Skip to main content

หลายครั้งเมื่อนึกถึงคนหูหนวก เราอาจนึกถึงการสื่อสารระหว่างคนหูหนวก - หูดีที่ยากลำบาก เนื่องจากคนหูหนวกหลายคนใช้ภาษามือในการสื่อสาร บางคนอาจใช้การอ่านปากหรือบางคนก็อาจมีภาษามือที่ใช้กันเองเฉพาะกลุ่ม จนทำให้เห็นเสมือนว่า ภาษาที่คนหูหนวกและคนหูดีใช้นั้นแตกต่างกันโดนสิ้นเชิง

ในไทย คนหูหนวกจำนวนมากใช้ภาษามือเป็นหลัก บางคนสามารถอ่านหนังสือได้พอประมาณ ในขณะที่บางคนใช้ภาษามือได้แต่อ่านเขียนไม่ได้ รวมถึงมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ทั้งภาษามือและอ่านเขียนไม่ได้ อุปสรรคในการสื่อสารและการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอันเกิดจากการไม่มีระบบสนับสนุนเพียงพอเหมาะสมที่คนหูหนวกเจอ ทำให้คนหูหนวกเป็นกลุ่มคนที่ขาดการมีส่วนร่วมกับสังคมและเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรงในที่สุด

ชวนสำรวจพื้นที่ของการรับรู้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมในกลุ่มคนหูหนวกเมื่อการสื่อสารและการรับรู้ของพวกเขายังคงมีข้อจำกัด ผ่านการพูดคุยกับนับดาว องค์อภิชาติ ประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้ง, วัชรินทร์ ชาลี ล่ามหูหนวกที่ทำงานแปลภาษามือธรรมชาติ และสุจิตรา พิณประภัศร์ ล่ามภาษามือและนักกฏหมาย ถึงวัฒนธรรมของชุมชนคนหูหนวก อุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงสิทธิและข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงข้อเสนอที่พวกเขามีต่อการเข้าถึงอย่างเสมอภาคและยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม

 

ภาษาของคนหูหนวก

ณัฐวิชญ์ ศุภสินธุ์ อาจารย์หูดีจากวิทยาลัยราชสุดา เคยเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ที่ชื่อ คนหูหนวก: คนไทยคนอื่นบนผืนแผ่นดินว่า สังคมเราเป็นสังคมของคนหูดี พอนิยามว่า ความเป็นไทยคือการพูดภาษาไทย คนหูหนวกก็ถูกแยกออกไปร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ทำให้คนหูหนวกเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่เน้นสอนโดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลาง

อย่างไรก็ดี ทั้งจากข้อมูลของณัฐวิชญ์และงานวิจัยอื่นก็ต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้คนหูหนวกไม่ได้มีภาษาพูด แต่คนหูหนวกเป็นคนชาติพันธุ์เพราะมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ไม่ใช่คนใบ้ ไม่ใช่คนที่บกพร่องทางการได้ยิน (Hearing Impairment) หากแต่วัฒนธรรม ‘คนหูหนวก’ ที่ใช้ภาษามือในการสื่อสารของพวกเขาถูกกันออกจากส่วนกลาง หลายครั้งเราพบว่า คนหูหนวกถูกกีดกันการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับครอบครัว เช่น พ่อแม่หูดีที่ไม่ยอมให้ลูกใช้ภาษามือ โรงเรียนที่พยายามผลักให้เด็กฝึกพูดเพราะมองว่าถ้าไม่พูดก็สื่อสารกับเพื่อนไม่ได้ ซึ่งต่างจากประเทศในแถบยุโรป ที่หากมีนักเรียนหูหนวกในห้อง เพื่อนๆ ก็จะได้เรียนภาษามือ หรือแม้แต่คนในหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีคนหูหนวกอาศัยอยู่ ญาติพี่น้องหรือคนที่อยู่บริเวณนั้นก็มีโอกาสในการเรียนภาษามือ สิ่งเหล่านี้สะท้อนจากระดับย่อยอย่างครอบครัว ไปสู่ระดับโครงสร้างอย่างรัฐและระบบราชการที่ไม่เปิดกว้าง

