ทีแรกเราอยากจะเล่าแค่โรงเรียนสอนคนตาบอดแม่สอด สถานที่ซึ่งพาเด็กๆ ที่มองไม่เห็นมาเรียนรู้ อบรมการใช้ชีวิต โรงเรียนซึ่งมีความคาดหวังจะส่งต่อโอกาสให้ไปถึงมือเด็กตาบอดที่อยู่ชายแดน เราอยากพาคุณไปดูวิถีชีวิต การเรียนรู้ในแบบของที่นั่นพวกเขาต้องเรียนเรื่องอักษรเบรลล์ การใช้ไม้เท้า การใช้ชีวิต ก่อนพวกเขาจะเข้าสู่สังคมของการใช้ชีวิตร่วมกับคนไม่พิการในโรงเรียนหรือว่าการ ‘การเรียนร่วม’ ถือเป็นหมุดหมายถัดไป
แต่ก่อนที่จะเป็นโรงเรียนในวันนี้ เราอยากจะพาคุณไปรู้จักกับครูผู้สอนคนตาบอดผู้ก่อร่างสร้างโรงเรียนสอนคนตาบอดแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ‘ครูบุญ’ บุญศิริ พึ่งแก้ว แม้แน่นอนว่าจิตวิญญาณของครูคือการศึกษา แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่สร้างจิตวิญญาณที่ต้องการทำเพื่อเด็กพิการ เราพาคุณย้อนเวลาไปหา ด.ญ.บุญศิริ สาวน้อยผู้เติบโตมากับแม่ที่เพิ่งแต่งงานใหม่ ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี พร้อมกับอุปสรรคด้านการมองเห็น แต่ทำไม แม้มีอุปสรรคมากมาย แต่การศึกษาก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเธอ
1
ฉันอยากไปโรงเรียน
“เราอยากไปโรงเรียน เพราะทุกวันเรานั่งมองญาติไปโรงเรียน ตอนนั้นเรามีความฝันว่าสักวันนึงเราจะได้ไปโรงเรียนแล้วก็ใส่ชุดนักเรียนเหมือนคนอื่นเขา เย็นๆ เขาก็จะทำการบ้าน อ่านหนังสือเรียน เราก็ไปนั่งฟังแล้วก็จำเรื่องที่เขาอ่าน"
เด็กหญิงบุญศิริ เกิดมาพร้อมกับดวงตาที่มองเห็นไม่ค่อยชัด และนั่นทำให้เธอไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา เธอทำได้เพียงแต่เฝ้ามองผู้อื่นไปโรงเรียน จนพ่อเลี้ยงเห็นถึงความตั้งใจ เมื่อพ่อเลี้ยงของเธอซึ่งมีอาชีพช่างไม้ไปช่วยสร้างโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง พ่อเลี้ยงไม่ต้องการค่าจ้าง แต่ขอให้ลูกสาวของตนได้เข้าเรียน นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอได้เรียนหนังสือ
“พอไปเรียนจริงๆ ปรากฏว่าเราจำได้ทั้งหมดเลย หนังสือภาษาไทย สามารถท่องได้ทุกหน้าทุกคำ แรกๆ เราอาศัยจำ เพราะไม่ได้มีโอกาสได้เรียน พอมาเรียนจริงๆ ด้วยที่เรามีความรู้อยู่บ้างแล้ว เราก็จำได้ ก็เลยมาฝึกเรื่องของการเขียน การผสมคำ เราสามารถเรียนหนังสือร่วมกับเพื่อนได้ ปรากฏว่าตอนนั้นเราสอบได้ที่หนึ่ง" บุญศิริเล่า
ชีวิตของเด็กหญิงบุญศิริก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วง ม.3 พ่อของเธอเสียชีวิต จากเดิมที่มีพ่อเลี้ยงคอยส่งเสียอุปการะ เธอก็ขาดคนส่งเรียน จนต้องย้ายตัวเองไปอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า และไม่ได้เรียนต่อเพราะบ้านเด็กกำพร้ามองว่าเธอควรออกมาหางานทำมากกว่า
“พอไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า เราก็ได้เรียนถึง ม.3 ที่นั่นบอกว่าเราอายุเยอะแล้ว จะ 20 แล้วจะเรียน ม.ปลายได้ยังไง เพราะเด็ก ม.ปลายทั่วๆ ไปคือ13-14 เขาก็บอกให้เราออกมาทำงานเถอะ เราก็ต้องออกจากโรงเรียน นั่นเป็นจุดที่เราเสียใจมากๆ"
2
พิการไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้
“เราไม่อยากออก เราอยากเรียนหนังสืออยากมีปริญญาเหมือนคนอื่น เพราะเรารู้ว่าเราเรียนได้ เรามีสติปัญญาเรียนได้เหมือนคนอื่นนั่นแหละ"
สิ่งหนึ่งที่บุญศิริสะท้อนกับเรา การเติบโตในช่วงที่สังคมไทยยังไม่มีกฏหมายด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ทำให้เธอรวมถึงคนพิการคนอื่นถูกมองข้ามในเรื่องของการศึกษาเพราะมองว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ และทำให้คนพิการถูกงดเว้นไปเองโดยปริยาย ต่างจากปัจจุบันที่มีพระราชบัญญัติการศึกษา ทำให้คนพิการมีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม
“หลังจากออกจากบ้านเด็กกำพร้า เราก็ทำงาน เป็นคนทำอาหาร เป็นคนซักเสื้อผ้าให้เด็ก เริ่มต้นจากเงินเดือน 500 บาท เรารู้สึกว่า ชีวิตของเราคงไม่มีอนาคตหรอก ถ้าเงินเดือนแค่นี้ เพราะเรามีแม่ที่จะต้องดูแล แม่เราก็ไม่ได้รวย เราอยากดูแลแม่ด้วย
“เราได้คุยกับฝรั่งคนหนึ่งที่เป็นอาสาสมัครบ้านเด็กกำพร้า เล่าชีวิตให้เขาฟังว่า คงไม่มีอนาคตเพราะว่าฉันเป็นคนพิการ ฝรั่งเขาสวนเลยว่า ไม่ใช่นะ คุณก็ทำได้ทุกอย่างนั่นแหละเหมือนคนปกติ ใครบอกคุณว่าคุณเป็นคนพิการแล้วทำอะไรไม่ได้ คุณทำได้ทุกอย่าง คุณฉลาด เห็นไหมว่าเด็กอยู่ด้วยกัน 50 กว่าคนมีคุณที่พูดภาษาอังกฤษได้อยู่คนเดียว แสดงว่าคุณต้องมีอะไรนอกเหนือจากคนอื่น" บุญศิริกล่าว
3
เพราะต้องการอนาคตและชีวิต
เธอตัดสินใจออกจากบ้านเด็กกำพร้าที่เคยอยู่ ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมป์ที่ออสเตรเลีย เธอพบความแตกต่างของการเป็นคนพิการทั้งสองประเทศ คนที่พิการที่ออสเตรเลียได้รับการดูแลอย่างดี มีโอกาสได้เข้าสู่สังคม
“เราเล่าให้คนอื่นฟังว่า สุนัขพิการที่นี่ได้รับการดูแลดีกว่าคนพิการที่ไทย เขาฟังแล้วก็สะเทือนใจ ยุคนั้นคนพิการที่ไทยได้รับการดูแลน้อยมาก เห็นความแตกต่าง เราเกิดความรู้สึกในใจว่า ถ้ามีโอกาสได้เรียนหนังสือและมีความรู้ เราก็อยากจะช่วยเหลือคนพิการคนอื่นเขาบ้าง ยังมีคนอีกเยอะที่เขาลำบาก
“หลังกลับมาจากออสเตรเลียก็มีคนจากมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์ โทรมาถามว่าอยากเรียนหนังสือไหม มาเรียนกับอาจารย์ประหยัด (ประหยัด ภูหนองโอ่ง) สิ แกให้โอกาสทุกคน เราก็เลยตัดสินใจไปหาอาจารย์ และแกก็สนใจทักษะภาษาอังกฤษของเรา

