Skip to main content

หลังศาลแพ่งเลื่อนวันนัดไต่สวนพิจารณาคดีแบบกลุ่มเป็นวันนี้ ล่าสุดวันนี้ ได้มีการเลื่อนอีกรอบ เป็นวันที่ 21 มี.ค. จากกรณีคนพิการยื่นฟ้องแบบกลุ่มเรียกค่าเสียหาย กทม.สร้างลิฟต์บีทีเอสไม่ทันตามศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อปี 2558<--break->

17 ก.พ.2560 สมาชิกกลุ่มคนพิการกว่า 30 คนเดินทางเข้าฟังคำไต่สวนคำขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ณ ห้อง 709 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก หลังเลื่อนมาจากวันที่ 30 มี.ค.2560 (อ่านที่นี่) ในกรณีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. (อ่านที่นี่) ที่กลุ่มคนพิการเดินทางไปยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์เพื่อให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าเสียหาย กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม. และบีทีเอส สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า ภายใน 1 ปี นับแต่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 จนบัดนี้เวลาล่วงเลยกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เกรียงไกร จรรยามั่น ผู้พิพากษา แจ้งเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มออกไปก่อน เป็นวันที่ 21 มี.ค.2560 หลังพบว่า ยังอยู่ในระยะ 15 วัน ที่มีการส่งหมายแจ้งการฟ้องให้ กทม.ทราบเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง กทม.เองยังมีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านการดำเนินคดีในลักษณะนี้ได้ รวมทั้งแนะให้กลุ่มคนพิการใช้วิธีพูดคุยประนีประนอมกับทาง กทม.ในเรื่องดังกล่าว

อนึ่ง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายคดีพิจารณาความแพ่ง ที่แก้ไขใหม่เมื่อปี 2558 เดิมทีหากใครจะฟ้องร้องก็นับเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งแก้ไขใหม่เอื้อรให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นกลุ่ม จำนวนมาก มีผลกระทบแพร่หลายไปยังบุคคลหลายคน สามารถให้สิทธิคนเดียวฟ้องไปก่อน เมื่อศาลไต่สวนว่า ความเสียหายนี่กระทบกระเทือนในวงกว้าง ก็จะเป็นประโยชน์ครอบคลุมแก่คนพิการอื่นๆ ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิด้วย

สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ โจทก์ยื่นฟ้องกล่าวในห้องพิจารณาคดีว่า กระบวนการประนีประนอมนั้นสามารถทำได้  แต่กรณีที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด แต่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2535 ครั้งนั้นได้มีความพยายามพูดคุยกับ กทม.แต่ก็โดนปฏิเสธเรื่อยมา จนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะชนะคดี ตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 แล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินการบังคับต่อไป

เขากล่าวต่อว่า โดยหลังจากชนะคดีในปี 2558 กลุ่มคนพิการก็ได้เข้ามีส่วนร่วมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ รวมทั้งมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย แต่ก็เพิกเฉย ไม่ใยดี ไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เขามองว่าเรื่องนี้ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจ จึงต้องมาพึ่งพาบารมีของศาล และทุกครั้งที่ตัวแทนคนพิการเข้าพบผู้บริหาร จะพบว่า ได้รับคำมั่นสัญญาว่ายินดี และยอมรับ เป็นเทปม้วนเดียว ที่ทุกคนพูดเหมือนกันมาโดยตลอด

“อีกไม่นาน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ไป แต่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่ปี 35 ลองคิดดูว่าเราเสียโอกาสมากี่ปี

“วันนี้ผมเป็นตัวแทนคนพิการ วันที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าพวกเราชนะคดี ผมไปรายงานให้ ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจสมาชิกวุฒิสภา คนพิการคนแรกของประเทศไทยฟัง ท่านกลับบอกว่า ผมไม่ดีใจ ผมจะดีใจต่อเมื่อได้ขึ้นลิฟต์ จนปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว และผมเสียมากที่มันยังไม่สำเร็จ” เขากล่าว

เขาตั้งคำถามว่า จะมีการรับผิดชอบอย่างไรต่อผู้เสียหายที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม จะมีการติดตามอย่างไร ในเมื่อยังมีคนทำงานที่ละเลยและไม่รับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษากล่าวว่า ถ้าหากมีการประนีประนอม ก็จำเป็นจะต้องมีคนรับผิดชอบอยู่แล้วเป็นปกติ แต่การฟ้องร้อง กทม.นั้นอาจสร้างความยุ่งยาก เพราะเมื่อหน่วยงานของรัฐกลายเป็นจำเลย จะไม่สามารถบังคับคดีได้

