Skip to main content

ปัจจุบัน คนพิการกับการเดินทางอย่างอิสระนั้นเป็นหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง นอกจากจะหมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนคนพิการให้ออกมาใช้ชีวิตด้วยตนเอง

รถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการคมนาคมของคนเมืองที่สะดวกสบายและประหยัดเวลา เมื่อเทียบกับการเดินทางบนท้องถนน แต่สำหรับคนพิการ การเข้าถึงนั้นยังเป็นที่ถกเถียงเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี ชานชลา หรือตัวขบวนรถไฟที่เหมาะสมยังล้าหลังอย่างเห็นได้ชัดเจน ยิ่งสำหรับ ‘คนพิการทางการเคลื่อนไหว’ ที่จำเป็นต้องใช้ ‘วีลแชร์’ ในการเดินทาง ความไม่สะดวกดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดเจน เพราะแม้แต่บันไดขั้นเล็กๆ  หรือทางเดินที่ไม่เรียบเสมอเพียงพอ ล้อวีลแชร์ก็อาจตก สะดุดและผ่านไปไม่ได้ นั่นทำให้คนพิการทางการเคลื่อนไหวสามารถใช้บริการการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินได้เลย ‘ลิฟต์’ จึงกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญมาก ในการลำเลียงคนพิการให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม

‘นิวยอร์ค’ เมืองใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีพลเมืองอาศัยจำนวนมาก ทั้งยังมีระบบการจัดการเมืองที่ดีเยี่ยม การคมนาคมก็เช่นกัน นิวยอร์คมีสถานีรถไฟใต้ดินหลายร้อยแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกของชีวิตนิวยอร์คเกอร์หรือพลเมืองในนิวยอร์ค ทว่าความสะดวกสบายนั้นอาจไม่ได้หมายรวมถึงคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน

ซาชา แบลร์ โกลด์เดนซอห์น หนึ่งในทีมวิศวกรซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ลผู้สนับสนุนการพิทักษ์สิทธิคนพิการ และการใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองในเมืองนิวยอร์คคนนี้ บอกเล่าประสบการณ์การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินของตนเขา หลังจากที่เจ้าตัวประสบอุบัติเหตุจนทำให้กลายเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวผ่านทางเว็บไซต์นิวยอร์คทามส์ว่า

เช้าสดใสวันหนึ่งในฤดูร้อนของย่านแมนฮัทตันเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว  ซาชาเดินผ่านไปทางเซ็นทรัล ปาร์ค สวนสาธารณะกลางเมืองนิวยอร์ค ในเวลาเดียวกันนั้นเอง กิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่กำลังผุกร่อนเต็มที่ได้หล่นลงมาใส่ศีรษะของเขาอย่างจัง โชคยังดีที่ในเช้าวันนั้นมีนายแพทย์คนหนึ่งมาวิ่งจอกกิ้งยามเช้าเห็นเหตุการณ์เข้าพอดี จึงเข้าช่วยปฐมพยาบาล และรอกระทั่งรถพยาบาลมารับตัวเขาไป

รถพยาบาลนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งถึงโรงพยาบาล NewYork-Presbyterian ในเวลาต่อมา และได้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล Helen Hayes ในย่านร็อคแลนด์ เคาน์ตี้ เพื่อฟื้นฟูร่างกายด้วยทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งใจช่วยเหลือเขาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ปอด และกระดูกสันหลังของเขา

6 เดือนต่อมา ด้วยการดูแลรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเอาใจใส่จากคนที่รักและเป็นห่วง ทำให้อาการบาดเจ็บของเขาดีขึ้น ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่แม้เขาจะได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูอย่างดีเยี่ยมเพียงใด ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ คือไขสันหลังของเขาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างของเขาบางส่วนใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า จากนี้ไป ซาชาจะต้องใช้ ‘วีลแชร์’ ในการเคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนแทน

ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เขาจะต้องเผชิญ การออกไปใช้ชีวิตในย่านนิวยอร์คนั้นเป็นสิ่งที่ซาชาจะต้องทำให้ได้ แม้เขาจะกลายเป็นคนพิการที่ต้องใช้ชีวิตไปไหนมาไหนด้วยวีลแชร์ เขาค่อยๆ เรียนรู้การใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างช้าๆ เริ่มจากออกไปยังที่ต่างๆ รอบเมือง ใช้บริการรถบัส แท็กซี่ และในที่สุดก็ใช้บริการรถไฟใต้ดิน 18 เดือนหลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ซาชาก็กลับไปทำงานในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบซอฟท์แวร์ที่กูเกิ้ลอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคที่ปิดกั้นการใช้วีลแชร์ของเขาอยู่ เช่น