เช่นเดียวกับความเห็นของพฤหัส ศุภจรรยา อาจารย์หูหนวกจากวิทยาลัยราชสุดาที่มองว่า ในไทยยังไม่เกิดการผลักดันเรื่องความเข้าใจต่อวัฒนธรรมคนหูหนวกมากพอ บางคนกลัวความพิการและการถูกเรียกว่าคนหูหนวก ทำให้เมื่อมีลูกหูหนวกก็มักถูกผลักให้ต้องปรับตัวและพยายามสื่อสารกับคนหูดีให้ได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เว้นก็แต่การใช้ภาษามือ หลายครั้งถึงแม้พ่อแม่อยากเรียนรู้ภาษามือ แต่ก็เป็นไปได้ยากหากไม่มีการสนับสนุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและเวลา ทำให้คนหูหนวกไม่สามารถสื่อสารกับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างได้ ไม่สามารถบอกปัญหา รวมทั้งเผชิญกับความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดโดยที่ไม่มีใครรับรู้

และถึงแม้จะใช้ภาษามือเหมือนกัน แต่ภาษามือก็แตกต่างแยกย่อยไปในแต่ละพื้นที่และภูมิภาค บางคนใช้ภาษามือทางการ บางคนใช้ภาษามือท้องถิ่นหรือภาษามือที่ใช้ภายในครอบครัวเท่านั้นดังที่ณัฐวิชญ์มองในมุมนักภาษาศาสตร์ว่า ภาษาคือพลวัตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าภาษามือจะเหมือนเดิมหรือไม่ การกำหนดให้ภาษาไทยเป็นภาษาค่ามาตรฐาน จะทำให้คนมากมายหลุดออกจากกรอบ ขาดการรับรู้และขาดการตระหนักเรื่องความหลากหลาย (1)

ปัญหาของการสื่อสารผ่านการใช้ภาษามือคงน้อยลงถ้าเราทุกคนได้เรียนรู้ภาษามือหรือมีล่ามภาษามือมากเพียงพอ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยเกิดขึ้นในไทยดังที่สุจิตรา พิณประภัศร์ ล่ามภาษามือและนักกฏหมายได้เล่าถึงปัญหาของจำนวนล่ามและการเข้าถึงล่ามในกลุ่มคนหูหนวก โดยสิทธิของคนของหูหนวกในการเข้าถึงบริการล่ามถูกจำกัดอยู่ 5 ด้านคือ การแพทย์ การสมัครงานและการประกอบอาชีพ การติดต่อตำรวจหรือชั้นศาล การประชุมอบรมสัมมนา และบริการสาธารณะอื่นๆ ซึ่งไม่ครอบคลุมการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จำเป็นต้องมีปฎิสัมพันธ์กับสังคม แม้ข้อกำหนดสุดท้ายจะระบุถึงบริการสาธารณะ แต่ก็ได้ล่ามยากหากไม่ได้ติดต่อหน่วยงานรัฐ ดังนั้นคนหูหนวกจึงต้องอาศัยความสนิทสนมกับล่ามเป็นการส่วนตัวหรือมีล่ามเป็นเพื่อนจึงจะได้คนช่วยแปล และสามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ล่ามคือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นที่สุดของคนหูหนวกที่จะทำให้เขามีสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมือง (2)

เรามักได้ยินคนหูหนวกหรือคนพิการหลายคนเล่าให้ฟังว่า เวลาไปอยู่ต่างประเทศ เขาแทบไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการเพราะเขาทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งสั่งพิซซ่า เป็นเพราะว่ามีการสนับสนุนให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ รัฐมองเห็นความสำคัญ พอกลับมาประเทศเราก็พบว่าติดระเบียบ ติดกฎกติกาเต็มไปหมดพอกลับมาแล้วยิ่งรู้สึกว่ากลายเป็นคนพิการ” สุจิตรากล่าว

 

อุปสรรคทางการสื่อสารสู่อุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เมื่อการสื่อสารของคนหูหนวกถูกจำกัดด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมอย่างล่ามที่มีไม่เพียงพอและเหตุผลนามธรรมอย่างทัศนคติที่ไม่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาที่คนหูหนวกเผชิญทับถม บ่มซ้อนกันโดยไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นับดาว องค์อภิชาติ ประธานชมรมคนหูหนวกไทยฟ้าสีรุ้งเล่าว่า ความเข้าใจของคนหูหนวกต่อกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมนั้นมีน้อยมาก จนอาจเรียกได้ว่าไม่มี ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการให้ความรู้เรื่องกฏหมายกับคนหูหนวกและคนหูหนวกก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะต้องไปหาความรู้เรื่องนี้จากที่ไหน 

คนหูหนวกไม่รู้ว่ากฏหมายคืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร อันไหนถูก อันไหนผิด หากโดนตำรวจจับเขาก็ไม่รู้ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง โดนละเมิดสิทธิจะไปฟ้องร้องก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ทั้งรวบรวมพยานหลักฐาน สอบถาม สืบสวนพยาน ฯลฯ คนหูหนวกไม่รู้จักเลย” นับดาวสะท้อน 

นับดาว องค์อภิชาติในชุดสีเขียว
นับดาว องค์อภิชาติ

อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาสังคมทำให้คนหูหนวกเชื่อว่าพวกเขามีคนดูแลผ่านมายาคติของสังคมที่มองว่าคนพิการต้องมีผู้ดูแลเพราะเป็นคนที่ไม่สามารถทำอะไรเองได้ เหมือนกับที่นับดาวได้ให้ข้อสังเกตว่า คนหูหนวกเองไม่ได้คิดถึงการเรียนรู้เรื่องกฏหมายเพราะคิดว่ามีคนดูแล มีคนสงสาร หลายคนใช้ชีวิตสนุกๆ เข้าชมรมหรือสมาคมคนหูหนวกเพื่อที่จะได้คุยกับเพื่อน แม้จะมีการอบรมเรื่องกฏหมายอยู่เรื่อยๆ แต่ก็กลับไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลเท่าไหร่นัก

คนหูหนวกบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ บางครั้งวิทยากรที่อบรมก็เล่าไปเรื่อยๆ แต่คนหูหนวกไม่เห็นภาพ บางคนก็ง่วงเพราะไม่มีภาคปฏิบัติหรือตัวอย่างให้พวกเขาได้ลองทำ ในโรงเรียนไม่มีสอนเรื่องกฏหมาย พอชีวิตจริงคนหูหนวกเลยโดนหลอกง่าย

นับดาวสะท้อนถึงเหตุที่ทำให้คนหูหนวกเป็นกลุ่มที่ไม่มีความรู้เรื่องกฏหมาย ซึ่งเหตุนี้ส่งผลให้ หนึ่ง คนหูหนวกไม่เข้าใจกระบวนการทางกฏหมายใดๆ เลย ไม่เข้าใจว่าทำไมไปแจ้งตำรวจแล้วจึงต้องรอ ทำไมต้องสอบพยาน เมื่อฟ้องแล้วก็อยากให้ตำรวจจับทันที 

สอง ภาษาที่คนหูหนวกใช้คือภาษามือ แต่หนังสือราชการ เอกสารกฏหมายล้วนเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น แถมยังเป็นภาษาไทยในระดับที่เข้าใจยาก คนหูหนวกจึงอ่านไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนหรือขั้นตอนต่างๆ ทำให้คนหูหนวกไม่ระวังในการทำสัญญา บางครั้งคนหูหนวกก็เซ็นต์สัญญาไปโดยอ่านไม่เข้าใจ ไม่มองว่าการให้เอกสารหลักฐานบัตรประชาชนหรือการเซ็นต์นั้นน่ากลัว เนื่องจากไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งเหล่านี้อันตรายเหมือนกับปืนหรือมีด เธอจึงมักแนะนำให้เพื่อนหูหนวกอ่านทวนให้ดีหรือหาคนอื่นที่ไว้ใจช่วยอ่านเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

การเข้าไม่ถึงความรู้เรื่องกฏหมายของคนหูหนวกทำให้คนหูหนวกเป็นกลุ่มที่เผชิญกับความรุนแรงโดยไร้ที่พึ่ง ดังที่นับดาวได้เล่าว่า คนหูหนวกมีปัญหาเรื่องความรุนแรง หลายคนถูกลวนลามแต่เข้าไม่ถึงกระบวนการทางกฏหมายทำได้เพียงบอกเล่าให้เพื่อนฟัง หลายคนกลัวตำรวจมองว่าคนหูหนวกผิด จึงเลือกที่จะยอมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำๆ

 

