Skip to main content
“ทักษะชีวิตทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมดเลย พอเดินไม่ได้เราก็เครียด พาลคิดไปถึงเรื่องเวรกรรม โทษตัวเองที่เป็นแบบนี้ทั้งที่กำลังจะมีอนาคต กำลังจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ แต่กลับต้องมาเป็นภาระ” 

อาจจนกว่าเราจะกลายเป็นคนพิการรุนแรงเสียเองถึงจะเข้าใจว่า การช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความเจ็บปวดจากร่างกาย การพึ่งพิงไปถึงโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตทางสังคมที่ริบหรี่นั้นส่งผลกระทบต่อเรายังไง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนพิการในระดับรุนแรงต้องเผชิญ หากเป็นความพิการที่ไม่ได้มาตั้งแต่กำเนิด พวกเขาจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

เราคุยกับเก๋- สุพัตรา แวววับ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่สะท้อนปัญหาในฐานะคนพิการรุนแรง เกิดอะไรขึ้นกับ 21 ปีของการนอนติดเตียง เราคุยกับเธอในวันที่ได้กลับมาใช้ชีวิต เราอยากรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่พลักดันให้เธอกลับมาในสังคมอีกครั้ง 

สุพัตรา: หลังเรียนจบทำงานได้ 3 เดือนไม่ได้กลับบ้านเลย วันนั้นจึงนั่งรถกลับบ้านไปหาแม่ ก่อนกลับเราแวะกินข้าวกับพี่ๆ ที่ทำงาน จนใกล้เที่ยงคืนก็ขึ้นแท็กซี่ และจำได้ว่าหลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย เราฟื้นอีกทีที่โรงพยาบาล จึงรู้ว่าแท็กซี่ที่ตัวเองนั่งถูกรถกระบะที่วิ่งข้ามเกาะกลางถนนชน และหัวของเรากระแทกกับหลังคารถจนคอหัก 

ตอนอยู่โรงพยาบาลแรกๆ เรารับสภาพตัวเองไม่ได้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลมีสายโยงใยเต็มไปหมด คอก็ต้องถูกยึดไว้เพราะมันหัก วันต่อมาพบโรคแทรกซ้อนอีกจนหมอบอกว่าโอกาสรอดมี 50-50 เราอยู่ในสภาพงัวเงีย สื่อสารไม่ได้ในโรงพยาบาลอยู่ประมาณ 2-3 เดือนเต็ม 

แรกเริ่มชีวิตติดเตียง

ตอนแรกที่เห็นตัวเองก็รับสภาพตัวเองไม่ได้ ไม่อยากให้เป็นแบบนี้เพราะเราเพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าจะเดินไม่ได้ พอออกมาจากโรงพยาบาลจึงได้รู้ว่าตัวเองต้องพิการตลอดชีวิต และไม่สามารถกลับไปเดินได้อีก วันนั้นก็น้ำตาร่วงเลย

พอกลับมาอยู่บ้านสังเกตว่าเราอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดมากขึ้น เพราะต้องนอนเฉยๆ ทำอะไรเองไม่ได้ต้องคอยเรียกพ่อ เรียกแม่มาดูแลตลอด อยากจะหยิบจับอะไรก็ไม่ได้ ทักษะชีวิตทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมดเลย พอเดินไม่ได้เราก็เครียด พาลคิดไปถึงเรื่องเวรกรรม โทษตัวเองที่เป็นแบบนี้ทั้งที่กำลังจะมีอนาคต กำลังจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ แต่กลับต้องมาเป็นภาระให้ป้อนข้าว เช็ดตัว ยันจัดการเรื่องขับถ่ายเหมือนเด็กแรกเกิด

สภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

จากที่เล่าว่า เรากลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง ก็ยิ่งหนักขึ้นถ้าเจออะไรไม่ได้ดั่งใจ เราโมโหและเริ่มทำร้ายตัวเอง เอามือฟาดกับพื้นแรงๆ เรื่องที่เราโมโห เช่น พอนอนติดเตียง อุณหภูมิในร่างกายจะร้อนง่ายขึ้น เราก็เรียกให้เอาน้ำมาเช็ด พอไม่มีใครเอามาเราก็โมโห ทั้งๆที่ ตอนเดินได้เราไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน

ช่วงกลางวันเราอยู่บ้านกับแม่ แม่รับซักรีดและไม่ค่อยมีเวลาว่างให้เราสักเท่าไหร่ สิ่งที่ทำได้จึงมีแค่นอนมองผนัง มองเพดาน ไม่ก็ดูโทรทัศน์ เพื่อรอพ่อกลับมาจากที่ทำงาน การนอนติดเตียงทำให้เราคิดไปเรื่อย คิดมาก ทั้งเรื่องจะทำยังไงต่อและกังวลหากพ่อแม่เป็นอะไรไป 

แผลกดทับ

พ่อแม่พาเราตระเวนรักษาตามที่ต่างๆ หมดเงินไปไม่น้อยกว่าจะยอมรับว่าเราพิการ ซึ่งใช้เวลาตั้ง 2-3 ปี ครั้งหนึ่งเราไปรักษากับหมอน้ำมัน เขาเชี่ยวชาญเรื่องกระดูก จากเดิมที่เป็นแผลกดทับอยู่แล้ว น้ำมันที่เขาใช้ยิ่งทำให้แผลเราเน่า สุดท้ายต้องจ้างคนจากสถานีอนามัยมาล้างแผลกดทับทุกวันเพราะ แผลกดทับลุกลามน่ากลัวมาก ลึกถึงกระดูก ปัจจุบันนี้ก็หายดีแล้ว 

แผลกดทับเป็นสิ่งที่เราต้องระวัง ถ้าไม่ได้พลิกตัวหรือต้องนอนท่าเดิมตลอดก็เสี่ยงที่จะเป็น ส่วนไหนของร่างกายที่อยู่ติดพื้นสามารถเป็นได้หมด จนเราเรียนรู้ในช่วงหลังว่า การได้พลิกตัวบ่อยๆ และการล้างแผลที่ถูกวิธีจะช่วยป้องกันแผลกดทับได้

เริ่มต้นใหม่

ทุกอย่างคือการเริ่มต้นใหม่ หลังอุบัติเหตุเรานั่งก็ไม่ได้เพราะจะเป็นลม มีการอาการน้ำลายไหลและตาเหลือก เกิดขึ้นจากการนอนมานาน ติดเตียงตั้งแต่อายุ 21 จนวันนี้อายุ 44 แล้ว

หากย้อนดูตอนเราย้ายมาอยู่นครปฐมเมื่อปี 2550 ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ จนปี 2558 สหวิชาชีพหน่วยเยี่ยมบ้านโรงพยาบาลนครปฐมเข้ามาเยี่ยม ตอนนั้นชีวิตเราก็ดีขึ้นเหมือนคนที่ได้เกิดใหม่ ทั้งฝึกกายภาพบำบัด ฝึกการจัดการร่างกาย แนะนำเรื่องการทำแผล หาสื่อต่างๆ มาให้เราฟัง เพื่อปรับและเปลี่ยนมุมมอง จากอารมณ์ฉุนเฉียวก็กลายเป็นใจที่เย็นลง สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ จากเดิมเราเคยนอนอยู่กับพื้น ก็ได้รับคำแนะนำให้นอนบนเตียง เพราะเปลี่ยนอิริยาบถได้ง่าย พอปลายปี 2558 กลุ่ม IL หรือ Independent Living พุทธมณฑล ก็เริ่มเข้ามา ทำให้เราได้ออกสู่สังคมเมื่อปี 2559 

IL เข้ามาพูดคุยกับเรา ช่วงแรกพ่อแม่ไม่ต้อนรับเท่าไหร่ เพราะเขาไม่อยากคุยและไม่อยากเตรียมตัวเรา ไม่อยากให้เราออกไปข้างนอกเพราะไม่รู้ว่า IL เป็นใคร มีจุดประสงค์อะไร กลัวจะโดนหลอก เวลา IL เข้ามา แม่จึงมักบอกว่าเราท้องเสีย ไม่สบายให้มาวันหลัง จนเขาต้องไปหาพยาบาลที่ดูแลเราให้มายืนยัน แม่จึงเลยยอมให้ ‘ออม รณภัทร’ เจ้าหน้าที่ศูนย์เข้ามา

เขาพาคนต้นแบบมาให้เราดู เราเห็นคนที่เป็นแบบเรา เคยนอนติดเตียงแต่กลับใช้ชีวิตได้ ทำอะไรได้หมดทุกอย่าง ทั้งทำงานได้ กินข้าว แล้วทำไมเราถึงยังนอนติดเตียงอยู่แบบนี้ นั่นเป็นจุดที่ทำให้เราตัดสินใจออกไปใช้ชีวิต

วันแรกที่ออกจากบ้านโดยไม่ได้ไปหาหมอคือวันที่ 29 สิงหาคม 2559 เราตื่นเต้นและดีใจกับการได้ออกไปสู่โลกภายนอกมาก แต่ก็ยังอายสายตาคนมอง เพราะเราไม่ได้ออกจากบ้านมานานมากแล้ว วันนั้นไม่กล้ากินอะไรเลย น้ำก็จิบหน่อยเดียว ข้าวก็ไม่แตะ เพราะกินเองไม่ได้ แล้วก็ไม่กล้าให้ผู้ช่วยป้อนให้ ที่กินน้ำนิดเดียวก็เพราะกลัวปวดฉี่ 

หลังจากนั้นเราก็ออกไปไหนมาไหนเรื่อยๆ ได้ฝึกกระบวนการพูดคุยเป็นกลุ่ม  สร้างความเชื่อมั่นในการออกไปเจอผู้คน โดยเขาให้เราออกไปซื้อของที่งานองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะอยากรู้ว่าเราจะสามารถซื้อของได้หรือไม่ กล้าคุยกับคนขายหรือเปล่า 

สิ่งเหล่านี้ดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับเรากลับเป็นสิ่งที่ต้องหัดทำ เพราะตั้งแต่กลายเป็นคนพิการติดเตียง ก็ไม่เคยได้ออกไปซื้อของอะไรเลย และสูญเสียความกล้า ความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ถูกทำให้หายไปกับการนอนอยู่บ้าน 21 ปี  เราอายที่จะเผชิญกับข้างนอก แต่พอได้ลองทำจริงๆ แล้ว ก็พบว่าสายตาคนก็ไม่ได้แย่ คนยิ้มให้เรา เราเลยได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น

พอถูกถามว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ก็ตอบได้เต็มปากว่า อยากทำงานกับศูนย์ IL อยากไปเจอคนพิการที่นอนติดเตียงเหมือนเรา และช่วยให้เขาลุกขึ้นมามีชีวิตที่ดีมีอิสระ

เราเพิ่งได้งานที่นี่เมื่อปีที่แล้ว หน้าที่ของเราคือลงพื้นที่และบริการข้อมูลข่าวสาร 

สิ่งที่หายไประหว่างความพิการ

พอเป็นคนพิการ ทำให้เราขาดความอิสระ ถึงแม้เราสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ประมาณหนึ่งแล้ว ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ต้องพึ่งพิงคนในครอบครัว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น การตัดสินใจแทน การคิดแทนคือสิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคและหลายคนมองไม่ค่อยเห็น 

แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นได้ชัด คือความทรมานที่ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้เอง ต้องไหว้วานคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนเห็นได้ชัด แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่คนไม่เข้าใจ เช่น มองว่าคนพิการจะสวยไปทำไม เห็นชัดเวลาซื้อครีมหรือซื้อเครื่องสำอาง คนก็ยังถามว่า พิการแล้วจะใช้ทำไม จะเอาไปอวดใครเหรอ หรือเรื่องความรัก เขามองว่า พิการแล้วจะมีความรักได้อย่างไร มีแฟนอีกทำไม พอเขาลดทอนว่าเราไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ ความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ก็หายไปด้วย