4
มหา'ลัยของบุญศิริ
ครูบุญศิริสอนได้ไม่นาน อาจารย์ประหยัดก็ชวนให้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจเรียนคณะมนุษยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผ่านการสอบตรงและการเรียนในมหาวิทยาลัยนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นเต้นที่จะเกิดขึ้น

5
เป้าหมายของตัวเอง บนความหมายของผู้อื่น
ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกถึงความลำบากของคนพิการต่อการศึกษา คือตอนที่เธอสอบผ่านข้อเขียนชิงทุนไปต่างประเทศ แต่กลับไม่ผ่านรอบสัมภาษณ์ ที่เธอคิดว่าอาจเป็นเพราะคนมองว่า คนพิการจะไม่มีศักยภาพพอ
“เราเคยสอบชิงทุนไปต่างประเทศ สอบข้อเขียนผ่านแล้วแต่เขาไม่ให้ผ่านรอบสัมภาษณ์ เขาอาจจะมองว่าคนพิการเป็นภาระอะไรทำนองนั้น เลยอยากให้การศึกษากับคนตาบอดที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน คนต่างจังหวัดที่เข้าไม่ถึงการบริการ พวกเขาไม่รู้สิทธิประโยชน์ของตัวเองเพราะอยู่พื้นที่ห่างไกลและสังคมไม่เข้าใจ ขนาดพ่อแม่ตัวเองยังไม่เข้าใจเลย หลังจากนั้นเลยมีเป้าหมายที่จะทำศูนย์คนตาบอดเพื่อช่วยเหลือเด็ก”
เมื่อเป้าหมายชัดเจนแล้วว่า อยากเปิดโรงเรียนสอนคนตาบอด แต่ก็ยังขาดเงินทุนในการตั้งต้น ทำให้ความโชคดีโคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เห็นความตั้งใจของเธอนั้นออกเงินสนับสนุนตั้งต้นให้จนกว่าจะได้รับเงินบริจาค โรงเรียนเล็กๆ จึงเริ่มขึ้น
“หลังจากนั้นก็เริ่มมีการสนับสนุนเข้ามาเลย พอเราเรียนจบกลับมาอยู่ที่นี่ได้รู้จักกับนักกฏหมายคนหนึ่งของ UN เขาจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็เลยยกบ้านให้เราเช่าต่อ จ่ายค่าเช่า 2 เดือนแรกให้ด้วย แล้วก็เครื่องซักผ้าอีกเครื่องนึง
“เราเลยเริ่มต้นจากตรงนั้น มีเด็กสองคนคือ หม่องล่าวี และ ลินลินโซ ลินลินโซมาตอน 7 ขวบ เขามีปัญหาด้านสมองนิดหน่อย เขาจะช้า ตั้งแต่เราไปรับเขามาเราจะให้เขาสัมผัสหมดเลย ตั้งแต่ประตูรถ เบาะรถ ประตูบ้าน ให้เขารู้สึกว่านี่คือบ้านของเขาเอง”
หวังว่า ในตอนนี้โรงเรียนคนตาบอดแม่สายจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของคุณแล้ว ศูนย์การเรียนรู้คนตาบอดแม่สอดกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับเด็กพิการบริเวณชายแดนจังหวัดตากและในงานเขียนชิ้นหน้า เราจะพาคุณไปรู้จักพวกเขาเหล่านั้นและพื้นที่กิจกรรมที่ครูบุญศิริสร้างขึ้น แล้วเจอกัน!
สัมภาษณ์โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
เรียบเรียงโดย คชรักษ์ แก้วสุราช