Skip to main content

19 พ.ย.2565 Thisable.me, ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) และประชาไท จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เสรีภาพ หรือเสรีพร่อง’ ตอน ‘จะรับได้ไหม ถ้าฉันท้อง’ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติของผู้หญิงพิการ ครอบครัวและสังคม ในการเป็นแม่ของผู้หญิงพิการ  ที่ดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน คือ ตั้ม - สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะ,ฟ้า - วิญธัชชา ถุนนอกและ หมออ้น - พญ.ดลฤดี ศรีศุภผล ดำเนินรายการโดยจันทิมา ตรีเลิศ

ประสบการณ์ก่อนและหลังมีลูก

ฟ้าเล่าว่า ตัวเองเหมือนกับผู้หญิงทั่วไปที่อยากมีแฟน มีคนรัก อยากมีครอบครัว มองว่าถ้าทุกอย่างพร้อมก็อยากมีน้อง แฟนเองก็อยากมี เราเลยปรึกษาหมอว่ามีได้ไหมและไปตรวจสุขภาพ ร่างกายเราค่อนข้างแข็งแรง เพียงแค่ไม่มีขา ช่วงหลังจากแต่งงาน 2-3 ปี แม่เป็นห่วงว่าถ้ามีลูกจะไหวมั้ย ท้องต้องใหญ่นะ จะเคลื่อนย้ายตัวลำบากนะ แต่ถ้าตัดสินใจแล้วว่ามีแล้วเลี้ยงได้ก็ลองดู หลังฟ้าบินกลับไปเรียนที่ต่างประเทศได้ไม่นานก็รู้ว่าท้องได้ 2 เดือน ตอนนั้นเธอแอบตกใจว่าต้องทำยังไง เนื่องจากไม่ได้เป็นพลเมืองแต่เป็นเพียงนักเรียน หมอก็ถามว่า ถ้าไม่พร้อมก็สามารถเอาออกได้อย่างถูกกฏหมายและให้เวลาเธอคิด ระหว่างนั้นก็ได้ยาบำรุงกลับมา เมื่อเธอตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เอาออก หมอก็เลยดูแลจนท้องหกเดือน ระหว่างนั้นก็พยายามให้แฟนทำวีซ่า แต่สุดท้ายไม่ผ่าน จึงประเมินว่าถ้าอยู่คนเดียวแล้วคลอดที่นี่ก็คงไม่ไหว เลยตัดสินใจคุยกับมหาวิทยาลัยและรู้ว่าคนท้องก็เอาลูกมาเรียนได้ แต่เธอเองมองว่าไม่ไหวเลยกลับมาเมืองไทย 

ตั้มเล่าว่า ตัวเองเป็นคนรักเด็ก ถ้าวันหนึ่งแต่งงานก็อยากมีลูก ตอนไปญี่ปุ่นเห็นคนพิการหลายคู่มีลูก เลยไม่กลัว พอแต่งงานจึงคุยกับสามีว่าอยากมีลูก จึงไปตรวจร่างกายก็พบว่า ระบบทุกอย่างดีหมดไม่มีอะไรต้องกังวล แต่เนื่องจากประจำเดือนมาแค่สองวันหมอบอกว่าอาจมีลูกยาก หลังจากนั้นเดินทางไปต่างประเทศเป็นปีก็ยังไม่มีลูก แต่อยู่ๆ ก็มีน้องมะลิ (ลูกสาวคนโต) ตอนนั้นเธอดีใจมากและไปฝากท้อง หมอคนแรกบอกเธอว่าดีใจด้วยและแนะนำไปหาหมอสูตินารีเวช เพื่อเจาะน้ำคร่ำหาดาวน์ซินโดรม ตอนนั้นเราบอกว่าถ้าเป็นไม่เป็นไร ถึงเขาจะเกิดมาพิการเราเลี้ยงได้ หลังจากนั้นเธอจึงไปหาหมอคนที่สอง ซึ่งเป็นคนที่ดูแลเธอจนคลอด

คนทั่วไปมองผู้หญิงพิการที่ท้องอย่างไร 

ฟ้าเล่าว่า ตอนอยู่ที่อังกฤษคนไม่มองผู้หญิงพิการท้องในแง่ลบ แต่พอกลับไทยแล้วถ่ายรูปท้องลงโซเชียลแล้วมีคนแชร์เกือบสามหมื่น บางคอมเมนท์ก็บอกว่า ปล่อยให้ท้องทำไม ถ้าลูกออกมาเดี๋ยวก็เอาลูกไปขอทาน คลอดมาเดี๋ยวผู้ชายก็ทิ้งหรือถ้าคลอดมาเดี๋ยวลูกก็เหมือนตัวเองหรอก เธออึ้งมาก คิดในใจว่าขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมผู้หญิงพิการตัดสินใจว่าอยากมีและพร้อมแล้วถึงมีไม่ได้ เธอบอกกับตัวเองตอนนั้นว่า สักวันหนึ่งเธอจะเอาคลิปต่างๆ ที่มีร่วมกับลูกมาให้ทุกคนได้ดู และนั่นก็เกิดขึ้นจริงผ่านเพจ Hello Harley

ตั้มเล่าว่า เธอเองท้องที่ประเทศแอฟริกาใต้ ที่นู่นมีคนพิการท้องเยอะจนไม่ใช่เรื่องเปลก แต่เธอก็มองว่าถ้าตัวเองท้องที่ไทยก็คงเจอแรงเสียดทานเยอะดังเช่นที่ฟ้าเจอ ครั้งหนึ่งเธอเคยไปเวิร์คชอปที่ญี่ปุ่นในศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ ผู้หญิงแต่ละคนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการมีสามีและการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เธอได้เปิดหูเปิดตามากเพราะในไทยไม่มี 

หมออ้นสะท้อนว่า หากฟังฟ้าและตั้มก็อาจคิดว่าการท้องของคนพิการนั้นราบลื่น แต่ตัวเธอเองทำงานอยู่กับคนพิการในเมืองไทย กลับพบว่าเรื่องเพศถูกพูดถึงน้อยที่สุดในขอบรั้วโรงพยาบาล ทั้งที่จริงแล้วอาจเป็นเรื่องที่คนพิการอยากรู้มากที่สุด ในต่างประเทศเรื่อง sexual function ขึ้นมาหนึ่งในสามเรื่องที่คนพิการสนใจอยู่ตลอดแต่บุคลากรไทยไมให้ความสนใจ ยิ่งถ้าคนพิการคนนั้นมีครอบครัวอย่างพ่อแม่มาด้วยสิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งพูดยาก อย่างไรก็ดีแม้มีการเข้ามาปรึกษา ก็ยังพบว่า 99.99% เป็นคนพิการเพศชาย ทำให้เห็นว่า ผู้ชายพูดถึงเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าผู้หญิง อาจเพราะเรื่องนี้วงการแพทย์ไทยพูดถึงน้อย แม้หลักสูตรการเรียนจะมีเรื่องการให้คำปรึกษาเรื่องเพศแต่ก็ยังไม่มีการพูดถึงมาก ในวงการหมอฟื้นฟูจะต้องเรียนว่าถ้าคนพิการท้องจะเกิดอะไรบ้าง เช่น หากน้ำหนักเยอะก็จะลำบากมากขึ้น หายใจลำบาก ความดันขึ้น ไม่เจ็บท้อง มีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นเรื่องทางทฤษฏีที่พูดยาก เช่น ร่วมเพศยังไง ท้องยังไง ถ้าคนพิการที่มีปัญหาขับถ่ายต้องจัดการอย่างไรหากจะมีเพศสัมพันธ์ หากคนดูแลคือสามีภรรยาที่ต้องช่วยเรื่องอึฉี่ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ไม่ดี หมดอารมณ์ การมีผู้ช่วยคนพิการ (PA- Personal Assistant) ก็จะช่วยตรงส่วนนี้ ทำให้ผู้หญิงไม่ต้องให้สามีล้วงก้นทำความสะอาดให้ทุกวัน ทำให้ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกก็ยังคงอยู่

ในตอนคลอดเป็นอย่างไร

ฟ้าเล่าว่า เธอต้องผ่าคลอดเพราะตัวเล็ก ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ ตอนผ่ารู้สึกเจ็บเพราะบล็อคหลังไม่ได้เลยใช้ดมยา หลังผ่าตัดตื่นมาเธอเจ็บแผลมาก หมอทำได้เพียงบอกให้ลุกนั่งแต่ไม่รู้ว่าต้องดูแลคนพิการหลังคลอดอย่างไร และเนื่องจากฟ้าไม่มีขาทำให้ลำบากตอนป้อนนมลูก เพื่อนที่ต่างประเทศจึงแนะนำหมอนรูปตัวซี ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้เธอป้อนนมลูกง่ายขึ้นมาก

เช่นเดียวกับข้อมูลของหมออ้น ที่ระบุว่า ต่างจังหวัดของไทยไม่ได้ฝากท้องกับหมอสูตินารีเวช ถ้ามีคนพิการฝากท้อง หมอก็น่าจะช็อคกันทั้งโรงพยาบาล หมอจะสวดมนต์ว่าอย่ามีเคสคลอดลำบาก ซับซ้อนและความเสี่ยงสูงมาก หมอทั่วไปคงบอกว่าให้ไปศิริราชหรือโรงเรียนแพทย์ นอกจากนี้ผู้หญิงพิการก็มีความแตกต่างทางโรค หมออาจไม่คุ้นเคย ขนาดแค่ผู้หญิงพิการจะพาลูกไปอาบน้ำก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างไร 

ฟ้าเล่าว่า หลังกลับจากอังกฤษมาฝากท้องก็ไม่มีใครรับเพราะกลัวจะเกิดอันตราย เพื่อนพยาบาลจึงแนะนำมาที่โรงพยาบาลศิริราชหรือวชิระ แม้ตอนแรกจะดูเหมือนยุ่งยากเพราะเอกสารที่เธอเอามาทั้งหมดนั้นเป็นภาษาอังกฤษ แต่หลังจากได้เจออาจารย์หมอก็ได้อัลตร้าซาวบอกว่าลูกเธอแข็งแรง ปากสวยน่ารักและส่งต่อไปกายภาพ สอบถามว่าเข้าห้องน้ำยังไง เมื่อได้แลกเปลี่ยนแล้วก็ทำให้หมอเข้าใจด้วยว่าเธอใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างไร 

ตั้มเล่าว่า ตอนท้องน้องมะลิตัวเองยังไม่มีประสบการณ์ ยิ่งมาเจอว่าลูกสาวมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ก็ยิ่งยาก และเธอเองก็กระดูกเชิงกรานเล็ก จึงทำให้ปวดมากตอนใกล้คลอด ตอนเลือกการคลอดหมอเล่าให้เธอฟังว่า มีคนที่เป็นโปลิโอเคยคลอดธรรมชาติ เธอจึงอยากลองคลอดธรรมชาติ แต่ท้ายที่สุดปากมดลูกก็ไม่เปิดมากพอ และต้องผ่าคลอด ตอนท้องสองเธอวางแผนจะกลับไปคลอดที่เมืองไทย แต่สามีของตั้มก็กังวลว่า หากกลับไปแล้วจะหาหมอที่เข้าใจได้ยาก หากไม่เจอหมอที่เข้าใจจะทำยังไง จึงตัดสินใจอยู่กับหมอคนเดิม 

หากมีข้อมูล ผู้หญิงพิการจะเป็นแม่มากขึ้นไหม 

ฟ้าแลกเปลี่ยนว่า มีคนพิการเข้ามาปรึกษาเธอจำนวนมากว่าอยากมีลูก คำแนะนำของเธอคือการหาหมอเฉพาะทาง และประเมินความเสี่ยงผ่านสภาพร่างกาย เพราะแต่ละความพิการมีความแตกต่างกัน ถ้าตัวเราโอเค ครอบครัวโอเค ก็อย่าไปสนใจคำพูดของคนรอบข้างมาก ถ้าพร้อมก็สามารถมีได้อย่างคนทั่วไป 

ตั้มแลกเปลี่ยนว่า อันดับแรกตัวเราต้องแข็งแกร่ง ต้องเชื่อว่าเรามีได้ เลี้ยงได้ ไม่ต้องโอนเอนไปตามความเชื่อของคนอื่น นอกจากครอบครัวแล้วก็ไม่ได้มีใครที่ช่วยเลี้ยง ฉะนั้นหากพื้นฐานเราแน่นมากพอเสียงข้างนอกก็จะเป็นเพียงเสียงนกเสียงกา 

หมออ้นแลกเปลี่ยนว่า การตัดสินใจท้องของผู้หญิงพิการไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูลทางการแพทย์ แต่อยู่ที่ความพร้อมและการเงิน ถ้าสวัสดิการทางสังคมไม่ได้ซัพพอร์ทให้ผู้หญิงทั่วไปท้อง ผู้หญิงพิการก็ท้องยากกว่าหลายเท่า ขนาดเราเป็นหมอแล้วคนไข้มาขอคำแนะนำในการฝากท้องเราก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าต้องไปที่ไหน 

ได้เรียนรู้อะไรจากลูกบ้าง

ตั้มเล่าว่า เธอได้เรียนรู้ความเป็นแม่ซึ่งต่างกับในตำรามาก การเป็นแม่จะต้องมีความอดทน จะสอนลูกยังไงให้ไม่เป็นการตำหนิเขา ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องเจออะไร จะเตรียมพร้อมอะไร สิ่งหนึ่งที่เธอสอนลูกเสมอคือคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง จึงไม่แปลกที่แม่พิการ สิ่งสำคัญคือแม่เลี้ยงลูกได้และสอนให้ลูกมีคุณภาพได้ไม่ต่างกัน 

ฟ้าเล่าว่า เธอได้เรียนรู้ความเป็นแม่ เป็นครู เป็นทุกอย่าง ชีวิตไม่เหงา มีเหนื่อยบ้างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์แม่ ลูกสาวเธออายุ 6 ขวบก็เริ่มรับรู้เวลาเพื่อนถามว่าทำไมแม่นั่งรถเข็น ซึ่งลูกก็จะตอบว่า หม่าม้านั่งรถเข็นแต่หม่าม้าเลี้ยงเราได้นะ เธอจึงรู้สึกว่าลูกมั่นใจในตัวเธอ ภูมิใจที่มีเธอเป็นแม่ 