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งต่อสู้และคลุกคลีกับประเด็นสิ่งอำนวยความสะดวกบนบริการสาธารณะมาอย่างยาวนานกล่าวว่า ผิดหวังเพราะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เธอคาดหวังว่าวันนี้จะได้มาฟังการไต่สวนพยานและได้พูดคุยแลกเปลี่ยน แต่กลายเป็นว่า ต้องเลื่อนการไต่สวน

“เราไม่ได้คุยเรื่องของเรา แต่กลายเป็นเรามาฟังประสบการณ์ของเขาเสียมากกว่า ถึงแม้จะไกล่เกลี่ยประนีประนอมจริง ก็ยากที่จะทำให้อะไรดีขึ้น มันอาจดีขึ้นในแง่ที่สามารถเปิดเวทีอย่างเป็นทางการได้ มีการรับรู้มากขึ้น แทนที่เมื่อก่อนคนพิการไปพบ กทม.ที่ศาลาว่าการ กทม. ไม่มีการทำข่าว ตอนนี้อาจจะมีสามฝ่าย คือมีผู้พิพากษานั่งเป็นตัวกลาง แต่เรายังอยากให้เพิ่มบีทีเอสเข้าไปด้วย เชิญผู้บริหาร เพราะการออกนโยบายบริการของบีทีเอสไม่ได้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ตัวเองมี  เช่น บริการสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ

“ถ้าถามว่าคาดหวังไหม เรายังมองไม่เห็นความคาดหวัง การขึ้นศาลแพ่งมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ มันอาจจะยาก ต้องใช้ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์นิดหน่อย” เสาวลักษณ์กล่าว

ด้านสุภรธรรม โจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหลังออกจากห้องพิจารณาคดีว่า อัยการได้ขอเลื่อนการไต่สวนออกไป ก็คงต้องให้เวลาฝ่าย กทม.เตรียมข้อมูลมาชี้แจ้ง ก็ต้องอดทนอีกสักนิด ถามว่าอยากให้เลื่อนไหม ก็คงไม่อยาก แต่ก็ต้องให้โอกาส คำพูดของผู้บริหารที่บอกว่าจะเร่งรัด เขาก็ได้ยินมาร่วม 30 ปี ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัยบอกว่า เราสนใจ เราดูแล เราห่วงใยพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะยุคไหน เลือกตั้งหรือแต่งตั้ง แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมจริงๆ มันไม่ใช่ ฉะนั้นช่วงเวลาที่เลื่อนการไต่สวนก็จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่า กทม.จะทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม

เขาเสริมว่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่นั้นมีมากกว่าที่ กทม.ทำลิฟต์อีหลายอย่าง กทม.ควรต้องไปศึกษาว่ามีอะไรอย่างชัดเจน และปฏิบัติให้ครบถ้วน นั่นคือรูปธรรมที่จะต้องเร่งทำ เพราะยิ่งนานออกไป ความเสียหายก็ยิ่งเยอะขึ้น ทางที่ดีที่สุดคือ กทม.ควรเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

“เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนพิการ แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติ กทม.เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก มันต้องเอื้อ ต้องอำนวยความสะดวก สังคมเราตอนนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุก็ต้องใช้ จริงๆ เราไม่ต้องอธิบายอะไรมาก สังคมก็เข้าใจ เหลือแต่ผู้ปฏิบัติที่จะรับผิดชอบหรือเปล่า

“ที่ผ่านมา กทม.ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวว่าจะเร่งดำเนินการ ถ้าจะแสดงความจริงใจก็ควรจะออกมาพูดคุยร่วมกันให้ชัดเจน ไม่ใช่พูดกันคนละทีสองที ต้องลงไปพื้นที่จริง ชี้ให้เห็นเลยว่าจุดไหนมีปัญหาอะไรแล้วจะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่” เขากล่าว

สำหรับสิ่งที่คาดหวังจากการไต่สวนในวันที่ 21 มี.ค.นั้น สุภรธรรมกล่าวว่า 1. เขาต้องการฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่มเพราะปัจจุบันมีผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้งคนพิการ คนแก่ คนป่วย ฯลฯ 2.อยากเห็นการแสดงความรับผิดชอบของ กทม.ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร 3.การฟ้องนี้จะนำไปสู่การปรับสภาพแวดล้อมของเมืองทั้ง กทม.และปริมณฑล ให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ทางเท้า วางผังเมือง ซึ่งถึงแม้การออกมาขับเคลื่อนนี้จะเริ่มและเน้นหนักเกี่ยวกับคนพิการ แต่ก็ถือได้ว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและนำไปสู่การเป็นสังคมร่วมอย่างแท้จริง