“แท็กซี่ปฏิเสธที่จะหยุดรับผม ลิฟต์ของรถไฟใต้ดินร้องเตือนว่าน้ำหนักมากเกินไปเมื่อมีทั้งผมและวีลแชร์โดยสารไปในตัวลิฟต์ และลิฟต์ไม่ทำงานต่อจนกว่าผมจะต้องออกไป ผมเริ่มเกิดความหวาดหวั่น ผมรับรู้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ระบบบริการของเมืองที่ดีเลิศเพียงพอในการบริการสาธารณะนั้น ไม่ได้ให้สิทธิกับพลเมืองที่เป็นคนพิการอย่างแท้จริงเลย” เขากล่าว

เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเคยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เขารับรู้ข้อมูลอย่างคุมเครือเกี่ยวกับการให้บริการด้วยลิฟต์ของรถไฟใต้ดิน

“ผมทราบแค่ว่า ลิฟต์ของทางสถานีรถไฟใต้ดินค่อนข้างซอมซ่อและไม่ค่อยเปิดให้ใช้บริการ แต่ตอนนี้ผมต้องการใช้งานลิต์เหล่านั้นเพราะมันจำเป็น รถไฟใต้ดินของเมืองนิวยอร์คมีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อวีลแชร์แย่มาก”

มหานครนิวยอร์คมีสถานีรถไฟเพียง  92 สถานีจาก 423 สถานี ที่คนพิการนั่งวีลแชร์สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ นั่นก็หมายความว่า ในเมืองนิวยอร์ค มีสถานีรถไฟใต้ดินเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถเข้าถึง หากลิฟต์ทั้งหมดทำงานได้เป็นปกติ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือลิฟต์ส่วนใหญ่กลับใช้งานไม่ได้ โดยเฉลี่ยแล้ว ใน 1 วันมีลิฟต์ 25 ตัว ที่ใช้งานไม่ได้ และลิฟต์ที่เสียเหล่านี้ก็ได้รับการซ่อมแซมช้ามาก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลิฟต์ไม่สามารถให้บริการได้ นั่นหมายถึงการที่ผู้โดยสารผู้ซึ่งมากับวีลแชร์ จะต้องติดอยู่ที่ชานชลาของสถานีปลายทางจนกว่าจะหาทางออกที่เหมาะสมได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดสถานการณ์อันน่าหงุดหงิด

อย่างไรก็ดี หากลิฟต์หยุดทำงาน กลับไม่มีการประกาศแจ้งผ่านอินเทอร์คอม หรือทางเว็บไซต์ อีกทั้งการลำดับผังเว็บไซต์ของกรมขนส่งประจำเมือง ก็ไม่สามารถเชื่อถือได้เท่าที่ควร

2 เดือนก่อนหน้านี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ลงรายการลิฟต์ที่ชำรุดและรอการซ่อมแซมไว้เพียง 2 ตัวจาก 8 ตัวที่ไม่สามารถใช้งานได้ การที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแสดงให้เห็นว่า การลงบันทึกสถิติเกี่ยวกับการดูแลสถานีอย่างเป็นทางการนั้นไม่ตรงตามความจริง

“ผมมักจะเข็นรถของตัวเองออกมาจากตัวขบวนรถไฟ และพบว่า ลิฟต์ที่จะไปยังชั้นอื่นๆ ใช้การไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางของผม และแทนที่พนักงานของรถไฟใต้ดินจะสามารถทำอะไรได้บ้าง พวกเขากลับไม่รับรู้ถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและไม่สามารถให้ข้อมูลใดได้ ดังนั้น ทางแก้ปัญหาคือ ต้องรอรถไฟขบวนต่อไป ซึ่งการรอนี่ก็เป็นอะไรที่ต้องเกิดขึ้นประจำ หรือไม่งั้นก็จะมีการเรียกพนักงานจากแผนกดับเพลิงมาช่วยยกผมขึ้นบันไดไปแทน” เขากล่าว

นอกจากความช่วยเหลือจากทางสถานีรถไฟใต้ดินในการช่วยยกตัวเขาและวีลแชร์ขึ้นลงบันไดแล้ว ซาชา ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ผู้โดยสารคนอื่นมักเสนอตัวจะเป็นคนช่วยพาเขาขึ้นไปยังถนนด้านบน อุ้มเขาซึ่งมีน้ำหนักตัวกว่า 170 ปอนด์ แถมยังนั่งอยู่บนวีลแชร์ นี่เป็นสิ่งที่เข้ามากระทบใจเขาอย่างจัง ที่ยังมีผู้คนบางกลุ่มเลือกจะหยุดการเดินทางของตนเองเพื่อเข้ามาให้การช่วยเหลือคนแปลกอย่างเขา