หมออ้นเล่าว่า ตอนอยู่อังกฤษเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นซีรีบรัลเพาซี (Cerebral Pulsy) ได้ทำสารคดีกับลูกชาย และลูกชายบอกว่า ผมรอวันที่ผมจะโตพอที่จะมีวีลแชร์เหมือนพ่อ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าในครอบครัวคนพิการ ความหลากหลายนั้นแทรกซึมไปเลย ไม่รู้สึกว่าความพิการแปลกแยก 

สิ่งที่อยากให้ประเทศไทยมี

ตั้มมองว่า อยากให้มีข้อมูลเพราะตอนท้องเธอมีข้อมูลน้อยมากว่าคนพิการท้องยังไง คลอดยังไง มีเพียงความรู้จากการถามเพื่อน จึงอยากให้มีสวัสดิการของรัฐมาสนับสนุนคนพิการในส่วนนี้

ฟ้ามองว่า อยากให้มีข้อมูลว่าพิการท้องแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง อย่างเรื่องสวัสดิการ ในต่างประเทศแม่พิการจะได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้น มีสวัสดิการที่สมเหตุสมผลกับภาษี สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เธออยากเห็นในไทย 

หมออ้นมองว่า อยากให้ผู้หญิงพิการท้องแบบไม่ต้องเจอทัศนคติที่กดทับ ทัศนคติต่างๆ จะต้องมาพร้อมกับมูลว่าการท้องของผู้หญิงพิการไม่ได้เป็นข้อห้าม พิการแล้วไม่ได้แปลว่าลูกจะพิการ หากกังวลว่าพิการแล้วจะเลี้ยงลูกไม่ได้ ก็ต้องไปดูเรื่องคุณภาพชีวิตของคนพิการทั่วไปว่าคนพิการมีพื้นฐานชีวิตไม่เท่ากับคนทั่วไปเหรอ ถ้าจะเปลี่ยนก็คงไม่ใช่เเค่เรื่องการแพทย์ แต่สวัสดิการทางสังคมจะเข้าเข้ามามีส่วน ในต่างประเทศถ้าคุณคลอดลูกแล้วคุณต้องการการช่วยเหลือก็สามารถมีได้ เช่น ผู้ช่วยเพิ่มเข้ามาวันละ 3-4ชั่วโมง หรือช่วยอาบน้ำสระผมลูก ในไทยเราอาศัยพ่อแม่ปู่ย่าตายาย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนพิการตัดสินใจท้องยากขึ้นไปอีก คนพิการในอังกฤษมีสถานะเป็นนายจ้างไม่ใช่คนดูแลแบบในไทยที่ทำให้คนพิการรู้สึกว่า ฉันมาช่วยดูแล 2 ชั่วโมงก็บุญแล้ว พอเราเป็นผู้จ้าง เรามีศักดิศรี ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะการรอความช่วยเหลือทำให้แนวคิดแบบสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมเกิดยากกว่าที่อื่น 

สุดท้ายตั้มทิ้งไว้ว่า ระยะเวลาตั้งแต่ท้อง เลี้ยงลูกจนโตก็หล่อหลอมให้เราเข็มเเข็ง คนเป็นแม่ต้องทำให้ลูกเห็นว่าเราทำหน้าที่นี้ได้ทุกอย่าง ให้ลูกได้ภูมิใจว่าพ่อแม่เป็นแบบนี้ก็มีความสุข เธอมั่นใจว่าลูกเธอไม่ใช่เด็กที่ขาดอะไร และหากคนนอกที่มองมาแบบดูถูกแต่ไม่ได้ช่วยเลี้ยงก็อยากให้ช่วยกรุณาอยู่นิ่งๆ ไปจะดีกว่า

ฟ้า ทิ้งท้ายว่าเธอเลี้ยงลูกเองและมั่นใจว่าความพิการจะไม่เป็นปมของลูกเพราะเขาเห็นแม่ในทุกๆ มุม แม่เราอันลิมิเตด อยากให้ความมั่นใจกับแม่และอยากให้คนทั่วไปมองความสามารถ อย่าเพิ่งตัดสินภายนอกว่าทำอะไรไม่ได้ เราเชื่อว่าคนพิการทุกคนมีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป ทำทุกกกิจกรรมกับลูกได้ เพียงแค่เรามีวีลแชร์ อยากให้ทุกคนเปิดกว้างให้กับคนพิการ ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตในแบบที่เขาเลือก ที่เขาอยากเป็น