Skip to main content

เครือข่ายคนพิการเดินขบวนฟ้องกรุงเทพมหานคร เรียกค่าเสียหายรายคน หลังฟ้องแบบกลุ่มไม่ได้ กรณีไม่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 58

วานนี้ (9 พ.ค. 61) ธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ เดินทางยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานครที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ  เป็นรายบุคคล รายละ 1,000 บาทต่อวัน  กรณีไม่จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่กำหนดให้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ม.ค.59  

หลังการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่ระบุให้บีีเอสจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นตามคำสั่ง จึงทำให้วันที่ 20 ม.ค.60 ซึ่งเลยกำหนดเวลาสร้างกว่า 1ปี เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้กลับมายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายแบบกลุ่มเนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่สร้างไม่เสร็จ ทำให้คนพิการหลายคนต้องสูญเสียค่าเดินทางโดยไม่มีทางเลือก โดยระบุค่าเสียหายเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.59 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากคำวินิฉัยระหว่างศาลปกครองและศาลแพ่งไม่ตรงกัน ศาลแพ่งจึงส่งต่อให้คณะกรรมการวินิฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลชี้ว่า คดีนี้ควรอยู่ภายใต้ศาลใด ซึ่งผลสรุปจากคณะกรรมการวินิฉัยฯ มีสองประเด็นคือ

1.คดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
2.ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นแบบกลุ่มได้ (อ่านข่าวที่นี่)


ภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราช

ทั้งนี้ก่อนเข้ายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย ธีรยุทธได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมและสื่อมวลชนว่า 
“จากกรณีที่กรุงเทพมหานครไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เราคิดว่าเราไม่ได้มาทวงสัญญา เรามาตามหาสิทธิที่หายไป คือสิทธิในการเดินทาง คนไทยทุกคนมีสิทธิในการเดินทาง ซึ่งคนพิการยังไม่มีสิทธิตรงนี้ เราจะปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปไม่ได้ เพราะจะมีระบบรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกเป็น 10 สาย”

โดยระหว่างเครือข่ายเคลื่อนขบวนเข้าศาลปกครอง ได้มีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ โดยมานิตย์ อินทร์พิมพ์ (ซาบะ) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ เข้าไปอยู่ในกรงจำลอง เพื่อสื่อถึงการที่สภาพแวดล้อมในการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวยเปรียบเสมือนกรงขังชีวิตคนพิการไว้ ทำให้ขาดอิสรภาพ พร้อมดังนี้ยังมีขบวนตามด้วยป้ายต่างๆ เคลื่อนจากหน้าศาลเข้าสู่อาคารศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการยื่นฟ้องร้อง มานิตย์ อินทร์พิมพ์ กล่าวว่า เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ยังต้องการแนวร่วมในการทำงาน เพื่อติดตามการทำงานของโครงการคมนาคมต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงขอเชิญชวนทั้งคนพิการและคนไม่พิการให้มาช่วยกันตรวจสอบ เพื่อเป็นการวางรากฐานขนส่งมวลชนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่ทั้งหมดจะถ่ายภาพและแยกย้ายกลับภูมิลำเนา






 

อ่านเพิ่มเติมที่

ย้อนดู 26 ปี การต่อสู้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกบีทีเอส