Skip to main content

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ออกชี้แจ้งข้อเท็จจริงผ่านทางเพจ รถไฟฟ้าบีทีเอสกรณีเหตุการณ์ที่มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือซาบะ คนพิการนั่งวีลแชร์ทุบกระจกลิฟต์โดยสารที่สถานีอโศก ดังนี้

คืนวันอาทิตย์ ที่ 11 มีนาคม 2561 เวลาประมาณ 20.15 น. คุณมานิตย์ ได้มาใช้บริการที่สถานีอโศก โดยมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ขอให้กรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติปกติสำหรับผู้พิการ แต่ทั้งนี้ คุณมานิตย์ได้ปฏิเสธการลงชื่อ และได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟต์แตก บริษัทฯ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมิได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ บริษัทฯ จะทำการทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติให้มีความสะดวกมากขึ้น แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ

สำหรับลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว ไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวก และความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ในปี 2542 และได้มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการโดย กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันในขณะนั้นว่า จะมีการปิดล็อคประตูลิฟต์ไว้ และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการ ก็ให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย

ลิฟต์ประเภทที่สอง กรุงเทพมหานครได้มีการสร้างลิฟต์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยลิฟต์เหล่านี้เปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งลิฟต์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟต์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่

ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส วันละประมาณ 2,800 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการที่นั่งรถเข็นวันละประมาณ 20 คัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ อาทิ การสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีสยามไปยังแยกราชประสงค์ การติดตั้ง ลิฟต์สำหรับรถเข็นคนพิการ (Stair Lift) ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และการติดตั้งเข็มขัดล็อควีลแชร์ (Wheel chair belt) ไว้ในขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการที่ใช้รถเข็น

ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมที่จะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน


เอกสารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้มานิตย์เขียน

โดยสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา แฟนเพจเฟสบุ๊ก Accessibility Is Freedom โพสต์ภาพกระจกลิฟต์ของบีทีเอสสถานีอโศกที่แตกจากการทุบ โดยมานิตย์ ผู้โดยสารที่ทุบกระจกระบุว่า เมื่อถึงสถานีบีทีเอส อโศกก็เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับตั๋วเดินทางพิเศษที่ได้รับจากสิทธิคนพิการ แต่เจ้าหน้าที่กลับให้เขาเซ็นชื่อ นามสกุล เวลาและสถานีปลายทางที่ต้องการไปในใบกระดาษ โดยแจ้งว่าเป็นบันทึกประวัติการเดินทางของคนพิการ และจะไม่ยอมให้ใช้สิทธิคนพิการหากไม่เซ็นชื่อ เมื่อมานิตย์ไม่ยอมเซ็นและเกิดการถกเถียงกว่าครึ่งชั่วโมง เขาจึงซื้อตั๋วเดินทางในระบบปกติ ยืนยันที่จะไม่เซ็นชื่อและไม่ใช้สิทธิคนพิการ

หลังซื้อตั๋วแล้วจึงไปรอหน้าลิฟต์เพื่อขึ้นสู่ชั้นชานชาลา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่่มาเปิดล็อกประตูหน้าห้องลิฟต์โดยสาร จึงทำให้เขาตัดสินใจใช้มือทุบกระจกประตูจนแตกรวม 8 ครั้้ง จนเจ้าหน้าที่และนายสถานีเข้ามามุงดู และเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจลุมพินีในเวลาต่อมา

มานิตย์กล่าวย้ำว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากเงื่อนไขที่ต้องกรอกข้อมูล ทั้งที่การเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแต่กลับถูกล็อกไม่ให้เดินทาง อีกทั้งในการเดินทางหลายครั้งที่ผ่านมา เขาสามารถปฏิเสธการกรอกข้อมูลเหล่านี้ได้ และสามารถใช้สิทธิคนพิการได้เช่นเดิม จึงเห็นว่า เอกสารนี้ไม่ได้เป็นระเบียบข้อบังคับแต่เป็นเพียงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บางคนเท่านั้น และไม่มีแบบแผนที่เป็นมาตรฐานอย่างชัดเจน (อ่านที่นี่)

อย่างไรก็ดี หลังจากบีทีเอสได้ออกประกาศชี้แจง ก็มีการวิจารณ์ระบบงานของบีทีเอส ทั้งในเรื่องค่าโดยสาร การบริการของพนักงาน การฉายโฆษณาอย่างมากมาย รวมถึงการคอมเม้นท์ถึงประเด็นทุบลิฟต์ดังกล่าว เช่น

“ "คุณมานิตย์ ได้มาใช้บริการที่สถานีอโศก โดยมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ขอให้กรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติปกติสำหรับผู้พิการ แต่ทั้งนี้ คุณมานิตย์ได้ปฏิเสธการลงชื่อ และได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟต์แตก "

เขียนแบบนี้ทำให้เข้าใจว่าเป็นความผิดของคนพิการ ทั้งที่ความจริงคือไม่มีสถานีไหนที่ให้ลงชื่อ หากเป็นระเบียบปฏิบัติควรทำให้เหมือนกันทุกสถานี เมื่อคุณมานิตย์ปฏิเสธการลงชื่อและซื้อบัตรโดยสาร ก็ต้องไปรอให้เจ้าหน้าที่เปิดลิฟต์อยู่พักใหญ่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ทราบอยู่แล้วว่ามีคนพิการต้องใช้ลิฟต์ เพราะได้พบและพูดคุยกันก่อน รวมถึงตอนซื้อบัตรโดยสารก็เห็นว่าเป็นคนพิการ แต่ทำไมจึงไม่เปิดลิฟต์ให้ทันที”

“การกล่าวอ้างข้อตกลงที่ทางสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย​ ไปตกลง​ ลงนามไว้ผมขอดูหลักฐานด้วยครับ​ เพราะผมเป็นสมาชิกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย​ มาตั้งแต่​ พ.ศ.​2534​ ไม่เคยได้ยินคณะกรรมการบริหารสมาคมหรือสมาชิกกล่าวถึงข้อตกลงดังกล่าวเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

“นี่เขียนข้อมูลอะไรคะ เพื่ออะไร และจะสื่อสารอะไร นี่เรียกว่าภาษาการตลาด ถ้าจริงใจก็ต้องแก้ไขทันที พบคุณมานิตย์อย่างรวดเร็ว นี่จะกู้หน้าบริษัทจากหายนะชื่อเสียงได้ คนพิการนี่ต้องเซ็นชื่อทำไม ไม่มีประเทศไหนเค้าทำกัน ตลกมาก เลิกเถอะค่ะ อายเค้า”

“อยากทราบความจำเป็นขั้นตอนการกรอกแบบฟอร์มในการใช้ลิฟต์ค่ะ คงพิลึกถ้าคนไม่พิการต้องกรอกแบบฟอร์มก่อนขึ้นบันไดเลื่อน”