Skip to main content

ตอนที่รู้ว่าน้องชายเป็นเด็กพิเศษคือช่วงที่เรียนชั้นป.2 ตอนนั้นไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากหรอก รู้แค่ว่าน้องชายไม่สบายต้องไปหาหมอและไปเรียนก่อน 3 ขวบ มีช่วงหนึ่งที่เราได้ตามน้องไปไหนมาไหนก็ได้เห็นและเข้าใจอะไรมากขึ้นว่า น้องไม่เหมือนคนอื่น ขณะเดียวกันเรายิ่งโดนพ่อแม่คาดหวังแทนน้องชายว่า ต้องมีอนาคตที่ดี เลี้ยงน้องได้เพราะภาวะออทิสติกที่น้องเป็น แต่เรื่องก็เปลี่ยนไปเมื่อพ่อแม่เลิกกัน จนที่บ้านมีปัญหาด้านการเงินและเรากับน้องชายต้องย้ายมาอยู่กับครอบครัวป้า

จากเด็กที่ไม่เคยทำงานบ้านก็ต้องทำ ต้องเลี้ยงน้อง แต่เรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง คือน้องชายได้กลับไปหาหมออีกครั้ง และเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าใจว่า ภาวะนี้เหมือนเป็นอุปสรรค เป็นเงื่อนไขและข้อกำจัด แต่ถ้าเราทำลายสิ่งเหล่านี้ไปได้ เราก็ผ่านมันไปได้เช่นกัน

ในส่วนแรกที่จะพูดถึงคือ เรื่องการเรียน โดยแบ่งเป็นการเรียนสมัยเด็ก ๆ ตอนเรียนสมัยมัธยมศึกษา การเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย


ภาพประกอบโดย TO.pyd
 

01 น้องชายไม่เคยซ้ำชั้น

ก่อนที่น้องชายจะเข้าอนุบาลในโรงเรียนร่วม น้องชายเรียนโรงเรียนเด็กพิเศษโดยเฉพาะตั้งแต่อายุขวบครึ่ง โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษนั้นเป็นโรงเรียนที่คอยฝึกให้น้องชายมีพัฒนาการที่ตามวัย เช่น สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้ ทานอาหารเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ เป็นต้น เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเรียน  อย่างการบอกสี รูปทรงต่าง ๆ ได้ หรือฝึกฝนทางด้านกายภาพ เต้น ออกกำลังกาย ฝึกเดินตรงหรือซิกแซก กระโดด ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีชั่วโมงเรียนฝึกพูดด้วย

พอน้องอายุ 2 ขวบครึ่ง ที่บ้านก็ปรึกษากับครูที่ดูแลน้องเรื่องการเข้าเรียนชั้นอนุบาลและพบว่า น้องสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนร่วมได้ ดังนั้นที่บ้านก็เลยเริ่มหาโรงเรียนให้น้อง แต่เชื่อไหมคะว่า สมัยก่อนเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของโรงเรียนร่วมทั่วไป

โรงเรียนแรกที่ไปสอบถามคือโรงเรียนที่ฉันเรียน โรงเรียนนี้บอกว่า ที่บ้านต้องมีพี่เลี้ยงมาประกบน้องชายนะ เราไม่ค่อยชอบมุมมองของโรงเรียนนี้เท่าไร เพราะรู้สึกค่อนข้างมองน้องเป็นเด็กแปลกหรือตัวประหลาด

พวกเราจึงหาโรงเรียนใหม่

โรงเรียนที่สองบอกว่าน่าจะรับได้ จึงให้มาเรียนซัมเมอร์ก่อน น้องชายเราร้องไห้เมื่อต้องแยกจากกับที่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน แต่สิ่งที่คุณครูทำคือ ทิ้งให้น้องร้องอยู่หน้าห้อง ครอบครัวของเราซึ่งเป็นห่วงและแอบดู เห็นพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมจึงพาน้องกลับบ้านตั้งแต่ตอนนั้น

