Skip to main content

เหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประเด็นสะเทือนใจที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะจากอดีตตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนกลายเป็นผู้ก่อเหตุสังหาร ‘เด็ก’ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนต่างมีทฤษฎีมากมายเพื่อประกอบเหตุผลและการตัดสินใจของผู้กระทำ  ดังเช่นที่ในรายการ Wake Up Thailand ของช่อง VoiceTV รายงานว่า ก่อนก่อเหตุอดีตตำรวจคนนี้ได้ไปศาล และยังมีข้อมูลจากสื่ออื่นๆ อีกว่า ก่อนหน้านี้เขามีพฤติกรรมที่ส่งสัญญาณอันตราย เช่น ยิงปืนขึ้นฟ้า มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เสพยาและมีปัญหากับครอบครัวด้วย 

แม้มีปัจจัยหลายอย่างที่สุดท้ายเราก็ไม่มีวันสรุปอย่างแน่ชัดได้ ไม่ว่าจะทั้งจากปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด สารเสพติด ปัญหาการครอบครองอาวุธ ฯลฯ แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนพูดถึงกันอย่างความเป็นชาย ก็เป็นอีกเรื่องที่คนให้ความสนใจเนื่องจากที่ผ่านมาภาพของผู้กระทำมักอยู่ในพื้นที่ของอาชีพอย่างทหาร ตำรวจ ที่มีความเป็นชายเข้มข้น  หรือที่หลายคนอาจจะนิยามว่า ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)  อะไรทำให้ภาพความเป็นชายเข้มข้นสัมพันธ์กับสุขภาพจิต ชวนจอมเทียน จันสมรัก ผู้ส่งเสริมประเด็นสุขภาพจิต (Mental Health Advocate) และนักกิจกรรมที่ทำงานเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากเพศ พูดคุยถึงความเป็นชาย การเผชิญกับความรุนแรงและปัญหาด้านสุขภาพจิตว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

ภาพหน้าปกหัวข้อเรื่องมีสีดำและมีรูปปืนและสีแดงแบ่งคนละครึ่งโดยใช้เส้นเฉี่ยง

อำนาจและสิทธิความเสียใจของผู้เสียหายที่ขึ้นอยู่กับรัฐ 

จอมเทียน: เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นการคุกคามสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ เดินเข้าเดินออกนั้นส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะ ทำให้ความรู้สึกได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดการตั้งคำถามว่า จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตเราอีกไหม เราจะมีชีวิตปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งคำถามที่กล่าวมา แทบจะหาคำตอบไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อไหร่ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้งและคิดว่าคนก็รับรู้ลึกๆ ว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก

เราเห็นบางเพจให้ความรู้ว่า เมื่อเกิดการกราดยิงควรวิ่งอย่างไร ซ่อนตัวที่ไหน ต้องทำอย่างไร กลายเป็นภาระทางจิตใจอย่างหนึ่งที่คนต้องเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่ในขณะเดียวกันความรู้เหล่านี้ก็สร้างความหน่วงในใจว่า ชีวิตไม่ปลอดภัยจนต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เลยเหรอ

เรามองว่า สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ควรทำคือ คืนอำนาจการควบคุมชีวิตของผู้เสียหาย แต่พอมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ได้ถามความยินยอมของผู้เสียหายก่อนหรือเปล่าในการกำหนดกิจกรรมต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรอรับเสด็จ การถ่ายรูปกับป้ายมอบเงินของรัฐ การพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดประเด็นมากๆ แล้ว 

เราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงซ้ำซ้อน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทำร้าย ไม่มีใครสามารถเลือกได้ว่าไม่อยากตาย ไม่มีใครปกป้อง หลังจากเผชิญเหตุร้ายไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องนั่งลงกับพื้น รอ ไหว้ ทำให้ผู้เสียหายรู้ว่าชีวิตเขาไม่ได้มีอำนาจมากเท่ากับใครบางคน แทบไม่เห็นว่ารัฐยึดความต้องการของผู้เสียหายเป็นหลัก แต่กลับใช้เหตุการณ์นี้คืนภาพลักษณ์ให้กับตนเอง เป็นความรุนแรงซ้ำซ้อน และยังสะท้อนความล้มเหลวของรัฐ

