Skip to main content

เครือข่ายคนพิการยื่นฟ้องบีทีเอส ชดเชยค่าเสียหายรายวัน หลังเกินกำหนดเวลากว่า 1 ปี ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ ปัจจุบันพบคืบหน้าน้อย- ยังไร้วี่แววเสร็จ

20 ม.ค.2560 เครือข่ายคนพิการหลายกลุ่มเดินทางเข้ายื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์ ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานคร กรณี ไม่ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ที่ระบุว่า กทม.และบีทีเอสจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จใน 1 ปี นับตั้งแต่มีการพิพากษา จนปัจจุบันผ่านมากว่า 2 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ประกอบไปด้วยคนพิการกว่า 100 คนและสื่อมวลชนจำนวนมาก

การเดินทางไปศาลแพ่งในครั้งนี้ แบ่งเป็นการเดินทาง 5 ทีม จากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อ เพชรบุรี ห้วยขวาง ศูนย์วัฒนธรรมและพระราม 9 โดยมีจุดหมายปลายทางที่สถานีลาดพร้าว และเดินเท้าต่อไปยังศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก


ระหว่างทางจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว-ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งนั่งวีลแชร์และถือว่าเป็นคนพิการตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นโจทย์ยื่นฟ้องร้องค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจากไม่ก่อสร้างลิฟต์บีทีเอส เป็นผลให้คนพิการถูกลิดรอนสิทธิที่พึงมี โดยคิดค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2559 - ปัจจุบัน รวมเป็นเงิน 361,000 บาท ต่อโจทก์ 1คน

สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความกล่าวว่า วันนี้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องและรอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณา โดยประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลักคือ คำฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย คำร้องเพื่อขอดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือคลาสแอคชัน (Class Action) เป็นวิธีการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกล่าวคือผู้ฟ้องไม่ต้องฟ้องทั้ง 100 คน แต่ยื่นฟ้องไปเพียงคนเดียวก่อน หากศาลรับฟ้องแล้วจึงร่วมเป็นโจทก์ต่อไปเพราะมูลความแห่งคดีนั้นเหมือนกันและยื่นงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล ตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ข้อ 17 วรรค 2 ที่ระบุให้คนพิการที่โดนละเมิดสิทธิมีสิทธิฟ้องร้องได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้รับพิจารณาเป็นคดีดำ พ.246/2560 และได้นัดไต่สวนการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลวันเดียวกับนัดสืบพยานในวันที่ 30 มี.ค.ที่จะถึง เวลา 09.00 น. ณ ห้อง 310 ชั้น 3 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ปีที่แล้ว บีทีเอสได้เปิดให้คนพิการทดลองใช้ลิฟต์ 5 สถานีแรก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้แก่ สถานีราชดำริ สนามกีฬาแห่งชาติ ทองหล่อ เอกมัย และพร้อมพงษ์ (อ่านที่นี่) ซึ่งแม้จะมีปัญหา เช่น ตะแกรงระบายน้ำ สนิม เสียงเตือน ฯลฯ อยู่บ้าง แต่ก็สามารถใช้งานได้ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ทั้ง 5 สถานีดังกล่าวก็ยังไม่เปิดให้บริการจนกว่าจะมีการส่งมอบงานลิฟต์จากทุกสถานี

แม้ว่าประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่งจะเน้นย้ำในการประชุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า จะผลักดันให้การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จและเปิดใช้ภายใน ก.ย. 2559 ตามที่อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้รับปากขอยืดเวลาจากต้นปี 2559 (อ่านที่นี่ ) อีกทั้งเคยกล่าวอย่างชัดเจนถึงการดำเนินการเพื่อปรับเงินรายวันบริษัทเสรีการโยธา ผู้รับเหมา แต่กลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร


ธีรยุทธ สุคนธวิท (ซ้าย)

ด้านธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A: Transport for All) เผยว่า ตอนนี้การสร้างลิฟต์ยังเห็นเพียงแค่โครงร่าง โดยปีที่แล้วหลังครบกำหนดเวลา เครือข่ายฯ ได้สอบถามไปยัง กทม.ซึ่งเคยประกาศว่า ขอยืดเวลาเป็นภายในเดือน ก.ย.2559 (อ่านที่นี่) แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก อีกทั้ง กทม.ก็ไม่เร่งดำเนินการ วันนี้จึงรวมตัวมาทวงถามอีกครั้ง และเน้นย้ำว่า ต้องการสื่อสารกับผู้บริหาร กทม.ว่า ลิฟต์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เพียงคนพิการที่ใช้วีลแชร์จะได้ประโยชน์ แต่คนที่ต้องใช้รถเข็น คนท้อง คนแก่ แม่ลูกอ่อน หรือแม้แต่คนทั่วไปก็จะได้ใช้เช่นกัน จึงอยากให้ กทม.เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

ชยธร ชนะโชคชัยกุล ผู้เข้าร่วมซึ่งพิการจากอุบัติเหตุทางรถยนต์กล่าวว่า แม้ปัจจุบันเขาจะไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้ามากนัก แต่หากมีโอกาสต้องใช้ในอนาคตก็มองว่า เขาควรมีสิทธิที่จะใช้ได้ จึงหวังว่า หลังจากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะกระตือรือร้น และทำงานไวขึ้นโดยไม่มีข้ออ้าง

