Skip to main content

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์สุริยา แสงแก้วฝั้น เลขาธิการพรรคและผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออันดับ 2 ของพรรคสามัญชน 

จากพรรคการเมืองที่แค่หาสมาชิกยังเป็นเรื่องยาก สู่พรรคที่ส่งคนพิการเข้าชิง ส.ส.ปาตี้ลิสต์เป็นลำดับที่ 2 ผ่านนโยบายคนพิการที่เชื่อว่าคนเท่ากัน การมีสวัสดิการ การศึกษาและอาชีพที่มั่นคงจะเป็นหลักประกันให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักด์ศรีในความเป็นมนุษย์นโยบายคนพิการของพรรคสามัญชนเป็นอย่างไร

สุริยา: นโยบายคนพิการของสามัญชนเกิดจากผมในฐานะคนพิการและมาจากเสียงสะท้อนของกลุ่มคนพิการที่ได้ลงไปทำงานด้วยทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง อีสานและใต้ ผมได้รวบรวมปัญหาต่างๆ ของคนพิการเข้าเป็นนโยบาย 

หนึ่ง เรื่องการเข้าถึงอาชีพของคนพิการ พรรคสามัญชนเล็งเห็นปัญหานี้ จึงทำเป็นนโยบายที่บอกว่า คนพิการต้องมีอาชีพ ต้องเข้าถึงอาชีพทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานบริษัท การจ้างงานภาครัฐเพราะการดำรงชีวิตของคนพิการหากปราศจาคการมีอาชีพที่มั่นคง คนพิการจะใช้ชีวิตในสังคมลำบาก นโยบายนี้จะให้หลักประกันความมั่นคงทางอาชีพ 

สอง ให้เบี้ยเงินสมทบช่วยเหลือตามสิทธิที่พึงได้รับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึง ไม่จำเป็นเฉพาะคนพิการอย่างเดียว คำว่ารัฐสวัสดิการแปลว่า ทุกคนที่อยู่ในพื้นแผ่นดินไทยที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับสิทธิการเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ฐานคิดของรัฐสวัสดิการคือการคำนวนถึงรายได้ขั้นต่ำของคนไทย คือ 3,000 บาท คนพิการเองก็ได้อานิสงค์จากเรื่องนี้ 

สาม เรื่องการประกันสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการพิการ ปัจจุบันมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 2550 ปรับปรุงปี 2560 ที่ให้หลักประกันว่า คนพิการจะต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่เยาวัยจนถึงปริญญาตรี แต่กฎหมายนี้ก็มีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้ จะเห็นได้ว่าในสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนพิการยังขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่ เพราะถึงแม้จะมีกฏหมายจริง แต่กฏหมายเหล่านี้ก็ยังไปไม่ถึงกลุ่มคนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการในชนบท โรงเรียนขั้นพื้นฐานตามชุมชนยังมีการเลือกปฏิบัติ ไม่รับเด็กพิการ อาจเพราะไม่มีข้อมูลเหล่านี้เพียงพอจากส่วนกลาง ฉะนั้นพรรคสามัญชนไม่ว่าจะเข้าสภาหรือไม่ ทุกนโยยบายเราทำงานขับเคลื่อนกับภาคประชาสังคม

คิดยังไงกับรัฐสวัสดิการและเบี้ย 3,000บาท

ผมมองว่ารัฐสวัสดิการไม่จำเป็นต้องทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐสวัสดิการทำให้คนทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น คนพิการก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะต้องได้รับสิทธิเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน สมมติว่าประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน ตัดข้าราชการออก ตีเสียว่าตัวเลขกลมๆ ประมาน 40 ล้านคนที่อยู่บนพื้นแผ่นดินไทยได้รับรัฐสวัสดิการเดือนละ 3,000 ถ้วนหน้าเหมือนกันหมด ผมคนยอมรับได้ แต่ถ้ารัฐสวัสดิการไปทำให้เฉพาะกลุ่ม เช่น หากมีเพียงคนพิการจำนวน 4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3 มีสวัสดิการ คนอีกร้อยละ 97 ไม่ได้รับ อันนี้ผมไม่เห็นด้วย 

ผมพูดอยู่เสมอว่า ส่วนตัวในฐานะคนพิการคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม ตัวผมไม่ต้องการได้มากกว่าคนอื่น ผมต้องการได้เท่ากับคนอื่น เพราะทุกวันนี้สวัสดิการนั้นยังไม่เท่า ความไม่เท่าเทียมกันของคนพิการในสังคมมันส่งผลถึงความคิดของรัฐในการจัดนโยบาย บางทีรัฐจัดนโยบายมาเพื่อช่วยเหลือ แต่วิธีการออกนโยบายช่วยเหลือกลับเป็นการสงเคราะห์ ทำให้ชีวิตของคนพิการพิการในประเทศถูกด้อยค่าลง และคนพิการก็ติดนิสัยร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา 

ปัจจุบันนี้นโยบายหลายพรรคการเมืองยังมองคนพิการเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือหรือเรื่องการสื่อสารหรือการมีงานทำ ยังขาดหลักการที่ว่าเราจะทำยังไงก็ได้เพื่อเติมเต็มชีวิตที่เขาขาดหายไป ไม่ใช่แค่หาอะไรมาทดแทนสิ่งที่เขาหายไป ต้องเข้าใจว่าตั้งแต่ 4 ปีก่อนเราก็ลงไปทำงานกับพี่น้องเครือข่ายรัฐสวัสดิการ เครือข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เวทีทุกภาคมีกลุ่มคนพิการเข้าร่วม เราได้รับข้อเสนอเหมือนกันทุกกลุ่มคือควรมีรัฐสวัสดิการเพื่อเป็นหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ของเขาในฐานะประชาชนคนไทย ดังนั้นตัวเลข 3,000 บาทจึงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มาจากเส้นความยากจนของประชากร 60 ล้านคนที่ต้องใช้ในชีวิตของคนหนึ่งคนต่อเดือนเพื่อประทังชีวิต 

อธิบดีกรมคนพิการควรเป็นคนพิการหรือไม่

เรามองว่าการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม คนที่จะรู้และเข้าใจปัญหาคือเจ้าของปัญหา ฉะนั้นการที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ก็ต้องมีตัวแทนคนๆ นั้นเข้าไปมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นสามัญชนสนับสนุนให้เจ้าของปัญหาเข้าไปมีบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งเพราะเขาเป็นเจ้าของปัญหา เขารู้ดีกว่าใคร หากคนที่เข้าไปไม่รู้ปัญหาอะไรเลยก็ลำบาก นอกจากไม่รู้ปัญหา ยังเพิ่มปัญหา สามัญชนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้คนพิการเป็นอธิบดีเพราะเขารู้ปัญหาของกลุ่มประชากร

พรรคสามัญชนจะทำให้คนพิการมีส่วนร่วมในพรรคได้อย่างไรบ้าง

เนื่องจากพรรคสามัญชนเป็นพรรคขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดมากในตัวกฏระเบียบที่ต้องปฎิบัติและงบประมาณ  หลายคนอยากเข้ามาสะท้อนปัญหาให้เราฟัง แต่ผมมองว่า ถ้าคุณมัวแต่สะท้อนปัญหาของตัวเอง การแก้ไขก็เกิดขึ้นยากหรือบางครั้งก็ไม่ถูกจุด พรรคเราจึงเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มที่เป็นเจ้าของปัญหาเข้ามาทำเอง เอาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองเข้ามาทำเป็นโยบาย 

แม้เราไม่สามารถจะป่าวประกาศว่า เราจะได้ตัวแทนสามัญชนเข้าไปในสภา เพราะระบบการเมืองในไทยยังเป็นระบบแบบเดิมที่มีเส้นทางทางการเมืองที่มองว่า ตาสีตาสา ชาวบ้านนั้นเป็น ส.ส.ไม่ได้ แต่พรรคสามัญชนไม่ใช่ เราต้องการเจ้าของปัญหาเข้ามานำเสนอปัญหาในสภา คุณไม่ต้องให้ตัวแทนไปพูดในสภาเพราะเราเชื่อในศักยภาพว่า คนเราเท่ากัน คุณทำได้ ผมก็ทำได้ คุณเข้าสภาได้ ผมก็เข้าสภาได้ ไม่ว่าจะเรื่องป่าไม้ ทรัพยากร ชาติพันธ์หรือความหลากหลายทางเพศ แต่เสียงเหล่านั้นจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่การเปิดรับของสังคมไทยที่จะเปิดรับคนธรรมดาได้อย่างไร 

ในอนาคตพรรคสามัญชนอยากเห็นชาวบ้านธรรมดาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน คนพิการ และหวังว่ากลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย ถกปัญหา นำเสนอปัญหาและวิธีแก้ปัญหาในนามพรรคสามัญชนไปด้วยกัน แน่นอนอาจมีอุปสรรคมากมาย แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจิตวิญญานของการต่อสู้ของพรรคสามัญชนที่เน้นการรับฟังความแตกต่าง 

https://live.staticflickr.com/65535/52874297652_4abcd32b20_b.jpg

ทำไมคนพิการต้องเลือกสามัญชน 

เพราะหนึ่ง พรรคเรามองเห็นคนเท่ากัน สอง พรรคเราคัดสรรผู้มีส่วนร่วมมาจากประชาชน คุณมีสิทธิที่จะนำเสนอสะท้อนปัญหาจริงๆ เราพูดเสมอว่า คุณไม่ต้องพูดถึงปัญหาเพื่อให้เราไปทำ แต่คุณมาร่วมกันทำ คำว่าตัวแทนหรือผู้แทนนั้นจับต้องได้ เป็นสามัญชนจริงๆ ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะได้ตัวแทนหรือไม่แต่เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนพรรคต่อไปไม่เพียงจับต้องเท่านั้นแต่ต้องใช้ปัญหาของตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตของตัวเองเพื่อเข้าไปในสภา นี่คือตัวตนของคนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทน

ให้คะแนนการทำงานคนพิการของอดีตนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร

ตลอดระยะเวลา 8 ปี โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี 4 ปีหลังมาจากการเลือกตั้งผ่านกติกาที่บิดเบี้ยว ทั้งเรื่องกฏหมาย รัฐธรรมนูญและการย้ายพรรคของ ส.ส.เพื่อที่จะสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล และอีก 4 ปี ที่มาจากคณะรัฐประหารซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม หากเราย้อนทบทวนประเด็นคนพิการผ่านการดำเนินนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมที่เคยได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ยุทธศาสตร์จังหวัด ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนตัวมองว่า แนวปฏิบัติที่เป็นนโยบายที่ออกมาสู่ยังก้าวข้ามไม่พันการสงเคราะห์ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนพิการควรได้รับตามสิทธิที่พึงมี หากเจาะลงไปกว่านั้นในรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากลับพบว่า สิ่งอำนวยความสะดวกถูกจัดเป็นหน้าที่ของรัฐ ทั้งๆ ที่ควรจะระบุว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หากสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิทธิเราเเต่เป็นหน้าที่ของรัฐ ผมมองว่าเป็นการสงเคราะห์มากกว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน 

8 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่า พม. ได้งบน้อยมากในการจัดสรรงบประมานประจำปี แต่พันธกิจของกระทรวงกลับล้นมือ ทั้งเรื่องคนแก่ คนไร้บ้าน คนพิการ เด็ก สตรี การดูแลจึงไม่ทั่วถึง ผมมองว่าควรมอบหมายภารกิจที่ชัดเจน และใช้งบจากการจัดสรรงบประมาณประจำปีมาจัดสวัสดิการทั้ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากประยุทธ์ ประยุทธ์เข้ามาตามแผนแม่บท และไม่มีผลงานอื่นที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ก็คงได้ 2 คะแนน จากการลอกการบ้านรัฐบาลชุดก่อน ก็คือสอบตก รัฐสวัสดิการไม่มีทางเกิดขึ้นเมื่อบริหารไม่ชอบผ่านกติกาเพื่ออ้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ เพราะสังคมสวัสดิการนั้นมีประโยชน์สูงสุดอยู่ที่ประชาชน