Skip to main content

คุณคิดว่าเสียงของความยุติธรรมนั้นดังพอหรือเปล่า? ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินเสียงของชาวบ้านที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ เสียงของนักกิจกรรมทางการเมือง เสียงของผู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ แม้เราอาจเคยได้ยินบ้าง แต่เสียงเหล่านั้นก็อาจยังดังไม่พอ เช่นเดียวกับเสียงของกระบวนการยุติธรรมของคนหูหนวก ที่เสียงเหล่านั้นยังแผ่วเบา จนแทบไม่มีใครเคยได้ยิน

ผู้ส่งสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร รวมกันเป็นองค์ประกอบของการสื่อสาร เราอาจสามารถเข้าถึงมันได้ด้วยการมองหรือฟัง ขณะที่สารบางอย่างอาจเรียกร้องทั้งการฟังและมองควบคู่กันไป แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสารในบางรูปแบบได้ จะเข้าถึงเรื่องราวและเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้อย่างไร หรือเมื่อเกิดสถานการณ์อันตรายหรือเหตุเลวร้าย พวกเขาจะทำอย่างไร 

แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงคนหูหนวก กลุ่มคนที่แม้แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยังเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมที่แทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงเลย แล้วพวกเขาทำอย่างไรเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และทำอย่างไรคนหูหนวกจึงจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ชวนคุยกับสุจิตรา พิณประภัศร์ ล่ามภาษามือและทนายความ จากนักศึกษาหลักสูตรล่ามภาษามือวิทยาลัยราชสุดาที่เรียนนิติศาสตร์ควบคู่ บ่มเพาะให้เธอเห็นถึงข้อจำกัดที่คนหูหนวกเผชิญ

ชวนคุณเงี้ยหูฟังเสียงความยุติธรรมอันแผ่วเบาของคนหูหนวก และชวนคิดไปต่อว่า จากเสียงของความยุติธรรมนี้ยังมีเรื่องอะไรที่เราต้องฟังให้มากขึ้น

เห็นอะไรตอนเรียนที่วิทยาลัยราชสุดา

สุจิตรา: ตอนเข้าปีแรก ด้วยความที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมของคนหูหนวก ก็ค่อนข้างตกใจ เมื่อต้องปรับตัวเข้าไปอยู่ในโลกของคนหูหนวก ที่นั่นมีกฏระเบียบเลยว่าต้องมีรูมเมทเป็นคนหูหนวก แรกๆ สื่อสารค่อนข้างยาก รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่พอเข้าใจมากขึ้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความแตกต่าง 

นอกจากเรียนวิชาภาษามือแล้ว ก็มีวิชาวัฒนธรรมของคนหูหนวกและประวัติศาสตร์คนหูหนวก ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนหูหนวกจึงเลือก คิดหรือทำแบบนั้น  ทำไมเวลาคุยกับคนหูหนวกเขาจึงจ้องหน้าเราตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะวัฒนธรรมเขาจะใช้ตามองเป็นหลัก

ทำไมจึงอยากเป็นนักกฎหมายที่ใช้ภาษามือได้

ตำแหน่งแรกที่เริ่มทำหลังเรียนจบคือนักวิชาการการศึกษา เราได้เป็นล่ามภาษามือในห้องเรียนให้เด็กหูหนวกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังลาออกเรารู้สึกได้ทันทีว่า มีล่ามในแวดวงการศึกษา แต่กลับไม่มีล่ามในแวดวงนักกฏหมาย ไม่มีล่ามที่เรียนนิติศาสตร์ ตอนนี้น่าจะมีเราคนเดียว  จึงคิดว่าอยากทำให้วิชากฎหมายเป็นประโยชน์สำหรับคนหูหนวกมากกว่านี้ และตัดสินใจว่า จะเป็นนักกฎหมายที่ใช้ภาษามือได้ นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันเหไปทางกฎหมายมากขึ้น  

เมื่อก่อนเวลาคนหูหนวกจะไปพบทนายก็ต้องนัดล่ามไปด้วย เกิดความยุ่งยาก เพราะต้องนัดทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน ระบบล่ามเองก็ไม่การันตีว่านัดแล้วจะได้เสมอไป หรือหากนัดมาแล้ว การแปลภาษากฎหมายให้เป็นภาษามือก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หากมีล่ามภาษามือที่รู้กฎหมายก็จะแก้ปัญหาส่วนนั้น 

เป้าหมายแรกที่อยากให้สำเร็จคือการเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนหูหนวก เพราะเรามีความรู้ความเข้าใจด้านนี้ และอยากบรรยายกฎหมายให้สมาคมคนหูหนวกแต่ละจังหวัด เพื่อสื่อสารว่า เรามีตัวตน หากมีปัญหาอะไรก็สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือ และพลักดันให้คนหูหนวกใช้สิทธิของตนเอง เช่นเรื่องกฎหมายมรดก  หลายคนคิดว่า คนหูหนวกเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ เราก็พลักดันจนเขาสามารถเป็นได้ เมื่อเกิดเคสแรกแล้ว ก็จะมีคนหูหนวกที่มองเห็นสิทธิของตนเองและลุกขึ้นผลักดันต่อไปไม่รู้จบ

เคสแรกที่ทำงาน

ช่วงแรก เราเริ่มต้นด้วยการผลักให้คนหูหนวกมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน มรดก และเรื่องในชีวิตประจำวัน คนหูหนวกบางคนพ่อแม่เสียชีวิต ได้พินัยกรรมมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าต้องติดต่อที่ไหน ขั้นตอนเป็นอย่างไร ล่ามเองก็ไม่รู้เพราะไม่เข้าใจกฎหมาย คนหูหนวกคนหนึ่งเคยเดินทางเป็นสิบๆ ที่เพื่อจัดการเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมาเจอเราที่งานบรรยายกฎหมาย เขาจึงถือพินัยกรรมเอามาให้เราช่วย เพราะเขาไม่เชื่อว่าตัวเองทำพินัยกรรม จัดการมรดกได้ เราจึงอธิบายไปว่าในเมื่อไม่มีกฎหมายอะไรที่ห้าม คุณทำได้อยู่แล้ว 

สำหรับคนหูหนวกเมื่อต้องติดต่อราชการ การจัดการเอกสารกฎหมายต่างๆ ก็ดูเป็นเรื่องยากไปหมด เราจึงช่วยแนะนำว่าต้องทำอย่างไรผ่านภาษามือซึ่งเป็นภาษาที่เขาเข้าใจดีกว่า 

นอกจากเรื่องพินัยกรรมก็ยังมีเรื่องอื่น เช่น ปัญหาฉ้อโกง งาน เรื่องในครอบครัว คนหูหนวกมีปัญหาเหมือนคนหูดีทุกเรื่อง บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องถึงชั้นศาล แค่ต้องการคำปรึกษา เพราะการเข้าาถึงข้อมูลเป็นเรื่องยาก ทั้งจากไม่มีข้อมูล หรือไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลที่ดีพอ 

จำนวนของคดีคนหูหนวก

ยังถือว่าน้อย เราถึงพยายามออกบรรยายกฎหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เขาเข้าถึงสิทธิของตนเอง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มีการพูดถึงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า คนพิการไม่ต้องออกค่าทนาย ศาล จนถึงประกันตัว แต่สิทธินี้จะมีคนพิการกี่คนที่รู้ จึงมีคนมาใช้น้อยมากๆ หรือบางคนแม้รู้ว่ามีสิทธิ แต่เมื่อต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่างซึ่งกินระยะเวลานาน ก็ยอมเสียค่าใช้จ่ายจ้างทนายด้วยตนเอง

