Skip to main content

หากพูดถึงงานด้านคนพิการในระดับสากล หลายคนคงคิดถึงหลักการอย่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการหรือ CRPD และต้นแบบของงานด้านคนพิการที่สำคัญอย่างกฏหมายคนพิการสหรัฐฯ ที่สะท้อนภาพของความเข้มแข็งของคนพิการภาคประชาสังคมผ่านการประท้วง เรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างอิสระ (Independent living) การเรียน และการทำงานอย่างเท่าเทียม จนทำให้สามารถเรียกได้ว่า ภาคประชาสังคมคนพิการในสหรัฐฯ เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนอย่างแท้จริง 

ด้วยความสำคัญนี้ Thisable.me ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ Sara Minkara; Special Advisor on International Disability Rights Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor ถึงความสำคัญของงานด้านคนพิการ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสิทธิทางประชาธิปไตยและการเมือง อะไรทำให้การมีอยู่ของผู้หญิงตาบอดมุสลิมในพื้นที่ทางการเมืองนั้นสร้างความหลากหลายและเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สังคมที่หลอมรวมทุกคนนั้นเกิดขึ้นได้จริง 

ตำแหน่ง Special Advisor on International Disability Rights นั้นมีที่มาที่ไปและมีความสำคัญอย่างไร

Sara: ตำแหน่งนี้เริ่มต้นขึ้นในยุคประธานาธิบดีโอบาม่า เพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องสันติภาพ เสรีภาพและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของคนพิการ และส่งเสริมสิทธิทั้งในประเทศและทั่วโลก

การสนับสนุนคนพิการไม่ใช่แค่เรื่องถูกต้องดีงามเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรทำอันดับแรก หลังจากได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีแผนการทำงานที่ให้ความสำคัญ 4 ด้านหลัก ด้านแรกคือ ความรับผิดชอบและการส่งเสริมศักยภาพ เราพยายามดูว่า เราจะสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมสิทธิและนโยบายคนพิการได้อย่างไร โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) แล้ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผล

ด้านที่สองคือ การส่งเสริมให้มีการมีส่วนร่วมของคนพิการในกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไบเดนให้ความสำคัญมาก คนพิการจะต้องอยู่ในทุกกรอบงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิอย่างการออกเสียงเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงมีส่วนร่วมในการออกเสียงไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องความพิการ แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกเรื่อง

ด้านที่สามคือ การช่วยเหลือทางสิทธิมนุษยชนสำหรับคนพิการในภาวะวิกฤติ ปกติเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นคนพิการมักถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในยูเครนและอัฟกานิสถาน รวมทั้งวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ หรือโควิด-19 เราต้องการให้คนพิการไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และมีส่วนร่วมในการคิดหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นทางออกเรื่องสันติภาพหรือการสร้างสังคมใหม่หลังเกิดวิกฤติ

ด้านที่สี่นั้้นสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของคน ถึงแม้ว่าเราจะมีนโยบายและกฎหมาย แต่ใครล่ะที่เป็นคนบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ คนทั่วไปมีคุณค่าและค่านิยมที่แตกต่างกัน ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าของกฏหมาย การบังคับใช้ก็คงเป็นเรื่องยาก

บริบทอะไรในสหรัฐฯ ที่ทำให้การต่อสู้เรื่องคนพิการนั้นนับได้ว่าประสบความสำเร็จ และการมี ADA - Americans with Disabilities Act ถือเป็นกฏหมายคนพิการที่มีประสิทธิภาพ ของการทำงานคนพิการทั่วโลก

การมีกฎหมายว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติคนพิการของสหรัฐฯ เป็นมาตรฐานที่ดีในระดับโลกในการนำมาใช้ ตรวจสอบและบังคับใช้กลไกต่างๆ ที่ช่วยพิทักษ์สิทธิคนพิการชาวอเมริกัน ด้วยเหตุผลนี้หน่วยงานระดับรัฐบาลกลางและรัฐจำนวนมาก ตลอดจนมหาวิทยาลัยและองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ จึงดำเนินงานตามแผนนี้ อีกทั้งเรายังมีแหล่งทรัพยากรด้านวิชาการในการสนับสนุนช่วยเหลือประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง รวมถึงเขตเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่าน และบังคับใช้กฎหมายสิทธิคนพิการในประเทศอย่างมีประสิทธิผล

