Skip to main content

เช้านี้ (28 ก.พ.) คนพิการกว่าร้อยคนนำโดยภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลและสมาคมคนพิการประเภทต่างๆ ได้รวมตัวเพื่อส่งข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หลังจากเกิดประเด็นการเลือกปฏิบัติกับผู้โดยสารเครื่องบินที่นั่งวีลแชร์บนสายการบินเวียดเจ็ท เมื่อช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

โดยตั้งแต่ช่วงเวลา 9.00 น. คนพิการเริ่มรวมตัวกัน ปราศรัยเพื่อเล่าปัญหาและสิ่งที่พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ โดยมีกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม และขจรพัฒน์ มากลิ่น รองผู้อำนวยการสายงานกำกับมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนเข้ารับฟัง อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีระบุว่า รมว. ติดงานที่จังหวัดสตูลจึงไม่สามารถพูดคุยกับกลุ่มคนพิการได้ แม้คนพิการผู้ยื่นหนังสือจะยืนยันว่า จะต้องติดต่อ รมว.สุริยะ ให้มารับหนังสือและพูดคุยเท่านั้น แม้จะเป็นทางโทรศัพท์ก็ตาม

 

 

โดยในข้อเรียกร้องของเครือข่าย ระบุว่า ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ประกอบด้วยองค์กรและภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันตามรายชื่อดังต่อไปนี้:

1 มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
2 สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

3 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

4 สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

5 สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

6 สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย
7 สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย)
8 สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย
9 สมาคมสายใยครอบครัว
10 สมาคมเสริมสร้างชีวิต

11 คณะอนุสิทธิด้านบุคคลพิการสภาทนายความ

12 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้

13 มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

14 สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย

15 ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการจังหวัดนนทบุรี

16 ภาคีสมาคมคนพิการปทุมธานี

17 สภาองค์กรของผู้บริโภค

18 เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ)
19 ภาคีเข้าถึงและเท่าเทียม (Accessibility Is Freedom)

20 เสวลักษณ์ ทองก้วย ตำแหน่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ และภาคประชาชนรวมกันเพื่อเรียกร้องขอให้แก้ไขปัญหาเดินทางที่ยังไม่เท่าเทียมจากในระดับนโยบาย

 

 

โดยในข้อเรียกร้องได้ระบุถึงสิทธิในการเดินทาง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษพบปัญหาในการเดินทางด้วยสายการบินต่อเนื่อง นอกจากกรณีของกฤษนะ ละไลแล้ว ยังมีอีกมากที่เจอปัญหา ดังต่อไปนี้: 


1. ศรีกรุง อรุณสวัสดี ที่ปรึกษาภาคีเครือข่าย ผู้พิการและเป็นผู้สูงอายุ นักธุรกิจพันล้าน ใช้รถเข็นไฟฟ้า เคยถูกสายการบินปฏิเสธ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สาเหตุเพราะ “เดินเองไม่ได้”, เกิดความยุ่งยากจนไม่ยอมเดินทางด้วยสายการบินและตัดใจขับรถเองไปทำงานทั่วประเทศไทยตลอดชีวิตจนถึงทุกวันนี้

2. สุนทร สุขชา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กลุ่มทางการเห็น ถูกกำหนดให้ไปนั่งท้ายสุดของเครื่อง ซึ่งทั้งไม่สะดวกและไม่เต็มใจ (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 สายการบินนกแอร์)
อ้างอิง: https://www.facebook.com/AccessibilityIsFreedom/posts/pfbid0xTsrvgtrZdKMBTYsBWnB1TrarD1WEJNc62jwAucVnjTzjkyPnwV8tA8pdxgDkPMYl 

 

 

3. ภพต์ เทภาสิต ผู้ใช้รถเข็นไฟฟ้า เพราะใช้รถเข็นไฟฟ้าขนาดใหญ่และใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิน เสียเวลาคุยกันนานมากจนต้องมีผู้บริหารระดับสูงมาช่วยรับรองให้ (เดินทางไปเกาหลี สายการบินเกาหลี)
4. คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม ผู้ใช้รถเข็น ถูกสายการบินแอร์เอเชียให้บริการไม่ได้มาตรฐาน, มีบันทึกข้อมูลผู้โดยสารผิดพลาด, ไม่มี Cabin Wheelchair ให้บริการ และต้องถูกอุ้มเหมือนเป็นสิ่งของ
(เดินทาง 23-24 กุมภาพันธ์ 2566 จากสนามบินสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานเชียงราย)
อ้างอิง:
https://www.accessibilityisfreedom.org/category/ขนส่งสาธารณะ/ขนส่งทางอากาศ/

5. เสาวลักษณ์ ทองก้วย สายการบินไม่นำรถเข็นส่วนตัวมารับที่หน้าเครื่อง

 

 

และยังมีกรณีอื่นๆ ที่เราได้รับรายงานปัญหามาต่อเนื่องตลอดเวลา ภาคีเครือข่ายฯ ขอสรุปประเด็นและปัญหาดังนี้:

1. การกำหนดจำนวนคนพิการต่อเที่ยวบิน

2. นอกจากปฏิเสธไม่ให้เดินทางแล้ว บางครั้งยังไม่ยอมคืนเงิน

3. อนุญาตให้นำรถเข็นขึ้นเครื่องได้ แต่แบตเตอรี่เดินทางไม่ได้ หรือบางครั้งถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทาง

4. ระบบการจองตั๋ว ทั้งระบบของผู้ให้บริการจองตัว(broker) และของสายการบินเอง ไม่มีความชัดเจนในการบันทึกข้อมูลคนที่มีความต้องการพิเศษ, เข้าใช้ยากลำบาก, ไม่รองรับมาตรฐาน WCAG ทำให้กลุ่มคนที่มีปัญหาทางการเห็นใช้งานไม่ได้ ไม่สะดวก ส่งผลให้ข้อมูลผู้โดยสารเกิดความผิดพลาด และกระทบถึงการให้บริการที่ไม่ถูกต้องบ่อยครั้ง

 

 

5. บ่อยครั้งที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการขึ้น-ลงเครื่องบิน เช่น ไม่มีรถ High Lift Loader รับส่ง, ไม่มี Cabin Wheelchair ให้บริการเข้า-ออกตัวเครื่องบินและระหว่างเดินทาง, ผู้โดยสารพิเศษต้องถูกอุ้ม-หาม ซึ่งไม่เหมาะสม ซึ่งวิธีการนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

6. บางสายการบินไม่ยอมนำรถเข็นเราเองมารับที่หน้าเครื่อง ให้คนนำรถเข็นสนามบินและมาช่วยเข็น คนพิการทุกคนจะมีความถนัดต่างกัน และรถเข็นแต่ละคนเหมือนเสื้อผ้าที่ต้องใส่พอดี การนั่งรถเข็นคันอื่นเกิดความยุ่งยาก เพิ่มขั้นตอน เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และที่สำคัญเรานั่งรถเข็นเรา เราจะเป็น Smart Person แต่พอนั่งรถเข็นอื่น เรากลายเป็นคนพิการมากกว่าเดิม ต้องช่วยเหลือดูเวทนากว่าเดิม

7. กระทรวงคมนาคมจัดซื้อทางลาดขึ้นลงเครื่องบินแล้วแต่ไม่นำมาใช้

8. มีรายงานพบว่าบางรายถูกคิดเงินเพิ่มจากน้ำหนักอุปกรณ์ใช้งานส่วนตัว เช่น รถเข็นและอื่นๆ

 

 

ปัญหาเหล่านี้เกิดต่อเนื่องมายาวนาน เกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายทั้งงานและเวลา และเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นการเลือกปฏิบัติ ผิดทั้งกฏหมายและหลักการสากลอย่างชัดเจน

ภาคีเครือข่ายมีข้อเรียกร้องดังนี้:
1. ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งแก้ไขปัญหาและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่รับทราบจากสำนักงานคณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

2. ขอให้กระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนภาคจากทุกภาคีและทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้แทนทุกสายการบินระดับผู้บริหารระดับสูงที่สามารถตัดสินใจได้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาและติดตาม รวมถึงการดูแล สร้างมาตรฐาน จัดการให้มีระบบการเข้าถึงบนขนส่งสาธารณะทุกประเภทภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม โดยตั้งเป็นชุดคณะที่ปรึกษาหรือแนวทางใดๆ เพื่อให้มีการว่าจ้างทำงาน ไม่ใช่การทำงานให้ฟรีเหมือนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

3. คณะนี้มีหน้าที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนโดยเร็วที่สุด เร่งประกาศกฏ, ข้อประกาศหรือข้อบังคับใดๆ ที่เป็นธรรม ทัดเทียมมาตรฐานสากล เพื่อให้ไม่มีใครถูกละเมิดสิทธิการเดินทางอีก

 

 

4. ขอให้มีการจัดการอบรมเพื่อการให้บริการอย่างสะดวกและปลอดภัย ให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน โดยทำง่านร่วมกันอย่างเป็นทางการระหว่างผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษกับทุกสายการบิน มีการวัดและรายงานผล ให้คุณ-ให้โทษ และทำอย่างต่อเนื่อง

5. ในการให้บริการผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษ ส่วนของสายการบินหากเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม กระทรวงคมนาคมควรพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ระหว่างการพูดคุยได้มีเหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้น โดยระหว่างที่เสาวลักษณ์ได้พูดถึงสิทธิในการเดินทางของคนพิการ ได้มีความพยายามที่จะเข็นเธอเพื่อหลบแดดโดยไม่ได้ขออนุญาต จึงทำให้เสาวลักษณ์ปฏิเสธพร้อมขัดขืน และกล่าวตักเตือนถึงการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเธอ

โดยภายหลังหลังจากที่เครือข่ายคนพิการอ่านข้อเรียกร้องจบ ได้ยื่นคำขาดให้ รมว.โทรศัพท์เพื่อรับทราบข้อเรียกร้อง แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีการติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้น จึงทำให้เครือข่ายคนพิการช่วยกันยกวีลแชร์เข้าไปพักในตึกกระทรวงคมนาคม เพื่อรอความคืบหน้าจาก รมว. ต่อไป