Skip to main content

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี 2560 จำนวนคนพิการที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 1,808,524 คน คิดเป็นร้อยละ 2.75ของประชากรทั้งประเทศ โดยแยกเป็นเพศชาย 953,541 คน และเพศหญิง 854,984 คน เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 880,662 คน หรือร้อยละ 48.69 ของจำนวนคนพิการทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมีอายุระหว่าง 22-59 ปีร้อยละ 47.18 และมากกว่า 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 52.97


ภาพประกอบโดย TO.pyd
 

ด้วยจำนวนคนพิการทางร่างกายที่มากและเพิ่มขึ้น ความต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือและอุปกรณ์เทียม โดยเฉพาะจากกรณีสูญเสียอวัยวะไม่ว่าจะเป็น แขน ขา มือ นิ้ว ฯลฯ จึงมีมากขึ้น ซึ่งแม้จะมีหลายหน่วยงานวิจัยและผลิตอุปกรณ์และอวัยวะเทียมเหล่านี้ แต่ก็อาจจะไม่แนบเนียนและไม่เหมือนของจริง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานด้านคนพิการทั้งในและต่างประเทศเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตกายอุปกรณ์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ในสังกัดกรมการแพทย์ เห็นถึงปัญหาและความทุกข์ทรมานใจของคนพิการที่ต้องสูญเสียอวัยวะ จึงได้ตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ และต้องการจะผลิตอุปกรณ์เทียมให้เสมือนจริงมากขึ้นโดยใช้ซิลิโคน

โดยในการผลิตจะเน้นการขึ้นแบบเฉพาะรายไม่ว่าจะเป็น นิ้วมือ นิ้วเท้าเทียม มือเทียม หรือเท้าเสริมส่วนหน้า ซึ่งสามารถทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดหาย ชดเชยหน้าที่การทำงาน และคืนรูปร่างลักษณะที่สวยงาม ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อจิตใจและศักยภาพในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ป่วยและคนพิการที่สูญเสียอวัยวะหรือมีความพิการตั้งแต่กำเนิด

หลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบของอวัยวะเทียมให้มีความเหมือนจริงมากขึ้นพบว่า ผู้มารับบริการส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูญเสียนิ้ว มือขาด หรือเท้าขาด จากสาเหตุความพิการตั้งแต่กำเนิด หรือผู้ที่สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุประเภทต่างๆ และกลุ่มผู้ที่ต้องถูกตัดอวัยวะจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ มีความพึงพอใจ และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า การให้บริกากายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ (Silicone Lab) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2555 โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักกายอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีการตรวจประเมินและออกแบบกายอุปกรณ์ให้กระชับพอดีกับผู้ใช้ ด้วยระบบสูญญากาศ ซึ่งมีผลดีคือ ไม่ทำให้เจ็บหรือปวดในขณะใช้งาน และมีความเหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละราย โดยเมื่อผลิตเสร็จจะมีการตรวจสอบ และประเมินก่อนนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ ยังแนะนำข้อมูลและติดตามผลการใช้งานอย่างต่อเนื่องด้วย

ความโดดเด่นของกายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคนคือ

1.ออกแบบและผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับแต่ละราย
2.มีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะที่เหลืออยู่ สีของกายอุปกรณ์เทียมคล้ายกับสีผิวจริงของผู้ใช้
3.มีความกระชับพอดี
4.เล็บอะคริลิกเสมือนจริง ถูกผลิตขึ้นทีละเล็บเพื่อให้คล้ายกับเล็บเดิม สามารถตัดแต่งให้สวยงามตามความต้องการได้
5.เมื่อเปื้อนคราบหมึกจากปากกาหรือสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเช็ดทำความสะอาดเพื่อให้คราบจางลงได้

“เราพบว่าคนพิการส่วนใหญ่พึงพอใจ หลังจากได้รับกายอุปกรณ์ที่มีทั้งความเหมาะสมกับตนเอง สวยงาม และทำให้มั่นใจมากขึ้นและไม่รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ทำให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีทำงานหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ เหมือนคนที่ไม่ได้มีความพิการใดๆ” นพ.ศักรินทร์กล่าว

 

ที่มา http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0017556&currentpage=1