เมื่อ 21 ตุลาคม 2563 ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัดได้จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี ’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว” ปีที่ 3 โดยจากเสียงสะท้อนสองครั้งที่ผ่านมาพบว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นเพียงงานแนะแนว ที่มีบูธแนะนำสถานศึกษา แต่สุดท้ายเด็กพิการก็ไม่รู้จะเรียนอะไร ในครั้งนี้จึงจัดกระบวนการค้นหาตัวเองและแนวทางการเลือกคณะหรือสาขาที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในการเลือกสาขาที่ต้องการเรียน
สำรวจอาชีพที่ใช่ สาขาเรียนที่ชอบในโซน “ค้นหาตัวเอง”
ระหว่างงานศิลปะกับคอมพิวเตอร์ชอบอะไร?
ชอบทำงานศิลปะลงกระดาษหรือจอคอม?
ชอบวาดอะไร?
ชอบวาดเองหรือชอบสอนเพื่อนด้วย?
ระหว่างทำเองกับสอนเพื่อนแบบไหนมีความสุขมากกว่า?
ชอบทำงานแบบคิดเองหรือทำตามคำสั่ง?
เสียงถามคำถามจากกระบวนกรแต่ละโต๊ะดังต่อเนื่อง คำถามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ความถนัดและความชอบของเด็กพิการแต่ละคน เพื่อแนะแนวสาขาที่เหมาะสมในการเรียนต่อ
สิ่งแรกที่เด็กพิการทุกคนต้องทำเมื่อเข้าไปในโซนค้นหาตัวเองคือ การทำแบบทดสอบเพื่อประเมินตัวเองว่ามีความถนัด ชอบหรือให้ความสนใจอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งความถนัดคือ สิ่งทำได้ดี แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ชอบทำก็ได้ ส่วนสิ่งที่สนใจคือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ดี โดยให้คะแนนเป็นดาวตั้งแต่ 1 ดวง คือถนัดหรือชอบน้อย ไปจนถึงดาว 5 ดวง คือถนัดมากหรือชอบมาก
ตัวอย่างคำถามประเมิน เช่น ถนัดงานที่ต้องลงมือทำ เช่น งานสร้างหรือซ่อมของ งานที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เครื่องจักร ทำอาหาร ฯลฯ ถนัดงานที่คนอื่นวางแผนมาแล้ว งานรับคำสั่ง หรืองานที่ทำตามแบบแผน เช่น งานธุรการ บัญชี ประสานงาน ฯลฯ บางคนถนัดงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ถนัดงานที่ต้องขายสินค้า ชอบศิลปะวัฒนธรรม ชอบสัตว์เลี้ยง ชอบหรือสนใจการถ่ายภาพหรือวิดีโอ เป็นต้น
จากนั้นกระบวนกรจะถามคำถามเพิ่มเติมกับเด็กเพื่อวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนเหมาะที่จะเรียนสาขาวิชาใด โดยมีคู่มือประกอบการวิเคราะห์และใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของครูที่ดูแลเด็กแต่ละคนมาประกอบ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะมีผู้ช่วยให้ข้อมูล แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง
ตัวอย่างการวิเคราะห์ของกลุ่มเด็กพิการทางสายตา
คนพิการทางการมองเห็น
คำถาม |
คำตอบ |
---|---|
ถนัดร้อยลูกปัดหรืองานหัตถกรรม |
ค่อนข้างชอบ |
ชอบงานขายของ? |
ที่บ้านขายของเลยซึมซับมา |
ชอบงานช่วยเหลือผู้อื่น? |
ชอบช่วยเหลือผู้อื่น |
การท่องเที่ยว |
ชอบไปเที่ยว |
อยากทำงานด้านการท่องเที่ยวไหม |
ติดปัญหาด้านภาษา และเราเข้าไม่ถึงการเรียน แต่พยายามเรียนรู้ |
ชอบธรรมชาติ ? |
อยู่กับธรรมชาติแล้วเป็นตัวเองมากที่สุด |
ชอบอ่านหนังสือ? |
อ่านเกี่ยวกับจิตวิทยา ไลฟ์โค้ช |
สามารถเป็นไลฟ์โค้ชโดยตรงได้ |
ผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนได้หรือ? |
ถึงแม้เราสังเกตท่าทางของคนอื่นไม่ได้ แต่เราสามารถฟังได้ อย่าเพิ่งตัดสิ่งที่เราชอบทำออกไป |
ไม่เคยตัดใจจากสิ่งที่ชอบ
|
แสดงว่าสนใจด้านจิตวิทยา? |
|
จากการวิเคราะห์คำตอบ กระบวนกรแนะนำให้เรียนคณะจิตวิทยา การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์, ครุศาสตร์ เอกการเรียนรู้, มาร์เก็ตติ้ง บริหารธุรกิจ, และความสนใจเรื่องป่าเขาธรรมชาติ อาจจะเลือกคณะวนศาตร์
คนพิการทางการเคลื่อนไหว
คำถาม |
คำตอบ |
---|---|
ถนัดทำงานที่คนอื่นวางแผนมาแล้ว? |
ใช่ |
ถนัดงานคอมฯ ด้านไหนระหว่างโปรแกรมหรือซ่อมคอมฯ |
โปรแกรม |
ถนัดโปรแกรมอะไร |
พาวเวอร์พอยท์ |
ชอบเลี้ยงสัตว์ |
แมว สุนัข ยกเว้นปลา |
ชอบกินอาหาร และชอบทำอาหารไหม |
ชอบกินมากกว่าชอบทำ ทำอาหารได้บางอย่าง |
ชอบออกแบบตกแต่งภายในไหม ถ้าให้ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือห้องชอบไหม |
ชอบมากกว่าโปรแกรมคอม
|
ถ้าให้ทำกราฟิกแอนิเมชั่นชอบไหม ทำได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร |
อยากทำ |
จากการวิเคราะห์ กระบวนกรแนะนำให้ลองหาข้อมูลคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบภายใน ออกแบบแอพพลิเคชั่น ออกแบบอาคารบ้าน อาชีพ สถาปนิก
กระบวนกรถามและวิเคราะห์ความชอบ จนได้คณะที่เด็กพิการอยากเรียน
กอใจ อุ่ยวัฒนพงศ์ กระบวนกรผู้ทำหน้าที่แนะแนวเล่าว่า เธอค่อยๆ ถามตั้งคำถามกับน้องๆ โดยริเริ่มจากความชอบ จากนั้นขุดลึกลงมาว่าสิ่งที่ชอบทำนั้นคือชอบทำเองหรือชอบสอนคนอื่นให้ทำ หรือมีความถนัดหรือความสนใจอะไรที่ชัดเจน เช่น ศิลปะ โดยถามย่อยให้ละเอียดลงไปแคบที่สุดแบบมีข้อมูลมารองรับ แม้เธอจะสามารถแนะนำได้ประมาณหนึ่ง แต่อีกส่วนก็ต้องขึ้นกับสิ่งที่เขาชอบ
อย่างไรก็ดี เธอเล่าว่าการเรียนต่อของน้องหูหนวก อาจต้องใช้คนที่มีประสบการณ์เฉพาะทางเข้าช่วย เช่น ล่ามภาษามือหรือคนใกล้ชิดของคนหูหนวก และมีเราป้อนคำถามไปเรื่อยๆ
ครั้งแรกของเด็กพิการได้ค้นหาตนเองและรู้ว่าจะเรียนอะไร
วิภาวดี แอมสูงเนิน ผู้จัดงานเล่าว่า โครงการปั้นฝันเป็นตัวนำเครื่องมือจากไทยและต่างประเทศมาอัพเดทและออกแบบให้ง่ายที่สุดสำหรับเด็ก กระบวนการคือให้มีกระบวนกรชวนคุย ช่วยถามคำถามเรื่องความถนัด ความชอบ จากนั้นกระบวนกรจะเอาความถนัดและความชอบนั้นมาวิเคราะห์และแนะนำสาขาที่เรียน จากนั้นน้องต้องเอาไปทบทวนด้วยตัวเองอีกครั้งว่าชอบจริงหรือเปล่า เป็นไปได้หรือไม่ หรือมีสาขาอื่นที่ใกล้เคียงสิ่งที่อยากเรียน โดยสามารถหาข้อมูลได้จากบูธของมหาวิทยาลัยที่มาร่วมในงาน
เด็กพิการได้เลือกเองตามความชอบและความสนใจ
วิภาวดีระบุว่า เธอเองไม่เคยเห็นงานแนะแนวการศึกษาที่มีพื้นที่ให้ค้นหาตัวเองมาก่อน งานแนะแนวการศึกษาที่ผ่านมาเน้นให้เด็กเดินดูบูธต่างๆ พอจัดกระบวนการค้นหาตัวเองก็ทำให้เด็กพิการ พ่อแม่ผู้ปกครองและครูได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น เธอเล่าว่า มีน้องเด็กพิการสงสัยว่าสามารถเรียนคณะนี้ได้ด้วยเหรอหรือมีอาชีพนี้ด้วยเหรอ น้องตื่นเต้นและตาวาว นอกจากนี้เสียงสะท้อนจากครูก็บอกว่า งานนี้ดีกว่าครูคุยกับนักเรียนเองเพราะบางครั้งครูก็ตีกรอบให้นักเรียนและไม่ได้มีข้อมูลเยอะ พ่อแม่เองก็ยัดความชอบให้เด็ก แต่งานวันนี้ทำให้เด็กได้เลือกเอง ได้เจอคู่พ่อแม่ลูกที่กล้าต่อรองกันเรื่องการเรียนหลังจากที่แม่บอกให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านและคณะที่ไม่ต้องขยับตัวมากนัก
นอกจากโซนค้นหาตนเองแล้วยังมีโซนแนะนำการทำพอร์ตโฟลิโอให้เหมาะกับคณะที่เลือก วิทยากรแนะนำโปรแกรม canva ที่สามารถทำพอร์ทได้ง่ายและสะดวกแค่เพียงใส่รูปลงในโปรแกรม นอกจากนี้การทำพอร์ตควรต้องสั้น กระชับ มีพลัง ใส่รูปพร้อมคำบรรยายที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราเลือก หากเป็นนักเรียนตาบอด ก็จะมีครูคอยช่วยทำพอร์ทโฟลิโอให้
อีกโซนที่น่าสนใจคือโซนแนะนำการสัมภาษณ์ ที่แนะนำข้อมูลจากมหาลัยต่างๆ เช่น เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก และตัวอย่างคำถามจากมหาวิทยาลัยมาให้น้องๆ ลองตอบ เช่น เราต้องการความช่วยเหลืออะไรในการเรียนบ้าง อุปกรณ์ที่จำเป็นคืออะไรบ้าง อะไรที่เป็นอุปสรรคในการเรียนบ้าง กลัวอะไรที่สุดในการเรียนและมีวิธีการการแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น