Skip to main content

หลายคนมักเข้าใจว่า สิ่งอำนวยความสะดวก (Accessibility) และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อคนพิการ แต่จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะแค่กับคนพิการ เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ที่เหมาะสม ช่วยให้คนทุกคนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าห้องน้ำที่คุณเข้ามีไฟที่สว่างเพียงพอ มีอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ง่าย มีพื้นที่ไม่ลื่น เรียบและสีสันสะอาดตา ห้องน้ำนั้นก็คงดูเป็นห้องน้ำที่น่าใช้งานและเหมาะกับทุกๆ คน


ภาพประกอบโดยคชรักษ์ แก้วสุราช

แม้การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแวดวงคนพิการไทย แต่ก็ยังเป็นเรื่องครึ่งๆ กลางๆ ที่เหมือนจะเข้าถึงได้แต่ก็ยังไม่สุดทาง

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือเปล่า เพราะในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปอบรมในโครงการ Accessibility and Universal Design Course Training Program 2017/ 2018 ที่ประเทศมาเลเซีย ดูจากชื่อโครงการแล้ว ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังสงสัยอยู่ ไม่แน่ว่าสิ่งที่เราต้องการจะรู้ อาจค้นพบคำตอบได้ในคราวนี้

สัปดาห์ที่ 1 เพื่อนใหม่ ที่ใหม่ เรียนรู้ใหม่

วันแรกของการอบรม ศ.ดร.ยาฮายา อามัดผู้อำนวยการองค์กร AUN-DPPnet เป็นประธานเปิดการอบรม โครงการ Accessibility and Universal Design นี้จัดโดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า AUN-DPPnet (Asian University Network– Disability and Public Policy) ซึ่งมีเลขานุการจาก University of Malaya ประเทศมาเลเซีย AUN-DPPnet ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Nippon Foundation มูลนิธิขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นเพื่อให้ความรู้ในการพัฒนาด้านอาคารสถานที่ที่เหมาะกับคนพิการและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในเชิงนโยบายที่เอื้อต่อคนพิการ รวมถึงสร้างผู้นำเพื่อขับเคลื่อนแวดวงคนพิการจากชาติสมาชิกอาเซียนในระดับภูมิภาคและระดับสากล

โครงการนี้มีคนพิการจาก  6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 17 คน โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย 3 คน ทุกคนเป็นคนพิการทั้ง การมองเห็น, การเคลื่อนไหวและ การได้ยิน และมาจากสาขาอาชีพที่หลากหลายทั้ง NGOs, องค์กรสิทธิมนุษยชน, นักสื่อสารมวลชน, สถาปนิก, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย, เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักศึกษา เป็นต้น โดยมี ดร.โนราฟิดา อับ กาฟาร์ และดร.มัสทุรา อดัม อาจารย์คณะ Built Environment เป็นกระบวนกรตลอดการอบรม

5 วันแรกแรกพวกเราใช้เวลาอยู่ในห้องประชุมเป็นส่วนใหญ่ที่ตึก Institute of Leadership and Development (ILD) ตั้งอยู่ที่เมืองซาปังเพื่อปรับพื้นฐานและเรียนรู้เรื่องทฤษฎีคนพิการ การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับคนพิการและสถานการณ์จริงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนพิการในแต่ละประเทศ

ครั้งแรกของการออกไปดูงานนอกสถานที่คือ สถานีรถไฟใต้ดิน Tun Razak Exchange สถานีรถไฟใต้ดินหรือเอ็มอาร์ที (MRT) แห่งใหม่ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่เพิ่งสร้างเสร็จสดๆ ร้อนๆ เมื่อปีที่แล้ว จากสถานีนี้เราสามารถนั่งไปสุดสายที่สถานีคาจัง เมืองเล็กๆ บริเวณชานเมืองกัวลาลัมเปอร์

สถานีรถไฟ Tun Razak Exchange แห่งนี้ เจ้าหน้าที่ชาวมาเลเซียบอกว่าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการมากกว่าที่อื่นๆ ในมุมคนพิการทางสายตาอย่างเรา สิ่งที่ต่างจากสถานีรถไฟใต้ดินเมืองไทยคือ เบรลล์บล็อก (Braille Block) หรือไกด์ดิงบล็อก (Guiding Block) ทางเดินสำหรับคนใช้ไม้เท้าขาว ที่ช่วยนำทางคนพิการทางสายตาไปสู่จุดต่างๆ เบรลล์บล็อกของที่นี่ติดตั้งตั้งแต่บนพื้นดินก่อนลงไปยังใต้ดินและนำทางไปยังลิฟต์เพื่อลงสู่เบื้องล่าง ภายในลิฟต์ มีเสียงและอักษรเบรลล์ที่ปุ่มกด แต่สำหรับคนใช้วีลแชร์อาจจะคับแคบไปหน่อยและไม่สามารถกลับรถได้ ข้างในลิฟต์มีระบบเสียงบอกว่าลิฟต์อยู่ชั้นไหนแล้ว และหากมีเหตุภายในลิฟต์ก็สามารถกดเรียกที่ปุ่มฉุกเฉินที่มีเจ้าหน้าที่คอยสแตนบายให้ความช่วยเหลือจริงตลอดเวลา


