Skip to main content

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีแอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ @Thamboon888 ได้โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่ลูกทำร้ายแม่พิการ ภายใต้คลิปนั้นก็มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นอกเห็นใจลูก หรือเข้าใจความเครียดของผู้ดูแล แต่อีกส่วนก็มองว่า แม้จะเครียดก็ไม่สมควรใช้ความรุนแรง หรือสาปแช่งก่นด่าว่าเป็นลูกอกตัญญู

ภาพปกเรื่องรู้จัก PA กลไกที่ช่วยลดความรุนแรงระหว่างคนพิการกับผู้ดูแล ซึ่งพีเอกำลังใส่รองเท้าให้กับอธิพันธ์

ท่ามกลางกระแสความคิดเห็นต่างๆ กลไกหนึ่งซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งรุนแรง ผ่านการเพิ่มอำนาจให้กับคนพิการในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองก็คือแนวคิดเรื่องการดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living - IL) ที่มีผู้ช่วยคนพิการเป็ลกลไกสำคัญ Thisable.me  จึงชวน น้ำพุ— อธิพันธ์ ว่องไว ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑลมาพูดคุยว่า กลไกผู้ช่วยคนพิการจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรงระหว่างผู้ดูแลกับคนพิการได้อย่างไร  

อธิพันธ์อธิบายว่า ระบบงานผู้ช่วยคนพิการหรือเรียกสั้นๆ ว่าพีเอ นั้นย่อมาจากคำว่า Personal Assistant ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนคนพิการที่ไม่สามารถทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองได้ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ฯลฯ ให้พร้อมออกไปใช้ชีวิตในสังคม พีเอมีรากแนวคิดมาจากแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ หากประเทศไทยมีระบบผู้ช่วยคนพิการผ่านแนวคิดสนับสนุนให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอิสระที่มีประสิทธิภาพ เราจะเห็นภาพคนพิการถูกทำร้ายน้อยลง 

อธิพันธ์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ปัจจุบันผู้ช่วยคนพิการมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งอสม. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่มีพละกำลังช่วยคนพิการได้ ประกอบเงินค่าจ้างที่จ่ายให้ชั่วโมงละ 50 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ช่วยให้บริการจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อคนพิการ 

เมื่อสถานการณ์ของผู้ช่วยคนพิการเป็นไปอย่างจำกัด สมาชิกครอบครัวจึงต้องผันตัวเองกลายเป็นผู้ดูแล ฉะนั้นอำนาจการตัดสินใจของคนพิการจึงเสมือนกลายเป็นของผู้ดูแลซึ่งเป็นคนในครอบครัวไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอน เวลากินข้าว อธิพันธ์ได้ยกตัวอย่างเรื่องของเขาเอง หลังเป็นคนพิการติดเตียงตอนช่วงอายุ 13 - 14 ปี เขาได้กินข้าววันละมื้อ อาบน้ำเดือนละครั้ง หากจะอุจจาระก็ต้องรอให้พ่อกลับมาจากที่ทำงานก่อน แต่ถ้ากลับมาแล้วเหนื่อย ก็ต้องรอให้หายเหนื่อยก่อนถึงจะมาจัดการให้ บางทีก็ใส่อารมณ์เพราะความเหนื่อยล้าและเครียดจากการทำงาน กลับกัน หากผู้ดูแลไม่ใช่คนในครอบครัว แต่เป็นพีเอซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือผ่านการตัดสินใจของคนพิการ ก็จะทำให้คนพิการมีอำนาจในการจัดการชีวิตตัวเองว่าต้องการความช่วยเหลือเวลาไหน ไม่ต้องรอให้คนว่างแล้วจึงช่วย เรื่องเหล่านี้อธิพันธ์มองว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนควรจะมี นอกจากนี้ยังทำให้ครอบครัวได้มีชีวิตอิสระเป็นของตัวเอง ออกมาทำมาหากินได้ และจะนำไปสู่การลดความรุนแรงระหว่างคนพิการและครอบครัวได้ เขายกตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้เมื่อประมาณ 30 - 40 ปีก่อน ก็เกิดเหตุการณ์พ่อแม่ฆ่าลูกพิการเช่นเดียวกัน กระทั่งรัฐบาลมองว่า คนพิการไม่สมควรถูกครอบครัวทำร้ายหรือทำให้เสียชีวิต จึงนำระบบผู้ช่วยคนพิการผ่านแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระมาใช้ 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผู้ช่วยคนพิการอาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีโครงสร้างที่สนับสนุน อธิพันธ์จึงเสนอว่า ในระยะอันใกล้นี้ อาจผลักดันให้ผู้ช่วยเหลือดูแล (Care Giver) มีความเข้าใจแนวคิดเรื่องการดำรงชีวิตอิสระควบคู่ไปด้วย  เพื่อเปลี่ยนมุมมองจากการมองว่า คนป่วย คนพิการหรือผู้สูงอายุเป็นคนที่จะต้องดูแลไปตลอดชีวิต เป็นการมองว่า ผู้สูงอายุ หรือคนพิการเป็นคนๆ หนึ่งที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เรามีหน้าที่สนับสนุนเขาในสิ่งที่อยากทำและทำไม่ได้ เพราะหากคนช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุไม่เข้าใจแนวคิดนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการดูแลผ่านหมอหรือพยาบาล ที่ถ้าอยากไปไหนก็ไปไม่ได้ ชีวิตมีแต่บ้านและโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้เท่าที่ควร