และพวกเราก็หาโรงเรียนใหม่กันอีกรอบ

โรงเรียนที่สามเป็นโรงเรียนที่ยินดีรับน้องและฟังในสิ่งที่เราพูดอย่างตั้งใจ พร้อมจะช่วยเหลือ จึงทำให้น้องชายเรียนที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6

น้องชายของเราจึงได้เรียนอนุบาล  1 ตามเกณฑ์

แน่นอนว่า การเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นอาจจะทำให้เด็กพิเศษมีปัญหากับการเรียนจนต้องซ้ำชั้น แต่น้องชายเราไม่เคยซ้ำชั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของคุณแม่

คุณแม่เป็นคนที่เข้มขวดกับการเรียนของลูกมาก ให้ลูกทำการบ้านและอ่านหนังสือต่อหน้าแม่ เรียนพิเศษอย่างหนัก และมีคาดหวังสูงว่าลูกจะต้องได้คะแนนดี สอบได้ลำดับต้นๆ ของห้อง และหากเราทำไม่ได้ก็จะโดนดุและตี คุณแม่ใช้นิสัยเช่นนี้กับน้องชาย แต่ไม่หนักเท่ากับเรา มีเพียงบอกให้เรียนหนังสืออย่างหนัก แต่ไม่ได้ถูกคาดหวังว่าต้องได้ลำดับต้นๆ

ความเข้มงวดนี้ก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี เรามีวินัยในการเรียนหนังสือ ตั้งใจเรียน ไม่ขี้เกียจ แต่ก็เครียด ไม่มีความสุข เบื่อเรียนและชิงดีชิงเด่น เพราะรับรู้ว่า ถ้าไม่เก่งก็จะโดนลงโทษ เราติดนิสัยนี้จนถึงมัธยมฯปลาย และค่อยๆ เปลี่ยนความคิดช่วงมหาวิทยาลัยจากครอบครัวคุณป้าที่เราไปอาศัยอยู่ แต่สำหรับน้องทุกสิ่งที่แม่ทำนั้นกำลังพอดี น้องจึงเรียนรู้เรื่องทุกวิชา ได้คะแนนระดับปานกลาง และไม่ซ้ำชั้น 

 

02 ผลการเรียนสมัยมัธยมศึกษา

ผลการเรียนสมัย ม.ต้นของน้องค่อนข้างดี การเรียนเป็นไปอย่างสบายๆ เพราะเขาชอบอ่านหนังสือทุกวันจากการฝึกของคุณแม่ น้องสอบผ่านในทุกวิชา ทำคะแนนได้ดีจากการทำงานส่งให้ครบและอ่านหนังสือสอบ ความยากเริ่มเกิดขึ้นตอนที่น้องชายจะต้องเข้า ม.4 ที่มีการเลือกสายวิทย์ หรือศิลป์

ตอนนั้นเรากดดันในฐานะผู้ปกครองเพราะเราไม่ได้ให้น้องเลือกตามความชอบ แต่เลือกเพื่อความอยู่รอด โรงเรียนที่น้องเรียนอยู่มีห้องเรียน ม.ต้นประมาณ 10 ห้อง และมี ม.ปลายเพียง 5 ห้อง ดังนั้นเด็กที่อยากเรียนต่อจึงต้องสอบแข่งขันกัน ในรอบแรกน้องสอบไม่ติด พวกเราก็กดดันว่าเอายังไงดี เลยตัดสินใจว่า ครั้งหน้าจะให้น้องสอบสายศิลป์ เพราะคนเข้าสอบน้อย

ตอนที่น้องชายสอบไม่ติดครั้งแรก พี่สาวอย่างเราก็ประเมินไปเองว่า เกิดจากการเตรียมสอบที่ไม่พร้อม เราจึงค่อนข้างดุและแนะนำว่า น้องต้องอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ไปอ่านที่โรงเรียนตอนพักจะได้มีเวลามากขึ้น เพราะเหลือเวลาเตรียมตัวอีกแค่ 2 อาทิตย์

