“หนูทำเอง พ่อไม่ต้องมาช่วย”
“พ่ออย่าบอกสิ หนูขอคิดเอง”
“หนูไม่ชอบอันที่พ่อเลือกให้ หนูขอเลือกเองได้ไหม”
นั่งดูลูกสาวทำการบ้าน พลันได้ข้อคิดอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง ช่วงนี้เธอดูโตขึ้นมาก ในไม่ช้าก็คงถึงเวลาผ่านพ้นวัยเด็กเข้าสู่วัยสาวน้อย ช่วงเปลี่ยนผ่านวัยเช่นนี้ ทำให้ได้หวนระลึกว่าความห่วงใยของพ่อแม่แบบเดิมๆ อาจคับแคบเกินไปเสียแล้วสำหรับการเติบโตของเธอ
เวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟใต้ดินคนแน่นๆ เธอมักปฏิเสธเวลามีคนลุกให้เธอนั่ง
“พี่นั่งเถอะค่ะ หนูยืนได้”
ป้ายบอกให้ กรุณาสละที่นั่งให้เด็ก, สตรี, และคนชรา ที่แปะอยู่ ไม่อาจมาหยุดยั้งท่าทีการ “ปฏิเสธความช่วยเหลือ” ของเธอได้เลย
- - -
ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย
“การช่วยเหลือผู้อื่น” เป็นค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในสังคมไทย อย่างในโรงเรียน เราต้องเคยเห็นข้อสอบสร้างเสริมลักษณะนิสัย ประเภทช่วยคนแก่ข้ามถนน ลุกให้เด็กนั่งบนรถประจำทาง ให้เศษเงินขอทาน หรือจูงมือคนตาบอด มาบ้างไม่มากก็น้อย
การช่วยเหลือผู้อื่น คือ “ความดี” เป็นหน้าที่ของพลเมืองดีหรือคนดี โดยที่เราไม่อาจสงสัย ไม่ว่าจะเป็นต่อบุคคลหรือต่อการกระทำนั้นๆ ยิ่งเมื่อการช่วยเหลือผู้อื่นผสมรวมกับค่านิยมประการอื่นๆ อย่าง การมีสัมมาคารวะ กตัญญูกตเวที เชื่อฟังผู้ใหญ่ เคารพอาวุโส หรือความใจบุญสุนทาน ก็ยิ่งทำให้ความเมตตาปรานีที่กระทำต่อกันเป็นอัตโนมัติในสังคมนี้ เป็นอะไรที่น่าตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย…
การช่วยคนแก่ข้ามถนน จำเป็นต้องเป็นการทำดีเสมอไปหรือไม่?
หากเราเข้าไปช่วยทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือล่ะ?
คนอายุเท่าไหร่จึงจะเรียกว่าแก่?
แล้วถ้าคนที่เราเข้าไปให้ความช่วยเหลือยังไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ การช่วยเหลือของเรายังจะเรียกว่าเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นอยู่หรือไม่?
เราไม่เคยถูกส่งเสริมให้ตั้งคำถามที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีเช่นนี้ การมองว่าการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นความดี “เสมอ” แทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ที่ไปพ้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับที่ถูกกำหนดบทบาทไว้ล่วงหน้า บ่อยครั้งการปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือยังถูกมองเป็น “ความไม่น่ารัก” และไม่เคารพต่อผู้ให้ความช่วยเหลืออีกด้วย
คนพิการที่พยายามพึ่งตัวเอง และออกมาเรียกร้องการออกแบบพื้นที่สาธารณะหรือระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ จึงไม่ใช่คนพิการที่น่ารักในสังคมไทย ตรงกันข้ามกับคนพิการที่ทำตัวเป็นผู้ขอและรับความช่วยเหลือที่ดี อ่อนน้อม ว่าง่าย และที่สำคัญคือน่าสงสาร จะกลายเป็นคนพิการที่น่ารักและน่าให้ความช่วยเหลือในทันที
ไม่ใช่แค่คนพิการหรอกนะครับ ที่มักจะตกอยู่ในขั้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจลักษณะนี้ ผู้หญิง เด็ก คนชรา หรือผู้คนที่ถูกมองว่า “อ่อนแอกว่า” ก็มักตกอยู่ในความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ต่างกัน หรือกระทั่งการตัดสินว่าใครด้อยสติปัญญาหรือโง่กว่าเรา แล้วเราต้องมีหน้าที่สั่งเขา สอนเขา ควบคุมดูแลเขา ให้ความรู้แก่เขา ก็ช่วยเสริมให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ไม่ต่างกัน
อีกด้านหนึ่งของสังคมที่ปลูกฝังความดีของการช่วยเหลือคนอื่น อาจเป็นสังคมที่ไม่เปิดเสรีภาพให้มีการตั้งคำถามว่าไฉนโอกาสของคนกลุ่มหนึ่งจึงมีมากกว่าคนกลุ่มอื่น เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งถูกมองว่าด้อยโอกาสกว่า ก็ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงบทบาทของการ “ให้โอกาส” แก่คนด้อยโอกาสเหล่านั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้และผู้รับนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการธำรงรักษาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีกับคนไม่มีเอาไว้ ยิ่งช่วยเหลือ ยิ่งทำให้ความด้อยโอกาสมีอยู่ต่อไป ยิ่งให้ คนให้ก็ยิ่งมีโอกาสในการให้มากขึ้น ส่วนคนรับก็ยิ่งต้องแบมือรับความช่วยเหลือต่อไปเรื่อยๆ
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยากจะบอกว่าว่าเราไม่ควรให้ความช่วยเหลือแก่ใครเลยนะครับ แต่ผมคิดว่าในความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นของเราทุกคนนั้น ควรเป็นการกระทำที่ “ปฏิเสธได้”
การต้องอยู่ในบทบาทของการรับความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอไปและตลอดไป ทั้งๆ ที่คนคนนั้นยังมีศักยภาพและความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองหรือทำสิ่งนั้นด้วยตัวเองได้ ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในตัวเขา การจะรับหรือไม่รับความช่วยเหลือจึงต้องเป็นสิทธิ เป็นอำนาจแห่งตนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นอิสรภาพที่จะรับหรือไม่รับความช่วยเหลือนั้นก็ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด
ดังนั้นความสัมพันธ์ที่คนไม่พิการมีต่อคนพิการ จึงไม่ควรมาจากความรู้สึกอยากให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ด้อยกว่า ทั้งนี้เมื่อการให้ความช่วยเหลือสามารถถูกปฏิเสธได้ คนพิการก็สามารถเลือกที่จะรับความช่วยเหลือก็ได้ ไม่รับความช่วยเหลือก็ได้ ซึ่งนี่เองที่อาจเปิดความเป็นไปได้ให้แก่ความสัมพันธ์ของการให้และการรับแบบใหม่ ที่ตั้งอยู่บนการเคารพระหว่างกัน แทนที่ความสมเพชเวทนาหรือความสงสาร
ผมมองไปที่ลูกสาวของผม…
การปฏิเสธความช่วยเหลือของเธอถือเป็นก้าวสำคัญที่ผมในฐานะพ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะเด็กที่กำลังเติบโตไม่ควรถูกมองในฐานะผู้ไร้เดียงสา อ่อนแอ หรือด้อยประสบการณ์กว่า แต่เราควรเกื้อกูลเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองและพัฒนาตัวเองได้ จนเขาสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวของเขาเอง
การให้ความช่วยเหลือ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค