Skip to main content

เราพบกับเพลง- อธิษฐาน สืบกระพันธ์ ในงานเสวนาเรื่องเพศอีเวนท์หนึ่ง สาววัย 18 ปีคนนี้ นั่งวีลแชร์ไฟฟ้าขึ้นไปพูดเรื่องเพศแบบแซ๋บๆ บนเวที วันนั้นเธอเล่าว่า เธอเป็นคนที่เพื่อนเลือกที่จะปรึกษาเรื่องเพศ เช่น มีอะไรกันแล้วจะท้องไหม ป้องกันยังไง ฯลฯ จนทำให้เรารู้สึกว้าว เธอคนนี้แหละที่เราต้องไปสัมภาษณ์

ตอนนี้เพลงฝึกอาชีพอยู่ที่มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ จังหวัดนนทบุรี ในด้านคอมพิวเตอร์กราฟิค อยู่ที่นี่เธอเป็นน้องเล็กตัวจี้ด ที่พี่ๆ ยังคงแวะเวียนมาปรึกษาปัญหาอยู่เรื่อยๆ

ชวนคุยกับเพลงถึงปัญหาของวิชา ‘เพศศึกษา’ ที่เด็กพิการเรียน สิ่งที่เด็กพิการอยากรู้และไม่เคยได้รู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ จนไปถึงประสบการณ์เรื่องเพศของตัวเธอเอง

โรงเรียนเด็กพิการที่ไม่สันทัดเรื่องเพศ

อธิษฐาน: ตั้งแต่เด็กเราเรียนกับคนพิการมาตลอด เพราะแม่กลัวไปเรียนกับเด็กคนอื่นแล้วมีปม โดนเขาล้อและดูถูก กังวลเรื่องห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก คนดูแล และเป็นปกติที่โรงเรียนเด็กพิการจะสอนช้า ต้องรอคนอื่น ถึงจะแยกห้องแต่ก็ยังมีคนที่ไม่เท่ากัน หลายคนจึงหน่วงๆ ว่างๆ

ห้องเรียนเพศศึกษาจะสอนตามหลักสูตรของหนังสือ เน้นในเรื่องรู้จักฮอร์โมน อารมณ์คืออะไร การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กสนใจเป็นพิเศษมากกว่าวิชาอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น มีอารมณ์ร่วม แต่ครูก็ไม่กล้าสอนให้ลึกเพราะกลัวเด็กเอาไปทำตาม จึงมักสอนทฤษฎีพร้อมกับบอกว่าสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ดี อย่าไปทำตาม เด็กหลายคนก็ยิ่งอยากจะลองทำ

โรงเรียนที่เพลงอยู่เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนเป็นวัยรุ่นวัยอยากรู้อยากลอง มีเรื่องชู้สาว ก็กังวล กลัวว่าจะท้องเพราะหลายคนไม่รู้วิธีป้องกัน เด็กๆ รวมถึงเพลงเรียนรู้การป้องกันจากพ่อแม่เพราะครูไม่ได้สอน แม่เพลงเป็นแม่วัยรุ่น เขาเข้าใจและไม่ว่าถ้าเราจะมีความรักหรือมีแฟน เขาอยากรู้อย่างเดียวคือเราป้องกันอย่างไร กินยาคุมยังไง

เรียนรู้ด้วยตัวเอง

เพราะโรงเรียนสอนเพียงปากเปล่า เราก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มเติม เขาไม่เคยบอกเลยว่ายาคุม ถุงยาง ห่วงอนามัย ฯลฯ ใช้เพื่ออะไรและใช้ยังไง เขาไม่กล้าพูดถึงการจัดการอารมณ์ทางเพศที่เกิดขึ้น แต่สำหรับเด็กแล้วยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

เด็กพิการอยากรู้เรื่องการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพราะพวกเขามีอะไรกันเป็นปกติ เเต่ไม่รู้วิธีการป้องกัน จะถามครูก็ไม่กล้าถาม ถึงถามครูครูก็ไม่กล้าตอบ เพลงเคยถามครูว่า ทำไมมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรไม่ได้ทั้งที่รู้จักการป้องกัน ครูก็สวนกลับทันทีว่า “เธอเคยทำเหรอ ที่หายไปเสาร์อาทิตย์ไปทำอะไร” กลายเป็นเขามากดดันเราและไม่ได้คำตอบอื่นนอกจากบอกว่า การมีอะไรก่อนวัยอันควรนั้นผิด ต้องแต่งงานก่อน พร้อมกับเสริมว่า การท้องนั้นลำบากเพราะร่างกายเราผิดปกติ

สังคมของวัยรุ่นพิการก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป คุยทะลึ่งตึงตัง โดยเฉพาะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่มักเอามาพูดแซวกัน มีคนมาปรึกษาเพลงเยอะ ทั้งเรื่องว่า ทำแบบนี้แล้วจะท้องไหม มีอะไรกันแล้วต้องทำยังไง บางครั้งเราก็รับอาสาไปซื้อยาคุมให้เพื่อนที่ไม่กล้าซื้อ โดยบอกคนขายว่าจะเอาไปหมักผม แปลกใจที่พอเวลาซื้อเราต้องพยายามทำตัวร่าเริง ถึงแม้เราไม่อายแต่พอเจอสายตามอง ก็มีรู้สึกแปลกๆบ้างเหมือนกัน

ความไม่เข้าใจของคนในสังคม ต่อเรื่องเพศของคนพิการ

เคยไปหาหมอเพื่อฉีดยาคุม หมอถามพร้อมตกใจว่า เรามีอะไรกับผู้ชายแล้วเหรอ ในใจได้แต่คิดว่า ทำไมอะ หนูก็มีหอยนะ เลยบอกหมอไปว่า “ค่ะ มีแล้วค่ะ หนูมีไม่ได้เหรอ”

เวลาเจอคนมองว่า พิการแล้วยังคิดเรื่องเพศอีก เราอยากตบมากเลย เราก็คน ทำไมถึงจะคิดไม่ได้ บางความเชื่อถึงขั้นบอกว่าให้เก็บซิงไว้ตอนแต่งงาน เพราะซิงเราจะมีค่ามาก ฯลฯ สำหรับเราพรหมจรรย์ไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีคุณค่ามากขึ้น หรือหมดคุณค่า การทำร้ายคนอื่นและไม่รักตัวเองต่างหากที่ลดคุณค่าในตัวเอง

วัยรุ่นพิการหลายคนทำหมัน เพราะไม่อยากลำบากตอนมีเมนส์ แรกๆ เราก็คิดแบบนั้นเหมือนกันเนื่องจากแขนเราใช้ไม่ได้ ทำอะไรก็ลำบากคนอื่นเลยบอกแม่ให้พาไปตัดมดลูกหน่อย แม่ไม่ยอมและฉีดยาคุมให้ ฉีดมาต่อเนื่อง พอรู้ว่ามีแบบฝัง ก็เลยฝังมาเรื่อยๆ

คำถามอะไรที่มักเจอบ่อยๆ

“คนพิการมีอะไรกันได้ยังไง”

พอเราพิการ แล้วมีแฟนพิการ คนมักนึกไม่ออกว่ามีเพศสัมพันธ์กันท่าไหน สำหรับเราไม่รู้ว่าจะถามคำถามนี้ทำไม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถาม เรายังไม่เคยไปถามใครเลยว่ามีอะไรกันท่าไหน โดยเฉพาะหากไม่สนิท จึงมักพูดกลับไปว่าว่างๆก็เปิดให้สักห้อง เดี๋ยวหนูไปทำให้ดู เอาเข้าจริงแล้วเขาก็ไม่กล้าดูหาว่าเราบ้าที่จะมีอะไรกันต่อหน้าคนอื่น ก็ใช่น่ะสิ เรื่องส่วนตัวใครเขาจะทำให้คนอื่นดู แล้วทำไมยังมาถามอะไรแบบนี้ เราไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ ความรักขึ้นกับคนสองคน ไม่ได้ขึ้นกับร่างกาย

หลายคนเข้าใจว่า เป็นคนพิการต้องเรียบร้อย อย่าแก่แดด อย่ายุ่งเรื่องเพศ ตอนแรกๆ ก็ท้อเพราะเหมือนเป็นกบในกะลา ไม่เคยได้ออกไปไหนนอกจากอยู่บ้านเพราะคนอื่นบอกปลอดภัย เราก็ฝังใจกลัวโลกภายนอกทุกอย่าง จนได้ออกมาใช้ชีวิตจึงรู้ว่า คนพิการไม่ต่างอะไรกับคนอื่น มีชีวิต มีความฝันได้ ไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ใคร แต่ต้องเป็นตัวเองและไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเท่านั้นเอง