นับตั้งแต่กฎหมายคนพิการอเมริกัน (ADA - Americans with Disabilities Act) ผ่านในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2533 ก็ช่วยให้โลกได้เห็นความพิการในแง่มุมของสิทธิ ความเสมอภาคและโอกาส หลักการที่ปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นรากฐานของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิคนพิการฉบับแรกคือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD)

เราอาจจะเห็นภาพความสำเร็จของการต่อสู้เรื่องคนพิการในสหรัฐอเมริกาเยอะมากเมื่อเทียบกับไทย กว่าจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้นมีความยากลำบากอย่างไรบ้าง

ADA หรือ Americans with Disabilities Act เป็นกฎหมายที่สำคัญมากสำหรับคนพิการ กฏหมายนี้ทำให้ฉันได้รับสิทธิทางการเรียน สิทธิในการทำงาน และสิทธิในการใช้ชีวิต แต่พวกเราก็ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะได้กฏหมายฉบับนี้มา และตั้งคณะกรรมการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องคนพิการเพื่อผลักดันเพื่อให้ได้กฎหมายตัวนี้

นอกจากนี้ ADA ยังเป็นกฎหมายที่มีอิทธิพลอย่างมาก ผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญว่าเราสามารถดำเนินการอะไรได้บ้างเพื่อคนพิการ อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมของคนพิการก็ยังเป็นการเดินทางที่ต้องไปต่อ รยังต้องผลักดันให้คนพิการมีสิทธิ มีเสียงในทุกๆ ด้านของการสนทนา

ความสำคัญของกฏหมายนี้ฉันแบ่งเป็น 2 ด้าน ประเด็นแรกคือ หลายครั้งในการทำงานในระดับโลก ประเด็นคนพิการเป็นเพียงการหาทางออกในเชิงทฤษฎี แต่แท้จริงแล้วการทำงานเรื่องคนพิการคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับปรุง เช่น เราจะเปลี่ยนความคิดของสังคมยังไงให้ตระหนักว่า คนพิการควรมีส่วนร่วมเพราะถ้าหากคนพิการไม่มีส่วนร่วม ฉันก็จะสูญเสียโอกาสหรือสูญเสียคุณค่าไปเช่นกัน

ประเด็นที่สองคือ มีคำหนึ่งที่พูดบ่อยก็คือ Nothing About Us Without Us หรือสิ่งที่เกี่ยวกับเรา เราก็ควรจะมีส่วนร่วม แต่ฉันอยากขยายคำพูดตรงนี้ออกไปอีกว่า เราควรจะมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเราก็ตาม

เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วม เราจะทำยังไงให้คนพิการมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตยหรือการเมืองได้มากขึ้น

มีหลายมิติมากๆ ในการดำเนินงานเรื่องนี้ มิติที่ค่อนข้างจะเบสิคหน่อยก็คือเราต้องมั่นใจให้ได้ว่า กกต.คิดถึงว่าคนพิการจะสามารถเข้าถึงการเลือกตั้งได้อย่างไร คนพิการต้องสามารถเข้าถึงคูหาการเลือกตั้งได้ และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในรูปแบบที่เข้าถึงได้ นอกจากนี้เราต้องพยายามทำงานร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับความพิการและพยายามให้คนพิการมีส่วนร่วม 

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการสนับสนุนเยาวชนให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเองว่า มีส่วนร่วมได้และเชื่อว่าเราสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เราในฐานะรัฐจะต้องสนับสนุนพวกเขาด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย

ในไทยบทบาททางการเมือง ผู้นำคนพิการมักเป็นเพศชาย ในฐานะของผู้หญิงพิการที่ทำงานเป็นผู้นำมีความท้าทายอย่างไร

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการเข้าถึงการมีส่วนร่วม ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีการจ้างงานตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความหลากหลายโดยเฉพาะ ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่กระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในฐานะสตรีตาบอดมุสลิมการกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงถึงการสนับสนุน ให้ความสำคัญ และยอมรับในอัตลักษณ์ของเรา 

ในขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญความยากลำบากจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของวิกฤติอย่างโควิด-19 งานด้านคนพิการมีแนวโน้ม หรือเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

สถานการณ์โรคระบาดและวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน เช่น สงครามในยูเครน แสดงให้เห็นผลกระทบที่คนพิการได้รับอย่างมากจากความวุ่นวายทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ บทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้คือ เราจะต้องพิจารณาถึงคนพิการตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นในการวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ หากมีระบบที่พร้อมสำหรับคนพิการ ก็จะเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในระดับโลก เราไม่อาจบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้เลยหากไม่ตระหนักถึงและแก้ไขปัญหาของคนพิการและชุมชนชายขอบอื่นๆ ไม่ว่าจะในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โควิด-19 หรือปัญหาทางสังคมอื่นๆ

จากบทบาทการทำงานในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย สถานการณ์คนพิการแต่ละพื้นที่มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

สิ่งที่เหมือนกันก็คือทุกคนอยากมีส่วนร่วม อยากแสดงความคิดเห็นและได้รับโอกาสเฉกเช่นคนอื่นๆ คนพิการก็เช่นกัน อย่างไรก็ดีแต่รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความคุ้มครองคนพิการแตกต่างกันทั้งในแง่ของกฎหมาย นโยบาย และการสนับสนุนทางสังคม 

สิ่งที่แตกต่างกันคือมุมมองที่ใช้เกี่ยวกับคนพิการ บางประเทศใช้มุมมองของระบบอุปถัมภ์ (paternalistic) ที่จะต้องให้การดูแลและมองว่าคนพิการเป็นคนที่น่าสงสาร ในขณะที่บางประเทศสร้างมุมมองที่ว่า คนพิการเป็น “คนที่มีความมุ่งมั่น” และควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในลักษณะดังกล่าว ใจความสำคัญที่อยากจะบอกคือ คนพิการก็เหมือนกับทุกคน เราอยากให้ทุกคนเห็น ฟังเราและให้ค่าเราในสังคม

สังคมที่หลอมรวมทุกคน (Inclusive Society) การคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการ จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

สังคมที่หลอมรวมจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนอื่นเห็นค่าของคนพิการ ไม่ว่าจะมีความพิการด้านใดก็ตาม นั่นหมายความว่า คนพิการจะสามารถมีส่วนในตลาดแรงงาน และได้รับการจ้างงานอย่างเต็มที่และเลี้ยงชีพได้ คนพิการต้องเข้าถึงกระบวนการทางประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง โดยการออกเสียงเลือกตั้งและเป็นตัวแทนในรัฐบาล เราต้องมีระบบการศึกษาที่ครอบคลุม มีทุกคนเป็นมาตรฐาน สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้และมีหลักสูตรเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คนพิการ เพื่อทำให้คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสื่อหลัก รวมถึงในวงการบันเทิง 

นอกจากนี้จะต้องทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีข้อจำกัดทางกายหรือข้อจำกัดอื่นใด สามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องตระหนักและยกย่องทุกมิติของการเป็นมนุษย์ และให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ยึดมนุษย์เป็นหลัก คนพิการเป็นมนุษย์ที่มีความปรารถนา มีความสามารถ ทักษะ ความเจ็บปวดและความสูญเสียเหมือนกับทุกคน เราทุกคนเชื่อมโยงกันเพราะความเป็นมนุษย์ที่เรามีร่วมกัน และนั่นรวมถึงคนพิการด้วย