เบรลล์บล็อกภายในสถานี Tun Razak Exchange

เมื่อถึงชั้นที่ต้องการ หากเป็นคนทั่วไปหรือคนพิการที่สามารถซื้อตั๋วโดยสารเองได้ ก็สามารถตรงไปซื้อตั๋วเดินทางด้วยตนเองได้เลย แต่สำหรับคนสายตาเลือนรางหรือตาบอด จำเป็นต้องเดินไปขอความช่วยเหลือยังจุดบริการข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เพาะเครื่องจำหน่ายตั๋วไม่มีระบบเสียงที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้โดยสารพิการทางสายตา แค่เดินตามเบรลล์บล็อกจากหน้าลิฟต์ไปเรื่อยๆ คนพิการก็สามารถไปถึงจุดให้บริการข้อมูลด้วยตัวเอง ที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่สถานีคอยให้บริการและช่วยเหลือเราอยู่

นอกจากนี้ สถานีมีอุปกรณ์ช่วยสื่อสารระหว่างผู้โดยสารกับเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วสถานี ผู้โดยสารสามารถเดินไปกดปุ่มที่แผงวงจรและสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือได้ และยังมีกล้องบันทึกภาพอีกด้วย

ตั้งแต่แรกจนถึงตอนนี้ที่ยืนรอที่จุดรอรถ คนพิการทางสายตาสามารถเดินทางเองได้ตลอดเส้นทาง เพราะมีเบรลลบล็อกช่วยนำทางตลอด

อาสาสมัครชาวมาเลเซียเล่าว่า ที่สถานี Tun Razak Exchange มีห้องสำหรับละหมาดด้วย หากว่าผู้โดยสารเดินทางมายังสถานีในเวลาที่ต้องละหมาดพอดี ก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในห้องที่สถานีจัดให้ได้ ต่างจากบ้านเราที่ไม่มี อาจเพราะคนมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลามกันเป็นจำนวนมาก จึงมีการใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย

ไม่นานนัก ขบวนรถไฟที่รอมาเทียบที่ชานชลา ทันทีที่ประตูเปิด เรามองเห็นแสงไฟเส้นสีฟ้าๆ ขาวๆ ที่รอยต่อระหว่างพื้นชานชลากับตัวรถไฟด้วย เส้นแสงที่พื้นนี้ ช่วยบอกให้คนสายตาเลือนรางรู้ว่า รอยต่อระหว่างชานชะลาและตัวรถอยู่ตรงไหน และเราต้องก้าวขาเข้าไปในตัวรถตรงไหน เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน และทำให้เรารู้สึกประทับใจมากที่สถานีใส่ใจรายละเอียดแบบนี้


สีของพื้นที่แตกต่างกันบริเวณหน้าขบวนรถไฟทำให้คนสายตาเลือนรางมองเห็นได้ง่ายขึ้น

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปไวเหมือนโกหก

จบสัปดาห์แรกไปอย่างสวยงาม (ปนทุลักทุเลนิดหน่อย) เป็นช่วงที่ทุกคนกำลังปรับตัว และเรียนรู้เรื่องทฤษฎีคนพิการเยอะมากจากวิทยากรชาวมาเลเซียที่ทำงานในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาคือ การต้องสื่อสารทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มาต่างประเทศเพื่อการทำงานคนเดียวแบบไม่มีคนตาดีหรือเพื่อนไม่พิการคนไทยคอยดูแล การไปอยู่ในที่ๆ ไม่คุ้นเคยทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมสำหรับเราที่มองไม่ค่อยเห็นแล้ว เรากลัวมากว่าจะไปเผลอทำอะไรที่ผิดหรือไม่สุภาพในวัฒนธรรมของชาวอิสลามด้วยความไม่ตั้งใจ จึงแก้ปัญหาด้วยการถามให้กระจ่าง คนที่นี่หน้าดุแต่ใจดี ถ้าเราพูดคุยด้วยความเป็นมิตร เขาก็พร้อมจะพูดคุยกับเราอย่างเป็นมิตรเช่นกัน พอผ่านจุดปรับตัวไปได้ทุกคนก็เป็นเพื่อนกันได้อย่างไม่ยากเย็น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น The show must go on มาถึงขนาดนี้แล้วต้องสู้กันสักตั้ง จากสายตาคนธรรมดาอย่างเมื่อได้ฟังการแลกเปลี่ยนกันในการประชุมระหว่างสมาชิกวุฒิสภาหญิงพิการชาวมาเลเซียอย่าง บัธมาวาดิ คริชแนน (Bathmavathi Krishnan) และรายงานสถานการณ์คนพิการ (Country Report) จากผู้เข้าร่วมอบรม ข่าวดีคือคนพิการในไทยโชคดีที่เมื่อเทียบกับการพัฒนาด้านคนพิการกับประเทศต่างๆ ในชาติสมาชิกอาเซียน ถือว่าไทยอยู่ในระดับ ‘ดีกว่าหรือเท่ากับ’ ชาติอื่น แต่ข่าวร้ายคือที่ว่าดีนั้น “ยังดีไม่พอ” ยังมีหลายส่วนเกี่ยวกับคนพิการไทยที่ต้องได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีก จะว่าไปแล้วมาเลเซียถือเป็นม้ามืดในด้านการพัฒนาในแถบอาเซียน ทั้งการพัฒนาในระดับประเทศ และการพัฒนาด้านคนพิการ ในปี 2020 มาเลเซียตั้งเป้าให้เมืองกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว ถ้าเราไปมาเลเซียในช่วงนี้จะพบเห็นการก่อสร้างใหม่ๆ และการปรับปรุงองค์กรรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ด้วย


ปุ่มกดฉุกเฉินและเหรียญโดยสาร

ในสัปดาห์หน้า นอกจากจะได้ไปเยือนตึกแฝดในตำนานอย่าง Petronas Twin Tower และ University of Malaya แล้ว เรายังจะได้ไป Kuala Lumpur City Hall (KLCH)  องค์กรที่จะให้คำตอบเราได้ว่า ทำไมมาเลเซียจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล