Skip to main content

วันนี้ (12 พ.ย.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ” และเปิดตัวหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” โดยอรสม สุทธิสาคร ซึ่งสะท้อนปัญหาของคนพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยมุ่งหวังให้เกิดความสนใจและตระหนักในปัญหา นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ในวงเสวนา “ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ” มีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 5 คนได้แก่วิจิตรา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก, อรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552, จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเอ (นามสมมุติ) คุณพ่อนักสู้ ทวงคืนความยุติธรรมให้ลูก โดยมีจิตติมา ภาณุเตชะ นักวิชาการอิสระเป็นผู้ดำเนินรายการ

อรสมกล่าวเป็นคนแรกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานที่หนักหน่วงที่สุดในการทำงานตลอด 33 ปีที่ผ่านมา แม้คนรู้จักเธอในฐานะนักเขียนสารคดีสายดาร์ค เต็มไปด้วยปัญหาสังคม แต่เธอก็ไม่เคยเขียนเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงพิการมาก่อนทั้งที่เรื่องนี้เป็นความสนใจส่วนตัวที่อยากทำมากว่าสิบปี แม้จะรู้อยู่แล้วว่างานนี้เป็นงานที่หนักแน่ๆ เพราะลำพังผู้หญิงธรรมดาเมื่อตกอยู่ในความไม่เป็นธรรมก็แย่แล้ว ผู้หญิงพิการก็ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่า

เธอเล่าว่า พอได้ลงพื้นที่จริงพบว่าปัญหาการถูกละเมิดเป็นแค่ประตูบานแรกเพราะหลังจากนี้ยังมีความยากลำบากที่ต้องฝ่าฝันตลอดชีวิต คนพิการผู้ถูกกระทำมีความเปราะบางของสภาพร่างกายอยู่แล้ว แต่ครอบครัวของพวกเขาด้วยเช่นกันที่ต้องแบกรับ หลายกรณีเมื่อถูกล่วงละเมิดแล้วก็ตั้งครรภ์ เด็กบางคนเกิดมาปกติ บางคนก็พิการเป็นภาระของพ่อแม่ที่แก่เฒ่าโดยมีกลไกของรัฐช่วยได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ความพิการทำให้เกิดข้อจำกัดด้านคดีความ พ่อแม่เองก็ทำงานไม่ได้เพราะต้องเฝ้าลูกและยังชีพด้วยเบี้ยคนพิการและเบี้ยคนชรา บางรายก็ถูกส่งไปอยู่สถานสงเคราะห์ของรัฐ บางคนต้องถูกทำหมัน แม้พ่อแม่หลายคนคิดถึงลูกแต่ก็ไม่สามารถอยู่กันได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ครอบครัวคนพิการต้องแบกรับทั้งสิ้น มากไปกว่านั้น ในระดับชุมชนก็มีปัญหา เช่น กรณีของผู้หญิงชนเผ่าที่ถูกล่วงละเมิดจนตั้งครรภ์ จนทั้งครอบครัวต้องออกมาอยู่พื้นที่ราบ เพราะชุมชนรังเกียจ หรือครั้งการล่วงละเมิดคนพิการก็ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว เช่น กรณีของยายอายุ 84 ปีที่โดนคนข้างบ้านล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากนั้นยายก็จากไปเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ลูกของยายยังคงมีบาดแผลในทุกครั้งที่พูดถึงแม่ เธอร้องให้และไม่อยากให้เป็นคดีเพราะจะต้องมีการสอบสวน ถามคำถามซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตอกย้ำบาดแผลนั้น

อรสมกล่าวว่า เธอเขียนหนังสือเล่มนี้เพราะไม่อยากให้หยุดแค่คำว่าสงสารจังเหมือนที่คนไทยชอบพูด เพราะหากจบที่การสงสาร ผู้กระทำผิดก็อาจทำซ้ำเป็นคลื่นอย่างไม่จบสิ้น สารคดีนี้เป็นสะพานที่บอกว่าจะไม่ปล่อยให้คนพิการทุกข์เพียงลำพัง อยากให้แปรความทุกข์เป็นพลัง แปรความมืดเป็นแสงสว่าง หยุดสงสารเปลี่ยนเป็นร่วมรับรู้ เป็นเพื่อนและร่วมกันหาทางออก คนพิการต้องไม่ยอมจำนนกับชะตากรรมและจะเป็นไปได้มั้ยที่ อบต. พม. หรือ รพสต.จะร่วมมือกันตั้งเดย์แคร์ที่ดำเนินการโดยชุมชน สำหรับดูแลคนพิการเพื่อพ่อแม่จะได้ไปทำมาหากิน เชื่อว่าอย่างน้อยนี่จะเป็นทางออกที่เป็นไปได้เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดซ้ำ

เสาวลักษณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินคำพูดที่ว่า กลัวเด็กจะท้องมากกว่าคำถามที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ถูกข่มขืน เพราะหากเรามองแค่เรื่องการทำหมันแล้วจะพบว่าป้องกันแค่การตั้งครรภ์ เราจึงต้องหาวิธีการทำให้ไม่เกิดการท้องและการติดโรคด้วย สิ่งสำคัญคือต้องมองให้รอบด้าน Right to health นั้นรวมถึงสิทธิอื่นๆ ทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ฯลฯ และสิทธิสุขภาพเป็นแค่หน่วยเล็กๆ ที่จะทำให้สุขภาพกลับสู่ภาวะปกติ แม้บางคนอาจมีสุขภาพไม่ปกติ แต่เราก็ต้องอยู่กับสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมก็มีความจำเป็นเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ ถ้าปราศจากมิติด้านนี้คนก็ไม่มีทางที่จะมีสุขภาพดี

