Skip to main content

ฐิติพร พริ้งเพริ้ด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่ปี 44 ในตอนที่คนยังไม่รู้จักคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันดีนัก ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่เธอจะป่วย เธอใช้ชีวิตแบบ “ทำร้ายร่างกายอย่างหนักหน่วง” กินหนัก นอนดึกถึงขั้นไม่นอน จนเมื่ออาการโรคซึมเศร้านั้นชัดเจน เธอก็ไม่ยอมไปหาหมอ และจมอยู่แบบนั้นนานถึง 2 ปี

ประสบการณ์ร่วมกับโรคซึมเศร้าเกือบ 20  ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าภาวะซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แต่โรคนี้อยู่กับเธอเกินครึ่งชีวิต ชวนคุยกับฐิติพรถึงเรื่องโรคซึมเศร้า การปรับตัว และการใช้ชีวิตของเธอ

ฐิติพร : เราป่วยเป็นซึมเศร้าในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีสาม ตอนนั้นมีปัญหาทางบ้าน พ่อแม่ทะเลาะกัน ถึงขั้นแยกทาง บวกกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ และการเรียนที่กลายเป็นความกดดันเราจนเครียดจัด  นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ สุดท้ายก็เกิดอาการวิตกกังวลหนักมาก

ปี 2544 ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จักโรคซึมเศร้าหรือเข้าใจโรคทางจิตเวชเท่าไหร่ มักเหมารวมว่า คนที่เป็นคือคนบ้า คนหลอน คนเพี้ยน บางครั้งเราก็รู้สึกตัวเองเป็นแบบนั้น และทำให้เราเก็บตัวและซึมเศร้า ถ้าเป็นผู้ป่วยระดับที่แพทย์ประเมินมา ก็จะเรียกว่าผู้ป่วยจิตเวช ส่วนใหญ่ ยังอยู่ในความดูแลของครอบครัวได้ ถ้าเป็นระดับคนพิการต้องนับจากการทานยามาแล้วเกิน 8 ปี เคสเราหมอจึงประเมินให้เป็นคนพิการทางจิตเวช

เริ่มรู้จักซึมเศร้าซึมเศร้า

พอเริ่มมีอาการ เราก็ค้นว่าอาการใกล้เคียงกับการเป็นอะไรมากที่สุด หนังสือเล่มแรกที่เจอคือสุขศึกษา ม.6 ที่เขียนว่าอาการแบบนี้คือภาวะจิตประสาท ที่มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย ถ้าเครียดจัดๆ ก็จะอาเจียน ปวดหัวเหมือนไมเกรนแต่มากกว่า ความดันโลหิตสูง ร่างกายแปรปรวน ทานอาหารมากว่าปกติจนทำให้น้ำขึ้นเร็วจาก 60 กลายเป็น 80 ภายใน 2 เดือนเพราะเรากินตลอดเวลา กลางคืนก็กิน เครียดก็กิน คิดอะไรไม่ออกก็กิน ไม่อย่างนั้นก็นอน

คนทั่วไปกินหมูกระทะครั้งเดียวตอนเย็นก็โคตรอิ่มแล้ว แต่เรากินไปชั่วโมงหนึ่งก็หิวอีก กินจนย่อยไม่ทันก็ไปอ้วกออก ถ้านับแล้วก็เกิน 10 มื้อต่อวัน

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจไปหาหมอ

เรายอมทนอยู่กับอาการของตัวเองเพราะรู้สึกอายที่จะบอกคนอื่นว่าเป็นโรคจิตเวช กลัวคนอื่นจะมองเป็นคนบ้า รู้สึกผิดหวังในชีวิตที่ทำความคาดหวังของพ่อไม่สำเร็จ นั่นคือการเรียนจบปริญญาตรี 2 ปีที่รู้ว่ามีอาการเราจึงนอนจมอยู่แบบนั้น ไม่ทำอะไร ไม่สนใจอะไร ได้แต่กินและนอน

กระนั้นเราก็ยังดื้อไม่ไปหาหมอจิตเวช เลี่ยงไปหาหมออื่นๆ เช่น หมอระบบประสาท ก็ได้ยาที่ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นเพราะก่อนหน้าเรามีอาการบ้านหมุน เดินไม่ได้ ร่างกายแปรปรวนไปหมด ยาของหมอทำให้เรากลับมาทรงตัวได้ แต่สิ่งที่ยังไม่โอเคคือภาวะทางจิต เรายังคงหงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด ขี้โมโห พ่อเลยตัดสินใจพาไปหาหมอจิตเวช

ครอบครัวมีส่วนอย่างไรเมื่อเราป่วย

พ่อเป็นคนที่ห่วงเราตลอด ช่วงที่ป่วยหนักๆ แกก็หยุดงานมาดูแลเรา พาไปรักษา  ทั้งที่เรามีอาการถึงขั้นหลงผิด ไม่รู้ตัว พูดคนเดียว นอนร้องไห้และจำใครก็ไม่ได้ ช่วงที่เราป่วยหนักคนแถวบ้านพาเราไปหาหมอผี ร่างทรง ไปรดน้ำมนต์ ร่างทรงบอกว่า จิตเราอุปทาน คิดไปเอง สุดท้ายจึงแอดมิทโรงพยาบาลจิตเวชในภาคเหนือ ที่รักษาในทุกด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน  การนอน การออกกำลังกาย จนไปถึงการดูแลเรื่องโรคประจำตัวอื่นด้วย

อยู่ที่นี่ เราได้อยู่ร่วมกับผู้ป่วยคนอื่นจากหลายจังหวัด แต่ละคนจะอยู่ในพื้นที่เท่าที่เขาจัดไว้ คนที่อาการหนักก็จะอยู่ไอซียูจิตเวช ส่วนเราได้อยู่โซนผู้ป่วยชั้นดี เราเข้าออกที่นี่อยู่ 3-4 รอบ เพราะไม่มีความเข้าใจเรื่องการทานยา พออาการเหมือนจะดีขึ้นเราก็หยุดกินยาเอง จึงทำให้อาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ตั้งแต่เรายอมรับว่า ตัวเองเป็นผู้ป่วยจิตเวช ก็ทำให้เรายอมที่จะดูแลตัวเองและเอาใจใส่กับร่างกายมากขึ้น หลังอาการเริ่มดีขึ้น โรงพยาบาลก็จำหน่ายผู้ป่วยออกมา แต่ยังต้องทานยาและปรับการใช้ชีวิต

สิ่งที่ยากที่สุดคืออะไรในตอนนั้น

ทำงานไม่ได้มาห้าหกปี เรียนก็ยังไม่จบ เป็นหนี้ กยศ. ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เราเก็บทั้งหมดมาเครียดสะสม  เราโฟกัสที่การเรียนสูงที่สุด เพราะเราเชื่อว่าเรียนจบสูงจะช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในชีวิต คิดแต่แบบนั้น

การที่ทั้งป่วยและไม่มีเงิน มันน่ากังวล เราแทบไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ต้องขอยืมคนอื่น พอไม่มีคืน ความรู้สึกก็แย่กว่าเดิม จนคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เราเริ่มไปหาหมออย่างสม่ำเสมอ และหาเงินด้วยการร้อยมาลัยขาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น ช่วงหลังนอกจากร้อยแล้ว ก็ยังเดินขายด้วย แรกๆก็เขิน แต่ก็ทำมาสามปีจนคล่อง การทำงานทำให้เรามีสมาธิ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น คนแถวบ้านเข้าใจเรามากขึ้น ผิดกับช่วงแรกที่กลัวเราทำร้ายคนในครอบครัว

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจ เห็นเราเขาก็หัวเราะ มองด้วยสายตาที่รู้สึกได้เลยว่าแย่ บางคนก็ถับถมเรื่องเรียนไม่จบ หรือเอาตัวไม่รอด คิดว่าเป็นบ้าแล้วเท่ากับไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป เป็นแล้วไม่สามารถหายได้ หลายคนเชื่อแบบนั้น  

ก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจ เห็นเราเขาก็หัวเราะ มองด้วยสายตาที่รู้สึกได้เลยว่าแย่ บางคนก็ถับถมเรื่องเรียนไม่จบ หรือเอาตัวไม่รอด คิดว่าเป็นบ้าแล้วเท่ากับไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป เป็นแล้วไม่สามารถหายได้ หลายคนเชื่อแบบนั้น

หลังจากขายพวงมาลัยจนคล่อง ทำอะไรต่อ

เราได้มีโอกาสช่วยงานของสมาคม แรกๆ ก็ช่วยทำไข่เค็ม จากนั้นก็ขยับไปทำงานอื่น จนเข้าไปทำงานในสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ในฝ่ายธุรการ ไปจนถึงการวางตัวและงานเอกสาร จนกว้างขวางขึ้น ทั้งนี้เรายังคงกินยาอยู่ตลอด ยังปรึกษาหมออยู่ไม่ขาด ไม่ได้เปลี่ยนยามาหกปีแล้ว ใช่ กิน 2 มื้อ มื้อเช้ากับเย็น ครั้งละ 4 เม็ด บางวันก็ 5 เม็ดมียาความดันด้วยเฉลี่ยแล้วกินวันละ 9 เม็ด

เราคิดว่า เราหาหมอมามากกว่าร้อยครั้ง เพื่อประเมินอาการ พฤติกรรม การตอบสนอง จากที่ตอบคำถามอะไรหมอไม่ได้ ตอนนี้เราไปหาหมอได้ด้วยตัวเอง มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

เคยอยากจบชีวิตไหม

เคย มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คิด เห็นปลั๊กไฟก็อยากเอามือแหย่ โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานการณ์บีบคั้น มีปัญหา เราก็มักคิดว่าถ้าทำครั้งเดียวก็จบไปเลย โชคดีที่ยังมีปู่ที่เป็นห่วง เลยไม่ทำ

ช่วงสองปีที่ไม่ได้ไปหาหมอเราคิดฆ่าตัวตายตลอดทุกวัน แม้แต่ข้ามถนนก็รู้สึกว่าอยากวิ่งตัดหน้ารถ ขี่มอเตอร์ไซค์ก็อยากขับตัดหน้ารถคันใหญ่ๆ จนต้องหยุดขี่ อาการสามารถกำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ถ้ารู้สึกกลัวหรือประหม่าอะไรบางอย่าง หลายครั้งเราใช้วิธีหลับตาแล้วนิ่ง นับหนึ่งถึงสิบในใจ ถ้ายังไม่โอเคก็จะนับถึงร้อย เรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

เราเคยทำร้ายตัวเอง เอาหัวกระแทกผนัง ทำเวลาที่คิดอะไรไม่ออก กะให้สลบไปเลยแต่ก็แค่มึน แต่ทำไปแล้วก็ไม่ได้คำตอบว่าทำไปทำไม เพราะไม่รู้สึกดีขึ้น ถึงจุดหนึ่ง เราบอกตัวเองว่าพอได้แล้ว ทำไปก็มีแต่แย่ลง ควรหาความสุขมากกว่า

คนเป็นซึมเศร้าหลายคนทิ้งยา ไม่รู้ว่าต้องทานยาไปทำไม ทานไปก็ไม่หาย บางคนก็ไม่ยอมรักษาเหตุผลก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สำหรับเราที่เคยผ่านมา อยากให้คนพิการทางจิตมีแรงและกำลังใจ มีเป้าหมายในการดูแลตัวเองและทานยาอย่างสม่ำเสมอ

คนในสังคมเข้าใจซึมเศร้าอย่างไร

คนเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อก่อนคนไม่เข้าใจว่าคนพิการทางจิตคืออะไร อาการเป็นอย่างไร บางคนก็คิดว่าแกล้งทำ หรือคิดไปเอง หากมีคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า อยากให้แนะนำไปหาคนที่เชี่ยวชาญและเข้าใจเรื่องโรคโดยตรงจะดีที่สุด หรือเข้ามาเรียนรู้ที่สมาคมผู้บกพร่องทางจิตเพื่อทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรื่องโรคและสังคมของคนเป็นโรคจิตเวชมากขึ้น