Skip to main content

สัปดาห์แรกของโครงการ Accessibility and Universal Design 2017/2018 เพิ่งผ่านพ้นไป สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แห่งการเริ่มต้น ทำความรู้จัก และปรับตัว เราและเพื่อนคนพิการอีก 16 คนจาก 6 ชาติอาเซียนเริ่มเข้าขากันมากขึ้น รวมถึงเริ่มคุ้นเคยกับกระบวนกรและอาสาสมัครที่คอยมาช่วยเหลือดูแล การมามาเลเซียครั้งนี้ นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ดึงดูดใจเรามากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน เพราะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ Accessibility and Universal Design ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ชนิดที่ต้องถามกันว่า Accessibility and Universal Design คืออะไร? จนกระทั่งการหาคำตอบของคำถามที่ว่า คนพิการอย่างเราจะสามารถตรวจสอบมาตรฐานของการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลได้อย่างไร?


ภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

สัปดาห์ที่ 2 – ท้าประลองสังเวียน Accessibility and Universal Design ในมาเลเซีย

เราเริ่มต้นสัปดาห์ที่สองด้วยการทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อทำให้พวกเราสามารถอ่านหรือทำความเข้าใจกับแปลนของสถานที่นั้นๆ ได้ เพราะเมื่อถึงวันที่เราต้องเป็น ‘ผู้ตรวจสอบ’ การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลของอาคารสถานที่รวมถึงขนส่งสาธารณะต่างๆ เราจะได้มองภาพออกตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน

เราเริ่มต้นกันด้วยพื้นฐานง่ายๆ ของหลักของการออกแบบ 3 อย่างคือ การใช้งาน, ความปลอดภัย และความรื่นรมย์ในการใช้งาน โดยที่สถาปนิกหรือคนร่วมออกแบบจะต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ใช้สอยร่วมกับการคำนวณสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ (Anthropometric) เพื่อให้ได้การออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการเข้าถึงของคนพิการ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในข้อกำหนดตามบทที่ 9 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ Convention on the right of persons with disabilities: CRPD อีกด้วย

แน่ล่ะ...คนตาดีย่อมมองเห็นแบบแปลนบนกระดาษได้ แต่ในงานอบรมนี้ นอกจากเราที่เป็นคนสายตาเลือนรางแล้ว ยังมีคนตาบอดสนิทอีกสองคน การอ่านแปลนจึงไม่น่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับพวกเรา  

เมื่อถึงเวลาอ่านแบบจริงๆ สิ่งที่ทีมงานเตรียมให้ผู้เข้าร่วมที่เป็นคนพิการทางสายตาคือ ‘แบบแปลนที่เข้าถึงได้’ บนกระดาษเขียนแบบเหมือนกับที่ทุกคนในห้องกำลังอ่านจะมีเชือกขนาดและพื้นผิวที่ต่างกันขึงตามเส้นที่วาดด้วยดินสอ ทำให้สามารถใช้มือลูบอ่านแปลนไปตามเส้นเชือกได้ แถมยังวัดมาตราส่วนได้ด้วยไม้บรรทัดสีส้มสำหรับคนตาบอด และยังเห็นง่ายสำหรับคนสายตาเลือนราง บนไม้บรรทัดจะมีจุดนูนเล็กๆ แตละจุดห่างกัน 1 เซนติเมตร และเมื่อถึงเซนติเมตรที่ 5, 10, 15, 20, 25, และ 30 จะมีจุดเบิ้ลเป็นสองจุดเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราที่สายตาเลือนรางและพี่ตาบอดอีกคนเลยสนุกกับการวัดแปลนกันใหญ่


แปลนที่ใช้เชือกเดินเส้นแทนดินสอ ทำให้คนพิการทางการมองเห็นอ่านแปลนได้, ไม้บรรทัดสีส้ม

ในการระดมความคิดภายในห้องสัมมนา ในฐานะที่เป็นคนสายตาเลือนรางเพียงคนเดียวในโครงการนี้ เลยถือโอกาสแนะการออกแบบในเรื่องที่จะช่วยเอื้อต่อคนพิการทางสายตาอย่าง สี แสง และอักษรตัวใหญ่ที่คนสายตาเลือนรางสามารถเข้าถึงได้ และจริงตามที่เราคาด กระบวนกรและผู้เข้าร่วมอบรมอีกหลายคนนึกไม่ถึงว่าสีและแสงจะมีผลต่อการมองเห็นของคนสายตาเลือนรางขนาดนี้ อย่างการออกแบบห้องน้ำ หากสุขภัณฑ์และของใช้เป็นสีสว่างและกระเบื้องเป็นสีเข้ม ก็จะช่วยให้คนสายตาเลือนรางมองเห็นทิศทางของสิ่งต่างๆ มากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องแสง แม้เราจะเห็นได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะมองไม่เห็นเลย ฉะนั้น แสงที่เพียงพอมีผลอย่างมากต่อคนสายตาเลือนราง เราดีใจนะ ที่ได้สร้างความเข้าใจนี้ให้เกิดขึ้นอย่างน้อยก็กับทุกคนที่ได้ฟังเราพูดในวันนั้น

MS 1184 มาตรฐานการออกแบบของมาเลเซีย

สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างซึ่งบ้านเรายังไม่มีคือ ประเทศมาเลเซียมีคู่มือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลที่เรียกว่า MS 1184 (Malaysian Standard 1184) โดยมีการปรับปรุงล่าสุดในปี 2014 ถือเป็นมาตรฐานการออกแบบที่ประเทศมาเลเซียเป็นผู้กำหนดใช้ภายในประเทศของตนเอง ในคู่มือฉบับนี้มีไกด์ไลน์เกี่ยวกับการออกแบบที่คำนึงถึงคนพิการด้วย โดยมีมาตรฐานที่สถาปนิกชาวมาเลเซียยึดถือ นอกจากนี้ในคู่มือยังมีแบบตรวจสอบสำหรับผู้สำรวจ (Auditor) มาตรฐานของสถานที่ เพื่อยึดเป็นแบบในการตรวจสอบมาตรฐาน เรามองว่า คู่มือนี้แสดงถึงการใส่ใจในปัญหาจริงๆ ในฐานะคนพิการไทยก็ได้แต่หวังว่า สิ่งที่พวกเราตั้งใจและเสียงของเราจะสะท้อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ได้บ้างในอนาคตอันใกล้

นอกจากเราจะได้เรียนรู้ทฤษฎีการออกแบบเบื้องต้นและการตรวจสอบสถานที่ที่คนพิการเข้าถึงได้แล้ว พวกเรายังได้ลงสนามจริงในพื้นที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย University of Malaya อีกด้วย ไหนๆ เรียนทฤษฎีแล้ว ก็ต้องลองเอาไปใช้ให้ช่ำชองกันหน่อยล่ะ

KLCH  and Accessible City เพราะเมืองนี้เป็นของทุกคน

ก่อนที่จะลงพื้นที่ที่มหาวิทยาลัย University of Malaya เราและทีมงานได้มุ่งหน้ามาที่ Kuala Lumpur City Hall (KLCH) กันก่อน ฟังชื่อหน่วยงานแล้วไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล แต่ความจริงแล้วที่นี่แหละคือ ‘ศูนย์บัญชาการ’ ของการออกแบบเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ของประเทศมาเลเซีย KLCH เป็นหน่วยงานภาครัฐ ตั้งอยู่ในตึกสำนักงานขนาดใหญ่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ หน่วยงานแห่งนี้มีหน้าที่หลักในการออกแบบและดูแลเมืองในมาเลเซียให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเริ่มต้นที่เมืองหลวงอย่างกัวลาลัมเปอร์ พูดกันจริงๆ แล้ว การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลไม่ได้เป็นผลดีกับแค่คนพิการแต่ยังส่งผลดีต่อประชากรสูงอายุที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ฉะนั้น KLCH จึงเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับ ‘เมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้’ บ้านเรายังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเข้าถึงและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลโดยตรง หากมีหน่วยงานที่เจาะจงเรื่องเหล่านี้โดยตรง ก็น่าจะครอบคลุมและดำเนินการให้เกิดการพัฒนาได้ง่ายกว่า

หลังจากที่พวกเราเยี่ยมชมและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ KLCH เรียบร้อยแล้ว ทีมงานบอกเราว่า จะพาพวกเราเดินดูเมืองกัวลาลัมเปอร์ ตอนแรกตกใจว่า จะเดินกันยังไง แล้วเพื่อนที่นั่งวีลแชร์จะต้องไปยังไง

สงสัยว่าเราจะติดภาพฟุตปาธกรุงเทพฯ มากเกินไป ทันทีที่พวกเราออกจากตึกสำนักงานและเดินไปได้สักพักหนึ่ง เราก็สังเกตได้ถึงความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์คือ ฟุตปาธที่นี่ใหญ่ เรียบ และที่สำคัญคือโล่งมาก แถมยังมีสวนเล็กๆ ระหว่างทางที่คนสร้างตั้งใจให้เมืองมีเขต Green Zone พื้นที่ฟุตปาธในเขตนี้อยู่ในความดูแลของ KLCH จึงได้รับการจัดการให้มีความเหมาะสม ง่ายต่อการสัญจรของผู้คน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เวลาจะข้ามถนน ก็มีสัญญาณเสียงที่บอกให้คนพิการทางสายตารับรู้ว่า คุณสามารถข้ามถนนได้แล้วนะ แม้จะดีแต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังไม่ใช่ทุกพื้นที่ของกัวลาลัมเปอร์ที่คนพิการจะสามารถเข้าถึงได้แบบนี้ ช่วงนี้เป็นเวลาขยายเขตพื้นที่การเข้าถึงเหล่าไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในเมืองหลวงของประเทศให้มากขึ้น

Petronas Twin Tower ตึกแฝดในตำนานของมาเลเซีย

ถ้าพูดถึงตึกแฝดในตำนานอย่าง Petronas Twin Tower แห่งกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ถือได้ว่าเป็นอาคารสำนักงานและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศนี้ ตึกนี้เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกระหว่างปี พ.ศ.2541-2547 ทางทีมงานพาเรามาที่ตึกนี้เพื่อให้ได้มาเยี่ยมชมสถานที่ เนื่องจากอาคารนี้สร้างมานานแล้ว โครงสร้างต่างๆ ไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับการเข้าถึงสำหรับคนพิการโดยตรง อารมณ์คล้ายกับอาคารสำนักงานใหญ่ในบ้านเราที่มีพื้นที่โล่ง เรียบ มีลิฟต์ มีห้องน้ำที่คนพิการก็เข้าได้ ความสว่างภายในอาคารเพียงพอ แต่สำหรับคนพิการทางสายตา การเข้ามาในตัวอาคารก็ยังเป็นปัญหาเพราะเราไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน

หน้าตึกแฝดเปโตรนัส หรือที่คนมาเลเซียเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า KLCC (Kuala Lumpur City Center) มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ น่าสนใจตรงที่คนพิการโดยเฉพาะคนที่นั่งวีลแชร์สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ แทบไม่มีทางต่างระดับที่เป็นอุปสรรค และพื้นที่ก็โล่ง โปร่งไม่มีมุมอับที่เป็นอันตราย หลังจากดูงานมาทั้งวัน พวกเราเลยใช้เวลาทอดอารมณ์พักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่นานเลยทีเดียว


ตึกแฝด Petronas Twin Tower

University of Malaya เขตพื้นที่สำหรับการทดสอบสนามจริง

ก่อนที่จะลงพื้นที่ในมหาวิทยาลัย University of Malaya ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 17 คนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม Chea’s coconut oil Group ของเรา มีสมาชิกเป็นชาวไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา หลังจากที่เรียนรู้เรื่องการออกแบบมาแล้ว รวมถึงมีคู่มือมาตรฐานการออกแบบอย่าง MS 1184 เป็นคัมภีร์ในการช่วยเช็คมาตรฐาน ก็ได้เวลาลงพื้นที่สำรวจและให้คะแนนการเข้าถึงและต้องกลับมาทำรายงานและนำเสนอในห้องด้วย

พื้นที่ที่กลุ่มเราได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจสอบและให้คะแนนการเข้าถึงคือ Survey Block คือตั้งแต่ตึกคณะ Built Environment ถึงคณะ Electrical Engineering รวมถึงพื้นที่โดยรอบอย่างลานจอดรถด้วย ผลโดยรวมก็คือ พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุง หากต้องการให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นจุดให้บริการข้อมูลที่อยู่ลึกเกินกว่าจะขอความช่วยเหลือได้สะดวก ลิฟต์ที่มีเบรลล์แต่เสียงประกาศเป็นภาษามาเลย์อย่างเดียว ห้องน้ำคนพิการที่มีอุปกรณ์ชำรุดหลายอย่าง รวมไปถึงพื้นภายในอาคารหลายส่วนที่ปูด้วยพรม ซึ่งทำให้ผู้ใช้วีลแชร์ยากแก่การเข้าถึง โดยเฉพาะผู้ใช้วีลแชร์ที่ต้องใช้กำลังแขนของตัวเองในการปั่นล้อ

สัปดาห์ที่ 3 –  สรุปเรื่องราว เรียนรู้ ก่อนล่ำลา

งานของพวกเรายังไม่จบ หลังลงพื้นที่สำรวจภายในจุดต่างๆ ของ University of Malaya แล้ว เราก็ต้องมานั่งระดมความเห็นก่อนจะช่วยกันเขียนรายงานการสำรวจเพื่อใช้ในการนำเสนอ เราพบว่า ทุกกลุ่มพบปัญหาคล้ายๆ กัน เป็นปัญหาที่เราเองก็พบมากในไทย คือแม้พื้นที่พยายามจะอำนวยความสะดวกให้ตรงกับกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและขาดการซ่อมบำรุงส่วนที่เสียหาย