เสาวลักษณ์ได้เน้นให้คนตั้งคำถามเชิงรุก กลับไปสนใจที่มาและมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นประตูทำให้คนได้รับรู้ว่าผู้หญิงพิการมีมิติอะไรบ้าง หลายครั้งเมื่อมีการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้กระทำมักอ้างว่า หนึ่ง ผู้หญิงพิการนั้นยินยอมและตัวเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะล่วงละเมิด กรณีเช่นนี้มักเกิดกับเด็กพิการทางสติปัญญา แท้จริงแล้ว แม้หากคนพิการจะยินยอมก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องกระทำ สอง ผู้กระทำมองว่าคนพิการเป็นวัตถุทางเพศ ในเคสยายนอนติดเตียงถูกล่วงละเมิดโดยเด็กวัยรุ่นที่มีอารมณ์ทางเพศ เขามองคนแก่เป็นวัตถุทางเพศจึงเกิดการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉะนั้นเราจึงต้องตั้งคำถามถึงที่มา ลึกถึงระดับโครงสร้างที่ถูกถ่ายทอดจากอคติของสังคมด้วย

นอกจากนี้เธอเสริมว่า กระบวนการยุติธรรมจำเป็นมากเพราะเป็นกลไกตามกฏหมายในการพิทักษ์สิทธิ จากประสบการณ์ทำงานพบว่า ถ้าเคสไหนเข้าสู่กระบวนทางกฏหมาย การล่วงละเมิดที่เกิดในชุมชนนั้นจะหยุด เธอได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวว่า เคยเป็นผู้ถูกกระทำโดยการลวนลาม ชวนเข้าห้อง ถูกลูบไล้ รวมทั้งก่อนที่จะมีความพิการก็มองเห็นการละเมิดสิทธิและพบว่าเมื่อมีความพิการการละเมิดก็ยังดำรงอยู่ เรื่องนี้จึงอาจนับได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดกับทุกคน รวมทั้งผู้ชายด้วย หลายครอบครัวเมื่อเกิดเรื่องก็เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ไม่ได้แจ้งความ จึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประตูแรกที่ทำให้เห็นว่า มีความรุนแรงต่อผู้หญิงพิการอยู่จริง ส่วนใหญ่เกิดจากคนในบ้าน เพื่อนของคนในบ้าน เพื่อนบ้านและเป็นคนแปลกหน้าน้อยมาก เราควรตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรไม่ให้เด็กและผู้หญิงพิการไม่ถูกข่มขืน

เอ (นามสมมติ) กล่าวว่า ลูกของเขาโดนล่วงละเมิดทางเพศและไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ไปแจ้งความก็ไม่คืบหน้าหลังผ่านมาเป็นปี จนติดต่อมาที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงได้ดำเนินการทางกฏหมาย ระหว่างทางคู่กรณีก็ติดต่อมาไกล่เกลี่ย แต่เขาก็ไม่ยอมเพราะไม่อยากให้ปลอยไปกลัวว่าจะเกิดกรณีนี้ซ้ำอีก จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัวอื่นๆ และอยากฝากให้คนในสังคมช่วยกันดูแล เป็นหูเป็นตาเมื่อเห็นคนพิการด้วย

จะเด็จกล่าวว่า มูลนิธิเก็บสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกปีและเริ่มเห็นสถานการณ์คนพิการที่น่าเป็นห่วง กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาค่อนข้างมาก  คดีคืบหน้ายาก จนหลายครั้งต้องออกสื่อให้เป็นกระแส หนังสือเล่มนี้เป็นตัวสะท้อนว่าทำไมเสียงคนพิการจึงมีน้อย ทั้งปัจจัยของความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนพิการ เห็นกลไกในการบอกว่า ไม่ให้ผู้หญิงออกมาร้องเรียน เช่น ข่มขู่ จนทำให้มีคนพิการจำนวนมากถูกกระทำแต่สังคมอาจจะไม่รับรู้

วิจิตรากล่าวว่า ปัจจุบัน พม.เปลี่ยนบทบาทเป็นพลังของสังคม ที่จะแก้ไขให้ดอกไม้ดอกนี้มีชีวิตชีวา มีเป้าหมายในการสร้างคุณภาพชีวิต เรารอให้กระบวนการยุติธรรมเกิดไม่ได้ แต่ต้องมีการป้องกันเฝ้าระวัง ในมิติแรกคือเรื่องกฏหมาย พม.ดูแลกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเกือบ 50 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.คนพิการที่มุ่งเน้นในเรื่องสิทธิคนพิการ สองคือเรื่องกลไกเรื่องการให้บริการ พม.มีสถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ มีบ้านพักเด็กและครอบครัว และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง สามคือเรื่องครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่นที่ต้องแข็งแรง ทำอย่างไรให้หน่วยเล็กๆ เข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘บวร’ หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่สามารถจัดงบเพื่อให้สถานที่เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือคนพิการได้ โดยหากคนพิการมีเรื่องราวร้องเรียน ปัญหาการละเมิดสิทธิสามารถโทรไปที่สายด่วนคนพิการเบอร์ 1479 ได้ทันที