เช่นเดียวกับ Jerome Thibaut นักกีฬารถแข่งนั่งวีลแชร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งอยู่เมืองไทยมากว่า 10 ปี กล่าวว่า เขาเข้าร่วมเนื่องจากเห็นว่า การรวมกลุ่มของคนพิการนั้นสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยต้องเริ่มจากการมอบสิทธิให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้นี่จะเป็นครั้งแรกที่เขาได้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพราะปกติอาศัยอยู่ที่หัวหิน แต่สิทธิของเขาที่จะใช้งานก็ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

“80% ของรถไฟในประเทศฝรั่งเศส คนพิการสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย และหากมีที่ไหนที่ไม่สะดวก คนก็จะออกมาต่อสู้เรียกร้อง เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้อย่างเท่าเทียมกัน” เขากล่าว

ขวัญฤทัย สว่างศรี กรรมการมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการกล่าวว่า เมื่อปี 2552 ตนเป็นทีมร่วมฟ้องลิฟต์บีทีเอส ตอนนี้จึงมาติดตามเพราะเห็นว่าปัจจุบันยังไม่คืบหน้า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาแต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งในด้านกฎหมายและคำให้สัญญา

“แม้จะไม่ได้ใช้บ่อยเท่าที่ควร แต่ก็มีโอกาสได้ใช้อยู่ แต่เพราะทุกสถานีไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนั้นเวลาเราจะใช้งานก็ต้องวางแผน เลยทำให้ความสะดวกสบายที่เราควรได้รับ หายไป เราก็เลยเลือกเปลี่ยนวิธีในการเดินทาง ถ้าทุกสถานีสามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกได้ เราก็ไปได้” เธอกล่าว

ด้านมานิตย์ อินทรพิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบราง เครือข่าย T4A กล่าวว่า ตนร่วมทำงานกับ กทม. เพื่อติดตามการสร้างลิฟต์ดังกล่าวเป็นปีที่ 2 แล้ว และเห็นว่าผู้รับเหมาไม่กระตุ้นให้เกิดการทำงานเท่าที่ควร จึงทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นที่พอใจ และเป็นที่มาของวันนี้

“หลังจากศาลปกครองสูงสุดสั่งได้ 1 ปี แต่ไม่คืบหน้า คนพิการก็เริ่มโวย รองผู้ว่าฯ ก็ออกมาขอโทษ เราก็ต้องคณะทำงานติดตามการทำงานของ กทม.ซึ่ง กทม.ก็ให้การร่วมมือที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้า เราต้องเน้นย้ำว่าเรื่องพวกนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำขึ้นเฉพาะเพื่อคนพิการ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิ การเข้าถึงของทุกคน” เขากล่าว

 

แถลงการณ์

20 มกราคม 2560

เรื่อง ปฏิบัติการ "นั่งรถไฟฟ้า ไปฟ้อง กทม.ที่ศาลแพ่ง รัชดา"

ตั้งแต่ปี 2538 ตามที่มีโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ และให้เอื้อประโยชน์ในการเดินทางแก่คนทั้งมวลรวมถึงคนพิการทุกประเภทอีกด้วย แต่ทั้งนี้การก่อสร้างสถานีไม่ได้ติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม กลุ่มคนพิการจึงเริ่มเรียกร้องให้ กทม.และบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) อย่างเท่าเทียม แต่ทั้งสองหน่วยงานต่างบ่ายเบี่ยง และเพิกเฉยปฏิเสธความรับผิดชอบ กลุ่มคนพิการจึงยื่นฟ้อง กทม.และพวกในปี 2550 การดำเนินการผ่านไปสองปี วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2552 ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า ตอนนั้นกฏหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องอาคารสถานที่ และยานพาหนะ ที่จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ต่อมากลุ่มผู้พิการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุด 21 มกราคม พ.ศ. 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง สั่งให้ กทม.จัดทำลิฟต์ขึ้นลงสำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ง 23 สถานี และให้จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการรวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบนรถไฟฟ้าบีทีเอสให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปีหลังจากมีคำพิพากษา แต่สุดท้าย แม้จะครบกำหนด 1 ปี ก็ยังไม่มีการดำเนินการตามสั่งศาลได้ และยังต่อรองว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559

จากการติดตามอย่างใกล้ชิดของคณะทำงาน จนถึงบัดนี้ กทม.ก็ไม่ได้เร่งดำเนินการให้มีการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 23 สถานีได้ตามที่ศาลกำหนด กทม.ขาดความรับผิดชอบและทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไร้วี่แววว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามที่สัญญา กลุ่มคนพิการในนามของภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)จึงเห็นสมควรให้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ฐานละเมิดสิทธิคนพิการถูกลิดรอนและมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันครบกำหนดตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด (21 มกราคม 2559)

อนึ่ง การฟ้องนี้เป็นการฟ้องแบบกลุ่มโดยบุคคลเนื่องจากคดีนี้เป็นการละเมิดที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง หากศาลสั่งให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหาย คนพิการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถยื่นขอรับค่าเสียหายได้