สังคมบังคับให้รู้ ให้เห็นเนื้อหาและภาพความรุนแรง

เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างจึงเสิร์ชแฮชแท็ก #กราดยิงหนองบัวลําภู พอเห็นภาพและข้อความต่างๆ เรากดปิดหน้าต่างเว็บเลย เพราะไม่มีการเขียนข้อความเตือนผู้อ่านว่า เนื้อหาหรือภาพบางส่วนอาจกระทบกระเทือนจิตใจ ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นๆ อยากรับรู้ความรุนแรงนี้หรือเปล่า อาจเพราะสื่อหรือคนทั่วไปต้องการยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดเอนเกจเมนต์จากเหตุการณ์นี้ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ เพื่อนเราหลายคนปิดเฟซบุ๊กเพราะไม่อยากเห็น ไม่อยากกระทบกระเทือนจิตใจจากสิ่งที่โซเซียลมีเดียกำลังทำอยู่

ดังนั้น การบอกว่าไม่ต้องเข้าโซเซียลมีเดียไม่ใช่การแก้ปัญหา โซเซียลมีเดียเป็นพื้นที่สังคมที่คนอยู่ร่วมกัน หลายแพลตฟอร์มมีกฎ เช่น เฟซบุ๊กเซ็นเซอร์รูปที่มีความรุนแรง รีพอร์ตแจ้งเตือนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่บางอย่างไม่สามารถรอกฎของแพลตฟอร์มได้ เราจึงต้องสร้างบรรทัดฐานการใช้โซเซียลมีเดีย เช่น การงดแชร์ภาพผู้เสียชีวิต เป็นต้น 

การแปะป้ายว่า โรคจิตง่ายกว่าหาคำตอบว่า ทำไมจึงก่อเหตุกราดยิง

งานวิจัยของสหรัฐอเมริกาได้อธิบายว่า ทำไมสังคมจึงกล่าวว่าคนทำอาชญากรรมเป็นคนผิดปกติ เป็นปีศาจ เป็นคนติดยา เป็นโรคจิต คำตอบก็คือนี่เป็นกลไกป้องกันตัวเอง (Defence Mechanism) ของคนในสังคม 

ก่อนกราดยิง หลายคนลืมไปว่า เขาเป็นเพื่อนข้างบ้าน เขาเป็นคนที่คุณเห็นว่ามาซื้อข้าว เขาเป็นพ่อของใครบางคน วินาทีที่เขาลั่นไก สังคมพร้อมแยกผู้ก่อเหตุออกจากความเป็นมนุษย์ เพราะพวกเราเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับการกระทำที่เลวร้าย แล้วแปะป้ายว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เป็นมนุษย์ที่เป็นโรคจิต โดยไม่ได้สนใจว่าโรคจิตคืออะไร ทั้งๆ ที่โรคจิตเวชมีหลายแบบแต่ไม่มีใครซักถามหรือเจาะลึกรายละเอียดลงไปว่าเป็นโรคอะไร แล้วอาการของโรคนั้นทำให้เขาวางแผน ก่อเหตุความรุนแรงได้ขนาดนี้เลยเหรอ เราสนใจแค่ว่าจะผลักผู้ก่อเหตุจากความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ซึ่งการคิดแบบนี้ไม่ได้นำมาสู่การแก้ไขปัญหาใดๆ เลย 

งานวิจัยของสหรัฐฯ อย่าง Violence Project ที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ชี้ว่า 70% ของผู้กราดยิงในสหรัฐอเมริกา ไม่มีอาการทางจิตไม่ว่าจะเป็นซึมเศร้า ไบโพล่าร์ จิตเภท ฯลฯ อาจมีเพียง 10.5 % ที่่มีภาวะอาการทางสุขภาพจิตบางอย่าง งานวิจัยพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การผลักผู้ก่อเหตุให้เป็นโรคจิตนั้นเป็นมายาคติและความเชื่อที่ผิด ดังนั้นต้องย้อนกลับมาดูว่า เขาเป็นคนๆ หนึ่งเหมือนกับเรา เขาเคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปโรงเรียน เจอเพื่อน สอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำงาน ดื่มเหล้า กินข้าว ใช้ชีวิตในสังคมเหมือนเราทุกอย่างมาโดยตลอด แล้วอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เขากระทำความรุนแรงที่หนักหนาขนาดนี้ 

นี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่ผู้ป่วยจิตเวชถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้ก่อเหตุ อาการทางจิตเวชมีเยอะมาก แต่มักจะถูกเหมารวมตีตราว่า คนเป็นโรคจิตจะทำร้ายคนอื่น สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำแพงให้คนกลัวที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ จนไม่ได้รักษาและตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขื่น การฆาตกรรม ทำร้ายตัวเอง เผลอทำร้ายคนรอบข้างในขณะที่เขาไม่สามารถควบคุมการกระทำและความรู้สึกของตัวเองได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตควรออกมาพูดเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อทะลายกำแพงการตีตราและช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการดูแลจากสังคมดีขึ้น ไม่ต้องอายที่จะบอกว่าป่วยเป็นโรคจิต 

ภาพความเป็นชายที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต

ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้ชาย เพราะความคาดหวังว่า ผู้ชายว่าจะต้องแข็งแรง แข็งแกร่ง ไม่อ่อนแอตั้งแต่เด็ก เราจะได้ยินว่า ‘เป็นผู้ชายอย่าร้องไห้นะลูก’ หรือ ‘เป็นเด็กผู้ชายต้องเข้มแข็งให้มากกว่านี้’ ในขณะที่ผู้หญิงสามารถร้องไห้ แสดงอารมณ์และขอช่วยเหลือได้เต็มที่ ต่างจากผู้ชายที่ไม่สะดวกใจทำสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากการเลี้ยงดูเด็กผู้ชายไม่ถูกฝึกให้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง หัดสื่อสารอารมณ์ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นการทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตัวเองและการตระหนักรู้ว่าตัวเองต้องความช่วยเหลือทางด้านจิตใจจะยากมากขึ้น 

ผู้ชายบางคนก็เปลี่ยนให้ความเครียด หรือปัญหาชีวิตไปสู่อารมณ์ที่รุนแรง แล้วไม่ไปหานักจิตวิทยา ไม่ไปหาหมอ ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อตัวบุคคล แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐด้วย เช่น ตำรวจต้องทำงานกับความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการจี้ การปล้น การฆ่า เห็นความตายบ่อยๆ และยังทำงานเสี่ยงชีวิตตลอดเวลา 

เราไม่รู้ว่าตำรวจได้สวัสดิการในการพบนักจิตวิทยาเพียงพอไหม ได้รับเวลาพักอย่างเพียงพอหรือเปล่า แต่ส่วนตัวเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะยิ่งตำรวจต้องเผชิญความรุนแรงในชีวิตมากเท่าไหร่ เขาต้องได้รับการดูแลทางสภาพจิตใจมากขึ้นเพื่อจะได้มีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว 

ข้อเสนอต่อปัญหาสุขภาพจิตจากกรณีที่เกิดขึ้น

การแก้ปัญหาเรื่องนี้พูดได้ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น รัฐต้องนำแนวทางยึดผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลางทันทีหรือปฏิญญาสำคัญของแพทย์ (Do No Harm) ที่จะป้องกันผู้เสียหายจากอันตราย ไม่ทำอันตรายต่อผู้เสียหาย และระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก และควรประยุกต์ใช้การดูแลบาดแผลทางใจ (Trauma-Informed Care Approach) ในการทำงานกับผู้เสียหาย เข้าใจว่าบาดแผลทางใจคืออะไร ดูแลสภาพจิตใจของผู้เสียหาย โดยพยายามไม่ให้ผู้เสียหายกลับอยู่ในเหตุการณ์หรือต้องพูดถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ ในกระบวนการสอบปากคำ 

นอกจากนี้อย่าลืมสวัสดิการดูแลสุขภาพจิตของผู้เสียหายด้วย ไม่ใช่แค่จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว เพราะบาดแผลทางจิตใจนั้นชดเชยได้ยากมากและแผลจะคงอยู่ หากรัฐช่วยแบ่งเบาได้ก็เป็นเรื่องดี 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว สืบเนื่องจากงานวิจัยค้นพบว่า การกราดยิงไม่ใช่การฆาตกรรมอย่างเดียว แต่ยังมีการฆ่าตัวตายซ่อนอยู่ในนั้นด้วย ก่อนจะกราดยิงผู้ก่อเหตุรู้อยู่แล้วว่าชีวิตเขาต้องจบด้วย เขาอาจเผชิญกับวิกฤติชีวิตที่ส่งผลต่อจิตใจ แล้วทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้าวร้าว แยกตัวจากสังคม พูดถึงความรุนแรง ซึ่งใช้เวลาเป็นปี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ตัดสินใจทำเลย สัญญาณบางก็สามารถตรวจจับได้ หากผู้กราดยิงส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ ที่สามารถครอบครองปืนได้มีสวัสดิการทางสุขภาพจิต และพวกเขาสามารถเข้ามาพูดคุยกับนักจิตวิทยา และนักจิตวิทยาเห็นสัญญาณความผิดปกติของสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น  ผู้เชี่ยวชาญก็จะเข้ามาช่วยเหลือก่อนที่จะเกิดปัญหาหนักและรุนแรงอย่างเช่นการกราดยิง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการกราดยิงต้องอาศัยหลายภาคส่วนมาก เพราะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด การครอบครองปืน ความปลอดภัย และนักจิตวิทยาด้วย เราไม่สามารถแจ้งว่า ถ้าคุณดูแลสุขภาพจิตของเขาได้ การกราดยิงจะไม่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ไม่ได้เป็นทางออกทางเดียวเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้