ทว่าความมีน้ำใจดังกล่าวก็ไม่ควรเข้ามาแทนที่ระบบการทำงานของสิ่งอำนวยความสะดวกหลัก ซึ่งสถานีรถไฟใต้ดินควรมี ระบบที่ไม่มีการรองรับผู้โดยสารนั่งวีลแชร์ แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ ปัดความรับผิดชอบ การให้ความช่วยเหลืออย่างเช่นที่เขาได้รับจากคุณหมอผู้มีจิตใจดีงามในสวนสาธารณะเซ็นทรัล ปาร์คนั้น ควรเป็นเพียงสิ่งเสริม ไม่ใช่หลักการตายตัวที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซาชามีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองบอสตัน เขาประหลาดใจอย่างมากที่พบว่า ระบบรถไฟใต้ดินของเมืองบอสตันซึ่งมีความเก่าแก่พอๆ กับนิวยอร์ค และดูเหมือนจะเล็กกว่าด้วยเพราะมีสถานีเพียง 53 แห่งนั้น กลับมีการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษดีกว่านิวยอร์ค กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินที่นี่ สามารถเข้าถึงได้โดยผู้ใช้วีลแชร์

การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอันแสนน่าชื่นชมนี้ถูกจัดการตามกฎหมาย ในปี พ.ศ.2545 ผู้ใช้วีลแชร์ในเมืองบอสตันได้ร่วมกันผลักดันให้กรมการขนส่งประจำเมืองการันตีการสร้างและติดตั้งลิฟต์ รวมถึงการซ่อมบำรุงต่างๆ และมีการจับตาสังเกตการณ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

หากจะถามว่า กฎหมายเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นหรือที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการได้ จะว่าไปแล้วกฎหมายก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการเรียกร้องสิทธิ และบางครั้งอาจพูดได้ว่า กฎหมายคือทางออกเดียวของปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว การสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า ทรัพยากรที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนคนกลุ่มหนึ่ง มันคือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่คนกลุ่มนี้ได้รับ

แองเจล่า โกลเวอร์ แบล็คเวล นักเคลื่อนไหวทางสังคมได้กล่าวไว้ในงานศึกษาวิจัยของตนที่มีชื่อว่า “The Curb-Cut Effect” ว่า เมื่อมีการขยับก้าวสู่การพัฒนาของคนกลุ่มหนึ่ง ในที่นี้คือคนพิการ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อคนในกลุ่มอื่นๆ ของสังคมด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงต้นของยุค 70 การทำทางเดินมีขอบพิเศษยังเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นหูสำหรับชาวอเมริกันเท่าใดนัก

กลุ่มคาลิฟ (Calif) กลุ่มคนผู้เคลื่อนไหวเพื่อการใช้วีลแชร์ของเมืองเบิร์คลีย์ได้แสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับความยากลำบากในการเคลื่อนล้อวีลแชร์ไปยังที่ต่างๆ ในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ ตั้งแต่การเทพื้นคอนกรีดสำหรับทางลาดชั่วคราวที่จะช่วยให้การขึ้นลงทางเท้าสะดวกสบาย

ในช่วงแรก นักเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวนั้นถูกคุกคามต่อต้าน แต่ทางเดินขอบพิเศษที่แรกก็ถูกสร้างขึ้นจนได้ และเมืองอื่นๆ ก็มีการสร้างทางเดินเช่นนี้ตามกันมา โดยแต่ละเมืองเริ่มรู้ถึงข้อดีที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทางเดินที่สร้างขึ้นนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับผู้ที่ใช้วีลแชร์เท่านั้น ทว่าผู้ปกครองที่มากับลูกในรถเข็นเด็ก คนทำงานที่ต้องใช้รถเข็นมือ หรือแม้แต่นักเดินทางที่มีกระเป๋าสัมภาระติดล้อ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเจ้าสิ่งนี้ได้ด้วยเช่นกัน สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดขึ้นสามารถช่วยสนับสนุนให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตของตนเองได้ทั่งในแง่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตตามแบบที่ตนต้องการ

“ผมเป็นหนี้นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้และกลุ่มใดก็ตามที่ช่วยให้เกิดการเดินหน้าพระราชบัญญัติที่มีความเกี่ยวข้องกับคนพิการชาวอเมริกันในปี พ.ศ.2533” เขากล่าว

ในประเทศไทยเองยังคงพบกรณีการเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงการให้บริการต่างๆ ไม่ต่างจากเมืองใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างนิวยอร์ค หรือแม้แต่เรื่องลิฟต์สำหรับผู้พิการ ก็ยังเป็นข้อพิพาทในการเรียกร้องความเท่าเทียมอยู่เนืองๆ แม้จะมีการตระหนักรู้และการให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าครั้งอดีต แต่เหตุการณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอิสระนั้นยังคงเป็นปัญหา และควรเป็นหัวข้อที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรหันมาใส่ใจอย่างจริงจังมากขึ้น

 

แปลและเรียบเรียงจาก
New York Has a Great Subway, if You’re Not in a Wheelchair