เท่าที่พบคนหูหนวกมีความเข้าใจด้านกฎหมายมากน้อยขนาดไหน

คนหูหนวกหลายคนไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ด้านกฎหมาย บางคนก็แยกไม่ออกระหว่างคดีแพ่งกับคดีอาญาว่าแตกต่างกันอย่างไร เขาคิดว่าทุกอย่างสามารถแจ้งตำรวจได้ทั้งหมด ต้องแจ้งความเลย ศาลก็คิดว่ามีแค่ศาลเดียว ซึ่งในความเป็นจริงคดีจะแบ่งไปตามประเภทของศาล คดีครอบครัวต้องไปศาลนี้ คดีแพ่งต้องไปศาลนี้ เขามีพื้นฐานค่อนข้างน้อย เคยมีคนหูหนวกเคยเอาสัญญากู้มาให้ดู เราพบว่าเขาเซ็นต์ไม่ถูกช่อง ไม่เข้าใจว่าผู้กู้คือใคร หรือผู้ให้กู้คือใคร หรือบางคนก็เซ็นต์ค้ำประกัน ทั้งที่ไม่เข้าใจผลภาระทางกฎหมาย ซึ่งมีไม่น้อย หากเปรียบเทียบกับคนหูดีที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ความไม่รู้กฎหมายก็พอๆ กัน แต่สำหรับคนหูหนวกนั้นเพิ่มเรื่องการเข้าไม่ถึงไปด้วย

เราเชื่อว่าถ้ามีการหยิบยกข้อมูลเหล่านี้มาทำเป็นสื่อสำหรับคนหูหนวก เขาจะสามารถเข้าถึงได้ เวลาเราออกไปบรรยายกฎหมายด้วยภาษามือ คนหูหนวกจะตั้งใจฟังมากเพราะเป็นเรื่องที่เขาอยากรู้ แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ การบรรยายจะเริ่มตั้งแต่กฎหมายขั้นพื้นฐาน คดีมีกี่ประเภท ในกระบวนการยุติธรรมมีใครบ้าง ศาลมีกี่ประเภท มีกี่ศาล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอะไร อยู่ส่วนไหนของจังหวัด เวลาเกิดคดีความแบบนี้จะต้องไปที่ไหน อย่างน้อยคือเมื่อเกิดเรื่องแล้วรู้ว่าไปไหน และติดต่ออย่างไร หากมีเวลาเหลือก็จะลงรายละเอียดในเรื่องที่เขาสนใจ เช่น กฎหมายมรดก กฎหมายการกู้ยืมเงิน การเช่าซื้อ อะไรที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน

คนหูหนวกบางคนมีเงินทองก็จริง แต่โดนหลอกก็ไม่น้อย บางคนโดนให้เซ็นต์เอกสารปลอม โดนเอาทรัพย์สินไปจำนอง โดนหลอกเอาสินทรัพย์ไปขาย โดนหลอกขายที่ดินหรือโดนหลอกเอาที่ดินมาขายให้ ในชั้นศาลเวลาทำคดี ก็ต้องช่วยแก้ต่างให้ศาลเข้าใจว่า คนหูหนวกไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ คนแปลกหน้าพาคนหูหนวกไปทำธุรกรรมโดยไม่มีล่ามภาษามือนั้นเป็นเรื่องแปลก การจะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าคนหูหนวกถูกหลอก หรือไม่เข้าใจกฎหมายนั้นยาก เพราะต้องอธิบายไปถึงวัฒนธรรมว่าต่างจากคนทั่วไปอย่างไร มีวิธีการตัดสินใจที่แตกต่างอย่างไร และเรามักอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้คนในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันฟังเสมอ 

ล่ามภาษามือทั่วไปเข้าใจเรื่องกฎหมายมากแค่ไหน

เข้าใจบ้างแต่น้อย ล่ามเองก็มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ล่ามที่มีความเข้าใจด้านกฎหมายยิ่งน้อยไปใหญ่ ล่ามหลายคนไม่แตะกฎหมายเพราะไม่สะดวกใจ คิดว่าตนเองมีความรู้เรื่องกฎหมายน้อย มันมีความซับซ้อนการแปลไม่ละเอียดอาจส่งผลกระทบ เช่น คำถามที่ว่า เสพหรือขาย การแปลนั้นต่างกันและค่อยข้างละเอียดอ่อน คนเป็นล่ามต้องระวังอยู่เสมอ เคยเจอล่ามโทรมาปรึกษาเราว่า แบบนี้เข้าใจถูกไหม แปลแบบนี้ได้ไหม 