เวลาพักเที่ยงเกือบ 1 ชม.เราให้น้องทำแบบฝึกหัด 15- 20 นาที อยากให้น้องเรียนรู้ว่า ถ้าเราเตรียมตัวไม่ดีพอ ชีวิตจะลำบากขึ้น แต่แน่นอนว่า ยังต้องมีเวลาพักผ่อน ไม่อยากให้น้องอ้างว่า ไม่มีเวลา เวลาไม่พอ เพราะทุกอย่างอยู่ที่การจัดสรรของตนเอง

สุดท้าย น้องก็สอบรอบ 2 ติดและกลายเป็นนักเรียนชั้น ม.ปลาย

การเรียน ม.ปลายนั้นยากขึ้น น้องชายมีปัญหาด้านการเรียนคณิตศาสตร์ สับสนการใช้สูตรตรีโกณมิติ และความน่าจะเป็น เรานำเรื่องนี้ไปปรึกษาหมอที่ดูแล หมอแนะนำว่า ให้ฝึกทำแบบฝึกหัดเยอะๆ และลดความกังวล การทำแบบฝึกหัดจะช่วยทำให้จำรูปแบบของคำถามได้ดี สิ่งที่เราเสริมให้น้องจึงไม่ใช่แค่การทำแบบฝึกหัด แต่ยังช่วยน้องแยกกลุ่มของคำถามที่มีด้วย เช่น ในชุดคำถามแนวเดียวนี้ ต้องใช้สูตรแบบนี้

การแบ่งกลุ่มของคำถามช่วยทำให้น้องทำโจทย์ได้ง่ายขึ้น และมองรูปแบบของโจทย์ออก ให้น้องคิดเสียว่า ข้อสอบจะมี 3 ประเภทใหญ่คือ แบบที่ทำได้ แบบที่ค่อนข้างยาก และแบบที่ยากมาก ถ้าเราสามารถทำแบบที่ทำได้และแบบที่ค่อนข้างยากได้ ก็พอแล้ว แน่นอนล่ะว่าความกังวลยังอยู่ เราต้องย้ำกับน้องว่า ตอนสอบไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ ข้อไหนทำไม่ได้ให้ผ่านไปก่อน และอย่ากังวลว่า พอทำไม่ได้หนึ่งข้อแล้ว ข้ออื่นจะทำไม่ได้ เพราะต้องเอาสมาธิและสมองไปทุ่มการข้อสอบ ไม่ใช่กลัวข้อสอบ หรือต่อให้เจอแต่ข้อที่ทำไม่ได้จริงๆ ก็ช่างมัน เพราะตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เอาพลังมาลุยดีกว่า เพื่อจะเจอคำตอบมากขึ้น และสุดท้ายเป็นสิ่งที่บอกน้องให้ท่องก่อนสอบเสมอว่า เราอ่านเต็มที่ เราทำได้ เพราะแบบฝึกฝนที่ทำจะช่วยเราได้แน่นอน

หลังจากที่สอนทั้งการทำแบบฝึกหัด สอนคาถาลดความกังวล น้องทำข้อสอบได้ดีขึ้นและเรียนจบ ม.ปลายได้ด้วยดี

หลายคนอ่านถึงตรงนี้ อาจเกิดคำถามในใจว่า เราบังคับหรือกดดันน้องชายเกินไปหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะการกดดันต้องมีความคาดหวังในผลลัพธ์ แต่สิ่งที่เราสอนและคุยกับน้องเพื่อให้เขาพัฒนาตนเอง ค่อยๆ หาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงบอกกับน้องเสมอว่า ถ้าทำเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น ก็ไม่เป็นไร ขอแค่พิสูจน์ให้เห็นว่า เต็มที่ที่สุดแล้ว

 

