Skip to main content

สรุปไลฟ์เฟซบุ๊ก (ศุกร์ที่ 25 มิ.ย.) "ผลักดันชีวิตคนพิการให้อิสระในแอฟริกาใต้" คุยกับ สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะ กับประสบการณ์ช่วงของการจัดตั้งศูนย์ดำรงชีวิตชีพอิสระที่ประเทศแอฟริกาใต้ว่า ทำไมต้องผลักดันให้คนพิการได้มีชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากมี

• ในปี พ.ศ.2556 ตั้ม-สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะ เริ่มทำโครงการที่ชื่อว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ทำงานเกี่ยวกับการก่อตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ เธอใช้เวลา 6 ปี โดยใน 3 ปีแรก เป็นการก่อตั้งศูนย์การดำรงค์ชีวิตอิสระคนพิการโดยตรง ส่วน 3 ปีหลัง ใช้ไปกับการสร้างระบบขนส่งให้กับคนพิการในชุมชน พร้อมกับสามีชาวญี่ปุ่นที่ทำงานด้านคนพิการในฐานะผู้จัดการโครงการ

• ก่อนที่จะไปแอฟริกาใต้ เธอทำงานอยู่ที่องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (DPIAP) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมสิทธิคนพิการ การทำงานที่นี่กว่า 10 ปี ทำให้เข้าใจประเด็นคนพิการ ที่แอฟริกาใต้เธอได้เจอกับผู้นำที่มีความกระตือรือร้นและมีประสบการณ์ในทำงานระดับประเทศ

• เธออาศัยอยู่ในจังหวัดเคาเต็ง ซึ่งอยู่ส่วนกลางของประเทศแอฟริกาใต้ ชุมชนที่ทำงานชื่อว่าโซเวโต ซึ่งเป็นชุมชนแออัด มีสภาพความเป็นอยู่ลำบาก และคนพิการส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้านเพราะไม่มีแนวคิดอะไรที่เข้าไปสนับสนุนให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป

• เนื่องจากไม่เจอคนพิการในสถานที่ทั่วไป เธอจึงต้องตามหาคนพิการที่โรงพยาบาลและขอข้อมูลจากนักกายภาพบำบัด จนได้คนพิการมาเข้าร่วม 5 คน ในช่วงแรกมีทีมงานจากญี่ปุ่นมาจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ จากนั้นก็คัดเลือกคนพิการบางส่วนไปอบรมต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาเป็นต้นแบบคนพิการและทำงานในศูนย์ต่อไป

• การดำรงชีวิตอิสระนั้นมุ่งเน้นให้คนพิการรุนแรงเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองผ่านระบบผู้ช่วยคนพิการ ซึ่งผู้ช่วยคนพิการจะให้คนพิการเป็นคนตัดสินใจแล้วบอกให้ผู้ช่วยเป็นคนทำ สิ่งนี้จึงทำให้คนพิการมีอำนาจในการตัดสินใจและสามารถตอบสนองความต้องการของชีวิตด้วยความคิดของตัวเอง ดังนั้นไม่ว่าจะพิการระดับไหน ก็สามารถเลือกสิ่งชอบให้กับตัวเองได้ และสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนพิการรุนแรงใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง

• ในช่วงแรกโครงการทำงานผ่านการให้คนพิการต้นแบบไปเยี่ยมคนพิการในชุมชน โดยใช้จิตวิทยาเพื่อสร้างเสริมกำลังใจให้คนพิการที่ไม่เคยออกสู่สังคมรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ การจัดกลุ่มสนับสนุนเป็นกระบวนการเบื้องต้นของคนพิการเพื่อชวนพูดคุยถึงเรื่องพูดคุยเรื่องครอบครัว เรื่องความพิการ โดยเฉพาะในบางคนที่มักไม่ค่อยอยากพูดถึงหรือยอมรับความพิการของตัวเอง ผ่านทีมงานที่ต้องดูข้อมูลของกลุ่มที่จะเชิญอย่างละเอียด

