Skip to main content

“สัมภาษณ์ไปนวดไปละกัน” 

เขาลงมือนวดลูกค้าในขณะที่เรากดบันทึกเสียงลงในเครื่องอัดเสียง

ชายคนที่ได้คุยวันนี้เป็นชายผู้บรรเทาอาการปวดเมื่อยให้คนกว่าแสนคน เขาไม่แม้แต่จะว่างให้เราสัมภาษณ์ ขณะที่ปากเล่าเรื่อง มือของเขาก็ต้องบีบนวดลงไปที่จุดเมื่อย ไหล่ ต้นคอ หลัง นิ้วทั้งสิบค่อยๆ กดลงบนขา แขน และลำตัวอย่างใจเย็น หากคุณได้มีโอกาสนั่งอยู่ตรงนี้ก็จะได้ยินเสียงแห่งความปวดเมื่อยของคนไข้ในบ้านหลังนี้ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ  

เครื่อง ศรีบัวพันธ์ ถ่ายกับบ้านภายในห้องทำงานของตน

เครื่อง ศรีบัวพันธ์ หรือ ครูเครื่อง หมอและครูสอนนวดมือฉมัง ที่คร่ำหวอดในวงการนานหลายสิบปี เขาทำงานภายใต้มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และอาจารย์ที่เคารพนับถือของเขา โดยได้เปิดสอนวิชานวดแผนโบราณให้กับคนตาบอดจนกลายเป็นวิชาชีพทางเลือกในที่สุด

แม้ปัจจุบันอายุของอาจารย์เครื่องจะล่วงเลยเข้าสู่เลขเจ็ดแล้ว แต่เขายังคงยึดอาชีพนวด และยืนยันที่จะทำต่อไปจนกว่าจะไร้เรี่ยวแรง กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง อะไรคือหลักคิด ในยุคสมัยที่คนมองว่าคนพิการและคนตาบอดไม่มีสิทธิหรือคุณค่าเทียบเท่าคนไม่พิการ เราจึงอยากชวนคุณย้อนเวลาไปในปี 2487 หรือ 12 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปีที่เด็กชายเครื่องถือกำเนิดเกิด ก่อนกลายเป็นคนตาบอดที่มีวิชาชีพนวดหาเลี้ยงตนคนแรกของประเทศ

 “ตอนอายุ 8 ขวบ เรียนโรงเรียนประชาบาล บ้านหนองบัวขาว จังหวัดชัยภูมิ ผมปวดหัวมาก จนเรียนไม่ได้ ต้องกลับไปอยู่บ้านนาน 3 เดือน เคยช็อคจนคนคิดว่าผมตายแล้ว ก็เตรียมห่อศพ ประจวบจังหวะมีหมูแหกคอกออกมา เขาก็เลยพักศพผมไว้แล้วไปต้อนหมูเข้าเล้า ต้อนเสร็จ ก็ได้เวลานิมนต์พระ ขณะกำลังจะเอาไปฝัง แม่ผมขอดูหน้าเป็นครั้งสุดท้าย จึงเห็นว่าผมยังหายใจ แต่หลังฟื้นขึ้นมาได้สามวัน ตาของผมก็มืดสนิท” 

“พ่อพาผมไปรักษาตาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่สี่เดือน หมอบอกว่าทำได้แค่นี้ ไม่สามารถมองเห็นได้มากกว่านี้อีกแล้ว เห็นลางๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” 

ครูเครื่องกำลังนวดให้ลูกค้า

หลังจากนั้นเครื่องต้องใช้ชีวิตอย่างคนตาบอด จนหลังเรียนจบ ม.3 เขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อตัวเอง โดยเริ่มต้นทำงานเย็บกระเป๋าหนังส่งขายบริษัทรถเมล์ขาวนายเลิศ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำสวน และแสวงหาอาชีพอิสระที่คนตาบอดทำได้ 

“ตอนนั้นเราต้องหางานใหม่ทำไปเรื่อยๆ ผมไม่ค่อยถูกกับงานประจำ ทำแล้วรู้สึกเหมือนโดนกดขี่ รู้สึกว่าคนตาดีมีงานทำน้อยกว่าแต่ได้เงินเดือนมากกว่าเรา เกิดการเลือกปฏิบัติ ก็เลยคิดว่าออกไปหางานอิสระทำดีกว่า หลังจากนั้นผมก็เดินขายลอตเตอรี่ จนกระทั่งได้มาเรียนนวด“

ภาพหน้าบ้านของอาจารย์เครื่อง มีต้นไม้รายล้อม ป้ายด้านหน้าเขียนว่าหมอเครื่อง

ปี 2517 เขาได้ยินเสียงประกาศจาก หลวงบุเรศ บำรุงการ ผ่านรายการวิทยุเรื่องการเปิดรับสมัครเรียนนวดไทย ณ วัดปรินายก นี่นับเป็นจุดเริ่มของการเรียนนวดอย่างเป็นทางการ

“ในปีนั้นได้ยินข่าวจากวิทยุยานเกราะ คุณหลวงบุเรศ บำรุงการ ท่านจัดรายการหมอแผนโบราณ  และประกาศรับสมัครนักเรียนหมอนวด แกบอกว่าหมอนวดดีๆ เก่งๆ เหลืออยู่ไม่กี่คนแล้ว ถ้าใครสนใจอยากจะเป็นหมอนวดเพื่อจะสืบสานให้คงอยู่ต่อไป ก็ให้มารีบมาสมัครเรียน ผมได้ฟังแล้วก็ตัดสินใจไปเรียน และพบท่านอาจารย์เจือ ขจรมาลี นายกสมาคมแพทย์แผนโบราณ”

“ด้วยความที่ยังไม่เคยมีคนตาบอดมาเรียน ตอนแรกแก (อาจารย์เจือ ขจรมาลี) ไม่ยอมรับ แกบอกว่าไม่เคยสอนคนตาบอด ไม่รู้จะสอนอย่างไร ผมเลยบอกกับท่านว่า “อาจารย์รับผมไว้เถอะ ถึงแม้ผมเรียนไม่ได้ผมก็จะไม่โทษอาจารย์ว่าอาจารย์สอนไม่ได้ แต่ผมจะบอกว่าผมเองต่างหากที่ไม่สามารถรับรู้ เรียนรู้ได้” ท่านก็เลยยอมรับ 

“ในขั้นตอนสำหรับนักเรียนทั่วไป อาจารย์จะนวดให้ดู แต่พอผมมองไม่เห็น ผมจึงขอคลำจากมืออาจารย์อีกที จะได้รู้ว่าแกนวดตรงไหน ทำอย่างไร หาเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่เชื่อใจได้ และติดตามเขา จนได้รับการถ่ายทอดวิชาเต็มที่” 

“ผมเรียนนวดหนึ่งปีก็จบ รับใบประกาศ หลังจากนั้นก็ไปช่วยงานที่วัดสามพระยา และกลับมาอยู่บ้าน ผมอยากสร้างงานนวดให้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะตัวผมเองก็ลองมาหลายอาชีพแล้ว จนมั่นใจในอาชีพนวดว่าทำให้คนตาบอดให้บริการแก่คนในสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ จึงชวนเพื่อนชื่อช่วง ซึ่งเป็นคนตาบอดมาเรียน” 

ครูเครื่องกับวันทำบุญบ้าน

ภาพครูเครื่องสมัยหนุ่มกำลังซ่อมเครื่องสูบน้ำ

ภาพเก่าครูเครื่องกับฟาร์มเลี้ยงไก่

“พอเริ่มถ่ายทอดวิชาให้คนตาบอด ก็คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน จนได้ไอเดียว่าต้องเป็นมูลนิธิจึงจดทะเบียนมูลนิธิ ในปี 2523 โดยมีผมกับภรรยาและคณะเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิคอลฟิลด์”

“ตอนนั้นคนตาบอดยังไม่มีใครทำอาชีพนวด เป็นขอทานบ้าง หากเรียนจบได้ก็เป็นครู บางคนก็ตั้งวงดนตรีเร่เล่นตามโรงเรียน บางครั้งก็เรี่ยไร บางทีก็แย่งลูกค้ากัน ผมเองก็ทำมาหลายอาชีพ ทั้งเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา แต่ก็สู้การนวดไม่ได้ เพราะอาชีพนี้มีเกียรติ ได้รับการยอมรับที่ดีกว่า”

“เคยได้ยินไหมว่า คนตาบอดเหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้ วางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นเหมือนสิ่งของ เมื่อก่อนคนจูงคนตาบอดโดยการใช้ท่อนไม้ ให้คนตาบอดจับด้านหนึ่งและคนที่จูงจับอีกด้านหนึ่ง แค่จับเนื้อต้องตัวเขายังไม่อยากจับ ใกล้ชิดที่สุดคือจับแขนเสื้อ นี่คือเรื่องปกติของสมัยก่อน”

“เราตั้งชื่อว่ามูลนิธิคอลฟิลด์ เพราะอยากระลึกถึงท่าน(เจเนวีฟ คอลฟิลด์)  ท่านสนับสนุนส่งเสริมเรื่องอาชีพ ตอนผมบอกว่าสนใจจะเลี้ยงไก่ ท่านก็พาไปพบกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุยกันเรื่องไก่ การเลี้ยงไก่ จนผมได้ตำรามาเล่มหนึ่ง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะท่านอยากให้คนตาบอดมีอาชีพ” 

 ภาพเก่าครอบครัวของครูเครื่อง

จวบจนถึงปัจจุบันมูลนิธิคอลฟิลด์ ยังคงทำสิ่งเดิมอย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อเคยก่อตั้ง คือการเป็นโรงเรียนสอนนวดให้กับคนตาบอดสำหรับประกอบอาชีพ 

“การสอนของผมคือการถ่ายทอด ตัวผมเองจะเป็นหุ่นให้นักเรียนนวด ผิดถูกผมจะบอกได้ เช่น เมื่อถ่ายทอดให้หมอช่วง (ลูกศิษย์คนแรก) เสร็จแล้วเขาก็เอาไปสอนคนอื่นต่อเป็นทอดๆ โดยมีกฎว่าคนที่จบแล้วต้องมาเป็นหุ่นให้กับนักเรียนรุ่นใหม่เพื่อสอน และเป็นหุ่นฝึกซ้อม การถ่ายทอดจะต้องเป็นแบบตัวต่อตัว”

“เราต้องนวดด้วยจิต สัมผัสด้วยใจ เพราะฉะนั้นมองเห็นหรือมองไม่เห็นไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่ว่าเราเวลาจะนวด จะกดในจุดแต่ละจุดต้องมีสมาธิ สัมผัสลงไปให้รู้ว่าจุดไหนคืออะไร แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าจุดไหนคืออะไร ก็รู้จากที่เราฝึกเราซ้อม” 

“ผมมีกฎว่านักเรียนใหม่กับนักเรียนใหม่ห้ามนวดกันเอง เพราะว่าคนนวดไม่รู้แล้วใครจะรู้  โอกาสในการจำผิดพลาดจึงมี เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเป็นหุ่นได้ต้องเป็นหมอแล้วเท่านั้น ให้เขาฝึกซ้อมและเมื่อแน่ใจว่าเขารู้แล้วผมถึงให้เขาสอนกันเอง คนที่ถูกนวดต้องคอยจับผิดและคอยดูว่าคู่ตัวเองทำผิดหรือเปล่า”

ภาพครูเครื่อง

“ลูกศิษย์คนหนึ่งของผมเป็นชาวเขาอยู่ภาคเหนือ เขาตาบอดตอนอายุ 9 ขวบ และถูกพ่อผลักให้ตกจากหน้าผา เพราะไม่รู้จะเลี้ยงดูอย่างไร แต่เขากลับไม่ตาย หลังจากนั้นเมื่อมีมิชชินนารีฝรั่งไปเผยแผ่ศาสนา พ่อจึงยกเขาให้มิชชันนารี เขาจึงได้ไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดที่เชียงใหม่ และถูกส่งมาเรียนกับผม ปัจจุบันเขากลับไปเปิดร้านนวดที่เชียงใหม่ เผยแพร่การนวดในภูมิภาคและซื้อที่ให้พ่อทำไร่ แสดงให้เห็นว่าหากคนตาบอดมีอาชีพ ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” 

“คนพิการอยู่ในสังคมยาก คนที่ถูกยกย่องก็ถูกยกย่องเสียเลิศเลอ ส่วนคนที่ถูกกดก็โดนกดจนติดดิน นี่คือความอึดอัดของคนพิการ แต่พอเขามีงานทำ ก็มีเกียรติ มีคนนับถือ นี่แหละคือความสำเร็จของคนตาบอดและความภาคภูมิใจของผม”

ครูเครื่อง