Skip to main content

เราคงจะนึกออกอยู่ไม่กี่ที่ เมื่อพูดถึงร้านขายวีลแชร์คนพิการในไทยและหนึ่งในนั้นคงเป็นร้านที่หลายๆ คนรู้จักดีอย่าง “สยามนิชชิน” ที่มีวรยุทธ กิจกูลเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ที่ใช้วีลแชร์ทันสมัยเหล่านั้นเป็นคนแรกๆ ในเมืองไทย


คชรักษ์ แก้วสุราช ถ่ายภาพ

ในโกดังหลังคาสูง วีลแชร์แบบต่างๆ เรียงรายกันอยู่บนชั้นวาง วีลแชร์ที่เห็นแตกต่างจากวีลแชร์ในโรงพยาบาลตรงที่พวกมันคันเล็ก สีสันสวยงาม มีขนาดหลากหลายและน้ำหนักเบา วีลแชร์เหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกขายให้กับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของร้าน และอีกส่วนเป็นของคนพิการมืออาชีพที่ต้องการอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความพิการและขนาดของตนเอง  อีกฝากหนึ่งของโกดัง หญิงสูงอายุกำลังเลือกวีลแชร์พร้อมกับลูกสาว จนตอนนี้ก็ลองนั่งเป็นคันที่ 4 แล้วโดยมีวรยุทธและพนักงานคนอื่นๆ คอยให้คำแนะนำ

รู้จักวรยุทธ กิจกูลและสยามนิชชินให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ที่จะพาคุณไปพบกับจุดเริ่มต้นของธุรกิจหลังกลายเป็นคนพิการ รวมไปถึงการเติบโต บาดแผลและความสำเร็จจากการจ้างงานคนพิการ

เด็กชายวรยุทธเป็นคนอย่างไร

วรยุทธ: ช่วงประถมเรียนที่โรงเรียนบ้านนอกนั่งเรือไปเรียนผ่านตลาดน้ำที่ซบเซาทุกวัน แม้พ่อกับแม่จะการศึกษาไม่สูง จบแค่ ป.2 ป.3 ท่านไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนไหนดีแต่ก็ส่งผมเรียนโรงเรียนเอกชนใกล้บ้าน ตอนเรียนก็ใช้ชีวิตก็เหมือนเด็กทั่วไป แต่เพราะสังคมที่ดำเนินสะดวกเป็นสังคมคนจีนที่อยู่ริมคลอง คลองจึงทำให้บรรพบุรุษตั้งรกรากและค้าขาย ผมจึงถูกหล่อหลอมตั้งแต่เด็กเรื่องการทำมาหากิน พ่อขายของ ทำบัญชี ส่วนแม่ก็ไปจ่ายตลาด

หลังจบม.3 เข้ากรุงเทพฯ ลูกชายคนโตที่ชอบแย่งหนังสือพิมพ์และนิยายของพ่อแม่มาอ่านตอนอยู่บ้าน ก็ต้องใช้ชีวิตเองแต่ก็ยังคงไม่พ้นแผงหนังสือที่เดินผ่านทุกเย็น เมื่อยืนอ่านเสร็จก็จะซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกที่สุดอย่าง “วัฏจักร” กับ “บ้านเมือง” ที่มีโฆษณาขายรถยนต์ ขายบ้าน ขายที่ดินอยู่เยอะ มาอ่านว่าเขาขายกันยังไง พอเริ่มห่างจากพ่อแม่ ผมใช้เวลาในชีวิตส่วนใหญ่อ่านหนังสือเพราะสมัยก่อนบริเวณหน้ารามฯ ไม่มีอะไรเลย มีแต่ธุรกิจถ่ายเอกสารเต็มไปหมด พอเห็นกิจการดี ก็อยากทำแต่ล้มเลิกไปเพราะจีบสาว (หัวเราะ)

