลย นอกจากนี้เวลาคนรู้ว่าเราทำงานนี้ เขาขอบคุณที่เราทำงานนี้ เพราะมีคนมาทำงานแบบนี้ยาก ต้องทำงานกับคนที่มีหลากอารมณ์ มีความกดดัน แต่เราเสียสละมาทำงานให้คนพิการเข้าสู่สังคม

NDIS (The National Disability Insurance Scheme) เป็นระบบสำหรับผู้พิการในออสเตรเลีย โดยเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลผู้พิการลิงก์เข้ากับระบบหรือความช่วยเหลือต่างๆ หากเข้ามาอยู่ในระบบของ NDIS แล้ว ก็จะได้เงินเพื่อดูแลคนพิการแต่ละคนโดยเฉพาะ