Skip to main content
รัฐสภาร่วมมือ 3 หน่วยงาน เปิดตัวรายการพลเมือง D เริ่มวันที่ 4 ก.พ นี้ เสนอภาษามือเต็มจอ พร้อมด้วยเสียงพากย์ และคำบรรยาย หวังคนพิการรับข่าวสารได้เสมอภาค งานวิจัยพบคนพิการได้ข้อมูลข่าวสารเพียงแค่ 50% เท่านั้น 
<--break- />
<--break- />
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น  รัฐสภาแถลงข่าวเปิดตัวรายใหม่ 'พลเมือง D' โดยจะนำเสนอภาษามือเต็มจอ พร้อมด้วยเสียงพากย์ และคำบรรยาย จะเริ่มออกอากาศวันแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาในวันที่ 4 ก.พ. นี้  เวลา 13.30 -14.00 น. 
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า รายการนี้จะเป็นมิติใหม่ของวิทยุโทรทัศน์สภาที่จะสร้างรายการที่ให้ผู้ชมและผู้ฟังที่มีข้อบกพร่องทางการได้ยินนั้นสามารถเข้าถึงสาระสำคัญของรายการได้เท่ากับบุคลากรปกติทั่วไป เป็นรายการที่จะมาลดช่องว่าง และเข้าถึงสาระของรายการต่าง ๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์
 
สุรชัย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้หลายรายการจะเห็นว่าคนที่สามารถได้ยินเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึง แต่สำหรับคนที่มีข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะเรื่องของการได้ยินนั้นไม่สามารถเข้าถึง เนื่องจากทางรายการไม่มีการนำเสนอไปยังผู้ชมผ่านภาษากายหรือบางรายการก็อาจจะมีบ้าง อย่างเช่น การประชุมของรัฐสภา แต่ตอนนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอีกก้าวนึงให้มีการสื่อสารภาษามืออย่างเต็มจอ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐสภาในสภาพที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีหน้าที่ออกกฏหมายเพียงอย่างเดียว
 
“เป็นรายการที่จะนำเสนอโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง เรื่องที่สืบสานพระราชปณิธาน และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  เป็นต้นแบบรายการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะคนพิการ ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” รองประธาน สนช. กล่าว
 
ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีสายงานสื่อสารแบรนด์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ตนเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจากทาง กสทช. ยาวนานมาถึง 7-8 ปี  โดยเริ่มจากการสร้างงานวิจัยว่า คนที่ด้อยโอกาสในประเทศเราโดยเฉพาะคนพิการมีขีดจำกัดข้อไหนบ้างที่ไม่มีโอกาสในสังคม การวิจัยพบว่าข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่คนพิการได้รับกลับไม่เต็มประสิทธิภาพ เขาจะได้รับได้เพียงแค่ 50% เท่านั้น ในฐานะผู้ผลิตสื่อมวลชนนั้นเห็นว่า แทนที่เราจะผลิตสื่อมืออาชีพออกไปแต่ควรจะใส่ ดีเอ็นเอของคนที่มีวัฒนธรรมไว้ด้วย
 
วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวก กล่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการรับรองภาษามือแล้วว่า เป็นภาษาประจำชาติของคนหูหนวก ซึ่งในโรงเรียนสอนคนหูหนวกก็จะมีการใช้ภาษามือในการสอนให้กับเด็ก ซึ่งในการเรียนร่วมก็จะมีล่ามเข้าไปช่วยแปลให้กับเด็กหูหนวกที่เรียน เพราะฉะนั้นรายการโทรทัศน์เผยแพร่ทั่วไปก็จะให้ความรู้คนในสังคม ซึ่งคนหูหนวกสามารถใช้ภาษามือเป็นช่องทางในการที่จะเผยแพร่ การมีพิธีกรหูหนวกจะเป็นมิติใหม่ มันจะทำให้เห็นมุมมองของทั้งสองด้านที่ว่า คนหูหนวกกับคนปกตินั้นจะสามารถอยู่ร่วมกันได้
 
ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า ทางสำนักงาน กสทช. มุ่งเน้นนโยบายของทางคณะกรรมการ กสทช.ให้ทำเป็นรูปธรรม ในส่วนของข้อเสนอแนะต่าง ๆ สามารถเข้าถึงทาง กสทช. ได้หลายช่องทาง เช่น Call Center E-mail เพื่อที่จะนำไปเป็นปฏิบัติการให้มีผลต่อไป
 
“อยากให้ช่วยกันดูรายการ พลเมือง D แล้วมาช่วยกันสะท้อนข้อคิดเห็นที่ว่า อยากให้สถานนีโทรทัศน์รัฐสภามีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติ่มเนื้อหาส่วนใด เพื่อที่จะให้ผู้ชมทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงรายการดี ๆ ของทางสถานนีโทรทัศน์รัฐสภาได้ โดยเฉพาะรายการพลเมือง D” รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวทิ้งท้าย