03 เตรียมสอบเข้า มหาวิทยาลัย

ฝันของน้องชายคืออยากเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์สยองขวัญ เพราะเขาชอบดูหนังแนวนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดของการเดินทางและการอยู่ในความดูแลของเรา เลยทำให้น้องไม่สามารถเลือกสถาบันได้มากนัก และสถาบันที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า มีคณะเกี่ยวกับการเขียนบทละครได้จึงมีอยู่ที่เดียวคือ คณะอักษรศาสตร์และนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทั้ง 2 คณะนี้ ก็เป็นคณะที่มีคะแนนสอบเข้าสูงมาก

ในฐานะคนแนะแนวแผนการเรียนต่อ เราค่อนข้างลำบากใจเพราะ การเข้าจุฬาฯ ให้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การจะบอกให้น้องละทิ้งความฝัน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีและอาจทำให้น้องสูญเสียจุดยืนของตนเองไป

เราคิดไปวนมาว่า จะให้น้องทำตามฝัน หรือเปลี่ยนความฝัน และถามตนเองว่า ความฝัน หรือพฤติกรรมไล่ตามความฝันคืออะไร คำตอบที่ได้คือความมุ่งมั่นและคลั่งไคล้ แต่สำหรับน้องชาย เราไม่ได้รู้สึกถึงความมุ่งมั่นและคลั่งไคล้ เขาชอบดูหนังสยองขวัญ  แต่ไม่เคยเห็นเขียนหนังสยองขวัญ เขาเหมาะจะเป็น“ผู้เสพ”มากกว่า “ผู้สร้าง” ภาพจำว่าอยากเป็นของน้องจึงเป็นจินตนาการที่มีคนเขียนเท่ๆ เสียมากกว่า การช่วยคัดกรองจากพฤติกรรมจึงจำเป็น และไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องบอกได้ทั้งหมดว่า ตัวเองอยากทำอะไรหรือต้องการอะไร ในตอนนี้ แต่ค่อยๆ ค้นหา โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อน

เราถามน้องว่า การเขียนบทใช่ความฝันจริงหรือเปล่า น้องตอบว่า ไม่มั่นใจ

เราไม่ได้ว่าอะไร แต่อยากให้น้องประเมินตนเอง การสอนให้เขาประเมินสถานการณ์ตามความจริงเป็นสิ่งสำคัญ เขาจะโตขึ้น มองโลกตามความเป็นจริง พร้อมกับสามารถประเมินความสามารถของตนเองว่า ทำไหวหรือไม่ รวมถึงการทำไม่ไหวและถอยลงมา ก็ไม่ใช่สิ่งน่าอาย การฝืนพยายามทำจนมากเกินไปต่างหากจะทำให้น้องไม่มีความสุขในการเรียน และการใช้ชีวิต เพราะต้องกดดันตนเอง

ดังนั้น เราจึงมองหามหาวิทยาลัยใหม่ และเริ่มมีการพูดคุยถึง สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น เนื่องจากใกล้บ้าน อัตราการแข่งขันไม่สูงมาก โอกาสติดสูง และยังได้เรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์ความชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นของน้องชายมาก

น้องชายจึงเลือกสอบที่นี่และก็ได้เรียนที่แห่งนี้ หลังน้องได้เข้าไปใช้ชีวิตในสถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น เขาชอบที่นี่มาก และไม่เสียใจที่เข้าเรียนที่นี่

สุดท้ายการถอยในวันนั้น มันไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่มันเป็นเส้นทางที่เชื่อมมาอีกเส้นทางหนึ่ง ที่ทำให้น้องชายมีความสุขในการเรียน และชีวิตประจำวันของเขา และก็เป็นจุดเริ่มต้นในการค่อยๆ ค้นหาเป้าหมายของตนเอง

 

04 เมื่อต้องเรียนแบบคิดวิเคราะห์ ทำยังไงดี

น้องชายเรียนอยู่คณะบริหารธุรกิจ แน่นอนว่า สิ่งที่จะต้องเจอตอนในเรียนคือการคิดวิเคราะห์ เจอวิชานี้เราเองก็ซีดเพราะไม่ได้จบด้านบริหารมา จะช่วยน้องชายอย่างไรก็มึนๆ เลยพยายามประยุกต์การเรียนคณะจิตวิทยาที่จบมา ซึ่งมีการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เหมือนกัน โดยบอกน้องว่า

