Skip to main content

“หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด เป็นครั้งแรกที่เราเจอกับการเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ มีผู้ถูกละเมิดสิทธิเยอะตั้งแต่วันแรกและมากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า อยากจะออกมามีส่วนร่วมในการต่อต้านและปกป้องสิทธิของคนที่ถูกละเมิดตามกำลังเท่าที่เราจะทำได้”

หลังจากวันนั้น โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา เธอซึ่งเป็นทั้งแม่ ครูและอาจารย์พิเศษ จึงเริ่มเดินทางสู่เส้นทางนักกิจกรรมตามคำชักชวนของกลุ่มนักกิจกรรม ทั้งกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น โหวตโนร่างรัฐธรรมนูญ, ปล่อยไผ่ ดาวดิน และที่เด่นชัดที่สุดในบทบาทของนักกิจกรรมที่รณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งอย่างกลุ่ม ‘คนอยากเลือกตั้ง’

คุยกับโบว์ ณัฏฐาในเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยในโอกาสใกล้ถึงวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.62 คนพิการและคนตัวเล็กตัวน้อยจะผลักดันประเด็นได้อย่างไรด้วยกลไกประชาธิปไตย ทำไมการเลือกตั้งจึงสำคัญ และเหตุใดการเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคน

จากครูสู่นักกิจกรรมการเมือง

ณัฏฐา: เรามีความสนใจหลักเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนเรื่องการเมืองเป็น ‘ร่มเล็กในร่มใหญ่’ ที่ปกติไม่ได้สนใจมากขนาดนั้นเพราะเท่าที่ผ่านมาค่อนข้างไว้วางใจในการเลือกรัฐบาลและการตรวจสอบรัฐบาล แต่ครั้งนี้ การละเมิดสิทธิพลเมืองและการละเมิดสิทธิทางการเมืองเข้มข้นขึ้นมาก การสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวเยอะจนกระทั่งหน่วยงานหรือภาคส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอ่อนกำลังลง เราจึงมาลงแรงเรื่องการเมืองในส่วนสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

สิทธิของผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่เรามีความรู้สึกร่วมมาก เขาเป็นกลุ่มคนที่ได้พูดน้อยและถูกละเมิดอย่างรุนแรงที่สุด เช่น เวลาถูกตัดสินดำเนินคดีและได้รับคำพิพากษาจำคุก 3 ปี แม้นั่นคือโทษที่เขาได้รับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาได้รับโทษเกินจากนั้นมาก คำพิพากษาไม่ได้บอกว่า คุณจะต้องนอนกับพื้นโดยไม่มีเตียง ไม่ได้บอกว่าถ้าคุณเจ็บป่วยสิ่งที่คุณจะได้รับอย่างเดียวคือยาพาราและไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องนอนอยู่ในที่แออัดขยับตัวแทบไม่ได้ เราคิดว่าคนเหล่านี้ได้รับโทษที่เกินคำพิพากษา รวมถึงบางคนถูกตัดสิทธิทางการเมืองนานถึง 10 ปี กฎหมายใหม่ถูกเติมเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อจำกัดสิทธิ และไม่ค่อยมีใครเป็นปากเป็นเสียงเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางส่วนก็มีอคติกับผู้ต้องขัง คิดว่าเป็นคนเลวร้ายที่ไม่มีสิทธิจะมีสิทธิ

สังคมเรามีความรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต่ำ ทั้งที่ความหมายคือสิทธิขั้นต่ำสุดที่เมื่อคุณเป็นคนก็ต้องได้รับ ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่ได้เป็นคนเลวโดยสันดาน ทุกคนมีความจำเป็นกับสิ่งที่ทำลงไป แต่ต่อให้เลวสุดๆ สิทธิขั้นต่ำของความเป็นคนก็ไม่ควรมีใครพรากจากเขาไปได้ แต่สิ่งเหล่านี้สังคมแทบไม่พูดถึง

สิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยควรจะเกิดก่อนกัน

วัฒนธรรมประชาธิปไตยต้องเกิดก่อนถึงแม้จริงๆ ควรมาคู่กัน ถ้ามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็จะมีการออกกฎหมายที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และควรสร้างค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตั้งแต่วัยเด็กเพราะเมื่อโตแล้วอคติหลายอย่างถูกสร้างขึ้นจนเปลี่ยนไม่ทัน ถ้าเราทำให้เด็กรู้ว่า สิทธิมนุษยชนแปลว่าอะไร ปฏิญญาสากลที่ไทยไปลงนามเป็นภาคีอยู่ 20 กว่าข้อมีอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สร้างสังคมวัฒนธรรมประชาธิปไตยซึ่งจะทำให้กฎหมายหมายต่างๆ ออกมาโดยไม่ละเมิดสิทธิ

กลไกประชาธิปไตยมีไว้เพื่อให้สิทธิของทุกคนได้รับการปกป้อง โดยเริ่มจากความคิดที่มองว่า ทุกคนเท่ากัน มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เคารพความแตกต่างหลากหลาย อะไรที่เป็นสิทธิของเขาเขาก็ต้องพูดได้ เมื่อมีการพูด การขับเคลื่อนทางความคิดและการต่อสู้ทางความคิดจะเกิดการเกลี่ยและรักษาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน สิทธิเหล่านั้นก็จะได้รับการปกป้อง

ตอนนี้บ้านเมืองเราถอยกลับไปเยอะ ห่างจากสังคมเป็นประชาธิปไตยไปเยอะมากเพราะสิ่งที่ถูกทำลายไม่ใช่แค่สิทธิของทุกคนที่หายไป 5 ปี แต่ค่านิยมที่คุ้นเคยและใกล้ชิดกับประชาธิปไตยก็หายไป 5ปีที่ผ่านมาเราถูกสร้างค่านิยมว่า ประชาธิปไตยอาจจะเท่ากับความวุ่นวาย ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไทย ประชาธิปไตยเป็นสิ่งแปลกปลอมและตัวปัญหา ดังนั้นเราจึงต้องไปสู่ประตูบานแรกคือการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ต่อไปก็สร้างสังคมประชาธิปไตยและไปให้ได้ไกลกว่าจุดที่เราเคยเป็น

เรารู้สึกว่าการลงทุนชีวิตกับเรื่องนี้นั้นคุ้มเพราะนอกจากว่าจะเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคนโดยตรง ยังเกี่ยวข้องกับชีวิตคนรุ่นหลังหรือรุ่นลูกของเราด้วย

คนตัวเล็กตัวน้อยจะผลักดันประเด็นได้อย่างไร

แต่ก่อนเรามักวางมือให้กับรัฐสภา จึงทำให้การขับเคลื่อนรณรงค์จากประชาชนทั่วไปมีน้อย การสร้างคำร้องใน change.org ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนไทยมาก การเข้าถึงผู้มีอำนาจเพื่อขอให้ช่วยจึงเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด แต่วันนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการรณรงค์ของคนเล็กคนน้อย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์โหวตโนร่างรัฐธรรมนูญ, การรณรงค์ปล่อยไผ่ ดาวดิน, การรณรงค์ SaveKaheem หรือเพจเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพื่อทำให้สังคมเข้าใจว่าการอยู่ร่วมกับคนเป็นเอดส์หรือความท้าทายที่เขาเผชิญคืออะไร เราเริ่มทำความรู้จักกับ change.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างข้อเรียกร้องและร่วมลงชื่อได้ จึงเห็นได้ว่า สังคมไทยเพิ่งจะอยู่ในจุดเริ่มต้นของการรู้จักพลังตัวเองและการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการทำให้เสียงเป็นที่ได้ยิน จากวันนี้สังคมไทยน่าจะเห็นว่าตัวเองเป็นผู้มีส่วนร่วมและเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จได้มากขึ้น วันหนึ่งที่มีคนเห็นด้วยมากพอก็สามารถลงชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอแก้กฎหมายต่อรัฐสภา นี่คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและนี่คือประชาธิปไตยในแบบที่เราจะต้องไปถึงให้ได้หลังการเลือกตั้ง

เราเองเรียนรู้ว่า บางจังหวะการชุมนุมเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ แต่บางจังหวะก็ไม่ใช่ วันนี้จนถึงวันเลือกตั้งเราจะไม่ไปชุมนุมแล้วเพราะสังคมพร้อมที่จะเลือกตั้ง ไม่ใช่เวลาเรียกร้องซึ่งกันและกันอีกต่อไปแต่เป็นเวลาของการแลกเปลี่ยนความรู้ ให้ข้อมูลและเสริมอาวุธทางปัญญา

พลวัตในสังคม 5 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะ เราเห็นว่าสังคมไทยกล้าพูดและมีส่วนร่วมมากขึ้น มีความกลัวน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็นับเป็นสัญญาณที่ดีว่า ต่อไปนี้สังคมจะมีการแลกเปลี่ยนทางความคิดกันอย่างเข้มข้นมากขึ้นและเมื่อเราสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดสำหรับการแลกเปลี่ยนทางความคิด ก็จะเกิดการต่อยอดการพัฒนาได้เอง

อะไรใช่ และไม่ใช่การเมือง

ทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง ที่เรารู้สึกว่าบางเรื่องยังเป็นเรื่องตัวเองเพราะเรายังไม่สามารถมองเชื่อมโยงว่าเรื่องเหล่านั้นเกี่ยวกับคนอื่นยังไง ทุกคนในโลกนี้มีสิทธิที่จะพิการได้ทุกเมื่อ ทุกวินาที เดินออกจากกบ้านไปก็ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านในสภาพเดิมไหม การอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามคอนเซ็ปต์ของ Universal Design หรือการออกแบบที่ทุกคนใช้ได้ จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะคนพิการอีกต่อไป การที่เราทำทางลาดให้วีลแชร์วิ่งได้ คนแก่ที่ใช้วีลแชร์ก็ใช้ได้ ครอบครัวที่มีเด็กทารกใช้รถเข็นก็ใช้ได้ แม้แต่คนที่แบกของเยอะๆ หาบเร่แผงลอยก็ได้ใช้ ถ้าเราทำให้เห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้ ทุกคนก็จะรู้สึกไม่แปลกแยกอีกต่อไป

ที่สิงคโปร์ทำเมืองจำลองที่เรียกว่า Enable City โดยรัฐบาลและเอกชน เป็นโมเดลตัวอย่างให้เห็นว่าคนทุกคนอยู่และใช้เมืองร่วมกันได้ รวมถึงทุกคนมีอาชีพการงานเป็นปกติ ในร้านกาแฟมีคนพิการทางสติปัญญาให้บริการอยู่ คนที่เป็นออทิสติกบางประเภทมีความสามารถในการทำสิ่งที่มีรายละเอียดซ้ำๆ ได้ดี ในออฟฟิศก็มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนพิการทางสายตาหรือคนพิการทางการได้ยินอยู่ร่วมกันได้ ทำให้ศักยภาพของทุกคนถูกเอามาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงพยาบาล ฯลฯ พวกเขาแสดงให้เห็นว่า นี่คือเมืองที่ควรจะเป็นปกติ และสิงคโปร์จะทำทุกเมืองให้เป็นแบบนี้ เพื่อเป็น Enable City ที่ไม่มีใคร Disabled หรือใช้ชีวิตไม่ได้อีกต่อไป

สำหรับเมืองไทยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ยากจนเกินไป แต่ต้องอาศัยองค์ความรู้และคนที่มีความหลงใหลมากพอที่จะทำ และแน่นอนต้องอาศัยภาคการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้า นักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ มองอะไรไปไกลระยะยาว พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับสังคม แม้อาจจะไม่ได้ทำคะแนนเสียงเยอะๆ ในการเลือกตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ พาสังคมไปด้วยกัน

นอกจากนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์แล้ว ความเป็นนักเคลื่อนไหวก็สำคัญ นักเคลื่อนไหวคือคนที่พร้อมที่จะอดทนและปะทะกับความไม่ถูกต้องแม้ว่าจะยังไม่นำผลประโยชน์อะไรให้คุณเลยแต่คุณเชื่อว่ามันมีผลประโยชน์ระยะยาวให้กับสังคม หากนักการเมืองคนไหนที่ไม่มีสปิริตนี้ก็ควรต้องตั้งคำถามว่า เขามาเป็นนักการเมืองทำไม ฉะนั้นพลังของประชาชนคือพลังของการบอกว่า เราต้องการนักการเมืองแบบไหน แล้วเราจะค่อยๆ มีนักการเมืองแบบนั้นเข้ามาสู่สนามให้เราเลือก

เห็นอะไรในการเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งครั้งนี้มีนิมิตหมายที่ดีหลายอย่าง เรามองเห็นทั้งสปิริตนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีความเป็นนักเคลื่อนไหว มองเห็นนักการเมืองหน้าเก่าที่เปลี่ยนแปลงตัวเองถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่แปลเป็นคะแนนเสียง สิ่งเหล่านี้เกิดจากภาคประชาชนที่ส่งเสียงตัวเองมากขึ้น แต่สังคมไทยยังไปได้ไม่เร็วหรอกเพราะคนไทยไม่ได้ถูกสอนให้กล้าแสดงออก ฉะนั้นการขับเคลื่อนทางความคิดโดยการสื่อสารมันก็จะค่อยเป็นค่อยไป แต่ว่าเมื่อมีจุดเริ่มต้นแล้วเราจะไปถึงได้ในที่สุด

ทำไมประชาชนจึงควรไปเลือกตั้ง

ถ้ามีของบางอย่างให้เราเลือก เลือกฟรีด้วยและของเหล่านั้นมีสัญญาณว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา ถ้าเรารักตัวเองทำไมจะไม่ไปเลือก แม้นโยบายหลายเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับความพิการ แต่เป็นนโยบายอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ คนพิการก็ต้องอยากไปเลือกเพราะไม่มีเหตุผลว่าทำไมคุณเห็นตัวเองไม่เท่ากับคนอื่นทั้งที่เป็นประชาชนหนึ่งคน แต่ทั้งนี้คนพิการอยากไปเลือกอย่างเดียวอาจไม่พอหากการอำนวยความสะดวกหรือการเข้าถึงหน่วยเลือกตั้งไม่มี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบริหารจัดการให้ด้วย

ฝรั่งจะมีคำพูดว่า Be on the Table หมายถึงคุณต้องอยู่บนโต๊ะนั้นด้วย สมมติว่าคุณถูกกล่าวหาหรือถูกจำกัดสิทธิ ผู้ร่วมตัดสินคุณนั่งรวมกันอยู่ที่โต๊ะเพื่อถกเถียงเพื่อหาทางออก ถ้าคุณไม่ไปนั่งด้วย คุณจะมาบ่นทีหลังว่าไม่เห็นมีสิ่งที่ต้องการเลยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้อง Be on the Table เอาตัวเองไปอยู่ในนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นประตูบานแรก พอเราได้รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีค่านิยมอยู่ในฝั่งประชาธิปไตย การรวมกลุ่มเพื่อสร้างข้อเรียกร้อง เสนอเข้าชื่อ เสนอกฎหมายในเรื่องสิทธิก็จะเกิดขึ้นเอง

สิ่งนึงที่ควรจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญคือ กฎหมายทุกมาตราที่จะเกิดขึ้นในประเทศนี้จะต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อกันไม่ให้มีกฎหมายละเมิดสิทธิอย่างการห้ามผู้ต้องขังพ้นโทษลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี, กฎหมายที่ห้ามคนจำนวนมากทำบางอย่าง เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ยังมีเนื้อหาที่เป็นการสกัดกั้น, การไม่ให้ประกันตัวโดยอัตโนมัติจะไม่เกิดขึ้นเพราะทุกคนมีสิทธิที่จะสู้คดีอย่างเต็มที่

คนพิการเท่ากับประชาชน

คนเราเมื่อมีความพิการ สิ่งที่เขาเป็นเขาไม่ใช่แค่คนพิการ แต่เขาเป็นคน เป็นประชาชน เป็นคนที่ต้องการให้เศรษฐกิจดี เขายังมีประเด็นอื่นในชีวิตด้วย เช่นเดียวกับเราที่เป็นครู เป็นแม่ แต่กฎหมายหลายก็ไม่เกี่ยวกับการเป็นแม่หรือครูเลย แต่เราก็ยังอยากไปเลือกตั้งเพราะมีประเด็นอีกมากมายที่เกี่ยวกับเรา แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าต้องการกฎหมายที่ดูแลคนเป็นแม่มากกว่านี้หรือคุ้มครองคนทำงานฟรีแลนซ์แบบเรา เราก็สร้างข้อเรียกร้องไป แต่ไม่ว่าข้อเรียกร้องนี้จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าประเด็นอื่นในชีวิตเราหายไป เรายังต้องการการคมนาคมที่ดี อากาศที่ดี การรักษาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจที่ดี ฉะนั้นการที่ประเด็นของเรายังไม่ได้รับการตอบสนองในวันนี้ไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่เราจะไม่ไปเลือกตั้งหรือไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง

หลังการเลือกตั้งเราอาจได้เห็นอุปสรรคอีกเยอะมาก ไม่อยากให้ท้อเพราะนี่คือประตูบานแรกไม่ใช่ปลายทาง ประชาธิปไตยไม่มีปลายทาง ไม่ได้จบแค่คนรุ่นเรา การทำงานเรื่องนี้เหมือนกับ Snow Ball ไหลลงจากภูเขา และค่อยๆ ใหญ่ขึ้น แม้เราอาจจะไม่รู้สึกว่ามันใหญ่ขึ้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่เรามาจาก 0 หรือติดลบ การทำอะไรสำเร็จไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนก็คือใหญ่แล้ว หลังเลือกตั้งคุณจะยังเห็นความขมุกขมัว แต่มันเป็นความขมุกขมัวที่คุณเริ่มมีส่วนร่วมในการปัดเป่าได้ในที่สุด