ข้อกำหนดของล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม

ในประเทศอังกฤษการปฏิบัติงานของล่ามภาษามือมีข้อกำหนดต่างๆ เช่น ในศาลล่ามจะต้องยืนตรงข้ามกับคนหูหนวกที่เป็นลูกความ ในขณะที่ล่ามภาษาพูดจะนั่งอยู่ด้านข้างลูกความ การใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารและการใช้ภาษามือในกระบวนการยุติธรรมมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดในการแปล และมีความซับซ้อนมากกว่า จากข้อมูลในบทความชื่อ The Advocate’s Gateway: Planning to Question Someone Who is Deaf (3) ระบุว่า ประโยคคำถามบางประโยคแปลเป็นภาษามือได้ยากหากไม่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น หากถามว่า ‘เขาตีคุณหรือเปล่า’ ล่ามจำเป็นจะต้องรู้ว่า ตีคว่ำมือหรือตีหงายมือ เพื่อแสดงออกเป็นท่าและสื่อสารกับคนหูหนวก หรือจำเป็นจะต้องรู้ว่า ร่างกายส่วนใดถูกทำร้ายจากทิศทางใดเพื่อให้ลูกความเข้าใจคำถาม หรือบางครั้งเมื่อลูกความตอบกลับด้วยภาษามือเพื่อแสดงท่าทางการทำร้าย ล่ามแต่ละคนก็อาจแปลออกมาเป็นทั้ง ‘ฉันตีเขา’ หรือ ‘ฉันตบเขา’ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสับสนได้ สมาคมล่ามภาษามือ (The Association of Sign Language Interpreters - ASLI) จึงแนะนำว่า ล่ามศาลควรมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ผ่านการสังเกตการณ์ประกบกับผู้เชี่ยวชาญ และจะต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำอยู่ที่ระดับปลอดภัยที่จะปฏิบัติงาน (safe-to-practise) (4)

ในระดับสากลตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ.2509 (International Covenant on Civil and Political Rights, 1966) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 ได้ระบุถึงสิทธิเรื่องหลักประกันขั้นต่ำผ่านการช่วยเหลืออย่างไม่คิดมูลค่า หรือไม่มีค่าตอบแทนในเรื่องล่าม ถ้าผู้นั้นไม่สามารถเข้าใจภาษาที่ใช้ในศาลนั้นๆ ได้ ข้อกำหนดนี้ไม่เพียงบังคับใช้กับผู้ที่ใช้ภาษาพูดอื่นเป็นภาษาหลัก แต่รวมถึงคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือด้วย

ในไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 กำหนดให้การสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีด้วยภาษาไทย แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแปลภาษาไทยท้องถิ่น หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ เช่น หูหนวก กฎหมายก็บัญญัติให้ศาลจัดหาล่ามภาษามือให้ อย่างไรก็ดี ล่ามที่ทำหน้าที่แปลจะต้องมีความเชี่ยวชาญในภาษานั้นๆ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมมีการอบรมเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญให้แก่ล่าม แต่สำหรับภาษาอื่นๆ เช่น ภาษามือ ยังไม่มีการจัดอบรม 

เมื่อย้อนกลับมาดูสิทธิของคนหูหนวกผ่านสิทธิคนพิการ คนหูหนวกมีสิทธิในการเข้าถึงล่ามและการช่วยเหลือทางกฏหมายตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 20 ข้อที่ 5 ที่ระบุว่า คนพิการมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม การพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และข้อ 7 ที่ระบุว่ามีบริการล่ามภาษามือตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งระเบียบดังกล่าวรวมถึงการใช้บริการเพื่อสื่อสารในระดับชั้นตำรวจและศาล 

โดยหากดูตามข้อมูลของระเบียบกระทรวงยุติธรรมในข้อ 4 ว่าด้วยการจ่ายค่าป่วยการแก่ล่ามและล่ามภาษามือที่ศาลจัดหาให้แล้วจะพบว่า ค่าป่วยการที่จ่ายให้แก่ล่ามหรือล่ามภาษามือถูกคิดเป็นรายชั่วโมงในอัตราตามที่ศาลเห็นสมควรไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 300 บาท และไม่เกินชั่วโมงละ 500 บาท ในขณะที่ล่ามประชุม สัมมนา หรือฝึกอบรมมีอัตราค่าตอบแทนชั่วโมงละ 600 บาท เบิกจ่ายได้ไม่เกิน 2 คนต่อชั่วโมง ไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน (5)

อย่างไรก็ดี แม้ล่ามภาษามือหูดีจะสามารถแปลสารของคนหูหนวกได้ แต่ไม่ใช่ว่าคนหูหนวกทุกคนใช้ภาษามือทางการได้ คนหูหนวกบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเรียนภาษามือหรือหูหนวกภายหลังไม่ได้มีทักษะด้านภาษามือเพียงพอที่จะสื่อสาร ทำให้ล่ามภาษามือที่เป็นคนหูหนวกต้องเข้ามามีบทบาทในการแปลจากคนหูหนวกและส่งต่อให้กับล่ามหูดี วัชรินทร์ ชาลี ล่ามหูหนวกเล่าว่า คนหูหนวกบางคนใช้ภาษามือธรรมชาติสำหรับสื่อสารกับคนในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเพียงคำง่ายๆ เช่น หิว ร้อน การสื่อสารที่จำกัดเช่นนี้ทำให้เมื่อเกิดคดีความแล้ว คนหูหนวกไม่สามารถให้ความหรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ล่ามหูดีเข้าใจได้

ตำแหน่งแปลภาษามือธรรมชาติที่ผมทำเป็นตำแหน่งที่หายากมาก ทั้งประเทศอาจมีคนหูหนวกเพียง 20 - 30 คน ที่แปลได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นล่ามในศาล หน้าที่ของผมคือการแปลให้กับคนหูหนวกที่ไม่ได้เรียนภาษามือและใช้ภาษาแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรมที่อยู่ เคล็ดลับของผมที่ทำให้สื่อสารได้คือการให้เวลา บ่อยครั้งคนหูหนวกที่ไม่รู้ภาษาจะไม่กล้าพูด บางคนก็หลบตา ผมก็พยายามชวนคุย สร้างความคุ้นเคย ถามว่า บ้านอยู่ไหนล่ะ กินข้าวหรือยัง มีแฟนไหม ฯลฯ พอเขาหายเครียดแล้วจึงเริ่มทำตามขั้นตอนของศาล” วัชรินทร์เล่า

วัชรินทร์ ชาลี
วัชรินทร์ ชาลี

ความยากของภาษามือธรรมชาติก็ส่วนหนึ่ง แต่ความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกส่วนที่ยากไม่แพ้กัน อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า คนหูหนวกส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องกฏหมายหรือกระบวนการยุติธรรม ทำให้ถึงแม้เข้าใจภาษามือธรรมชาติก็อาจแปลเนื้อหาที่มีความละเอียดซับซ้อนในเรื่องคดีความได้ยาก อีกทั้งการเป็นล่ามหูหนวกเองก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก หนำซ้ำยังติดระเบียบต่างๆ ที่ทำให้จำนวนล่ามมีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย 

ตอนนี้มีล่ามหูหนวกที่จดแจ้งชื่อกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอยู่ประมาณ 100 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นบัตรที่หมดอายุแล้วเช่นเดียวกับของผม พอมีเรื่องด่วนที่ศาล เช่น โจทก์หรือจำเลยใช้ภาษามือธรรมชาติ ผมก็ไปล่ามได้แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ศาลจังหวัดจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงอยากให้มีการสอบบัตรล่ามหูหนวกและยกระดับความรู้ของล่าม รวมทั้งได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้นสอดคล้องไปกับงานที่ซับซ้อนกว่าการล่ามทั่วไป” วัชรินทร์กล่าว

ในฐานะล่ามหูหนวก วัชรินทร์มองว่า หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการตัดสินคดีของคนหูหนวกอาจขึ้นอยู่กับการแปลของล่าม อย่างไรก็ดี แม้วัชรินทร์จะทำหน้าที่ล่ามเท่านั้น แต่หลายครั้งกลับถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับคนหูหนวกและมาช่วยให้พ้นผิด ล่ามจึงต้องแสดงตัวว่าเป็นกลาง ไม่มีการไปสวัสดีทักทายคนหูหนวกหรือเข้าไปคลุกคลีและต้องรักษาระยะห่าง 

 

ปัญหาการเข้าถึงล่าม ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เมื่อการเข้าถึงล่ามเป็นไปอย่างยากลำบากด้วยจำนวนที่น้อยนิด บวกกับความรู้เกี่ยวกับกฏหมายที่ล่ามต้องมี ทำให้หลายครั้งคนหูหนวกเสียโอกาสในการสื่อสารและสู้คดี

พอมีล่ามน้อย ล่ามก็ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปแปล แต่ในช่วงโควิด - 19 การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นเรื่องยาก ล่ามบางคนก็ไปไม่ทัน แปลออนไลน์ก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไปตามกระบวนการ

วัชรินทร์กล่าวพร้อมเล่าต่อว่า ในกระบวนการยุติธรรม การสื่อสารของคนหูหนวกและล่าม ก็เปรียบเสมือนการเสียบสายไฟ หากสายไฟขาด ไฟก็ไม่มีวันติด ล่ามจึงเป็นสายไฟที่เชื่อมระหว่างศาลกับคนหูหนวก หากคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือมีเพียงล่ามหูดีไปล่าม เขาจะไม่สามารถสื่อสารได้ถึงแม้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่สิ่งนี้เป็นการทำให้คนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือเข้าถึงสิทธิในการได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 อย่างที่รู้กันว่ากากใส่หน้ากากถึงแม้จะเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยแต่กลับเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารของคนหูหนวกเป็นอย่างมากเนื่องจากคนหูหนวกหลายคนใช้การอ่านปากเพื่อสื่อสารกับคนหูดีหรือถึงแม้สื่อสารกับคนหูหนวกด้วยกัน พวกเขาก็อาศัยการแสดงสีหน้าและท่าทางช่วยให้สารที่พูดคุยนั้นชัดเจนขึ้น วัชรินทร์จึงต้องขออนุญาติศาลเพื่อถอดหน้ากากสื่อสารกับคนหูหนวกอยู่เสมอ 

เช่นเดียวกับล่ามและนักกฏหมายหูดีอย่างสุจิตรา ที่มองว่าการเข้าถึงล่ามที่มีความรู้ด้านกฏหมายยังเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนหูหนวก เธอเล่าว่าที่ผ่านมาไม่เคยเห็นสถิติของคนพิการที่เข้าถึงสิทธิในเรื่องกระบวนการยุติธรรม แม้มีคณะอนุกรรมการในเรื่องการจัดความช่วยเหลือคนพิการด้านกฎหมาย แต่ก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนเท่าที่ควร จึงมองว่า คนพิการซึ่งรวมถึงคนหูหนวกไม่มีความรู้และไม่เข้าถึงความรู้เรื่องกฎหมาย เธอจึงตั้งใจทำเพจ ‘สำนักงานพิณประภัศร์ทนายความ’ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฏหมาย ซึ่งมีข้อได้เปรียบที่เธอสามารถอธิบายและให้คำปรึกษาแก่คนหูได้ด้วยภาษามือ

คนพิการหลายคนเวลาไปปรึกษาภาครัฐก็มักคุยเรื่องปากท้อง เงินกู้ หรือเบี้ยความพิการเสียเป็นส่วนใหญ่ น้อยมากที่จะปรึกษาเรื่องกฏหมาย หลายคนยังไม่รู้เลยว่ามีสิทธิด้านนี้ คนหูหนวกสนใจกฏหมายนะ แต่ไม่รู้จะไปคุยกับใคร คุยยังไงบางเรื่องก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เล่าผ่านล่ามยังยาก ยิ่งไม่มีล่ามจะเล่ายังไง” สุจิตราเล่า

ความฝันของสุจิตราตั้งแต่วัยเด็กคือการเป็นทนายและทำงานด้านกฏหมายแต่ตอนชั้นมัธยมปลาย เธอได้มีโอกาสเจอคนหูหนวกที่เผชิญกับปัญหาด้านการสื่อสารเป้าหมายของเธอจึงเปลี่ยนจากทนายทั่วไป กลายเป็นล่ามที่มีความรู้เรื่องกฏหมาย หรือทนายที่ใช้ภาษามือได้เพราะมองว่า ทักษะเหล่านี้จะมีประโยชน์กับคนหูหนวก 

เราเรียนล่ามภาษามือที่วิทยาลัยราชสุดาและเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเปิดควบคู่กันด้วยเพราะต้องการเป็นนักกฏหมายที่ให้บริการคนหูหนวก การเป็นนักกฎหมายที่ใช้ภาษามือได้แตกต่างจากนักกฏหมายที่พูดผ่านล่ามเพราะล่ามไม่ได้เข้าใจเนื้อหาของกฎหมายทั้งหมด ล่ามเข้าใจแค่ไหนเขาก็อธิบายให้คนหูหนวกได้เท่านั้น การเป็นนักกฏหมายที่รู้ภาษามือทำให้เราตอบในฐานะคนให้คำปรึกษาผ่านภาษามือ เป็นการสื่อสารทางตรงที่บทบาทไม่เหมือนกับล่าม” เธอเสริม

สุจิตรา พิณประภัศร์
สุจิตรา พิณประภัศร์

การสื่อสารผ่านล่ามอาจไม่เป็นอุปสรรคนักในคดีทั่วไปที่ไม่ได้มีความซับซ้อน แต่ในบางคดีสุจิตราก็เล่าว่า การแปลที่ผิดพลาดหรือความไม่รู้เรื่องกฏหมายของล่ามอาจตัดสินชีวิตของคนหูหนวกได้ บางคดีติดคุก ไม่ติดคุก ก็ขึ้นอยู่กับการแปล การแปลพลาดถือเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งอาจทำให้คนหูหนวกไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ นอกจากการอธิบายเรื่องกฏหมายแล้ว สำหรับคนหูหนวกการอธิบายบริบทแวดล้อมก็สำคัญมาก เธอเล่าว่า เธอต้องเตรียมตัวคนหูหนวกให้รู้ว่าเข้าไปจะเจออะไร เช่น ผู้พิพากษานั่งตรงนี้ คนไหนคือทนายฝั่งตรงข้าม คุณต้องใส่รองเท้าอะไร แต่งตัวแบบไหนหรือต้องปิดเสียงโทรศัพท์ บ่อยครั้งด้วยธรรมชาติของคนหูหนวกพวกเขามักจะเล่าเรื่องยาวๆ เล่าไปเรื่อยและไม่รู้ว่าประเด็นสำคัญอยู่ตรงไหนทำให้การทำงานในชั้นศาลนั้นยากขึ้น 

เราต้องบอกคนหูหนวกว่า ในศาลจะเล่าไปเรื่อยไม่ได้ ถามอะไรให้ตอบเท่านั้น ไม่อย่างนั้นศาลบันทึกไม่ได้ อย่าเล่าสลับไปสลับมา ต้องเรียงลำดับตามเหตุการณ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ยากสำหรับคนหูหนวก อย่างหนึ่งที่มั่นใจได้คือคนหูหนวกพูดจริงเสมอการเตี้ยมให้คนหูหนวกพูดอีกอย่างเป็นไปไม่ได้เลยเพราะเขาพูดสิ่งที่เห็นหรือทำและไม่เข้าใจว่าการโกหกต้องทำอย่างไร หากเราก็ถามเขาว่า เธอทำหรือเปล่า เขาทำเขาก็ตอบ ใช่! เวลาถามว่าไปขโมยทำไม คนหูหนวกก็ตอบกันตรงๆ ว่าหิว ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ติดคุกก็ยอมรับเพราะว่ามีข้าวกิน” เธอเล่า

จากประสบการณ์ของพิณประภัศร์การเข้าไม่ถึงข้อมูลและการบวนการยุติธรรมนั้นทำลายชีวิตคนหูหนวกได้จริง คนหูหนวกบางคนโดนหลอกจนเสียบ้านและที่ดิน ท้ายที่สุดก็ถูกไล่ที่เพราะบ้านถูกขายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แม้แต่คนหูหนวกเองก็ไม่เข้าใจว่า แค่เซ็นต์เอกสารนิดหน่อยทำไมจึงสูญเสียบ้าน เธอจึงต้องทั้งล่าม ทั้งพาไปติดต่อขอให้เพิกถอนนิติกรรม แม้ในกรณีดังกล่าวคนหูหนวกจะได้บ้านคืน แต่เธอเชื่อว่าจะมีคนหูหนวกอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึงข้อมูล ล่ามและกระบวนการยุติธรรมจนทำให้พวกเขาต้องสูญเสียทรัพย์สินไปในที่สุด

 

กระบวนการยุติธรรมที่อยากให้ไปต่อ

จากปัญหาของความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไปไม่ถึงการสื่อสารที่มีอุปสรรค ความขาดแคลนของจำนวนและความรู้ของล่ามทำให้คนหูหนวกเป็นคนอีกกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวนับดาวก็ได้มีข้อเสนอการเพิ่มความรู้ให้คนหูหนวกผ่านวิธีอบรมเชิงปฏิบัติการและละคร ซึ่งอาจเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฏหมาย การแนะนำขั้นตอนและวิธีการต่างๆ เมื่อคนหูหนวกเจอกับปัญหาการผลิดสื่อในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้คนหูหนวกสามารถกลับมาทบทวนเมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการ

คนหูหนวกงงนะเวลาเห็นข่าวคนประท้วงกันเรื่องสมรสเท่าเทียม แม้จะเห็นข่าวออนไลน์แต่ก็ไม่เข้าใจ ทั้งที่จริงแล้วคนหูหนวกก็อยากเข้าใจอยากรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรเพื่อใช้ปกป้องสิทธิของตัวเอง พอไม่รู้สิทธิเราก็เหมือนคนที่ไม่มีปากมีเสียง ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนละเมิดสิทธิ แล้วเขาจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร” นับดาวกล่าว

อุปสรรคเรื่องความรู้ของคนหูหนวกนั้นคล้ายๆ กับวัชรินทร์ที่มองว่าการทำให้คนหูหนวกเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ด้านแรก ชุมชนของคนหูหนวกไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ หูหนวกภายหลังหรือหูหนวกตั้งแต่กำเนิดจะต้องสอนกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเบื้องต้นแก่คนหูหนวก 

สอง งานล่ามที่ต้องมีการอบรมให้ความรู้เรื่องกฏหมายและต้องมีระบบดูแลล่าม เพราะการเป็นตัวกลางสื่อสารหลายครั้งก็ทำให้เกิดความเครียดและความกดดันทั้งจากสภาพแวดล้อมและคน หากสภาพจิตใจของล่ามไม่มีความพร้อม ก็ยากที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามหน่วยงานจองล่ามจะต้องมีความรู้ว่าจะส่งต่อคนหูหนวกไปที่ไหน หรือมีหน่วยล่ามเฉพาะด้านกฏหมายที่ช่วยเหลือคนหูหนวกได้ตั้งแต่เริ่มต้นทันท่วงที และมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ยุติธรรม การแปลในชั้นศาลนั้นซับซ้อนกว่าแปลทีวีหรือประชุม มีการใช้ภาษาในระดับที่สูงกว่า ค่าตอบแทนก็ควรต้องได้มากกว่า

ในขณะที่พิณประภัศร์มองว่า ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดการจ้างล่ามภาษามือเข้าทำงานในทุกจังหวัดโดยทั่วไปรัฐมีอัตราจ้างงานคนเข้ารับราชการแต่กลับไม่เปิดรับอัตราล่ามภาษามือ ตำแหน่งนี้สามารถเป็นล่ามและทำอย่างอื่นได้ด้วย การทำเช่นนี้จะทำให้ล่ามมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน หากตำแหน่งนี้มีอย่างทั่วถึง คนหูหนวกที่มาติดต่อก็สามารถเข้าถึงสิทธิได้และกำจัดข้ออ้างที่บอกว่าเพราะหูหนวกเลยสื่อสารไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้เธอยังอยากให้มีการพัฒนาศักยภาพล่ามอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงการประเมินและคัดคนออกดังเช่นในปัจจุบัน 

เราอยู่ในวงการล่ามกว่า 10 ปีก็ยังไม่เห็นการพัฒนาล่าม แต่อยู่มาวันหนึ่งจะคัดล่ามออกจากระบบด้วยการประเมินว่าสอบไม่ผ่าน ก็มองว่าไม่แฟร์ ถ้าเขาไม่เก่งก็ควรพัฒนาให้เก่ง ไม่อย่างนั้นล่ามที่มีน้อยเจอระบบคัดออกก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีก การเป็นล่ามนั้นไม่ง่าย หลายครั้งล่ามก็ทำด้วยใจอาสาหรือทำเพราะเป็นเพื่อนคนหูหนวกแต่งานอาสานั้นไม่ยังยืน การทำงานล่ามจึงควรมีค่าตอบแทนและทำจริงจัง อาจต้องแยกประเภทของล่าม พัฒนาทักษะและจัดเป็นเลเวลเพื่อเพิ่มคนในวงการให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงที่มากขึ้นของคนหูหนวกด้วย” พิณประภัศร์กล่าว

 

ล่ามภาษามือ
สุชาดา จิตรสุภาพ
วีรชิต ประสิทธิไกร
ชนากานต์ พิทยภูวไนย 


[1] https://thisable.me/content/2020/10/665
[2] https://thisable.me/content/2019/09/552
[3] https://www.krisdika.go.th/librarian/getfile?sysid=305506&ext=htm
[4] https://millneckinternational.org/resources/deaf-communicating-court
[5] https://mgronline.com/daily/detail/9540000048920