  1. อ่านและทำความเข้าใจ ในทฤษฎี นิยาม และหลักการให้แม่น
  2. อ่านกรณีศึกษาเยอะ
  3. หาให้เจอและจัดกลุ่มให้ได้ว่า มีแนวการวิเคราะห์กี่แบบและทำอย่างไรบ้าง
  4. หัดเขียนวิเคราะห์เอง และมาพูดคุยกัน

ก่อนจะเริ่มสอนเราต้องทำการบ้านก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการคิดวิเคราะห์สำหรับคนที่มีภาวะออทิสติก จนพบว่า สาเหตุคือการอ่านโจทย์ไม่เคลีย เทคนิคง่ายๆ จึงคือหาคำตอบให้ได้ว่า โจทย์ถามอะไร

ถ้าคำถามเป็น what หมายถึง สิ่งที่โจทย์ถามคืออะไร เหมือนส้มคืออะไร ก็ตอบว่า ส้มคือผลไม้
ถ้าคำถามเป็น why หมายถึง ต้องบอกเหตุผล เหมือนกับว่า ทำไมต้องกินส้ม ก็ตอบไปว่า เพราะกินส้มแล้วผิวสวย ได้วิตามินซี
ถ้าคำถามเป็น how หมายถึง ให้บอกขั้นตอน เหมือนกับว่า กินส้มอย่างไร ก็ตอบว่า ต้องล้างส้มก่อน แกะเปลือก แล้วกิน จากนั้นก็ทำตามขั้นตอน 1-4

การสอนน้องคิดวิเคราะห์ใช้หลักการเดียวกับสอนให้เด็กประถมแก้โจทย์ปัญหา บวก ลบ ที่เราต้องเข้าใจว่า การบวก คือการนำมารวมกัน, การลบ คือ การนำออกไปและเมื่อเข้าใจหลักการ ก็จะรู้ว่า  3 + 3 = 6, 6 – 2 = 4ต่อมารู้แล้วว่า บวกลบคืออะไร ก็มาถึงเลขที่มีโจทย์ ถ้าโจทย์มีคำว่า รวมกันก็หมายถึงการบวก ถ้าโจทย์มีคำว่า เหลือ หมายถึงการลบ ซึ่งเปรียบได้กับอ่านกรณีศึกษามากๆ ก็จะทำให้เราคล่องขึ้น

หลังจากนั้นเข้าใจแล้ว เด็กก็ต้องกลับมาทำการบ้านเสมอ เพื่อฝึกทำให้คล่องขึ้นผ่านโจทย์ต่างๆ  และสุดท้ายก็ต้องนำการบ้านมาส่ง เพื่อดูว่าทำถูกไหม

อย่างไรก็ดี การคิดวิเคราะห์ไม่ได้ขึ้นกับความเก่งหรือไม่เก่งเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการฝึกฝน แม้น้องชายอาจจะมีปัญหาในการคิดวิเคราะห์ แต่ถ้าไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ พยายามช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ไปได้ และลงมือทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ สุดท้าย เขาก็สามารถผ่านปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาได้

 

05 เขียนดี หรือเขียนแย่ อยู่ที่การฝึกฝน

การสอบสุดโหดของน้องชาย ที่นอกจากจะต้องคิดวิเคราะห์แล้ว ยังต้องเขียนตอบอีก นับว่าเป็นเรื่องมาก เพราะถือได้ว่า ภาษาเป็นจุดอ่อนอันสำคัญยิ่งของเด็กออทิกติก อย่างไรก็ตามเราคิดเสมอว่า จุดอ่อนเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ แต่แก้ไขได้

เด็กหลายคนที่เขียนเก่งๆ อาจเกิดขึ้นจากพรสวรรค์ ได้รับการฝึกฝน หรืออ่านหนังสือเยอะ ฯลฯ จนสามารถสร้างเอกลักษณ์วิธีการเขียนของตนเองขึ้นมาได้ โชคดีที่เราเคยเรียนวิชาการเขียนบทความในมหาวิทยาลัย และยังเก็บหนังสือเรียนเอาไว้อยู่ จึงนำวิชาความรู้มาบอกต่อน้องชายด้วยหลัก 3 ข้อคือ

  1. โจทย์ถามอะไรให้ตอบอันนั้น
  2. ตอบไปแล้ว ต้องมีเหตุผลสนับสนุนตามมาเสมอ
  3. เรียนรู้คำเชื่อมที่ต้องใช้ในบทความ ทั้งคำเชื่อมเหมือนอย่าง “และ” คำเชื่อมต่างอย่าง “แต่” คำเชื่อมให้เหตุผลอย่าง “เพราะว่า” คำเชื่อมลำดับขั้นอย่าง “ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง” เป็นต้น

เราไม่ได้ต้องการให้น้องชายได้คะแนนเต็ม หรือได้คะแนนแบบพอผ่าน แต่สิ่งที่ต้องการคือ ทำให้เขาสามารถสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งถ้าสิ่งที่สื่อสารนั้นดีมาก ตรงประเด็น คะแนนที่ดีก็จะตามมาเอง

แน่นอนว่า การฝึกภาษาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เราฝึกกันอย่างหนักหน่วง  น้องชายฝึกเขียนงานมาส่งทุกสัปดาห์ และเราก็จะแนะนำว่าอันนี้ดี อันไหนต้องแก้ไข และถึงแม้เขียนดีแล้วแต่ก็ต้องฝึกเขียนต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย

เขียนดี เขียนเก่ง ใช่มาจากพรสวรรค์อย่างเดียว “พรแสวง” เองก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้น ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการฝึกฝน

 

06 ความรับผิดชอบ

การให้น้องเขียนงานส่งทุกอาทิตย์ และเขียนให้เป็นนิสัยเป็นเรื่องยาก บางทีก็ทะเลาะกันเพราะความหงุดหงิดของเราที่น้องลืมเขียนส่ง รู้สึกว่า น้องขาดความรับผิดชอบและไม่ทำให้เป็นนิสัย

ดังนั้น ทุกครั้งที่น้องลืมส่ง และต้องทวงงานเกิน 2 สัปดาห์ เราจะเรียกมาคุยและดุเรื่องความรับผิดชอบ ดีกว่าปล่อยให้เขากลายเป็นคนที่ไร้วินัยในตนเอง แต่เพราะการดุไม่ได้สร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ การจัดตารางชีวิต และวางแผนว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยการใช้สมุดบันทึกจดงานในแต่ละวัน การทำเช่นนี้ให้น้องส่งงานเป็นเวลามากขึ้น

เราหวังว่า เมื่อน้องชายโตเป็นผู้ใหญ่ น้องจะกลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เพราะความรับผิดชอบต่องานนั้นสำคัญมาก ยิ่งในโลกของการทำงาน ที่ไม่มีใครใจดี ยอมละเลยความไม่รับผิดชอบของเราได้ตลอดเวลา

นอกจากงานที่ต้องส่งเราแล้ว บางทีน้องก็พลาดส่งงานมหาวิทยาลัย เราจึงต้องสอนน้องจัดการตารางชีวิตมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ได้ซีรีบัสก็ต้องเปิดดูงานและเวลาส่งงานทั้งหมด บันทึกวันส่งงานลงสมุด วางแผนการทำงานและส่งแผนงานให้พี่ตรวจเพราะน้องชายไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากตรงไหน การสอนเป็นขั้นๆ จะช่วยทำให้ความคิดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และสามารถทำงานเป็นระบบได้ หลังจากนั้นน้องก็ไม่มีปัญหาเรื่องการทำงานส่งอีกเลย

แน่นอนว่า พอจู้จี้จุกจิกหลายอย่างในชีวิตน้อง ก็มีบ้างที่น้องรำคาญและต่อต้านผ่านทางสีหน้า บางครั้งน้องก็ถอนหายใจ เราจะไม่ดุ ไม่ว่าเพราะเป็นนิสัยปกติของวัยรุ่น แต่มักจะตั้งคำถามว่า ข้อตกลงของเราคืออะไรเพื่อให้น้องคิดทบทวน

และทุกครั้งที่น้องชายไม่พอใจ เรามักจะบอกว่า ไม่ควรรำคาญหรือไม่พอใจเวลาคนสอน เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราเก่งขึ้นและทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ขนาดพี่โตแล้ว ยังมีพี่เลี้ยงคอยสอนงาน มีหัวหน้าคอยดุ คอยแนะนำ เราจึงคอยสอนน้องแค่ครั้ง สองครั้งแรก จากนั้นให้เขาจดบันทึก ปล่อยให้ลุยเอง และค่อยมาเล่าผล

 

07 อนาคตต้องสร้างเอง

กว่าจะปรับตัวได้ในการเรียนในช่วงแรก ก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน และเวลาของคนเราก็มักจะผ่านไปรวดเร็ว แก้เรื่องเรียนไม่ทันไร ก็ต้องเริ่มเตรียมตัวกับการหางานทำหลังเรียนจบเสียแล้ว ช่วงที่น้องใกล้จบ ปี 3 คุณหมอที่น้องหามาตลอดก็เริ่มถามถึงเป้าหมายในอนาคตว่า “จบไป อยากทำงานอะไร”

สิ่งที่น้องชายตอบไปคือ ผมอยากทำงานด้านการตลาด

คุณหมอค่อนข้างเป็นห่วงว่า คำตอบของน้องมีความเสี่ยง การทำงานด้านการตลาดอาจจะค่อนข้างยากกับน้อง เพราะต้องใช้การสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนหรือปัญหาของคนที่มีภาวะออทิสติก คุณหมอจึงอยากให้เลี่ยงไปทำงานที่ไม่ต้องมีการสื่อสารมากนัก

ในฐานะผู้ปกครอง เจอแบบนี้จะทำอย่างไร.. เราเองก็คิดว่า การทำงานการตลาดสำหรับน้องนั้นค่อนข้างยาก เพราะน้องชายอาจจะต้องเจอปัญหาแบบนั้นจริง ๆ ตามที่คุณหมอบอก แต่เพราะเราคุยเรื่องความฝันและเป้าหมายกับน้องชายบ่อยมาก ในทุกครั้ง เราเห็นความชอบออกมาจากแววตาเวลาที่เขาพูดเรื่องนี้ น้ำเสียงเขาสดใส และอินมากกว่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น ปัญหาที่เรากำลังพบเลยคือเขาชอบการตลาดและอาจจะยากเพราะสื่อสารไม่ดี

เขา “ควรถอย” หรือ “สู้ต่อ” แต่ไม่ว่ายังไงก็ต้องใช้ความกล้าทั้งสิ้น สิ่งที่เราบอกกับน้องคือ

“พี่รู้ว่า หนูชอบการตลาดมาก แต่ตอนนี้หนูกำลังเจอคนหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับทางเลือกของหนู แต่พี่อยู่ข้างน้อง ลุยไปเลย!!! เราต้องทำในสิ่งที่เรารักเพราะเราต้องอยู่กับสิ่งนี้ไปอีกนาน ถ้าไม่รักก็อยู่ลำบาก แต่ก็อยากให้ฟังสิ่งที่หมอพูดเหมือนกัน เพราะนั่นคือความจริงที่ต้องเผชิญ หมอไม่ได้บอกว่าเราทำไม่ได้ แต่แค่มีอุปสรรคใหญ่รออยู่ ดังนั้นถ้าอยากจะไปทางด้านการตลาดจริง ก็ต้องรีบแก้ไขจุดอ่อน”

สิ่งที่บอกน้องไปในวันนั้น คือการให้กำลังใจว่าทางที่เขาเลือกไม่ได้ผิด พร้อมกับการตระหนักรู้ถึงอุปสรรคที่จะตามมา และแนวทางการแก้ไข เพราะไม่ว่าใครๆ ก็มีความเสี่ยงในชีวิต เรามีความเสี่ยงและรู้ว่าความเสี่ยงนั้นคืออะไร เราก็ได้เปรียบและเรียนรู้มันได้อย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำได้หรือไม่

 

08 อย่าลืมเผื่อใจสำหรับความผิดพลาด

จากบทที่แล้ว ที่เล่าถึงการสอนให้น้องมุ่งสู่เป้าหมายหรือความฝันของตนเอง ในตอนท้ายของบทได้เขียนเอาไว้ ถึงการยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ความเสี่ยง = อาจะเกิดขึ้น หรือมีความไม่แน่นอนของการเกิดเหตุการณ์นั้น

หากพูดในภาษาคณิตศาสตร์ก็คือ ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ เช่น ถ้าโยนเหรียญ โอกาสที่จะออกหัวนั้น ก็คือครึ่งต่อครึ่ง นั่นหมายความว่า โอกาสที่เราจะทำได้คือร้อยละ 50 เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต สิ่งที่เราหวังอยากให้เกิดนั้นก็มีโอกาสเกิด และโอกาสที่จะไม่เกิด การเตรียมใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดูไปแล้ว การสอนให้น้องชายเตรียมใจ นั้นเหมือนกับสอนให้น้องคิดถึงสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น แม้จะมองแล้วดูลบ แต่เราอยากให้เขามองโลกตามความเป็นจริง เพราะโลกไม่ได้มีแค่ด้านใดด้านหนึ่ง น้องจึงควรมองให้รอบด้าน เพื่อเตรียมพร้อมมีความสุขกับความสำเร็จ และเผื่อใจกับความผิดพลาดล้มเหลวด้วย

เราเล่าประสบการณ์ของเราให้น้องฟังว่า ก่อนจะเรียนจบฝันอยากทำงานที่บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง คิดว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ โดยไม่ได้เผื่อใจหรือหาทางเลือกอื่นสำรองไว้เลย ผลสุดท้ายก็ไม่ติด ตอนนั้นทั้งทุกข์ ทั้งเศร้า ทั้งกังวล ว่าจะทำอย่างไรต่อดีเพราะอีกเดือนเดียวก็จะเรียนจบ จะหางานทันไหม ช่วงแรกทุกข์หนักมาก ทำอะไรไม่ถูกเหมือนชีวิตไม่มีทางไป แต่พอเริ่มตั้งสติ ลบความคิดที่ไม่มีเหตุผล ความทุกข์ก็ลดลง และเริ่มคลำทางให้กับตนเองได้ หลังจากนั้นเราได้บทเรียนชีวิต และสอนบทเรียนสำคัญให้แก่น้องชายว่า

  1. การที่เราไม่เผื่อใจไว้เลยจะทำให้เราทุกข์หนักมากเมื่อไม่เป็นตามที่คาดหวัง
  2. การที่เราไม่เผื่อใจไว้เลยจะทำให้เราไม่ได้คิดแผนสำรอง และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

 

จากที่เล่าไปทั้งหมดอาจดูเหมือนพี่คนนี้เป็นผู้สอนน้อง เพื่อให้น้องเรียนดี มีงาน แต่น้องชายรู้ไหมว่าทั้งหมดเป็นเพราะหนูมีความมุ่งมั่น พยายาม และอดทน จึงทำให้ตัวเองค่อยๆ แก้ปัญหากับการเรียนไปได้เรื่อยๆ

จึงอยากฝากไว้สำหรับคนที่ท้อเรื่องการเรียนว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เราเก่งแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่า เราพยายามแค่ไหนและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนได้ดีแค่ไหนเสียมากกว่า

พรแสวง จะช่วยเราได้