Skip to main content

หลายคนมีความฝันที่อยากจะเป็นสิ่งนั้น อยากทำสิ่งนี้ ไม่ว่าจะฝันเล็ก ฝันใหญ่และแทบทุกคนอยากทำให้ฝันเป็นจริง เช่นเดียวกับคนพิการที่พวกเขาก็มีความฝันไม่ต่างกัน หากแต่ข้อจำกัดบางอย่างและอุปสรรคที่ต้องเจออาจทำให้ไม่สามารถก้าวไปถึงความฝันได้ 

Thisable.me ชวนคุยกับคนพิการที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย 5 คน ได้แก่ บุญรอด พลอย ฟ้า ปิ๊กและแพง ถึงเรื่องอาชีพในฝันหากไม่มีอุปสรรคใดๆ มากั้น  อะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ฝันเป็นจริง ร่วมอ่านเสียงสะท้อนของพวกเขา และข้อเสนอต่อนโยบายด้านคุณภาพชีวิตคนพิการที่พวกเขาต้องการเพื่อก้าวสู่อาชีพที่อยากจะเป็น

มาอ่านกันว่า หากคนพิการสามารถประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่ฝันอยากเป็น โดยไม่ต้องเผชิญอุปสรรคผ่านข้อจำกัดของร่างกายแล้ว พวกเขาฝันอยากเป็นอะไร?

 ภาพบุญรอด อารีย์วงษ์ใส่แว่นดำนั่งถือเครื่องดื่ม


อยากเปิดโรงเรียนสอนโขน เป็นหมอ
หรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
 

 “อาชีพที่เราใฝ่ฝันมีหลายอาชีพ หนึ่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สองหมอ สามอยากเปิดโรงเรียนสอนโขน ที่อยากทำมากที่สุดคงเป็นโรงเรียนสอนโขน เพราะอาจเป็นความฝันที่จับต้องได้ที่สุด เรารำได้ ถึงแม้จะรำไม่สวยก็สอนได้ บางท่าถ้าสอนไม่ได้ก็สามารถจ้างคนอื่นมาสอน โดยมีเราเป็นเจ้าของกิจการ แต่เพราะช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ฝันยังไม่เป็นจริงสักที ถ้าอนาคตอะไรดีขึ้นก็คงเปิดตามที่ตั้งใจไว้

“งานในปัจจุบันเป็นงานที่ไม่ตรงกับความฝันของเรา แต่เป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข เราเป็นยูทูบเบอร์ ในช่อง poocao channel ทำให้ได้พบปะผู้คน ได้มีความคิดสร้างสรรค์ผลิตเนื้อหาต่างๆ และได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น แม้จะชอบแต่ก็ไม่ใช่อาชีพที่ทำแล้วมีความสุข 100 เปอร์เซ็นต์ หากได้ทำตามความฝันคงจะดีกว่านี้

“อุปสรรค์ที่ทำให้เราไม่สามารถไปถึงความฝันมีหลายอย่าง เช่น เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไม่ได้ เป็นเพราะเขาต้องการคนที่เพรียบพร้อมด้วยกริยาหรือรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งเราไม่สามารถเป็นได้ หรือการเป็นหมอก็ต้องมีร่างกายแข็งแรง แต่เราเองหลังเป็นโรคมะเร็งตับตั้งแต่อายุ 3 เดือน กล้ามเนื้อก็ยึด ส่งผลให้เดินไม่สะดวก ก็อาจทำให้รักษาคนไข้ไม่ได้ 

“ครอบครัว สังคม โรงเรียน เพื่อน เป็นปัจจัยสำคัญต่อความฝันของเรา แต่ครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถ้าครอบครัวไม่สนับสนุน เราจะไม่สามารถไปถึงความฝันใดๆ ได้เลย โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความฝันมาก  หากเรากำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแต่อาจารย์แนะแนวไม่ให้คำแนะนำว่า สามารถเรียนอะไร ก็คงไม่รู้ว่าควรไปทางไหน ต่อมาคือสังคม เป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ถ้าสังคมเปิดโอกาสให้คนพิการในการทำงาน คนพิการก็มีโอกาสและไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดเรื่องร่างกาย สุดท้ายคือเพื่อน เพื่อนเป็นคนที่สำคัญ เป็นที่ปรึกษาที่ช่วยสนับสนุนให้มีกำลังใจในการทำความฝัน

“เราควรลบภาพจำว่า คนพิการประกอบอาชีพได้ไม่กี่อย่าง เช่น ขายลอตเตอรี่ หมอนวด ฯลฯ เพราะในปัจจุบันคนพิการสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ช่างแต่งหน้า พยาบาล วิศวกร ฯลฯ ขอแค่เปิดโอกาสให้ พวกคุณจะเห็นว่าคนพิการสามารถทำได้ทุกอย่างจริงๆ การสนับสนุนและผลักดันให้คนพิการไปถึงความฝัน ต้องอาศัยความร่วมมือของสื่อในการสร้างภาพจำใหม่ ทำให้เห็นว่าคนพิการสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เพื่อให้คนในสังคมเปิดใจยอมรับมากขึ้น ภาครัฐเองก็ต้องเปิดโอกาสให้คนพิการทำงานได้จริง ถึงแม้จะมีกฎหมายรองรับว่า ต้องรับคนพิการเข้าทำงานแต่บางบริษัทรับแล้วก็ให้ทำงานอยู่บ้านและจ่ายเงินเดือน สิ่งเหล่านี้ประกอบกันทำให้คนพิการไม่สามารถทำตามความฝันได้”

 

กนิฐาใส่แมสนั่งอยู่บนวีลแชร์


อยากผลิตน้ำหอม
 

“ความฝันของเราเริ่มต้นจากการอ่านการ์ตูนในแอปพลิเคชันเว็บตูน ตัวละครเอกในเรื่องเรียนคณะที่เกี่ยวกับการทำน้ำหอม เราจึงอยากเรียนคณะนี้ เพราะคิดว่า การทำน้ำหอมนั้นว้าวมาก น่าสนใจและอยากจะลองทำ แต่เพราะความฝันเกิดขึ้นในช่วงที่เข้ามัธยมปลายแล้ว ซึ่งเราเลือกเรียนสายศิลปภาษาอังกฤษ-จีน หากจะเรียนเกี่ยวกับน้ำหอมต้องเรียนสายวิทย์ แถมตอนนั้นเราพิการแล้ว เลยคิดว่าความฝันไม่น่าเป็นไปได้ ปัจจุบันเราจึงเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์

“เราเริ่มป่วยตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ด้วยโรคกล้ามเนื้อเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายอ่อนแรงไม่เท่ากัน โดยการอ่อนแรงบริเวณขาจะมากกว่าแขน จึงทำให้ต้องใช้รถเข็นไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน

“ความฝันของเราเจออุปสรรคตั้งแต่การเลือกคณะ เพราะแต่ละคณะกำหนดเกณฑ์ในการรับสมัครที่แตกต่างกัน คณะสายวิทย์ส่วนมากจะไม่ค่อยรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว นอกจากจะมีข้อจำกัดด้านการศึกษา ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสบการณ์เพราะความพิการทำให้เราพลาดที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ แต่สำหรับเราคนรอบข้างไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความฝัน เพราะเราจะตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเราเอง 

“การที่คนพิการจะไปถึงอาชีพหรือความฝันได้ อันดับแรกต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว ครอบครัวต้องให้เขาลองทำ อย่าคิดว่าคนพิการทำไม่ได้หรอก ต่อมาก็คือโรงเรียน อยากให้โรงเรียนจัดกิจกรรมที่คนพิการสามารถเข้าร่วมได้ เช่น กีฬาสี ใครจะไปรู้ว่าอนาคตเขาอาจได้เป็นนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองทำจะทำให้พวกเขารู้ว่าชอบอะไรและฝันอะไร  สุดท้ายคือการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดกิจกรรมต่างๆ  โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ที่รองรับ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสได้ลองทำหลายๆ อย่าง สุดท้ายหากใครอยากพูดคุยกับ สามารถติดตามได้ที่ยูทูบช่อง pepoei 

 

ปรียาภาใส่สูทและแว่นดำ แล้วก็โพสท่าถ่ายรูป


อยากเป็นนักบิน
 

“อาชีพในฝันของเราคือนักบินเพราะว่าอยากเที่ยวรอบโลก จึงเลือกเรียนในคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาการจัดการธุรกิจการบิน แต่ไม่ได้เรียนเป็นนักบิน เราเรียนเกี่ยวกับแอร์โฮสเตส หลังเรียนจบไปสมัครตำแหน่งพนักงานภาคพื้นดิน ที่ทำหน้าที่ดูแลตั๋วโดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินหรือดูแลเรื่องเช็คอินในสนามบิน ก็ไม่มีบริษัทไหนรับเราเลย เขาบอกว่า นั่งรถเข็นแบบนี้จะไปเป็นภาระเขา เราอยากบอกว่า ไม่ได้ต้องการไปเป็นภาระ แค่อยากเข้าไปทำงาน แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยเปิดกว้างและยังไม่ยอมรับคนพิการ

“ความพิการของเราเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 2 เดือน จากอุบัติเหตุรถชนประสานงากับรถคนเมา ที่จังหวัดสงขลา ตอนนั้นพี่เลี้ยงกลับไปเอาของที่บ้านและเอาเราไปด้วย พี่เลี้ยงขับรถมอเตอร์ไซค์และเอาตัวเรานั่งเก้าอี้เด็กหน้ารถ ระหว่างทางที่จะกลับบ้าน ระยะแค่ 100 เมตร ก็มีรถกระบะขับประสานงาเข้ามาอยู่ในเลนและพุ่งเข้าชนอย่างแรง จนตัวเรากระเด็นไปอยู่บนหน้ากระโปรงรถ หมอบอกว่าทำใจนะ ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต เพราะเส้นประสาทที่ไขสันหลังโดนกระแทก

“ที่ผ่านมาเรามองว่าความพิการไม่เป็นอุปสรรคต่อองค์กร เราสามารถทำงานได้ แต่องค์กรจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ลิฟต์ ฯลฯ กฎหมายที่ระบุว่า ทุกองค์กรต้องรับคนพิการนั้นยังย้อนแย้งกับความเป็นจริง จึงอยากให้คนในสังคมเปิดกว้างและไม่บูลลี่คนพิการเพราะคนพิการก็มีหัวใจ โชคดีที่ครอบครัว สังคมรอบตัว โรงเรียนและเพื่อนไม่เป็นอุปสรรคต่อความฝัน แม่เราจบอกว่า อยากทำอะไรทำไปเลย ทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่สอนให้เราอ่อนแอ แต่สอนให้เผชิญกับโลกความเป็นจริง

“เราอยากให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต เช่น ทางลาด ห้องน้ำ หรือลิฟต์ ปัจจุบันเราขึ้นรถเมล์ก็ไม่ได้เพราะบางคันไม่มีทางลาด ถึงเป็นคันที่ขึ้นได้ก็มีคนมองว่าทำให้รถช้า ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วได้ขึ้นรถเมล์เรารู้สึกอะเมซิ่งมาก นอกจากนี้ยังได้นั่งวีลแชร์เข้าเซเว่น ซึ่งตอนอยู่ไทยเราไม่เคยได้เข้าเพราะเซเว่นทุกที่เป็นบันไดสูง ”

 

ชนิกานต์ถ่ายรูปที่มีดอกไม้สีเหลืองเป็น Backgroud อยู่ด้านหลัง


อยากเป็นบาริสต้า
 

“เราอยากเป็นบาริสต้าชงชาในร้านคาเฟ่ เพราะปกติเป็นคนชอบกินชา จึงคิดว่าถ้าได้ชงชาให้คนอื่นกินก็น่าจะดี แต่เพราะเราตาบอดสนิทตั้งแต่เกิด เห็นแค่แสง คนที่บ้านกลัวจะโดนน้ำร้อนลวกจึงไม่มีโอกาสได้ทดลองทำเลย อยากมีโอกาสได้ลองฝึกเพราะคิดว่าเราทำได้ถ้าได้ลอง

“ปัจจุบันเรากำลังเรียนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความฝัน เพราะเป็นคนชอบอ่านและเขียน คิดว่าถ้าเรียนคณะนี้จะสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปช่วยคนอื่นได้ เช่น เขียนบทความทางด้านกฎหมาย เรามองว่าครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความฝัน ถ้าพวกเขาไม่สนับสนุน เราก็ไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้ครอบครัวและคนรอบข้างเปิดใจรับฟังและให้โอกาสคนพิการได้ลองทำ คนพิการทางสายตาก็สามารถทำอะไรได้เหมือนคนทั่วไปแม้จะมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ บ้าง

“เราอยากให้มีการฝึกอบรมการเป็นบาริสต้า แม้จะมีอยู่แล้วแต่อยากให้มีมากกว่านี้ และอยากได้การสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้างและภาครัฐ เพราะปัจจุบัน มีคนพิการไม่มีงานจำนวนมาก ถ้าได้การสนับสนุนคนพิการทุกคนก็คงสามารถมีงานทำได้”

แพงหันหน้ามองขวาแล้วยิ้มอย่างสดใส


อยากเป็นช่างภาพ
 

“เราอยากเป็นช่างภาพ ได้ท่องเทียวไปทั่วโลก มีงานลงในนิตยสารหรือหนังสือต่างๆ และอยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง เพื่อให้เปิดโอกาสคนที่มีความฝันในแบบเดียวก้นเข้ามาทำงานร่วมกัน แต่เราไม่ได้เรียนทางที่ฝัน เพราะเราเดินไม่สะดวก เนื่องจากคลอดก่อนกำหนดทำให้หยุดหายใจไปสองครั้ง สมองส่วนการเคลื่อนไหวหยุดทำงานชั่วขณะ ยิ่งการเดินทางในบ้านเราไม่ได้เอื้ออำนวยต่อทุกคนก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก  เราอยากให้การเดินทางนั้นสะดวกสำหรับทุกคน ในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนไม่พิการ ก็สามารถเดินฟุตปาธเส้นเดียวกันได้ อุปสรรคในเมืองไทยทำให้เราเลือกเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะหากไม่สามารถ่ายรูปเพื่อเก็บเป็นความทรงจำได้ ก็เรียนรู้ผ่านพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจับต้องได้และถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพถ่าย

“เราไม่เดินตามความฝันเพราะมองว่าความฝันของเราไม่ได้มีแค่เราคนเดียว แต่ต้องแบกรับความคาดหวังจากคนรอบข้าง ที่อยากให้เลือกทางที่เป็นไปได้ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย เราเองก็คงต้องพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าอาชีพที่จะทำ ครอบครัวยอมรับและเชื่อว่าเราทำได้

“สำหรับเราครอบครัวเป็นตัวผลักดันที่ทำให้ไปถึงความฝัน  คนอื่นจะมองว่ายังไงไม่ได้สนใจเลย ถ้าครอบครัวไม่ให้โอกาสเราตั้งแต่แรก เราคงไม่สามารถไปโรงเรียน เข้าสังคม หรือมีเพื่อนได้เลย

“สิ่งที่คนพิการอยากได้คือ สิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียม ความเท่าเทียมคือการยอมรับและเปิดโอกาส ที่จะทำให้คนพิการทำตามความฝัน ต่อให้คนอื่นบอกกับเราว่า เราต้องสู้สิ เราต้องพยายามสิ แต่ถ้าไม่ได้รับโอกาส เราก็ย่ำอยู่ที่เดิม สุดท้ายแล้วโอกาสจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน”