Skip to main content

บทความชิ้นที่ 2 จากคอลัมน์ "เราคือเพื่อนกัน" โดยขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เล่าถึงประสบการณ์เมื่อได้ก้าวเข้าสู่โลกของ 'คนตาบอด' จากการเข้าชมนิทรรศการ Dialogue in the Dark ที่ที่ความมืดสนิททำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของคนตาบอดได้อย่างคมชัด

"ตราบที่มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่มีใครเลี่ยงความแตกต่างได้ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณไม่ปรารถนาที่จะผลักไสใครออกไป สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือการค่อยๆ เรียนรู้กันและกัน "


ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี

‘เฮ้ย มืดขนาดนี้เลยเหรอวะ’ ผมอุทานขึ้นในใจ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงความมืดอย่างแท้จริง

ผมลองลืมตาให้กว้างขึ้นเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่มีละอองแสงใดหลงเหลือให้สัมผัส ผมลองลืมตาให้กว้างอีกครั้ง สะบัดฝ่ามือเบื้องหน้าดวงตาในระยะประชิด แต่ไม่มีประโยชน์ เพราะโลกตรงหน้าได้ถูกฉาบทาด้วยสีดำอยู่ทุกอณู

‘ออกตอนนี้ทันไหม’ ความกลัวมาเยือนอย่างชัดเจน ผมลังเลที่จะเดินต่อ แต่สุดท้าย ความเป็นกลุ่มค่อยๆ ต้อนให้ผมต้องเดินตามกันไป เกือบสิบคนที่เดินเกาะไหล่กันไปภายในสภาพแวดล้อมทั้งที่เรียกได้ว่า ‘มืดสนิท’ ทั้งโลกจำลองของท้องถนน ตลาดสด ป่าเขา และการเดินทางโดยรถสามล้อ ทำให้ความอุ่นใจของแต่ละคนต้องฝากไว้กับการได้ยิน การได้กลิ่น และการสัมผัสทางกาย รวมทั้งอุปกรณ์ลักษณะเป็นแท่งพลาสติกเรียวยาว เรียกเป็นภาษาสากลว่า ‘ไม้เท้าขาว’ ที่ออกแบบมาให้ใช้ปลายไม้เขี่ยพื้นไปมาเพื่อนำทาง

สำหรับผู้มาเยือน หนทางเบื้องหน้าอยู่เหนือการควบคุมทั้งสิ้น  ณ ห้วงเวลาที่จะหลับหรือลืมตาก็ไม่ต่างกัน ผมยังโชคดีอยู่บ้างที่มีเจ้าของบ้าน (คนตาบอด) คอยนำทางอยู่ตลอด

นั่นเป็นความรู้สึกเมื่อนานมาแล้ว ณ นิทรรศการ Dialogue in the Dark ที่จามจุรีสแควร์ เป็นการทำความรู้จัก ‘โลกของคนตาบอด’ เสมือนผมเป็นคนตาบอดเอง เท่าที่จินตนาการได้ ผมว่ามันสมจริงเอามากๆ (คุณคงต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะยากจะอธิบายผ่านตัวหนังสือให้สมจริง)

จะต่างกันก็ตรงที่เมื่อออกมาจากนิทรรศการ ผมสามารถกลับสู่โลกของการมองเห็นได้ในทันที

 

เท่าที่นึกออก ความรู้สึกแรกๆ ที่ผมมีต่อ ‘คนตาบอด’ คือทำอะไรไม่ถูก ผมควรปล่อยให้เขาหรือเธอใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หรือควรเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าตัดสินใจว่าช่วย ผมควรช่วยยังไง ช่วยแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘พอดี’ แล้วถ้าวันนั้นไม่สะดวก (อาจรวมความขี้เกียจด้วยก็ได้) ผมจะเป็นคนไร้น้ำใจหรือเปล่า

คิดวนไปวนมาแบบนั้น ท้ายที่สุดมักลงเอยที่ไม่ได้ช่วยอะไร

หลายปีก่อน ผมไปสัมภาษณ์ อาจารย์ธรรม จตุนาม อาจารย์วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และนี่คือเรื่องเล่าที่ยังจำได้จนปัจจุบัน

คนตาบอดยืนอยู่ริมฟุตบาทติดกับทางม้าลายเพียงคนเดียว เมื่อคนตาดีผ่านมาเห็น เขาสงสารและอยากช่วยเหลือ โดยไม่ต้องคิด เขารีบร้อนแสดงน้ำใจด้วยการดึงคนตาบอดข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามทันที เมื่อไปถึง คนตาดีจึงเอ่ยถามคนตาบอด

“จะไปที่ไหนเหรอครับ”

“ช่วยพาผมกลับไปที่เดิมทีครับ ผมเพียงยืนรอเพื่อนอยู่”

เมื่อฟังจบ ผมหลุดขำโดยไม่รู้ตัว ตามด้วยความแปลกใจ ยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงเหรอ อาจารย์ธรรมยืนยันว่า แม้จะเป็นเรื่องเล่าที่ฟังแล้วขบขัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับคนตาบอดมาแล้ว เมื่อไม่เอ่ยถาม บ่อยครั้งการช่วยเหลือที่คิดไปเองจึงไม่ตรงตามความต้องการ แม้การกระทำตั้งต้นด้วยเจตนาดี แต่กลับลงเอยที่ความยุ่งยากมากกว่าเดิม  

“ผมเคยเจอพระมาบอกว่า ‘โยม อาตมาให้เงินนะ แล้วยื่นเหรียญสิบมาให้ ผมต้องตอบไปว่า ‘ผมไม่ได้ต้องการเงิน แค่ต้องการคนพาขึ้นรถเมล์เฉยๆ’

“อีกครั้งหนึ่ง ผมเจอคนบนรถเมล์ถามว่า ‘คุณจะลงยังไง เดี๋ยวผมไปส่งถึงที่เลย แล้วผมค่อยย้อนกลับมาก็ได้’ ซึ่งความหวังดีของเขายิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ

“คนทั่วไปคิดไปเองว่าชีวิตแบบนี้ต้องเครียดแน่ๆ มันไม่ใช่ การเครียดหรือการคิดมากของคนทั่วไป ยิ่งทำให้คนตาบอดเครียดมากขึ้น” อาจารย์ธรรมเน้นย้ำให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่สำคัญยิ่ง

จากการพูดคุยกับคนตาบอด ผมค่อยๆ เรียนรู้ว่า วิธีนำทางที่ดีที่สุด คือ การให้คนตาบอดจับที่ข้อศอก เมื่อเราเดินเลี้ยวซ้ายขวาหรือว่าก้าวขึ้นลง ตำแหน่งข้อศอกที่เปลี่ยนไปจะบอกทิศทางให้กับคนตาบอกไปในตัว หากมีอะไรกีดขวางชัดเจน เช่น หลุมบ่อ เสาไฟฟ้า เราค่อยบอกเป็นจุดๆ เพื่อให้คนตาบอดระมัดระวังเพิ่มขึ้น

เมื่อเข้าใจเช่นนั้น ผมมักเดินเข้าไปถาม ‘คนตาบอด’ ในที่ต่างๆ ว่าเขาจะไปที่ไหน ถ้าเป็นเส้นทางเดียวกัน ผมจะให้เขาจับที่ข้อศอกแล้วเดินไปด้วยกัน แต่ถ้าครั้งไหนไม่สะดวกจริงๆ ผมจะใช้ชีวิตของตัวเองไป โดยไม่มองเป็นเรื่องผิดบาปไร้น้ำใจแต่อย่างใด  

 

ไม่กี่ปีก่อน บนรถเมล์สาย 8

“ไปลงที่ไหนเหรอครับ” ผมทักทายเขา

“ผมจะไปลงที่พาหุรัด แล้วต่อสาย 4 ไปลงที่บ้าน อยู่แถววัดปากน้ำ ภาษีเจริญครับ” คำตอบมาพร้อมรอยยิ้ม

บทสนทนาค่อยเป็นค่อยไป หลากหลายเรื่องราวดำเนินไปโดยผมไม่รู้สึกเบื่อ เราคุยกันโดยไม่สบตาตรงๆ จนผมเอะใจอยู่บ้าง กระทั่งได้รู้ว่านอกจากสูญเสียขาข้างซ้าย ดวงตาทั้งสองข้างของเขายังอยู่ในสภาพเกือบบอดสนิท เห็นเพียงแสงเงาของการเคลื่อนไหวที่เลือนรางไร้รูปทรง

“ตรงนี้อนุสาวรีย์แล้วใช่ไหมครับ” เขาถามด้วยสีหน้าครุ่นคิด

พอรถแล่นไปใกล้ถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี เขาถามขึ้นอีกครั้ง และเป็นอย่างนั้นอีกหลายครั้ง ด้วยความไม่ชินทาง บางครั้งผมพยายามมองหาป้ายระบุตำแหน่ง แต่กลายเป็นว่าเขาปะติดปะต่อภาพในหัวจนบอกพิกัดได้ก่อน แล้วถามขึ้นว่า ใช่ที่นั่นไหม ใช่นี่ไหม ก่อนที่จนผมจะเห็นป้ายชื่อสถานที่นั้นเสียอีก

ผมเคยคุยกับคนตาบอดมาบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลย กับการใช้สมาธิจดจ่อเพื่อนับจำนวนเลี้ยว ฟังเสียงบรรยากาศโดยรอบ สัมผัสแรงสั่นของรถจากพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ไปจนถึงกลิ่นบางอย่างที่ลอยเข้ามาให้ตีความ ทั้งหมดนั้นสามารถบอกตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ โดยไม่มีสักครั้งที่เขานั่งเลยป้ายปลายทาง

แน่ล่ะ เขาเดินทางไป-กลับบ้านกับที่ทำงาน (เขานำขนมมาขายอยู่หน้าตึกแห่งหนึ่งในย่านอารีย์) มานับสิบปี เขาย่อมคุ้นชินและจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้เป็นธรรมดา แต่เมื่อจินตนาการจากมุมของคนมองเห็น การระบุเส้นทางได้อย่างแม่นยำโดยปราศจากดวงตา ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้โดยง่าย

เมื่อข้อจำกัดของร่างกายส่งผลให้เขาจำเป็นต้องทำ ตราบที่ยังมีลมหายใจ การทำให้ได้จึงเป็นทางเลือกทางเดียว

“นี่ ถึงคลองถมแล้ว” เขาพูดขึ้น ผมมองไปข้างนอก และพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

“ที่คลองถมจะมีเสียงนกหวีดจากเจ้าหน้าที่โบกรถให้เข้าอาคารจอดรถ” เขาอธิบาย และอีกไม่กี่ป้ายต่อมา รถก็มาถึงพาหุรัด เขาลุกขึ้น แล้วค่อยๆ เดินลงจากรถไปด้วยตัวเอง

ข้อจำกัดทางร่างกายทำให้ สุขสรรค์ ลีชัยสิทธิ์ กลายเป็นคนช่างสังเกต ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดเลย นอกจากการใช้ชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้…ภายใต้ข้อจำกัด

 

ตอนเข้าไปอยู่ในนิทรรศการ Dialogue in the Dark ความมืดสนิททำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของคนตาบอดได้อย่างคมชัด และหลากหลายบทสนทนากับคนตาบอด ทำให้ผมรู้จักชีวิตของพวกเขาในแง่มุมต่างๆ แต่ถึงจะเข้าใจและรู้จัก ‘โลกของคนตาบอด’ มากขึ้นกว่าเดิม คงต้องยอมรับว่ายังมีอีกสารพัดเรื่องที่ผมไม่รู้

ภายใต้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ‘ไม่รู้’ ไม่ใช่เรื่องผิดเลย (สิ่งที่แย่กว่าคือการรู้แบบผิดๆ ต่างหาก) หากวางจิตใจแบบเปิดกว้างไว้ มันเป็นต้นทุนชั้นดีด้วยซ้ำ ในการเรียนรู้โลกของคนตาบอด หรือพูดให้ตรงกว่านั้น คือการเรียนรู้โลกของความแตกต่างที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

ตราบที่มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่มีใครเลี่ยงความแตกต่างได้ เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณไม่ปรารถนาที่จะผลักไสใครออกไป สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือการค่อยๆ เรียนรู้กันและกัน