• โครงการไม่ได้เพียงต้องการให้คนพิการเป็นผู้นำของคนพิการในชุมชนเท่านั้น แต่สอนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรด้วย เพื่อให้สามารถบริหารองค์กรต่อไปได้ในอนาคต แต่หลายคนที่ฝึกอบรมเป็นคนที่มีภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพและเสียชีวิตไประหว่างทำงาน การฝึกจึงต้องเริ่มต้นใหม่ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมและโภชนาการก็มีผลเกี่ยวข้องกับชีวิต ตั้มจึงคิดว่าโครงการไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

• อย่างไรก็ดี การทำกลุ่มสนับสนุนทำให้คนพิการออกสู่ชุมชนเยอะขึ้น ระบบผู้ช่วยคนพิการก็สร้างความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทำให้คนพิการรุนแรงออกไปใช้ชีวิตพร้อมกับผู้ช่วย ช่วงแรกโครงการได้งบสนับสนุนจาก JICA หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น 3 ปีต่อมาก็ได้ขายโครงการให้กับรัฐบาล และมีการส่งพนักงานของรัฐไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นในเรื่องการดำรงชีวิตอิสระด้วย

• คนพิการหลายคนคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หลังจากที่เธอทำงานกับโครงการ 2-3 ปี จนได้เงินก้อนหนึ่งจึงออกแบบบันไดบ้านให้ตัวเองใช้งานได้ ชีวิตของเธอเป็นอิสระมากขึ้น อยากจะออกจากบ้านไปทำอะไรตอนไหนก็ได้ ตั้มบอกว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนที่แอฟริกาใต้แข็งแรงกว่าที่ไทยเยอะ อาจเพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่มีความเชื่อเรื่องภพชาติ แต่แอฟริกาใต้ได้รับแนวคิดจากคริสเตียนและยุโรปที่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเห็นได้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ แหล่งชุมชนมีเยอะกว่าในไทยผ่านกฎหมายที่บังคับใช้

• ความตระหนัก เอาจริงเอาจังและการใส่ใจในเรื่องนโยบายคนพิการเป็นเรื่องสำคัญ ตั้มมองว่าถ้าเมื่อไหร่คนเห็นว่าทุกประเด็นมีความสำคัญ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ แอฟริกาใต้ไม่ได้ดีกว่าประเทศไทย แต่ก็มีความต่างให้เห็น เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีความใส่ใจและเอาจริงเอาจังราวกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตัวเอง ตั้มจึงอยากให้องค์กรคนพิการทุกองค์กรรับแนวคิดนี้ไปใช้และปรับปรุง

• การเมืองมีผลต่อระบบเพราะถ้าระบบไม่เอื้อ คนพิการก็จะใช้ชีวิตอิสระยาก เช่น ระบบการเดินทาง ถ้าภาครัฐไม่ได้จัดสรรการเดินทางที่สะดวก การไปไหนมาไหนของคนพิการก็ยากขึ้น ต่อให้คุณเข้มแข็งยังไงก็ออกจากบ้านลำบาก ทุกหน่วยงานจึงควรคำนึงถึงคนพิการและการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งระบบ เพราะคนเราไม่สามารถสร้างโลก 2 ใบ คนพิการและไม่พิการอยู่บนโลกเดียวกัน โลกจึงควรให้ทุกคนเข้าถึง ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ตั้มอยากที่จะมีสิทธิมีเสียงในสังคม ไม่อยากถูกแยกขบวน ไม่อยากเป็นคนพิเศษที่ต้องแยกออกไป

• เธอคาดหวังว่าวันหนึ่งอยากเห็นคนพิการออกมาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง รู้สิทธิของตัวเอง  ซึ่งจะช่วยให้คนพิการมีความเข้มแข็ง ยิ่งถ้าสิ่งแวดล้อมดี ก็จะช่วยสนับสนุนให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ คนพิการจะพึ่งพาตัวเองได้โดยคนอื่นไม่ต้องหยิบยื่นให้

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=WTnE2pZaFZI