ล่ามมีสองประเภทคือล่ามคนหูดีกับล่ามคนหูหนวก ถ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ อย่างเรื่องเพศ ความรุนแรงในครอบครัว หรือเรื่องเยาวชน จะต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าล่ามหูดีไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานเรื่องนั้น ก็จะเอาล่ามหูหนวกเข้ามาช่วย โดยการรับสารที่เป็นภาษามือจากล่ามหูดีไปแปลให้คนหูหนวกอีกที  เพื่อช่วยให้เข้าใจในประเด็นบางอย่างซึ่งยิบย่อยและละเอียดอ่อนได้ดีกว่า และเป็นการทบทวนความหมายซ้ำด้วย

ปกติแล้วคนหูหนวกแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร

คนหูหนวกส่วนใหญ่ไม่ปรึกษาพ่อแม่หรือครอบครัวตัวเองหากครอบครัวเป็นคนหูดีและไม่ได้เรียนภาษามือ คนหูหนวกคนเดียวในบ้าน ทำให้การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ แทบไม่มีเลย คนหูหนวกจึงมักมีสังคมเพื่อนเป็นคนหูหนวกด้วยกัน 

เวลาเกิดเหตุร้าย หากเป็นคนหูดีเขาจะรู้ว่า ต้องไปที่ไหนหรือโทรแจ้งใคร แต่สำหรับคนหูหนวก ก็จะต้องสื่อสารผ่านล่ามก่อนเป็นอันดับแรก นั่นแสดงว่าเขาเข้าถึงการช่วยเหลือได้ช้ากว่าคนอื่นมาก ไม่ว่าจะเจ็บแค่ไหนหากไม่มีล่ามก็สื่อสารลำบาก นอกจากนี้เคสลูกจ้าง ที่เป็นคนหูหนวกก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน เมื่อเกิดปัญหาคนหูหนวกก็ไม่รู้ว่าสามารถร้องเรียนได้ กลายเป็นต้องยอมรับชะตากรรมทั้งที่ไม่ยุติธรรม การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้เขาลำบากกว่าคนอื่น

ทำไมคนหูหนวกเข้าไม่ถีงสื่อที่มีอยู่ทั่วไป

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะสามารถเข้าถึงผ่านการอ่านได้ ขนาดเรื่องกฎหมายเองก็ยังผ่านการแปลไทยเป็นไทย หากซื้อหนังสือมาอ่านเองอย่างเดียวก็แทบไม่รู้เรื่อง คนหูหนวกก็เช่นเดียวกัน หลายคนอ่านไม่เก่ง ยิ่งอ่านภาษากฎหมายยิ่งไม่เข้าใจ ทั้งกฎหมายจำนอง จำนำ ค้ำประกัน จะเข้าใจได้อย่างไร ขนาดเราเรียนกฎหมายยังต้องมีคนคอยอธิบาย มีตัวอย่าง ให้ดูถึงจะเข้าใจ ฉะนั้นการอ่านมันไม่ได้ฟังก์ชันสำหรับทุกคน

แม้ในเชิงนโยบายจะมีสิทธิของคนของหูหนวกที่กำหนดให้เข้าถึงบริการล่าม แต่หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ เวลาเผชิญกับปัญหาไม่สามารถเอาตัวรอดได้ อย่างน้อยที่สุดคนหูหนวกควรรู้ว่าหากมีปัญหาต้องคุยกับใคร ปรึกษาใครที่จะสามารถให้ข้อมูลได้  เรื่องล่ามภาษามือที่มีน้อยก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง บริการล่ามภาษามือระบุว่า สามารถรับบริการได้แค่ 5 เรื่อง คือ เรื่องการแพทย์ การสมัครงานและการประกอบอาชีพ การติดต่อตำรวจ หรือชั้นศาล การประชุมอบรมสัมมนา และบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น ติดต่อหน่วยงานราชการ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ระบุตามที่กฎหมาย แต่ในชีวิตคนเรามีมากกว่านั้น

การจำกัดการใช้งานล่ามภาษามือเพียงแค่ 5 ด้านนั้นไม่พอ คนหูหนวกต้องการล่ามตอนจัดงานสำคัญ งานแต่ง งานบวช งานศพ  และพบปะพูดคุยกับคนอื่น แม้จะมีข้อสุดท้ายอย่างบริการสาธารณะ แต่ก็กลายเป็นว่า ถ้าไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ก็แทบจะขอล่ามไม่ได้ เช่น ปัญหาภายในครอบครัวและต้องการล่ามเข้าไปสื่อสาร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้ ดังนั้นมุมมองของผู้ให้บริการกับมุมมองของผู้รับบริการ ก็มีความต่างกันว่าอะไรคือความจำเป็นพื้นฐาน ปัจจุบันต้องอาศัยความสนิทสนมกัน ถ้าสนิทกับล่าม หรือมีล่ามเป็นเพื่อน ล่ามก็จะไปช่วย แต่ถ้าไม่ได้สนิทกันบางทีก็ต้องจ้าง หรือหากไม่มีเงินจ้าง ก็ปล่อยตามมีตามเกิด ไม่ต้องมีล่าม ใครทำอะไรก็ทำแต่คนหูหนวกไม่มีส่วนร่วม  

ล่ามคือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นที่สุดของคนหูหนวก นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสนับสนุนเต็มที่ ถ้าคิดบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน พวกเขาต้องได้ ถ้ามองว่าล่ามไม่พอก็ควรผลิตล่ามให้มากขึ้น ปัจจุบันเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าอยากจะส่งเสริมเรื่องนี้หรือไม่

เราคิดว่า แต่ละจังหวักควรมีล่ามอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน นั่งประจำอยู่ที่ พมจ.และลงพื้นที่ ไม่ว่าที่โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ศาล ชุมชน คนหูหนวกก็สามารถใช้สิทธิได้ตลอด การมีล่ามภาษามือในภูมิภาค จะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงได้รวดเร็วมากขึ้น หากเกิดปัญหาอะไร ล่ามประจำจังหวัดจะเข้าถึงคนหูหนวกได้ก่อนใคร เราคิดว่าคุ้มค่ากับการเสียงบประมาณ 

เรามักได้ยินคนหูหนวกหรือคนพิการหลายๆ คนเล่าให้ฟังว่า เวลาไปอยู่ต่างประเทศ เขาแทบไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการ เพราะเขาทำได้ทุกอย่างจนไปถึงการสั่งพิซซ่า นั่นเพราะว่า มีการสนับสนุนให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ รัฐมองเห็นความสำคัญ พอกลับมาประเทศเราก็พบว่าติดระเบียบ ติดกฎกติกาเต็มไปหมด พอกลับมาแล้วยิ่งรู้สึกว่ากลายเป็นคนพิการ

ประเทศไทยควรเริ่มอย่างไร

อาจจะไม่ต้องถึงขั้นบังคับให้ล่ามเรียนกฎหมาย แต่ควรมีการอบรมพัฒนาศักยภาพของล่ามภาษามือ เสริมความรู้ ในหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิชาทางการแพทย์ กฎหมาย เทคโนโลยี รัฐศาสตร์หรือสังคม เพราะยังมีความรู้อีกหลายแขนงที่ต้องใช้คู่กับภาษามือ 

คนพิการมีศักยภาพเท่ากับเราแต่เขาเข้าไม่ถึงโอกาส บางคนคิดว่า จะต้องช่วยเหลือคนพิการอยู่เสมอ เพราะเขาน่าสงสาร คนพิการเป็นกลุ่มด้อยโอกาส แต่เรากลับไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเขาได้สิ่งที่ควรจะได้ตั้งแต่แรกอย่างเท่าเทียมกัน คนพิการก็สามารถพัฒนาได้เท่ากับเราทุกอย่าง ฉะนั้นเเราต้องเลิกมองกันในเชิงสงเคราะห์ และมองให้รู้สึกเท่าเทียมกันบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องย้ำกับสังคม