ได้เวลาที่พวกเราจะได้ผ่อนคลายก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน เราชอบการอบรมที่นี่ตรงที่ทีมงานพยายามให้เราได้เรียนรู้ทั้งในตำราและลงสนามลองทำงานกันจริง และยังพยายามจัดช่วงเวลาในการพักผ่อนให้ด้วย เป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากเจ้าบ้านที่ทำให้ผู้มาเยือนอย่างพวกเราประทับใจมากมาย

ในค่ำคืนหนึ่ง ทีมงานพาพวกเราไปฉลอง Farewell Party กันที่โรงแรม Avani ในเมืองซาปางที่พวกเราพักอาศัยอยู่ เป็นค่ำคืนที่สนุกมาก เพราะนอกจากจะได้พูดคุยกันแบบไม่ต้องกังวลเรื่องงานแล้ว ยังมีปาร์ตี้หน้ากาก รวมถึงฟลอร์เต้นรำ และเวทีดนตรีให้พวกเราได้สนุกสนานกันแบบสุดๆ

ก่อนวันเดินทางกลับ เราเดินทางไปเมืองเมลากา (Melaka) เมืองท่องเที่ยวอีกแห่งของมาเลเซีย ถือเป็นเมืองที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมซึ่งมีสีสันสดใส และเรียบง่าย ผสมผสานวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น ขณะที่เรายืนชมโบสถ์คริสต์สีแดงแปลกตา ทางตัวเมืองก็มีเสียงตามสายเมื่อถึงเวลาละหมาด เป็นความหลากหลายที่เมืองนี้มอบให้ผู้มาเยือนทุกคนได้สัมผัสลิ้มลอง นอกจากนี้ พวกเราได้ล่องเรือชมวิถีชีวิตของคนเมืองนี้สองฝั่งคลอง รวมไปถึงสังเกตเห็นความเจริญจากการท่องเที่ยวกำลังคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเล็กๆ นี้ ด้วยโรงแรมและร้านอาหารที่ผุดพรายอยู่ริมฝั่งคลอง และเช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในบ้านเรา ที่ถึงแม้จะบริการดี แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวพิการแล้ว ยังมีหลายส่วนที่ต้องเพิ่มเติม

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เรามองว่าตัวคนพิการเองก็ต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอกให้มากขึ้นด้วย ทำให้สังคมเห็นว่า คนพิการก็ออกมาใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนไม่พิการ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วย จากการกิน เที่ยว ช็อป เมื่อคนพิการออกมาสู่สังคมมากขึ้น เราย่อมมีความชอบธรรมในการทวงถามถึงสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลได้มากและหนักแน่นขึ้นด้วย

 

เครื่องบินจากสายการบิน Malaysia Airline บินตรงจากกัวลาลัมเปอร์สู่กรุงเทพมหานคร พากเรากลับสู่เมืองไทยอีกครั้งในบ่ายวันอาทิตย์ 3 สัปดาห์นี่ผ่านไปไวเหมือนโกหก อย่างที่บอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราเดินทางไปต่างประเทศเองโดยที่ไม่มีเพื่อนตาดีคนไทยคอยช่วยเหลือ การไปร่วมโครงการครั้งนี้จึงถือเป็นการ ‘ท้าทาย’ ความสามารถว่า คนสายตาเลือนรางอย่างเราจะเอาชีวิตให้รอดอย่างไรในที่ที่แทบไม่มีใครพูดภาษาไทยด้วย ที่สำคัญการอบรมครั้งนี้ทำให้เรารู้จักกับ Accessibility and Universal Dwsign มากขึ้นทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ มาเลเซียสอนให้เรารู้ว่า ประเทศของเขาหันมาใส่ใจประชากรพิการอย่างจริงจัง เห็นได้จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจาะจงอย่าง KLCH หรือการมีคู่มือมาตรฐานในการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลอย่าง MS 1184 จนเกิดคำถามว่า บ้านเมืองเรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านคนพิการอย่าง ‘เพียงพอ’ ทำงานได้ ‘ตรงจุด’ แล้วหรือยัง?

อ่าน มองมาเลเซียแบบ (สายตา) เลือนราง ผ่านการอบรม Accessibility and Universal Design ตอนที่1ได้ที่นี่