ผมกลับมาเป็นลูกจ้างที่บ้านหลังเรียนจบ โอ้โห เป็นลูกจ้างเขานี่น่าเบื่อจริงๆ ต้องเอาใจเขา ต้องไปหาลูกค้า เลยปรึกษาพ่อว่าอยากค้าขาย จึงเริ่มด้วยอาชีพเก่าของพ่อแม่คือค้าเคมีเกษตรที่บ้านแพ้ว ผมใช้เน็ตเวิร์คเก่าของพ่อ รวมถึงเพื่อนฝูงซัพพอร์ท ขายและจัดอมรมความรู้เกี่ยวกับยาเคมีให้เกษตรกร แต่หลังเปิดกิจการได้แค่ 8 เดือนก็โดนยิง กิจการก็จบไม่กล้าเปิดต่อเพราะเราไม่รู้ว่าถูกคุกคามจากใคร

หลังจากที่ถูกยิงชีวิตเปลี่ยนไปแบบไหน

ตั้งแต่ทำมาหากินมาคนละแวกนั้นไม่เคยมีใครถูกยิงเพราะทำการค้า จึงเหมือนว่าผมเจอแจ็คพอท ในเดือน กันยายนปี 27 หลังพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลมาปีครึ่ง ตอนนั้นไม่อยากออกจากโรงพยาบาลเพราะรู้สึกว่าถ้าออกก็คือหมดหวัง ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาลเราก็ให้กำลังใจตัวเองว่ายังรักษาอยู่เรื่อยๆ ขนาดนอนหลับยังฝันว่าตื่นขึ้นมาเดินได้ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับความจริงว่าเรานอนนานแล้ว จึงกลับและซื้อบ้านใกล้ๆ ศิริราชเพื่อไปกายภาพ จนปี 29 ผมรู้สึกตัวเองนอนและกายภาพมานานมาก อ่านหนังสือจนไม่เหลืออะไรให้อ่าน จึงกลับบ้านที่พรานนกและเปิดร้านตัดผมชื่อ “ยุทธบาเบอร์” ผมเป็นแคชเชียร์ที่ค่อยๆ บริหาร ร้านเราก็ดังพอสมควรนะ (ยิ้ม)  ตอนเปิดปีแรกร้านเงียบมากเลย จึงทำโปรโมทชัน “วันเด็กตัดผมฟรี” ขึ้นป้ายหน้าร้านตัวเบอะเร่อว่าวันเด็กตัดผมฟรี หลังจากนั้นก็กิจการดีเลย ทุกปีในวันเด็กผมก็ทำแบบนั้นโดยไม่ขึ้นป้ายมาเรื่อยๆ

หลังเปิดร้านมา 7 ปี วันหนึ่งเราได้มีโอกาสไปงานที่มีคนพิการ เห็นคนพิการที่ขับรถได้ เราก็อยากจะขับรถได้บ้าง อยากใช้ชีวิตอย่างอิสระ (Independent living) เพราะในตอนนั้นการที่คนพิการจะใช้ชีวิตอิสระค่อนข้างลำบากมาก เราไม่รู้วิธีย้ายตัวเองขึ้นลงวีลแชร์หรือใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่คนพิการจากญี่ปุ่นสามารถอยู่ได้เอง เข้าห้องน้ำ อาศัยในอพาร์ทเม้นที่มีลิฟต์และทางลาด ขับรถไปทำงานเองได้ สิ่งเหล่านี้มหัศจรรย์มากสำหรับผม ผมจึงเริ่มศึกษาว่า อุปกรณ์อะไรที่จะช่วยให้ผมดำรงชีวิตได้แบบนี้ จนพบว่ามีแค่ 3 อย่างคือ วีลแชร์ดีๆ ที่น้ำหนักเบา เบาะรองนั่งและรถ สยามนิชชินจึงเกิดขึ้นด้วยการมองโมเดลธุรกิจของอนาคตว่า สิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นที่ต้องการมากแต่คนจะหาไม่ได้ เราต้องรีบเอาเข้ามาก่อนและผมจะเป็นคนที่ใช้คนแรกให้สังคมเห็น

ผมใช้เวลาฟูมฝักสยามนิชชินอยู่ 15 ปีจึงเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการ เก็บคอนแทคและติดต่อกับบริษัทวีลแชร์จากทั่วโลกเผื่อให้ได้ใบอนุญาติขายและวางตัวเป็นพาร์ทเนอร์ทางการค้านับแต่นั้นมา

สยามนิชชินเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เราเห็นกำลังซื้อของคนพิการน้อยมาก สยามนิชชินโตได้เพราะสังคมคนแก่ ถ้าไม่มีโครงการแจกวีลแชร์ของกรมขนส่งทางบก ก็แทบเรียกได้ว่า วีลแชร์ไฟฟ้าแพงๆ ดีๆ ก็ขายไม่ออก ยังไงก็ดี ผมตั้งเป้าเลยว่าต้องมีพนักงานเป็นคนพิการมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเรา เพราะหลังจากที่ตัวผมซึ่งเรียนจบเศรษฐศาสตร์แล้วพิการก็หางานทำไม่ได้ โอกาสทุกอย่างถูกปิดหมด

สมัยนั้นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องอะไร

การช่วยเหลือตัวเองได้นี่แหละ กับการออกนอกบ้านที่แทบจะไปไหนไม่ได้เลย แท็กซี่สมัยนั้นเขาก็ไม่รับเรา  จะเข้าห้องน้ำนอกบ้านก็ไม่มี แล้วจะทำงานอะไร ผมรู้สึกว่าคนพิการแบบผมนี่มีอีกเยอะเลยแต่ไม่มีเวทีให้แสดงศักยภาพ แม้คนพิการหลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะลอตเตอรี่ แต่เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องกระจายอาชีพและทบทวนการจัดศูนย์ฝึกอาชีพที่ไม่เวิร์ก ผมอยากจะปั้นเถ้าแก่น้อยคนพิการ เลยเริ่มจากจ้างคนพิการมาทำงานเพื่อเป็นการเปิดโอกาส เหมือนที่โอกาสของผมเปิดมาจากคนพิการชาวต่างชาติ ลูกน้องที่สยามนิชชินมีอิสระแต่ต้องมีผลงาน คุณขยันก็ได้เยอะ ทุกคนก็แย่งกันขยัน ดูตัวอย่างเพื่อนที่มีรถขับ ถ้าอยากมีบ้างคุณก็ต้องขยันถึงจะได้มา

หลายสถานประกอบการมักคิดว่ารับคนพิการเข้าทำงานนั้นยุ่งยาก เป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า

จริงๆ อยู่ที่จิตใจของเจ้าของกิจการมากกว่าว่าอยากจะรับเขาทำงานหรือเปล่า ถ้าอยาก คุณจะมองข้ามอุปสรรคทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องห้องน้ำกว้างขึ้นที่ทุกคนก็ใช้ได้ ทางลาดที่คุณใช้เข็นของได้ ทุกอย่างใช้ร่วมกันได้หมดไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนพิการ เวลาผมรับคนพิการผมไม่เคยตั้งสเปคว่าจะรับตำแหน่งอะไรเพราะเชื่อว่า แค่อยากทำงานเราก็มีวิธีที่จะใช้เขาตามลักษณะงานที่เขาชำนาญ ที่ผ่านมามีคนนั่งวีลแชร์เป็น รปภ.ที่ดีมากเลย เทคโนโลยีมันแทนการเดิน การทำงานต่างๆ ได้หมด เขาไม่ได้ต้องลุกไปเปิดประตูเพราะแค่กดรีโมทประตูก็เลื่อนออกอย่างง่ายดายแล้ว เราตั้งเป้าว่า จะเป็นบริษัทแรกที่จ้างงานคนพิการ 60% ซึ่งทำได้แล้ว เรามีพนักงาน 20 คน เป็นคนพิการ 12 คน

ยังไงก็ดี ยังมีหลายที่ที่ไม่รับคนพิการเพราะมองว่า คนพิการเรื่องเยอะและทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่นั่นเป็นเพราะคุณไม่รู้เรื่องความเจ็บป่วยเขา ลูกน้องผมบางคนป่วยไปนอนโรงพยาบาลเป็นเดือนแต่ขายของได้ (ขายออนไลน์เหรอ?) เปล่า ก็ไปขายตามเตียงข้างๆ (หัวเราะ)  ผมมักมองโลกในแง่บวก ถ้าผมโดนโกงผมก็บอกว่า ตัวผมควบคุมและมีระบบไม่ดี ไปเปิดช่องให้เขาขโมยเราซะมากกว่า

ตั้งแต่ร้านตัดผม โรงพิมพ์ สยามนิชชิน บริษัทกระดาษ ฯลฯ หลายอย่างมาก จริงๆ คิดว่าตัวเองเหมาะกับการทำธุรกิจประเภทไหน ?

ที่นี่เลย (สยามนิชชิน) นั่งที่นี่ผมมีความสุขทุกที แต่ลูกน้องไม่ชอบให้นั่งเพราะผมชอบลดราคา (หัวเราะ) บางเคสไม่มีเงินแต่อุ้มลูกพิการทางสมองมา เขามีงบเท่าไหร่อยากได้อันไหนเราก็ให้เลย เพราะสยามนิชชินหากินกับคนแก่และคนพิการ รายได้ส่วนหนึ่งจึงควรกลับไปให้กับคนพิการ

ถ้าวันนั้นไม่พิการ จะมีสยามนิชชินหรือไม่

คงไม่เกิดเพราะสยามนิชชินเกิดจากความเป็นจริง ความต้องการอุปกรณ์ของผม ทุกวันนี้นอกจากขายแล้ว เราก็ให้ยืมฟรี ยิ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวแล้วประสบอุบัติเหตุ ผมกลายเป็นเพื่อนกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จนในวันที่เราเปิดที่พักดำเนินแคร์ เขาก็มาพัก กลายเป็นเน็ตเวิร์กที่ทำให้เรากว้างขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำเข้าสินค้า เน็ตเวิร์กทำให้เรากว้างขึ้น

คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่า ที่ต้องสนับสนุนอุปกรณ์ดีๆให้กับคนพิการ

เท่าที่ศึกษามาทุกประเทศก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่รัฐของเราให้แค่ 6,000 บาทต่อคน มันก็ซื้อได้แต่ไม่ได้คุณภาพที่ดี คนพิการอาชีพอย่างเราต้องการอุปกรณ์อาชีพเหมือนกัน เช่น วีลแชร์วัดตัวตัด เหมือนตัดชุดมีฟรีไซส์ มี S M L XL ถ้านั่งวีลแชร์แบบที่เห็นตามโรงพยาบาลไปก็ทำงานอะไรไม่ได้หรอก เข็นแค่ 10 นาทีก็หมดแรงแล้ว ผมตกใจมากเลยในวันแรกที่ได้ลองนั่งวีลแชร์จากญี่ปุ่นเพราะเข็นได้ทั้งวันไม่มีเหนื่อย แต่ราคาก็แพงขึ้นไปด้วย

นโยบายบัตรคนจนไม่มีสิ่งที่เพิ่มพิเศษให้คนพิการ ทั้งๆที่เขาไม่สามารถใช้เงินได้อย่างเต็มจำนวน ทำไมไม่ให้เขาไปรูดสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ แพมเพิร์สหรืออุปกรณ์จำเป็น โมเดลของญี่ปุ่นคือการซัพพอร์ทตามรายได้หรือแม้กระทั่งคนตกงานว่าควรจะได้เงินเท่าไหร่ บ้านเราเบี้ยยังชีพคนพิการเท่ากันหมดเลย เป็นไปได้อย่างไร คนพิการเยอะ-น้อย บางคนต้องการคนดูแล รัฐดูแลได้ไหม ผมยืนยันว่ารัฐมีเงินเยอะแต่ถูกใช้ในทางที่ไม่ได้คำนึงถึงคนพิการ

ธุรกิจด้านคนพิการในไทยจะเติบโตไปยังไงในอนาคต

ธุรกิจด้านคนพิการจะเติบโตได้ถ้ารัฐซัพพอร์ท ถ้าผมเป็นรัฐจะส่งเสริมให้เอกชนลงทุนผลิตอุปกรณ์ต่างๆในประเทศเพื่อให้ราคาถูกลง เช่น วีลแชร์น้ำหนักเบาและซื้อเพื่อมอบให้กับคนพิการแทนวีลแชร์โรงพยาบาลที่ใช้งานไม่ได้ เพราะอุปกรณ์คือสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต

ในอนาคตผมว่าเป็นไปได้ที่สิ่งประดิษฐ์พวกหุ่นยนต์จะช่วยคนพิการได้เยอะ คิดว่าภายใน 10 ปีจะได้เห็น คนดูแลบ้าน คนทำความสะอาด คนดูแลคนพิการที่เป็นหุ่นยนต์ อาจง่ายกว่าต่อสู้เรื่องปรับสภาพแวดล้อม ด้วยซ้ำไป